“วันตรวจสอบข่าวลวงโลก” 39 องค์กรประกาศปฏิญญา เร่งสร้างพลเมืองเท่าทันสื่อ

39 องค์กร ร่วมมือจัดสัมมนา “วันตรวจสอบข่าวลวงโลก” 2 เมษายน ประกาศปฏิญญาปีแห่งการรณรงค์ตรวจสอบข้อมูลข่าวสาร สสส. ปลื้ม ครบ 1 ปี คนไทยใช้นวัตกรรม “โคแฟค” สกัดข่าวลวงช่วงโควิด-19 เร่งสร้างพลเมืองเท่าทันสื่อ 

          สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โคแฟค ประเทศไทย ร่วมกับ เครือข่ายองค์กรตรวจสอบข่าวสากล  (International Fact Checking Network : IFCN) และภาคีเครือข่ายตรวจสอบข่าวลวงกว่า 30 องค์กรในประเทศ จัดสัมมนาไฮบริดเนื่องในวาระ “วันตรวจสอบข่าวลวงโลก” (International Fact-Checking Day 2021)  “ความท้าทายในการตรวจสอบข้อเท็จจริงร่วมกัน”  ณ โรงแรมศิวาเทล กรุงเทพฯ  โดยมีการประกาศเจตนารมณ์ความร่วมมือของภาคประชาสังคมในปีแห่งการรณรงค์ตรวจสอบข้อมูลข่าวสาร (2 เมษายน 2564-2 เมษายน 2565) ดังนี้ เครือข่ายตรวจสอบข่าวลวงขอแสดงจุดยืนในการสกัดข่าวลวง ร่วมส่งเสริมและสนับสนุนความร่วมมือซึ่งกันและกัน พัฒนางานศึกษาวิจัย สร้างองค์ความรู้ นวัตกรรม ตลอดจนเครื่องมือหรือกลไกเฝ้าระวังอย่างมีส่วนร่วม ให้ประชาชนเกิดความรู้ความเข้าใจด้านการรู้เท่าทันสื่อสารสนเทศและดิจิทัล สร้างข้อเท็จจริงให้เกิดความเข็มแข็งภาคพลเมือง ทำให้สังคมไทยเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลได้อย่างมีคุณภาพ บนพื้นฐานของการไตร่ตรอง ใช้เหตุผล มีวิจารณญาณ เพื่อลดผลกระทบด้านลบยุคข้อมูลข่าวสาร รวมถึงลดความขัดแย้งอันเนื่องจากความเข้าใจผิดในอนาคต

 

 

          ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวในการเปิดสัมมนาว่า ในวันที่ 2 เมษายนของทุกปี ถือเป็นวันตรวจสอบข่าวลวงโลก สำหรับประเทศไทย ถือว่าประสบความสำเร็จในการขับเคลื่อนการต่อต้าน ป้องกัน และรับมือกับปัญหาข่าวลวงในยุคดิจิทัล โดย สสส. เห็นความสำคัญและได้ร่วมผลักดันให้เกิดการพัฒนากลไกโคแฟค (Collaborative Fact Checking : Cofact) นวัตกรรมกลไกตรวจสอบข่าวลวงบนเว็บไซต์ cofact.org และ ไลน์ @cofact ซึ่งขณะนี้ครบ 1 ปี ของการมีนวัตกรรม แนวคิดโคแฟคได้ถูกส่งต่อและขยายไปยังภาคีเครือข่าย อาสาสมัคร มหาวิทยาลัย สื่อท้องถิ่น และชุมชนระดับภูมิภาคในวงกว้างมากขึ้น มีพันธมิตรเครือข่ายร่วมทำงาน 39 องค์กร จนเกิดเป็นชุมชนโคแฟคที่ประชาชนทุกกลุ่มวัยเข้ามาตรวจสอบข่าวลวงร่วมกันแล้วกว่า 30,000 คน

 

 

           “โคแฟค เกิดขึ้นในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 ซึ่งข่าวลวงเปรียบเหมือนเชื้อไวรัสที่กระจายอย่างรวดเร็ว จนองค์การอนามัยโลกได้ออกมาเตือนถึงผลกระทบของข่าวลวงที่จะส่งผลให้สถานการณ์การระบาดโควิด-19 แย่ลง ซึ่งตั้งแต่มีโคแฟค ทำให้เกิดฐานข้อมูลในการตรวจสอบข่าวลวงด้านสุขภาพกว่า 2,500 ชุด มีการจัดทำบทความพิเศษ อินโฟกราฟิกที่เข้าใจง่ายกว่า 350 ชิ้น เพื่อให้ประชาชนทุกคนมีภูมิคุ้มกัน มีจิตสำนึกพื้นฐาน คือ การรู้เท่าทันสื่อ ขยับมาสู่การร่วมตรวจสอบข่าวลวง จนถึงช่วยกันสอดส่อง เฝ้าระวัง สกัดกั้นข่าวลวง ไม่ทำให้สถานการณ์โควิด-19 ในไทยแย่ลง สสส. พร้อมสนับสนุนการสร้างพลเมืองเท่าทันสื่อ มีความรู้และทักษะเท่าทันสื่อ เท่าทันตนเอง มีความรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อร่วมสร้างวัฒนธรรมการตรวจสอบข่าวลวงและรู้เท่าทันสื่อ นำไปสู่การสร้างสังคมสุขภาวะ” ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าว

 

 

          น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งโคแฟค ประเทศไทย กล่าวว่า การจัดงานในครั้งนี้เป็นการนำเสนอภาพรวมของการตรวจสอบข่าวลวงที่เกิดขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะวิกฤติที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ทำให้เห็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีนักตรวจสอบข่าว (Fact Checker) ในแต่ละประเทศ และต้องมีการทำงานเชื่อมโยงและส่งต่อข้อมูลซึ่งกันและกัน ซึ่ง 1 ปี นับจากวันนี้ไปที่ประกาศเป็นปีแห่งการรณรงค์ตรวจสอบข้อมูลข่าวสาร ทางโคแฟค ประเทศไทย จะมีการจัดกิจกรรมทั้งในเชิงวิชาการ การขับเคลื่อนประเด็น และการสัมมนาร่วมกันตลอดทั้งปี