สายลมเสียงซอ : อานันท์ นาคคง

สายลมเสียงซอ : อานันท์ นาคคง

คิดถึงครูนิมิตร, ครูอุดม และสายลมเสียงซอ 12 บทรำพึง ถึงวรรณกรรมสะท้อนโลกดนตรีไทย

 

- 1 -

          ค่ำแล้ว พระจันทร์เกือบเต็มดวงลอยเด่นขึ้นขอบฟ้า ดาวส่องแสงเปล่งประกายระยิบ บ้านนามีแต่ความเงียบ ชาวบ้านที่กินข้าวกินปลาแล้วพาลูกหลานออกมานั่งรับลมตามนอกชาน สนทนากันพอแก้เหงา บางคนก็จับกลุ่มคุยกันบ้านโน้นบ้านนี้ ใครมีเรื่องอะไรสนุกสนานก็เอามาเล่า พวกเด็กๆ คอยฟังนิทานจากผู้ใหญ่ เกือบทุกบ้านดับตะเกียง คงมีแต่แสงเดือนสว่างนวลสาดแสงไปทั้งทุ่ง

          ทุกคนเคยชินกับความเงียบเหงาอันสงบแบบนี้มานานตลอดชีวิต ไม่มีสิ่งบันเทิงใจใดๆ นอกจากเสียงเพลงจากวงเครื่องสายไทยของครูอุดม มันเป็นเพื่อนแก้เหงาของชาวบ้าน เป็นดนตรีทิพย์เข้าไปเกาะแน่นอยู่ในจิตใจของพวกเขา

          ดนตรีมีเสน่ห์ มีอำนาจดึงดูดหัวใจคนให้เคลิบเคลิ้ม มีความสุขสบายใจ

          เขาไม่ต้องการเสียงปืน เสียงร้องไห้ในยามค่ำคืน

          นอกจากเสียงซอ

 

 

- 2 -

          กี่ปีมาแล้วก็ยากที่จะจดจำ

          เด็กชายคนหนึ่ง ตัวอ้วนกลม เดินต้อยๆตามมารดาไปดูงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติที่คุรุสภา เด็กชายคนนั้นเพิ่งจะเริ่มต้นหัดเรียนหัดเล่นดนตรีไทยไม่นานนัก

          มารดาของเขาซื้อหนังสืออ่านเล่นเล่มเล็กๆเล่มหนึ่งให้เป็นของขวัญ หน้าปกหนังสือเป็นรูปนางฟ้าสีซอสามสาย

          เขาดีใจมาก เมื่อกลับถึงบ้าน เขาได้อ่านหนังสือเล่มนี้ซ้ำแล้วซ้ำอีก เขาเดินทางเข้าไปในโลกของความฝัน ความรัก และความงามของตัวอักษรที่ผู้เขียนได้ถ่ายทอดลงมาในหนังสือเล่มเล็กนั้น

          เขาได้รู้จักกับครูอุดม สุวรรณศิลป์ ครูซอแห่งหมู่บ้านไทยเสรี สาวอุ่นเรือน ขวัญใจหนุ่มบ้านนา ไอ้คล้ามือซออู้ผู้สามารถ ไอ้เขียม จอมเกเร และใครต่อใครอีกมากมายที่เดินทางผ่านเข้ามาในท้องเรื่อง

          ที่สุดของหนังสือเล่มนี้ มีใครคนหนึ่งที่เด็กชายคนนั้นได้จดจำชื่อเอาไว้ในหัวใจตลอดมา

          …. ครูนิมิตร ภูมิถาวร …..

