ยกย่อง 7 ศิลปิน 7 สาขา “ศิลปาธร” 2564
สศร. ประกาศรายชื่อ 7 ศิลปิน 7 สาขา “ศิลปาธร” 2564 "ปรัชญา พิณทอง - ต้นข้าว ปาณินท์ - วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง - อโณทัย นิติพน - สุมณฑา สวนผลรัตน์ - กฤษณ์ เย็นสุดใจ - นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์"
สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรมจัดประชุมคณะกรรมการอำนวยการโครงการยกย่องเชิดชูเกียรติศิลปินร่วมสมัยดีเด่นรางวัล“ศิลปาธร” ประจำปี พ.ศ.2564 เมื่อวันอังคารที่ 30 มีนาคม 2564 โดยที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบรายชื่อศิลปินร่วมสมัยดีเด่นรางวัล “ศิลปาธร” ประจำปี พ.ศ.2564 ทั้ง 7 สาขา ได้แก่ สาขาทัศนศิลป์ สาขาสถาปัตยกรรม สาขาวรรณศิลป์ สาขาดนตรี สาขาศิลปะการแสดง สาขาศิลปะการออกแบบ และสาขาภาพยนตร์และสื่อเคลื่อนไหว
นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า คำว่า“ศิลปาธร” นั้นมีความหมายอันเป็นที่ประจักษ์และทรงคุณค่ายิ่งในตนเอง หมายถึง ผู้ทรงไว้ซึ่งศิลปะ หรือ ผู้รักษาไว้ซึ่งศิลปะ โดยที่ผ่านมาทางสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ได้ดำเนินอย่างเข้มงวดภายใต้กระบวนการสรรหาและพิจารณาตัดสิน ตามขั้นตอนของคณะกรรมการ คัดสรรฯ และคณะกรรมการตัดสินฯ ซึ่งประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญและผู้ทรงคุณวุฒิที่มีชื่อเสียงและผลงานในด้านศิลปะร่วมสมัยสาขาต่าง ๆ ได้พิจารณาตามลำดับขั้นตอนโดยเริ่มจาก คณะกรรมการคัดสรรศิลปินร่วมสมัยดีเด่นรางวัล “ศิลปาธร” จำนวน 7 คณะ ได้เสนอรายชื่อศิลปินผู้มีผลงานอันโดดเด่นเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง ผ่านการคัดสรร ทั้ง 7 สาขา ให้แก่คณะกรรมการตัดสินฯ ในแต่ละสาขาเป็นผู้พิจารณาอย่างถี่ถ้วน เพื่อคัดกรองข้อมูลให้คณะกรรมการตัดสินฯ ได้ดำเนินการพิจารณาตัดสินตามแนวทางการสรรหาและคัดเลือกศิลปินร่วมสมัยดีเด่นรางวัล “ศิลปาธร” ประจำปี พ.ศ. 2564 จากนั้นเมื่อได้ผลการตัดสินเป็นเอกฉันท์จึงนำเสนอรายชื่อศิลปินที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นศิลปินศิลปาธร ทั้ง 7 สาขาต่อคณะกรรมการอำนวยการโครงการฯ โดยที่ประชุมคณะกรรมการอำนวยการโครงการฯ ได้พิจารณาข้อมูลอย่างครบถ้วนในทุกมิติ และมีมติเห็นชอบตามผลการพิจารณาตัดสินดังกล่าว พร้อมทั้งได้มีประกาศมอบรางวัล “ศิลปาธร” ประจำปี 2564 ให้แก่ศิลปินร่วมสมัยดีเด่นจำนวน 7 สาขา ดังต่อไปนี้
สาขาทัศนศิลป์ ได้แก่ นายปรัชญา พิณทอง ผู้ซึ่งมีผลงานศิลปะร่วมสมัยที่ดำเนิน อยู่ในห้วงเวลาอันเหมาะสม มีความเชี่ยวชาญในการใช้ภาษาทางศิลปเชิงความคิด เพื่อทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการสื่อสารระหว่างคนใน สังคมโลกขยายความสนใจต่อประเด็นเฉพาะถิ่นไปสู่การรับรู้ในระดับสากลและเป็นผู้สร้างชื่อเสียงให้ประเทศชาติในฐานะศิลปินไทยมาอย่างต่อเนื่อง
