วงวรรณกรรมร่วมยินดี “เอนก-อรสม” ศิลปินแห่งชาติ 2563

กวช. แถลงผลการคัดเลือกศิลปินแห่งชาติ พ.ศ. 2563 “เอนก นาวิกมูล” และ “อรสม  สุทธิสาคร” สาขาวรรณศิลป์ ขณะที่ “แม่เม้า-สุดา ชื่นบาน” สาขาศิลปะการแสดง พร้อมด้วยผู้ได้รับการยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติ รวม 12 คน

          นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม และรองประธานกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ แถลงผลการคัดเลือกศิลปินแห่งชาติ พุทธศักราช 2563 ภายหลังการประชุมคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2564  ณ ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล โดยศิลปินแห่งชาติ 2563 ที่ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติ จำนวน 12 คน ประกอบด้วย

 

 

           สาขาทัศนศิลป์ จำนวน 4 คน ได้แก่ ศาสตราจารย์กิตติคุณกำจร  สุนพงษ์ศรี (จิตรกรรม), นายอำมฤทธิ์  ชูสุวรรณ (จิตรกรรม-สื่อผสม), นายประภากร  วทานยกุล (สถาปัตยกรรมร่วมสมัย) และนายสำเริง  แดงแนวน้อย (ประณีตศิลป์-แกะสลักไม้)

 

 

 

 

 

 

 

           สาขาวรรณศิลป์ จำนวน 2 คน ได้แก่ นายเอนก  นาวิกมูล และนางสาวอรสม  สุทธิสาคร

 

 

 

           สาขาศิลปะการแสดง จำนวน 6 คน ได้แก่ นายประทีป  สุขโสภา (เพลงพื้นบ้าน), นายประเมษฐ์  บุณยะชัย (นาฏศิลป์ - โขน), นายปี๊บ  คงลายทอง (ดนตรีไทย), นางสุดา  ชื่นบาน (ดนตรีไทยสากล - ขับร้อง), นางรุ่งฤดี  เพ็งเจริญ (ดนตรีไทยสากล - ขับร้อง) และ นายปง  อัศวินิกุล (ผู้กำกับระบบเสียง – สร้างสรรค์ และบันทึกเสียงภาพยนตร์) 

 

 

 

 

 

 

 

 

           นายอิทธิพล กล่าวต่อว่า ผู้ที่ได้รับยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติ จะได้เข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานเข็มและโล่เชิดชูเกียรติ และรับค่าตอบแทน เดือนละ 25,000 บาท(สองหมื่นห้าพันบาทถ้วน) ตลอดระยะเวลาที่มีชีวิตอยู่ ค่ารักษาพยาบาลตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลโดยอนุโลม เว้นแต่มีสิทธิเบิกจากหน่วยงานอื่น ให้เบิกจากหน่วยงานนั้นก่อน ถ้าเบิกจากหน่วยงานนั้นได้ต่ำกว่าสิทธิตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล ให้มีสิทธิเบิกในส่วนที่ยังขาดอยู่ได้อีกภายในวงเงินไม่เกิน 100,000 บาท ต่อปีงบประมาณ  ค่าช่วยเหลือเมื่อประสบสาธารณภัย ครั้งละไม่เกิน 50,000 บาท ต่อครั้ง ค่าของเยี่ยมในยามเจ็บป่วยหรือในโอกาสสำคัญเท่าที่จ่ายจริง รายละไม่เกิน 3,000 บาท ต่อครั้ง และกรณีเสียชีวิตจะได้รับเงินช่วยเหลือบำเพ็ญกุศลศพ รายละ 20,000 บาท และเงินช่วยเหลือค่าจัดทำหนังสือเผยแพร่ผลงานเมื่อเสียชีวิตเท่าที่จ่ายจริง รายละไม่เกิน 150,000 บาท  เป็นต้น

 

  

                      

           รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม และรองประธานกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (กวช.) ยังได้เปิดเผยถึงเกณฑ์การคัดเลือกศิลปินแห่งชาติ ประกอบด้วย 3 หลักเกณฑ์ใหญ่ ดังนี้

           เกณฑ์ที่ 1 คุณสมบัติของศิลปินแห่งชาติ  มี 6 ประการ  ได้แก่ เป็นผู้มีสัญชาติไทยและยังมีชีวิตอยู่ในวันประกาศยกย่อง / เป็นผู้มีความรู้ความสามารถ มีความเชี่ยวชาญ และมีผลงานดีเด่นเป็นที่ยอมรับของวงการศิลปะในสาขานั้น / เป็นผู้สร้างสรรค์และพัฒนาศิลปะในสาขาที่ได้รับการประกาศยกย่อง / เป็นผู้ผดุง ถ่ายทอด เผยแพร่ หรือเป็นต้นแบบศิลปะในสาขาที่ได้รับการประกาศยกย่อง / เป็นผู้มีคุณธรรม ทุ่มเท และเสียสละเพื่องานศิลปะ / และเป็นผู้มีผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและมนุษยชาติ 