 

 

- 3 -

          หลายปีต่อมา เด็กชายตัวอ้วนเติบโตขึ้นมาในสังคมดนตรีไทย พร้อมกับความรัก ความหลงใหลในเสียงเพลงไทยเดิม เพลงพื้นบ้าน และงานวรรณกรรม เขาได้สัมผัสกับใครต่อใครอีกมากมายในโลกของตัวอักษรที่บอกเล่าเรื่องราวของชีวิต ของความฝัน ผ่านโลกวรรณกรรมและโลกดนตรีไทย

          เขาได้รู้จักกับงานของสุนทรภู่ ครูกวี ที่เล่าเรื่องการผจญภัยของ “พระอภัยมณี” เจ้าชายนักเป่าปี่ ผ่านจินตนาการที่น่าตื่นเต้น และเคลิบเคลิ้มไปกับชั้นเชิงถ้อยคำที่พร่ำพรรณนาเสียงปี่เป็นกลอนไพเราะติดอกติดใจเป็นประตูของความรักในงานกาพย์กลอนที่ชวนให้ก้าวไปเสพความไพเราะของกวีนิพนธ์เรื่องอื่นๆที่สอดแทรกลีลาจังหวะและน้ำเสียงดนตรีเอาไว้ อาทิ ขุนช้างขุนแผน พระลอ มหาชาติคำหลวง

          ต่อมาได้สัมผัสกับงานเขียนสำนวนชาวบ้าน ชีวิตท้องทุ่งของครูก้าน พึ่งบุญฯ นักตีขิม (สาย) ฝีมือดีที่ใครๆรู้จักกันในนามปากกาว่า “ไม้เมืองเดิม” ที่เล่าเรื่องเพลงขลุ่ยรักอมตะของไอ้ขวัญกับอีเรียม ณ ท้องทุ่งแสนแสบ ในนวนิยาย “แผลเก่า” และงานเขียนที่มีกลิ่นอายลูกทุ่งอีกหลายชิ้น

          ได้อ่านเรื่อง “สี่แผ่นดิน” ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช จับใจหนักหนาในตอนที่ผู้เขียนพรรณาลีลาเพลงระนาดที่เจ้าคุณพ่อของแม่พลอยบรรเลงในงานโกนจุกลูกสาวตน เป็นเสียงระนาดที่เล่าด้วยตัวหนังสืองดงามจนชวนให้อยากเรียนอยากเล่นระนาดได้วิเศษดั่งนั้น และเลยพลอยกลายเป็นแฟนหนังสือเล่มอื่นๆของม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ไปโดยปริยาย

          ได้อ่านเรื่องความรักสยองขวัญที่ไอ้โหงด มือกลองร่างพิการ ที่ตัดแขนสาวที่ตนรักเอามาประจุไว้ในกลองใบใหม่ ซึ่งครูมนัส จรรยงค์ ราชาเรื่องสั้นและเป็นผู้ที่รักดนตรีไทยอย่างลึกซึ้งอีกผู้หนึ่งเขียนเล่าไว้ใน “ท่อนแขนนางรำ”

          ได้อ่านชีวิตของพริ้ง พระอภัย นายหนังตะลุงคนเก่งที่ ครูภิญโญ ศรีจำลอง เล่าให้ฟังใน “เลือดตะลุง” รวมทั้งยังได้ติดตามการสู้ชีวิตของหมอแคนขูลูกับบักจ่อยใน “คนเป่าแคน” ที่ครูคำพูน บุญทวี นักเขียนนิยายรางวัลซีไรต์คนแรกสุดมาเล่าเอาไว้ด้วยภาษาซื่อๆ ง่ายๆ

          พอโตขึ้นมาอีกนิด เริ่มสนใจปัญหาบ้านเมือง ได้รู้จักกับโลกดนตรีไทยในแง่มุมที่กว้างขึ้น หันไปลุ่มหลงหนังสือ “มุกหอมบนจานหยก” ที่สุจิตต์ วงษ์เทศ นักเลงเพลงเสภาและนักค้นคว้าโบราณคดีร่วมสมัย เล่าเรื่องปัญหาของวงการดนตรีไทยด้วยทรรศนะใหม่ผ่านนายกองเงิน ผู้ต้องการเห็นปัญญาชนคนรุ่นใหม่ กล้าคิดกล้าทำอะไรสักอย่างกับดนตรีไทยที่เป็นมรดกโบราณดึกดำบรรพ์และจบลงด้วยความไม่รู้สึกรู้สมของปัญญาชนคนรุ่นใหม่นั้นเอง จากเล่มนี้เลยกลายเป็นแฟนหนังสือสุจิตต์ วงษ์เทศ ไปอย่างถาวร