สาขาสถาปัตยกรรม ได้แก่ รศ.ดร.ต้นข้าว ปาณินท์ เป็นผู้จุดประกายแก่สถาปนิกรุ่นใหม่ มีคุณูปการกับวงการสถาปัตยกรรม ครบเครื่อง ทั้งงานวิชาการและการปฏิบัติวิชาชีพ กลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกัน ผลงานมีความนิ่งแต่ละเอียดรอบคอบและแยบยล มีความเรียบง่ายเป็นธรรมชาติสอดคล้องกับวิถีชีวิตคนไทย
สาขาวรรณศิลป์ ได้แก่ นายวีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง เป็นนักเขียนสารคดีที่ทำงานสืบเนื่องมายาวนานกว่า 20 ปี โดยนำเสนอสารคดีที่มีความหลากหลายด้านเนื้อหาโดดเด่นด้วยการนำเสนอเรื่องเล่าที่มีเรื่องราว การผสมผสานกลวิธี ลีลาการเล่าเรื่องโดยใช้ภาษาที่มีภาพพจน์และชั้นเชิงทางวรรณศิลป์ สารคดีจึงชวนอ่านด้วยเนื้อหาที่แปลกใหม่ ชวนติดตาม ผ่านมุมมองที่เฉียบคมและให้แง่คิด อีกทั้งยังสร้างความรับรู้และความเข้าใจเพื่อนมนุษย์ ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและที่สำคัญที่สุดคือความเข้าใจตนเองได้รับรางวัลชนะเลิศระดับชาติมาแล้วหลายรางวัล อาทิ ให้ความรักนำทาง ชนะเลิศรางวัลเซเว่น บุ๊คอวอร์ด (พ.ศ.2549) สารคดีเรื่อง “ผองชีวิตในป่าทาม: ป่าชายเลนน้ำจืดของแผ่นดินอีสาน” ได้รับรางวัลชนะเลิศลูกโลกสีเขียว (พ.ศ. 2551)และ อีสานบ้านเฮา ได้รับรางวัลดีเด่นจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (พ.ศ. 2556) เป็นต้น
สาขาดนตรี ได้แก่ ผศ.ดร.อโณทัย นิติพน จากการทุ่มเทในการทำงานวิจัยภาคสนามทางด้านวัฒนธรรม ผลงานของดร.อโณทัย จึงเกี่ยวข้องกับแนวคิดทางวัฒนธรรม การปฏิสัมพันธ์ระหว่างวัฒนธรรม การบูรณาการภาษาของดนตรีร่วมสมัยเข้ากับวัฒนธรรมพื้นบ้าน การรวบรวมนักแสดงประเภทต่าง ๆ โดยได้ริเริ่มและดำเนินโครงการระดับนานาชาติต่าง ๆ เช่นการประชุมวิชาการนานาชาติทางดนตรี และวงดนตรีกลุ่มเยาวชนอาเซียน โครงการเหล่านี้ได้กลายเป็นเวทีสำหรับการอภิปรายเชิงสร้างสรรค์ทางศิลปะร่วมสมัย ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาดนตรีในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นอย่างสูง
สาขาศิลปะการแสดง ได้แก่ นางสาวสุมณฑา สวนผลรัตน์ ซึ่งได้รับการยอมรับจากผู้กำกับการแสดงศิลปะการแสดงร่วมสมัยทั้งรุ่นใหญ่ รุ่นกลาง และรุ่นใหม่ว่าเป็นหนึ่งในนักแสดงหญิงที่มีคุณภาพการแสดงดีที่สุดคนหนึ่งของไทย มีผลงานการแสดงมาอย่างต่อเนื่องและยาวนานที่เผยแพร่ทั้งในและต่างประเทศมากว่า 3 ทศวรรษ นอกจากศิลปะการแสดงเพื่อศิลปะแล้ว สุมณฑา สวนผลรัตน์ ยังสนใจ ศิลปะการแสดงเพื่อการพัฒนาด้วย โดยได้นำกระบวนการละครประยุกต์ไปช่วยจัดกระบวนการในการพัฒนาจิตใจและร่างกายแก่ประชาชนในชุมชนตามจังหวัดต่างๆ รวมทั้งผู้ต้องขังในเรือนจำหลายแห่ง นับได้ว่าเป็นการนำศิลปะการละครและศิลปะการแสดงร่วมสมัยไปช่วยพัฒนาทรัพยากรบุคคลของสังคมให้มีคุณภาพได้อีกทางหนึ่ง
