‘หน้ากากอนามัยกงเต๊ก’ ปรากฏการณ์ ‘บันทึกสถานการณ์สำคัญ’

หน้ากากอนามัยกงเต๊กปรากฏการณ์ บันทึกสถานการณ์สำคัญ

 

         นักวิชาการ ชี้ “หน้ากากอนามัยกงเต๊ก” เป็น ปรากฏการณ์ “บันทึกสถานการณ์สำคัญของสังคม” สะท้อน “ความคิด-ความเชื่อ”

 

         ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผศ.ดร.ธเนศ เวศร์ภาดา อดีตอาจารย์ภาควิชาภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร คณะมนุษยศาสตร์มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้เผยแพร่ข้อความและรูปภาพ ผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัว อธิบายถึงปรากฏการณ์ “หน้ากากอนามัยกงเต๊ก” ในห้วงเวลาที่สังคมไทยและสังคมโลก อยู่ในช่วงเวลาของโรคระบาด “โควิด-19” โดยมีเนื้อหา ดังนี้

 

“หน้ากากอนามัยกงเต๊ก

 

ใกล้เทศกาลตรุษจีน คนจีนนอกจากจะไหว้เทพเจ้าเชื้อสายจีนกันแล้ว ยังไหว้บรรพบุรุษอีกด้วย ของไหว้บรรพบุรุษที่นอกเหนือจากกระดาษเงินกระดาษทอง บ้านจำลอง เสื้อผ้าจำลอง มือถือจำลอง ก็ต้องมีด้วย ในแต่ละปี มักมีของทันสมัยอยู่ในกระแส เช่น มือถือไอโฟน 12 เครื่องสำอาง SKll เป็นต้น ให้คนเป็นอย่างเรา ๆ เห็นขันในความคิดสร้างสรรค์ของธุรกิจเครื่องเซ่นไหว้จีน

 

หน้ากากอนามัยกงเต๊ก ที่ทำด้วยกระดาษเงินกระดาษทอง (ตามรูป) นอกจากแสดงให้เห็นว่า สังคมเรามีอารมณ์ขันได้ในภาวะวิกฤติ ยังอธิบายในมิติของพิธีกรรมได้อีก คิดเร็ว ๆ อย่างคนที่ไม่ใช่นักวิชาการ ขออธิบายปรากฏการณ์หน้ากากอนามัยกงเต๊กนี้ ว่า

 

1.พิธีกรรมเหมือนศิลปะแขนงอื่น ๆ เข่นจิตรกรรม วรรณกรรม เพลง ทั้งลูกกรุง ลูกทุ่ง เพลงพื้นบ้าน ล้วนมีบทบาทในการบันทึกเหตุการณ์หรือสถานการณ์สำคัญของสังคม โควิด-19 ถือเป็นปรากฏการณ์ทางสุขอนามัยของประชาคมโลก เป็นสถานการณ์ที่มี ความใหญ่ควรที่จะบันทึกเอาไว้ วันนี้พิธีกรรมไหว้กระดาษเงินกระดาษทองของคนจีนได้ทำหน้าที่นี้แล้ว

 

2.คนไทยและคนจีนมีความเชื่อว่า เมืองผีกับเมืองมนุษย์เป็นโลกที่ขนานกัน กล่าวคือ โลกของคนตายจำลองแบบโลกของมนุษย์ การจัดอาหารเซ่นไหว้บรรพบุรุษ คนไทยและคนจีนจัดอาหารเซ่นไหว้บรรพบุรุษในรูปแบบสำรับ คนไทยจะตักแบ่งกับข้าว จัดเป็นสำรับเหมือนที่เรากินประจำวัน คนจีนจะจัดไหว้กันเป็นหม้อเป็นชามใหญ่ ๆ , คนจีนเผากระดาษเงินกระดาษทองหรือข้าวของเครื่องใช้ที่เป็นกระดาษไปให้คนตาย เพราะเชื่อว่า คนตายก็เหมือนคนเป็น ต้องกินต้องใช้  คนจีนใช้ ไฟเป็นสื่อหรือบุรุษไปรษณีย์ ในการส่งเงิน บ้าน และเครื่องใช้ต่าง ๆ ไปให้คนตาย ส่วนคนไทยใช้พระภิกษุเป็นบุรุษไปรษณีย์ เป็นคนส่งข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ ไปให้คนตาย ซึ่งน่าจะเป็นคตินิยมที่คิดประดิษฐ์สร้างขึ้นในสมัยหลัง

 

3.ประโยคที่ว่า อากงกูต้องรอด !!!สะท้อนความเชื่อว่า คนตายไม่ได้สูญสลาย คนตายเพียงแต่เดินทางจากไปอยู่อีกโลกหนึ่ง คนเป็นสื่อสารกับคนตายได้ เช่น จุดธูปบอกกล่าวบรรพบุรุษ ว่า ลูกหลานเป็นฝั่งเป็นฝาแล้ว จะขายบ้านที่ดินแล้ว ขอเลขเด็ดวันหวยออก เป็นต้น ในเมื่อโลกของคนเป็นเกิดโรคโควิด-19 ระบาดไปทั่ว โลกของคนตายก็น่าจะประสบปัญหาเดียวกัน และในโลกของคนตาย วิทยาการต่าง ๆ น่าจะช้ากว่าโลกมนุษย์  ส่ง หน้ากากอนามัยกงเต๊ก มาให้ อากงอาม่าที่ล่วงลับ จะได้ใช้ป้องกัน (เพื่อจะไม่ต้องตายซ้ำสอง)

 

          บันทึกแล้วเสร็จวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ณ บ้านริมคลองมอญ”

 



 

//.................

              CR : “ธเนศ เวศร์ภาดา”

//.................