ชูแคมเปญ “สงกรานต์ปลอดภัย เช็คอินกับครอบครัว” ป้องกันโควิด-19
เชิญชวนประชาชนให้เวลากับครอบครัว หยุดพฤติกรรมเสี่ยง เคร่งครัดกับชีวิตวิถีใหม่ ด้วยแคมเปญ “สงกรานต์ปลอดภัย เช็คอินกับครอบครัว” ป้องกันการระบาดโควิด-19
กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล จัดกิจกรรมรณรงค์ภายใต้แนวคิด “สงกรานต์ปลอดภัย เช็คอินกับครอบครัว” (โควิดยังไม่จบ : สวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง ล้างมือ งดตั้งวงเหล้า-พนัน) ณ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กรุงเทพฯ
นายอนุกูล ปีดแก้ว รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดกิจกรรมรณรงค์ “สงกรานต์ปลอดภัย เช็คอินกับครอบครัว” (โควิดยังไม่จบ : สวมหน้ากากเว้นระยะห่าง ล้างมือ งดตั้งวงเหล้า-พนัน) ว่า วันสงกรานต์ ถือเป็นวันครอบครัว คนไทยมักใช้เวลาแห่งความสุขนี้อยู่กับครอบครัว ทำกิจกรรมร่วมกันตามประเพณีของแต่ละท้องถิ่น เช่น ตักบาตร สรงน้ำพระ รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ กิจกรรมรื่นเริงต่าง ๆ คาดว่า หยุดยาวนี้จะมีการเดินทางกลับภูมิลำเนา ท่องเที่ยวพักผ่อนจำนวนมาก สิ่งที่ต้องไม่ประมาทคือ เชื้อโควิด-19 ที่ยังคงอยู่ เราต้องระมัดระวัง การ์ดอย่าตก งดกิจกรรมตามที่รัฐบาลประกาศ งดการเข้าไปในพื้นที่แออัด คนจำนวนมาก
“หวังว่ากิจกรรมการรณรงค์ สงกรานต์ปลอดภัย เช็คอินกับครอบครัว ในปีนี้จะเป็นส่วนสำคัญที่สร้างความตระหนักให้ประชาชนทำกิจกรรม และใช้เวลาใกล้ชิดกับครอบครัวอย่างมีความสุข ปลอดภัยจากโควิด-19 และขอถือโอกาสนี้ เชิญชวนทุกคนร่วมกิจกรรมส่งภาพความรักความอบอุ่นในครอบครัว หรือภาพการทำกิจกรรมครอบครัวเนื่องในวันสงกรานต์ ปลอดภัย ปลอดอบายมุข ผ่านเฟซบุ๊กกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัวได้ตั้งแต่วันที่ 12–18 เม.ย. นี้ และจะประกาศผลเพื่อรับของรางวัล “เสื้อยืดสงกรานต์และปิ่นโตครอบครัว” 20 รางวัล ในวันที่ 26 เม.ย.” นายอนุกูล กล่าว
ด้าน ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สงกรานต์นี้ รัฐบาลประกาศ งดกิจกรรมสาดน้ำ-ประแป้ง งดจัดคอนเสิร์ต งดจัดปาร์ตี้โฟม งดกิจกรรมสัมผัสใกล้ชิด แต่เริ่มมีสัญญาณว่าประชาชนอาจมีการรวมกลุ่ม ตั้งวงดื่มสังสรรค์เฉลิมฉลอง นอกจากเพิ่มความเสี่ยงทั้งอุบัติเหตุ ปัญหาความรุนแรง ทะเลาวิวาท การล่วงละเมิดต่าง ๆ แล้ว ยังเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ดังนั้นจึงเป็นที่มาของกิจกรรมรณรงค์ ภายใต้แคมเปญ “สงกรานต์ปลอดภัย เช็คอินกับครอบครัว” เพื่อเชิญชวนให้ประชาชนไม่ประมาท ตระหนักถึงความปลอดภัย ลดความเสี่ยง โควิด-19 ด้วยการสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า