สาขาศิลปะการออกแบบ ได้แก่ นายกฤษณ์ เย็นสุดใจ ผลงานของกฤษณ์ สวยงาม และทันสมัย สื่อสารกับโลกได้และจุดประกายการเรียนรู้ พยายามนำความงาม มาผนวกกับงานวิจัยเพื่อหาส่วนผสมที่ลงตัว ผลงานมีทั้งนวัตกรรม งานฝีมือ และคุณค่าทางศิลปะสามารถช่วยให้ชาวบ้าน มีรายได้ สอนให้สร้างงานที่ร่วมสมัย เพื่อยกระดับชีวิตของชาวบ้านให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ทำได้ยากและสามารถช่วยแก้ไขปัญหาในระดับประเทศได้อีกทางหนึ่ง
สาขาภาพยนตร์และสื่อเคลื่อนไหว ได้แก่ นายนวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ ผลงานมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว สะท้อนคุณลักษณะประพันธกร (auteur) ในแง่ของตัวตน ทั้งในฐานะผู้สร้างสรรค์ผลงาน ในฐานะของผู้กำกับภาพยนตร์ ผู้นำเสนอเนื้อหา (content) และในฐานะนักสร้างภาพยนตร์ (Filmmaker) นวพลได้ผนวกเอาความสนใจในศิลปะสกุล minimalism กับประเด็นความสนใจและความรู้สึกของคนร่วมสมัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งโลกของคนรุ่นใหม่ มานำเสนอโดยคลุกเคล้าระหว่างอารมณ์ขันหน้าตายและความเจ็บปวดทางใจอย่างเหมาะเจาะ ลงตัว การสร้างสรรค์ผลงานในแต่ละด้าน ตลอดจนท่วงทำนองในการสื่อสาร ผ่านสื่อต่างๆ ด้วยข้อมูล ความรู้ และอารมณ์ขัน อย่างมีเอกลักษณ์และรสนิยมในแบบเฉพาะตัว
“ศิลปาธร” จึงถือเป็นต้นแบบของคนรุ่นใหม่ ในด้านความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ในการนำภูมิปัญญาดั้งเดิมอันทรงคุณค่าในแง่มุมของทุนทางวัฒนธรรม มาประยุกต์ในกระบวนการสร้างสรรค์ พัฒนาและต่อยอดผลงานศิลปะที่อันทรงคุณค่าให้สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มในเชิงเศรษฐกิจได้อย่างเป็นรูปธรรม ด้วยความเสียสละ มุ่งมั่น พร้อมทุ่มเทกำลังกาย และสติปัญญา เพื่อนำความรู้ ความสามารถมาใช้ในทางสร้างสรรค์ให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติและสังคมไทยได้อย่างน่าภาคภูมิใจ
สำหรับโครงการยกย่องเชิดชูเกียรติศิลปินร่วมสมัยดีเด่นรางวัล “ศิลปาธร” เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2547 เพื่อส่งเสริม สนับสนุน และยกย่องเชิดชูเกียรติศิลปินร่วมสมัยรุ่นกลาง ที่ได้ทุ่มเทพลังความคิด สติปัญญา และจิตใจอันมุ่งมั่น เพื่อสร้างสรรค์ผลงานอันทรงคุณค่าให้เป็นที่ประจักษ์ต่อวงการศิลปะร่วมสมัย มีผลงานได้รับการเผยแพร่ และเป็นที่ยอมรับทั้งในระดับชาติ และระดับนานาชาติอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปัจจุบันมีศิลปินที่ได้รับรางวัล “ศิลปาธร” รวมทั้งสิ้น 1 พระนาม และ 87 รายชื่อ
ทั้งนี้ สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม ได้ดำเนินการเตรียมความพร้อม สำหรับพิธีมอบเข็มเชิดชูเกียรติ พร้อมทั้งเงินรางวัลจำนวนหนึ่งแสนบาทให้แก่ศิลปิน ศิลปาธร ประจำปี 2564 ซึ่งอยู่ระหว่างขั้นตอนการหารือเพื่อเตรียมการจัดงานเปิดตัวและพิธีมอบรางวัลเชิดชูเกียรติ โดยมีกิจกรรมเสวนาเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้จากศิลปินศิลปาธรทั้ง 7 คน