ชัด !! ‘ปฏิรูปทะเลไทย’ ทำได้ ‘ท่องเที่ยว-ธรรมชาติ’ ไปด้วยกัน-ยั่งยืน !!

ชัด !!‘ปฏิรูปทะเลไทย ทำได้ ท่องเที่ยว-ธรรมชาติ ไปด้วยกัน-ยั่งยืน !!

 

“ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์” เปิดภาพเปรียบเทียบ รูปธรรมการฟื้นฟูธรรมชาติ-ทะเลไทย ผ่าน “อ่าวมาหยา-พีพีโมเดล” ปี 2016 – 2020 ชี้ชัด “ปฏิรูปทะเลไทย” เป็นไปได้ การท่องเที่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ไปด้วยกันได้อย่างยั่งยืน

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์รองคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษและประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  ได้เผยแพร่ข้อความและรูปภาพ ผ่าน เฟซบุ๊กส่วนตัว “Thon Thamrongnawasawat” ยืนยันว่า “การปฏิรูปทะเลไทย” มีความเป็นไปได้ และการท่องเที่ยวกับการอนุรักษ์ธรรมชาติ ก็ไปด้วยกันได้อย่างยั่งยืน โดยมีเนื้อหา ดังนี้

 

         “การท่องเที่ยวยั่งยืนดีอย่างไร นิวนอร์มัลมีจริงในทะเลไทยหรือเปล่า ? #ปฏิรูปทะเลไทย เป็นไปได้ไหม ?

 

ผมนำตัวอย่างจาก อ่าวมาหยา มาให้ เพื่อนธรณ์ ดูชัด ๆ ว่า ของจริงมี และเราเห็นได้แม้จากดาวเทียม

 

ภาพบน ปี 2016 ยังไม่มีการจัดการใด ๆ พีพีโมเดล ยังไม่เริ่ม

 

ภาพล่าง ปี 2020 การปฏิรูปอุทยานก้าวหน้า ฟื้นฟูมาหยาเข้าสู่ปีที่ 3

 

เทียบ 2 ภาพ เริ่มจากเรือ

 

เห็นชัดว่า เรือ16 วิ่งกันตามใจชอบ จอดตรงไหนก็ได้ ทิ้งสมอลงแนวปะการัง วันละไม่รู้เท่าไหร่

 

เรือ20 จอดเรียงเป็นระเบียบ มีทุ่นกั้นเขตห้ามเข้าชัดเจน

 

สังเกตจำนวนเรือ 20 ยังมีอยู่พอสมควร

 

ผมบอกเสมอว่า นี่ไม่ใช่ปิดท่องเที่ยว อ่าวมาหยา

 

นี่เป็นการจัดการแบบใหม่ เที่ยวได้โดยไม่ต้องทำร้ายธรรมชาติ และยังมีคนไปเที่ยว

 

ไปชื่นชมอ่าวสวยที่สุดในโลกด้วยสายตา ดีต่อใจ...

 

คราวนี้ดูความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เริ่มจากจุด a

 

A 16 เห็นพื้นทรายขาว ปะการังหายหมด เพราะเรือทั้งวิ่งทั้งทิ้งสมอขนาดนั้น ปะการังคงรอดยาก

 

a 20 เริ่มเห็นปื้นดำกระจาย เป็นปะการังที่กรมอุทยาน/ผู้ประกอบการ/อาสาสมัครช่วยกันฟื้นฟูขึ้นมา

 

ข้อมูลล่าสุด ปะการัง 7 ชนิด รอดตายและกำลังโต 17,480 กิ่ง/ก้อน (เอาเฉพาะรอดนะครับ ปลูกเยอะกว่านั้น)

 

ทุกวันทุกเดือนทุกปีที่ผ่านไป ปะการังเหล่านี้จะขยายพื้นที่ไปเรื่อย ๆ

 

อ่าวมาหยา เขยิบเข้าใกล้สวรรค์ทีละนิด

 

ฝูงฉลามครีบดำ ที่เคยนับได้มากที่สุดถึง 108 ตัว ว่ายวนเข้ามาหากินผสมพันธุ์ออกลูกสบายในปี 2020

 

เทียบกับปี 2016 ไม่ต้องให้ผู้เชี่ยวชาญก็บอกได้ มีเรือขนาดนั้น ฉลามจะไปอยู่ตรงไหน ?