รักษาระยะห่าง ไม่ไปในพื้นที่ผู้คนแออัด ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำสะอาดและสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ ที่สำคัญ คือ ควรงดตั้งวงดื่มสุราหรือเล่นการพนัน หันมาทำกิจกรรมกับครอบครัว ใช้เวลาร่วมกันได้อย่างปลอดภัย ถือเป็นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของสังคม โดยใช้แนวทาง SMS (Small Meaningful and Safe)
“สงกรานต์ปีที่แล้ว คนไทยกลัวติดโควิด ประกอบกับมาตรการเคอร์ฟิว ห้ามการเดินทางข้ามจังหวัด และมาตรการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ขณะที่สงกรานต์ปีนี้ มีแนวโน้มอาจจะพบการดื่มเพิ่มมากขึ้น เพราะมีวันหยุดต่อเนื่องหลายวัน สสส. จึงขอความร่วมมือประชาชนงดกิจกรกรรมเสี่ยงทุกชนิด โดยเฉพาะการดื่มยิ่งทำให้เสี่ยงติดโควิด-19เพิ่ม คนที่ติดแอลกอฮอล์มีความเสี่ยงปอดติดเชื้อได้มากกว่าคนทั่วไป 2.9 เท่า” ดร.สุปรีดา กล่าว
นางสาวจรีย์ ศรีสวัสดิ์ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า มูลนิธิฯ ลงพื้นที่สำรวจความคิดเห็น กิจกรรมที่คนส่วนใหญ่จะทำในช่วงสงกรานต์ ปี 2564 เมื่อโควิด-19 ยังไม่จบ โดยสำรวจกลุ่มตัวอย่าง 2,011 ราย ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ระหว่างวันที่ 22-29 มีนาคม พบว่า กว่าร้อยละ 72.6 เป็นคนต่างจังหวัด และเกือบครึ่ง ร้อยละ 48.1 เลือกเดินทางกลับบ้าน ที่น่าสนใจเมื่อดูในกลุ่มคนที่ไม่เดินทางกลับต่างจังหวัดพบว่า ประมาณหนึ่งในสี่ไม่มีเงินกลับ อย่างไรก็ตามจากการสอบถามในภาพรวมพบว่า ร้อยละ 35.7 ยังกังวลมากต่อการแพร่ระบาดโควิด-19 ร้อยละ 56.4 ที่กังวลอยู่บ้าง เมื่อถามถึงกิจกรรมที่จะทำช่วงเทศกาลสงกรานต์ พบว่ากิจกรรมลำดับแรกที่ตั้งใจจะทำคือ การอยู่บ้านทำกิจกรรมอยู่กับครอบครัว รดน้ำขอพรผู้ใหญ่ ทำบุญ ไหว้พระ ตักบาตรเข้าวัด และสังสรรค์กันภายในครอบครัว ที่น่าเป็นห่วงคือ ยังมีประชาชน ร้อยละ 18.53 ยังเลือกที่จะตั้งวงดื่มเหล้า ตั้งวงเล่นไพ่ เที่ยวสถานบันเทิงผับบาร์ และเมื่อถามว่าทราบหรือไม่ว่า การปาร์ตี้ ตั้งวงเหล้า พนัน หรือมียาเสพติดเข้ามาเกี่ยวข้องมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิ-19 พบว่า กว่าร้อยละ 84.5 ทราบดี
“มูลนิธิฯ อยากร้องขอให้ประชาชนยังคงเคร่งครัดกับการใช้ชีวิตวิถีใหม่ เดินทางเท่าที่จำเป็น ไม่ไปในพื้นที่คนพลุกพล่าน ทำกิจกรรมกับครอบครัว และควรสร้างการมีส่วนร่วมในครอบครัวด้วยการร่วมกันออกแบบกิจกรรม ตัดสินใจร่วมกันในการจะทำกิจกรรมใดก็ตามที่เน้นความปลอดภัยไม่เสี่ยง และห่างไกลอบายมุขไว้จะดีที่สุด เพราะทั้งเหล้าและบุหรี่ส่งผลให้คนดื่มคนสูบมีความเสี่ยงและเพิ่มความร้ายแรงจากการติดเชื้อร้ายนี้มากขึ้นทั้งสิ้น” นางสาวจรีย์ กล่าว