เฮ ! ‘นกชนหิน’ จ่อคิวเป็น ‘สัตว์สงวน’ ลำดับที่ 20

เฮ !‘นกชนหินจ่อคิวเป็น สัตว์สงวนลำดับที่ 20

 

“ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์” เผย “นกชนหิน” ตาม “บรูด้า-ฉลามวาฬ-เต่ามะเฟือง” จ่อคิวเป็น “สัตว์สงวน” ลำดับที่ 20 เชื่อ น่าจะช่วยจัดการ “ขบวนการลักลอบ” ได้บ้าง

 

         ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์รองคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษและประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  ได้เผยแพร่ข้อความและรูปภาพ ผ่าน เฟซบุ๊กส่วนตัว “Thon Thamrongnawasawat” เปิดเผยว่า “นกชนหิน” กำลังจะได้การคุ้มครองให้เป็น “สัตว์สงวน” ในลำดับที่ 20 โดยมีเนื้อหา ดังนี้

 

“นกชนหิน ตาม พี่บรูด้า ฉลามวาฬ เต่ามะเฟือง มาจ่อคิวเป็นสัตว์สงวนลำดับที่ 20 แล้วครับ

 

ขั้นตอนต่อจากนี้คือเข้า ครม. จากนั้นก็กลับมากฤษฎีกา เพื่อออกประกาศต่อไป

 

สมัย วาฬบรูด้า ผ่านกก./ครม. 6 เดือน ติดแหง่กขั้นกม.อีกเกือบ 3 ปี

 

แต่หนนี้ พรบ.สงวนคุ้มครองสัตว์ป่าฉบับใหม่ น่าจะเร็วขึ้น

 

นกชนหิน เป็น นกเงือก ชนิดหนึ่ง พบเฉพาะป่าทางภาคใต้ ที่เหลือจริง ๆ คือป่ารอยต่อไทย/มาเลเซีย

 

เรียกว่า ชนหิน เพราะบางครั้งจะสู้โดยเอาหัวชนกัน เพื่อแย่งอาณาเขต

 

ยังจำ น้องชนหิน ที่ไปดูแถวฮาลาบาลา และ ครอบครัวชนโป๊ก ที่เคยอุปถัมภ์ได้

 

นกชนหิน ถูกล่ามาก เพราะนำหัวไปทำเครื่องประดับส่งเมืองนอก (เมืองไหนคงไม่ต้องบอก)

 

กม.ที่แรงขึ้น ยกระดับจาก สัตว์คุ้มครอง เป็น สัตว์สงวน ติดคุก 3-10 ปี ปรับถึงล้านห้า น่าจะช่วยจัดการขบวนการลักลอบได้บ้าง

 

การทุ่มกำลัง/งบ เพื่อพิทักษ์รักษาพื้นที่ป่าและนกในป่าโดยตรง เป็นเรื่องจำเป็นสุด

 

ส่งกำลังใจให้นักอนุรักษ์สายนกทุกท่านครับ”

 

 

         ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (8 มี.ค.64) นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ครั้งที่ 1/2564 โดยมีนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคณะกรรมการฯ เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมชั้น 17 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

 

สำหรับ การประชุมคณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าครั้งนี้ เป็นการประชุมเพื่อพิจารณาการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณากลั่นกรองกฎหมายลำดับรอง ประกอบพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 การกำหนดให้ นกชนหินเป็นสัตว์ป่าสงวนลำดับที่ 20 เพื่อช่วยยกระดับความคุ้มครอง นกชนหิน และถิ่นอาศัยให้สอดคล้องกับมาตรการนานาชาติ ให้สังคมเพิ่มความตระหนักในการอนุรักษ์มากขึ้น

 

ทั้งนี้ ประชากรนกชนหินในประเทศไทย มีขนาดประชากรเล็ก (ประมาณไม่เกิน 100 ตัว) ความสามารถในการขยายพันธุ์ต่ำ มีแนวโน้มสูญพันธุ์สูง เนื่องจากพื้นที่อาศัยถูกคุกคาม ทำลายแยกเป็นหย่อมป่าขาดความต่อเนื่อง และถูกล่าเพื่อเอาโหนก มีการค้าผิดกฎหมายผ่านช่องทางออนไลน์

 

สถานภาพของ นกชนหิน ในปัจจุบันจัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองประเภทที่ 1 และอยู่ในบัญชีที่ 1 ของอนุสัญญาไซเตส (CITES) ขณะที่สหภาพระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรรมชาติ หรือ IUCN จัดให้นกชนิดนี้อยู่ในสถานภาพเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์อย่างยิ่ง

 

นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ ยังได้ร่วมกันพิจารณาการประกาศพื้นที่เตรียมกำหนดเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และพื้นที่เตรียมการกำหนดเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่า จำนวน 24 แห่ง เนื้อที่รวมกว่า 619,681 ไร่ เพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าอนุรักษ์ของประเทศ

 

//...............

CR : Thon Thamrongnawasawat

//...............