4ข้อ ชี้ชัด ‘กรมบัญชีกลาง-อปท.’ เรียกคืน ‘เบี้ยยังชีพ’ จาก ‘ผู้สูงอายุ’ ไม่ได้ !

4ข้อ ชี้ชัด กรมบัญชีกลาง-อปท.เรียกคืน เบี้ยยังชีพจาก ผู้สูงอายุ ไม่ได้ !

 

         “ปริญญา เทวานฤมิตรกุล” ยก 4 ประการ อธิบายข้อกฎหมาย ชี้ชัด ทำไม “กรมบัญชีกลาง-องค์กรปกครองท้องถิ่น” จึงเรียก “เบี้ยยังชีพ” คืนจาก “ผู้สูงอายุ” ไม่ได้ แนะ เร่งแก้ปัญหา-อย่าทวงเงิน

 

         ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และรองอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืนและบริหารศูนย์รังสิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เผยแพร่ข้อความและรูปภาพ ผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัว “Prinya Thaewanarumitkul” อธิบายข้อกฎหมายว่า ทำไม “กรมบัญชีกลาง-องค์กรปกครองท้องถิ่น” จึงเรียก “เบี้ยยังชีพ” คืนจาก “ผู้สูงอายุ” ไม่ได้ โดยมีเนื้อหา ดังนี้

 

         “ทำไมกรมบัญชีกลาง และองค์กรปกครองท้องถิ่น จึง #เรียกเบี้ยยังชีพคืนจากผู้สูงอายุไม่ได้

 

ตามที่มีการ #เรียกเงินเบี้ยยังชีพคืนจากผู้สูงอายุ โดยเหตุผลว่า ระเบียบกระทรวงมหาดไทยที่ออกใหม่กำหนดว่า ผู้สูงอายุจะได้รับเบี้ยยังชีพต่อเมื่อไม่ได้รับเงินช่วยเหลือในทางอื่น ดังนั้น ผู้สูงอายุรายใดได้รับเงินช่วยเหลือทางอื่นด้วยแล้ว จึงไม่มีสิทธิได้เบี้ยยังชีพอีก เมื่อรับไปแล้วจึง #ต้องคืน โดยจำนวนเงินที่เรียกคืนสูงหลายหมื่นจนเป็นแสนบาทเลยนั้น

 

ผมอ่านข่าวแล้วรู้เลยว่า โดยหลักแห่งความยุติธรรมแล้ว #เรื่องนี้ไม่ถูกต้องแน่ และไม่ใช่เรื่องที่ผู้สูงอายุคุณปู่คุณย่าคุณยายทั้งหลายที่รับเบี้ยยังชีพไปโดยสุจริต และใช้จ่ายในการยังชีพไปแล้วจะต้องคืนเงิน แต่ยังไม่ได้ค้นดูข้อกฎหมาย จนกระทั่งวันนี้มีเวลาไปค้น และจึงขอนำมาเสนอต่อสาธารณะ ดังต่อไปนี้ครับ

 

1.ระเบียบกระทรวงมหาดไทยที่ออกใหม่ในปี 2552 ชื่อ ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2552 ซึ่งข้อ 6 (4) กำหนดว่า ผู้มีสิทธิที่จะได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจะต้อง ไม่เป็นผู้รับสวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์อื่นใดจากหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น ผู้รับเงินบำนาญ เบี้ยหวัด บำนาญพิเศษ หรือเงินอื่นใดในลักษณะเดียวกัน ...ซึ่งหลักเกณฑ์เดิมของกระทรวงมหาดไทย (ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการจ่ายเงินสงเคราะห์เพื่อการยังชีพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2548) ไม่มีข้อกำหนดตรงนี้

 

กรมบัญชีกลางไปเจอตรงนี้เข้า จึงแจ้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งเทศบาล และ อบต. ซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่จ่ายเบี้ยยังชีพให้ผู้สูงอายุ ให้เรียกเงินคืนจากผู้สูงอายุ และโดยที่ระเบียบกระทรวงมหาดไทยฉบับนี้ประกาศใช้วันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ.2552 การเรียกคืนจึงย้อนไปถึงปี 2552 จำนวนเงินที่เรียกคืนจึงสูงหลายหมื่นบาทจนถึงเป็นแสนบาทอย่างน่าตกใจ

 

2.แต่ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการจ่ายเบี้ยยังชีพฯ ปี 2552 นี้ มันมี #บทเฉพาะกาล ซึ่งข้อ 6 เขียนว่า ระเบียบนี้ #มิให้กระทบต่อสิทธิผู้สูงอายุ ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการจ่ายเงินสงเคราะห์เพื่อการยังชีพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2548 ... ที่มีอยู่ก่อนหรือในวันที่ระเบียบนี้ใช้บังคับ และให้ถือว่าผู้สูงอายุดังกล่าวเป็นผู้ได้ลงทะเบียนและยื่นคำขอรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุตามระเบียบนี้แล้ว