           เกณฑ์ที่ 2 คุณค่ามาตรฐานผลงานศิลปะของศิลปินแห่งชาติ  ผลงานต้องสื่อให้เห็นถึงคุณค่าในความดี ความจริง ความงาม อารมณ์ และคุณค่าทางจิตวิญญาณ แสดงออกถึงแนวคิด สร้างพลังความรู้และพัฒนาสติปัญญาแก่มนุษยชาติ ก่อให้เกิดความรู้สึกสะเทือนอารมณ์ และส่งเสริมจินตนาการ และเป็นผลงานสร้างสรรค์มีเอกลักษณ์ มีทักษะสูงส่ง มีกลวิธีเชิงสร้างสรรค์ ไม่แสดงเจตนาหรือจงใจคัดลอกหรือเลียนแบบผลงานของผู้อื่นทั้งเปิดเผยและแอบแฝง

           เกณฑ์ที่ 3 การเผยแพร่และการยอมรับคุณค่าผลงานของศิลปินแห่งชาติ ผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นศิลปินแห่งชาติ จะต้องมีการเผยแพร่ผลงานและได้รับการยอมรับ คุณค่าในผลงาน ดังนี้ เป็นผลงานที่ได้รับการจัดแสดง ถ่ายทอดหรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนอย่างต่อเนื่อง มีหลักฐาน อ้างอิง โดยเป็นผลงานที่แสดงให้เห็นถึงแนวคิด พัฒนาการทางงานศิลปะอย่างเด่นชัด และเป็นผลงานได้รับรางวัล หรือเกียรติคุณระดับภูมิภาค ระดับชาติ หรือระดับนานาชาติ ซึ่งมีกระบวนการพิจารณาที่มีมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับ 

           โดยการคัดเลือกศิลปินแห่งชาติ จะทำการคัดเลือกใน 3 สาขา ได้แก่

           1. สาขาทัศนศิลป์ หมายถึง ศิลปะที่มองเห็นได้ด้วยตา แบ่งเป็น วิจิตรศิลป์ และประยุกต์ศิลป์  วิจิตรศิลป์ ได้แก่ จิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ สื่อผสม และภาพถ่าย ส่วนประยุกต์ศิลป์ ได้แก่ สถาปัตยกรรมแบบประเพณีและร่วมสมัย  มัณฑนศิลป์  การออกแบบผังเมือง  การออกแบบอุตสาหกรรม และประณีตศิลป์ เป็นต้น

           2. สาขาวรรณศิลป์ หมายถึง บทประพันธ์ที่แต่งอย่างมีศิลปะทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง มีองค์ประกอบที่สำคัญคือ ความรู้สึกสะเทือนใจ ความคิดสร้างสรรค์ จินตนาการและกลวิธีเสนอเรื่องที่น่าสนใจ

           3. สาขาศิลปะการแสดง หมายถึง ศิลปะที่มีการแสดง ที่เป็นได้ทั้งวิจิตรศิลป์ ประยุกต์ศิลป์ รวมทั้งศิลปะพื้นบ้าน โดยแบ่งเป็น 3 ประเภท  ได้แก่  1.ดนตรีไทย นาฏศิลป์ไทยและศิลปะการแสดงพื้นบ้าน  2.ดนตรีสากลและนาฏศิลป์สากล  3.ภาพยนตร์และละคร

           นับตั้งแต่เริ่มโครงการศิลปินแห่งชาติเมื่อปี พ.ศ.2527 มีศิลปินแห่งชาติ ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติ ตั้งแต่ พ.ศ. 2528 - 2562 แล้วจำนวน 319 คน และในปี พ.ศ. 2563 จำนวน 12 คน รวมทั้งสิ้น 331 คน  ซึ่งเสียชีวิตไปแล้ว 154 คน โดยยังมีชีวิตอยู่ 165 คน  

           ทั้งนี้ กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม จะทำหนังสือกราบบังคมทูลขอพระราชทาน
พระบรมราชวโรกาสนำศิลปินแห่งชาติ พุทธศักราช 2563 ทั้ง 12 คน เข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานเข็มและโล่เชิดชูเกียรติ ในวัน เวลา ตามแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ และกระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม จะได้จัดงานเชิดชูเกียรติศิลปินแห่งชาติ  อันประกอบด้วย งานเลี้ยงแสดงความยินดี งานนิทรรศการและสื่อเผยแพร่ชีวประวัติและผลงานของศิลปินแห่งชาติ ผ่านสื่อต่างๆ ต่อไป

           สำหรับเยาวชนและประชาชนผู้สนใจสามารถศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับประวัติและผลงานของศิลปินแห่งชาติเพิ่มเติมได้ที่ www.culture.go.th หรือ www.facebook.com/DCP.culture และ line@วัฒนธรรม