เดินหน้า “ห้องสมุดประจำเมือง” ผลักดันวัฒนธรรมการอ่านของประเทศ

สวธ. จับมือ มูลนิธิวิชาหนังสือ และภาคเอกชนในพื้นที่ ติดตามความคืบหน้าการจัดตั้ง “ห้องสมุดประจำเมืองต้นแบบ” แต่ละภูมิภาค หวังส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่าน พร้อมเป็นแหล่งเรียนรู้สะท้อนอัตลักษณ์ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น

          นายชาย นครชัย  อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) กระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานการประชุมการติดตามประเมินผลการส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่าน และการพัฒนาห้องสมุดประจำเมืองในจังหวัดต่างๆ ณ ห้องประชุมกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม

 

 

          นายชาย กล่าวว่า เพื่อสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่านให้เกิดขึ้นทั่วถึงทุกภูมิภาค สวธ.จึงได้ดำเนินโครงการห้องสมุดประจำเมืองหรือแหล่งเรียนรู้ประจำจังหวัด เริ่มต้นด้วย จังหวัดเชียงใหม่ สงขลา ฉะเชิงเทรา และ หนองคาย ซึ่งในแต่ละแห่งจะมีรูปแบบและเอกลักษณ์เฉพาะทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน  อันเป็นอัตลักษณ์เฉพาะของท้องถิ่น การดำเนินการจัดตั้งห้องสมุดประจำเมืองนี้ มุ่งหวังพัฒนาให้เป็นเครือข่ายในการส่งเสริมการอ่านและสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ให้กับเด็ก เยาวชนและประชาชนทั่วไป  โดยความร่วมมือกับมูลนิธิวิชาหนังสือและภาคเอกชนที่พร้อมผลักดันวัฒนธรรมการอ่านให้เกิดขึ้นในสังคมไทยอย่างเป็นรูปธรรม อันจะเป็นพื้นฐานสร้างคนให้มีคุณภาพเพื่อพัฒนาประเทศให้เจริญยิ่งขึ้น

 

 

          ด้าน นายมกุฏ อรฤดี ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ปีพุทธศักราช 2555 เลขานุการมูลนิธิวิชาหนังสือ ได้ให้แนวคิดถึงการจัดตั้งห้องสมุดแห่งใหม่ ว่า ต้องเริ่มต้นด้วยการศึกษาทรัพยากรที่มีอยู่ในพื้นที่ ข้อมูลต่างๆ ของจังหวัดพื้นที่ที่จะใช้ในการจัดตั้งห้องสมุดนั้นก่อน เช่น ที่สงขลา มีประวัติศาสตร์ บริบททางสังคม มีอัตลักษณ์อะไรที่แสดงความเป็นตัวตน สำรวจความต้องการของคนในพื้นที่ ให้มีส่วนร่วมในการจัดตั้งห้องสมุดแห่งใหม่ ที่ตอบโจทย์ความต้องการของคนในชุมชนอย่างแท้จริง การสร้างห้องสมุดแห่งใหม่ ต้องไม่ทำลายห้องสมุดเดิม คือ ไม่ทำซ้ำกับของเดิมที่มีอยู่แล้ว ทำในสิ่งใหม่ที่ห้องสมุดเดิมยังไม่มี ให้มีจุดขายเฉพาะ เป็นห้องสมุดเฉพาะที่เป็นแหล่งรวบรวมองค์ความรู้เฉพาะทาง สำหรับผู้อ่านที่ต้องการรู้เรื่องนั้นๆ ต้องมาใช้บริการห้องสมุดที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่นี้

 

 

          “นอกจากจะทำให้เป็นแหล่งส่งเสริมการอ่านสำหรับคนในพื้นที่แล้ว ห้องสมุดทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อส่งเสริมบรรยากาศแห่งการเรียนรู้และสร้างเครือข่ายห้องสมุด ให้เกิดความร่วมมือระหว่างห้องสมุด เช่น การจัดกิจกรรมทางวิชาการร่วมกัน เป็นต้น ห้องสมุดที่ดีนอกจากจะตอบโจทย์คนในพื้นที่แล้ว ห้องสมุดใหม่ต้องมีสารสนเทศที่ดึงดูดคนต่างเมืองหรือนักท่องเที่ยวที่สนใจเรียนรู้ประวัติศาสตร์รวมถึงศิลปวัฒนธรรมของท้องถิ่น ที่สำคัญควรเน้นให้ชาวบ้านในพื้นที่มีส่วนร่วมในการดำเนินงานห้องสมุด เช่นจ้างคนพื้นที่ให้เป็นเจ้าหน้าที่ห้องสมุดและจัดกิจกรรมต่างๆที่ชาวบ้านมีส่วนร่วมได้ เพื่อสร้างความรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของและให้กิจการห้องสมุดเกิดความยั่งยืน” นายมกุฏ กล่าว

 

 

          ขณะที่ นายองอาจ สาตรพันธุ์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (สถาปัตยกรรม) พุทธศักราช 2552 ผู้ผลักดันให้มีการจัดตั้งห้องสมุดแห่งใหม่ที่จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า จังหวัดเชียงใหม่มีประวัติศาสตร์และอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่โดดเด่น ชัดเจน เป็นจังหวัดท่องเที่ยวมีชื่อเสียงระดับโลก โดยเฉพาะงานสถาปัตยกรรมที่สวยงามมีเอกลักษณ์มากมายกำลังจะเลือนหาย ห้องสมุดที่จะสร้างขึ้นใหม่นี้จึงมีแนวนิดจะให้เป็นห้องสมุดที่รวบรวมองค์ความรู้ในทางงานสถาปัตยกรรมเชียงใหม่ ให้นักศึกษา ประชาชนทั่วไปได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์งานสถาปัตยกรรมของประเทศในภูมิภาคอาเซียน ของประเทศไทยและท้องถิ่นล้านนา เป็นห้องสมุดที่มีกลุ่มเป้าหมาย ผู้ที่สนใจเฉพาะทางไม่ซ้ำกลับห้องสมุดเดิมที่มีอยู่แล้ว คาดว่าจะใช้เวลาการออกแบบประมาณ 3 ปี และก่อสร้างเสร็จรวม 6 ปี