 

คราวนี้มาดูจุด b บนชายหาด

 

b16 เห็นป่าแหว่งเป็นสีขาว ต้นไม้ตายเพราะคนเหยียบย่ำไปทั่ว เกิดการพังทลายของชายหาด

 

b20 ดูแล้วเขียวเป็นปื้น รอยแหว่งหายไปเพราะไม่มีคนเหยียบ ป่าฟื้นคืน แม้แต่เส้นทางเดินก็โดนป่ากลืนเกือบมองไม่เห็น

 

อันที่จริง ปี20 เริ่มวางเส้นทางเดินยกพื้นแล้วครับ

 

เมื่อเปิด อ่าวมาหยา อีกครั้ง คนจะเดินบนเส้นทางนี้ ไม่ไปเหยียบย่ำอะไรอีกแล้ว

 

ทั้งหมดนี้ คือหลักฐานความจริงว่า เมื่อเราจัดระเบียบท่องเที่ยว เอาจริงกับคำว่า ให้ธรรมชาติมาก่อนความเปลี่ยนแปลงเกิดได้

 

และเห็นได้แม้จากดาวเทียม โดยไม่ต้องใช้คำพูดสร้างฝัน

 

แหล่งท่องเที่ยวที่มีการดูแลดีขนาดนี้แหละที่ชาวโลกอยากเห็นในยุคหลังโควิด

 

ททท.ตั้งเป้าว่า ในช่วง 3-4 ปี เราอาจมีนักเที่ยวไม่เท่าเมื่อก่อน แต่การจับจ่ายรายหัวจะมากขึ้น

 

คนที่ยอมจ่ายมากขึ้น ย่อมอยากเห็นของดีจริงสมค่าใช้จ่าย

 

ย่อมอยากเห็นทะเลสงบสวยจัง

 

เพื่อนธรณ์ ลองดูอีกครั้ง ปี 16 กับปี 20 คิดว่าคนจะยอมจ่ายมากขึ้นเพื่อไปที่ไหน ?

 

จึงบอกอยู่เสมอ ท่องเที่ยวกับธรรมชาติไปด้วยกันได้

 

ฉลามมีพื้นที่เพียงพอ และผู้ประกอบการมีรายได้พอเพียง

 

ขอเพียงเราให้ความสำคัญคนท้องถิ่น ทำให้การกระจายรายได้ส่วนใหญ่ตกอยู่กับพ่อแม่พี่น้องแถวนั้น

 

พีพีโมเดล - อ่าวมาหยา จะเป็นต้นแบบที่เห็นจริงสำหรับพื้นที่อื่น ๆ

 

ที่สำคัญ อ่าวมาหยา เป็นนำร่องยักษ์ใหญ่ระดับโลก

 

ต่างจากพื้นที่นำร่องอื่น ๆ ที่ส่วนใหญ่เริ่มจากพื้นที่เล็ก

 

เมื่อนำมาต่อยอดกับที่ใหญ่ บางทีก็ลำบากไปไม่รอด

 

ผมพูดตั้งแต่วันแรก ๆ ที่ทำ พีพีโมเดล หากเราที่นี่ได้ ทำไมจะทำที่อื่นไม่ได้

 

เชื่อว่าภายในปีนี้ กรมอุทยานฯ คงพร้อมเปิด อ่าวมาหยา โฉมใหม่ให้คนไทยลองไป

 

ไปแบบ new normal ด้วยการจำกัดจำนวน ไม่เข้าไปรบกวนปะการัง ไม่ไปแย่งที่ฉลาม ไม่เหยียบย่ำพันธุ์ไม้

 

และเมืองไทยจะได้อวดสถานที่ท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนระดับ Flag Ship ให้คนทั้งโลกชื่นชมครับ

 

ขอบคุณทุก ๆ ท่านที่ช่วยกันมาตลอด”

 

 

หมายเหตุ - ภาพถ่ายดาวเทียม google Earth เปรียบเทียบ 2 ช่วงเวลา

 

//.......................

              CR : Thon Thamrongnawasawat

//.......................