 

นั่นหมายความว่า ระเบียบกระทรวงมหาดไทยปี 2552 ใช้กับผู้สูงอายุที่ลงทะเบียนรับเบี้ยยังชีพหลังระเบียบฉบับนี้ประกาศใช้ คือตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2552 เป็นต้นมา ดังนั้น #ผู้สูงอายุที่ลงทะเบียนรับเบี้ยยังชีพก่อนหน้านั้น คือก่อนวันที่ 15 ตุลาคม 2552 แม้จะได้รับสวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์อื่นใดจากหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ก็ยังคงมีสิทธิรับเบี้ยยังชีพต่อไป และดังนั้น #จึงไม่ต้องคืนเงิน ครับ

 

3.แล้วผู้สูงอายุที่ลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2552 เป็นต้นมา ที่ได้สวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์อื่นใดจากหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วยแล้ว จะต้องทำอย่างไร?

 

เรื่องนี้มี #คำพิพากษาศาลฎีกา วางบรรทัดฐานไว้แล้วว่า เป็นเรื่อง #ลาภมิควรได้ ซึ่งหลักตามมาตรา 412 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ คือ #หากเป็นการรับเงินไปโดยสุจริต (คือไม่ทราบเรื่องระเบียบใหม่ปี 2552) #ถ้าใช้เงินนั้นหมดไปแล้วก็ไม่ต้องคืน (ฎ. 10850/2559)

 

ซึ่งเรื่องนี้เป็นแน่ชัดว่า คุณป้าคุณย่าคุณยายรับเงินกันไปโดยสุจริต เพราะจะไปรู้เรื่องระเบียบใหม่ได้อย่างไร ดังนั้น #ถ้าใช้เบี้ยยังชีพหมดไปแล้วก็ไม่ต้องคืนครับ

 

ว่าง่าย ๆ เรื่องนี้ ถ้าถึงศาล องค์กรปกครองท้องถิ่นที่ทวงเงินแพ้แน่นอนครับ

 

อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้เป็นเรื่องเงินของรัฐ ไม่ใช่เรื่องเจ้าหนี้ลูกหนี้ตามกฎหมายแพ่ง รัฐบาลจึงต้องรีบดำเนินการแก้ไขปัญหา ไม่ต้องให้ไปฟ้องร้องกันในศาล

 

4.ประเด็นสำคัญที่สุดที่ผมอยากจะเขียนคือ #คนที่ผิดในเรื่องนี้คือหน่วยงานของรัฐด้วยกันต่างหาก ทั้งกรมบัญชีกลาง และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ไม่ดูระเบียบใหม่ปี 2552

 

และที่น่าจะผิดมากกว่าคือ #กรมบัญชีกลาง ครับ เพราะระเบียบใหม่ประกาศตั้งแต่ปี 2552 #ทำไมจึงเพิ่งมาทวง และที่สำคัญทำไมถึงไปแจ้งให้องค์กรปกครองท้องถิ่นไปเรียกเงินคืนจากผู้สูงอายุ ทั้ง ๆ ที่ผู้สูงอายุรับเงินโดยสุจริต ไม่ได้มีเจตนาจะหลอกเอาเงินจากหน่วยงานของรัฐแต่ประการใด เรื่องนี้เป็นความผิดพลาดของหน่วยงานของรัฐกันเอง ทำไมกรมบัญชีกลางไม่หาทางอื่นในการแก้ปัญหา ทำไมถึงผลักภาระความผิดพลาดของตนไปให้ประชาชนเช่นนี้ ?

 

#สรุปคือ ผู้สูงอายุที่ลงทะเบียนก่อนวันที่ 15 ตุลาคม 2552 #ไม่ต้องคืนเงินเบี้ยยังชีพ ส่วนผู้สูงอายุที่ลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2552 เป็นต้นมา ในเมื่อไม่ทราบเรื่องระเบียบใหม่ปี 2552 จึงเป็นการ #รับเบี้ยยังชีพโดยสุจริตเม่ีอใช้หมดไปแล้วก็ไม่ต้องคืน ครับ #โดยรัฐบาลก็ต้องรีบแก้ปัญหา อย่าให้กรมบัญชีกลางบอกให้ เทศบาล และ อบต.ไปทวงเงินสร้างความทุกข์ให้กับผู้สูงอายุเช่นนี้ครับ”

 

 








//...............

              CR : “Prinya Thaewanarumitkul”

 //................