          แล้วยังได้อ่านงานกวีอีกหลายๆ ชิ้นที่ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ กวีรัตนโกสินทร์ ร่ายลำนำเอาไว้ โดยอิงประสบการณ์ชีวิตดนตรีไทย มี “นกขมิ้น” “เพลงนอกวง” “ดีด สี ตี เป่า” “ผงเข้าตา” เป็นอาทิ จวบจนหลงใหลในแนวเพลงดนตรีไทยเพื่อชีวิต “ต้นกล้า” “การะเกด” ที่เนาวรัตน์ และสุจิตต์ ร่วมกันก่อตั้ง สร้างวงดนตรีไทยที่เป็นตัวแทนความรู้สึกของคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ จนถึงขนาดรวมกลุ่มเพื่อนพ้องในวัยเดียวกันให้ดำเนินรอยตาม โดยนำบทกวีของเนาวรัตน์และสุจิตต์มาเป็นหลักในการบรรเลงขับขาน

          อย่างไรก็ตาม เด็กชายตัวอ้วน (ขณะนี้เป็นหนุ่มแล้ว) ก็ยังไม่เคยลืมเลือนหนังสือเล่มเล็กกระดาษเหลืองเก่ากรอบ หน้าปกเป็นรูปนางฟ้า สีซอสามสายซีดจาง ตัวหนังสือหน้าปกแม้จะเลอะเลือนไปตามกาลเวลา แต่ชื่อหนังสือนั้นยังคงดำรงอยู่ในหัวใจส่วนลึกอยู่ชั่วนิรันดร์

        สายลมเสียงซอ

          สายลมเสียงซอ

            สายลมเสียงซอ

              สายลมเสียงซอ

 

 

- 4 -

          อุดมหยิบซอและเครื่องดนตรีชิ้นอื่นๆ ออกมาวางลงบนเสื่อพวกเด็กๆ ล้อมวงเข้ามา

          พวกเด็กๆ หยิบเครื่องดนตรีตามที่ตัวถนัดเข้ามาถือเตรียมเทียบเสียง เอาขลุ่ยเอาระนาดเป็นหลัก

          เป็นเรื่องลำบากมากสำหรับเด็กๆ เมื่อเวลาเทียบเสียง เพราะยังฟังเสียงไม่ค่อยชัดเจน สายซอที่ขันขึ้นขันลงให้กลมกลืนกับเสียงขลุ่ยเสียงซอนั้นต้องอาศัยความชำนาญ ต้องฝึกกันนาน

          กว่าจะเทียบเสียงขึ้นสายกันได้เรียบร้อยต้องเสียเวลาไม่น้อย เพราะสายซอ จะเข้ ขึ้นยังไม่อยู่ตัวมันก็ลดลงไป สีๆไปก็หย่อน ต้องขันใหม่ ครูจึงใจเย็นให้ค่อยๆขึ้นสายดูให้สายมันอยู่ที่ แม้จะกลายเป็นเสียงหนวกหูมากกว่าเสียงไพเราะก็ต้องยอม พวกเด็กยังใหม่นัก ถ้าปล่อยให้เล่นสายหย่อน เขาก็ไม่สามารถจะขึ้นสายให้เสียงกลมกลืนได้ขณะเพลงยังไม่จบ

           “ใช้ได้แล้ว วางเครื่องมือให้เรียบร้อยก่อน ไหว้ครูเสียทุกคน”

           “การมีครูเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการเรียนรู้ทุกสิ่ง เราอาจเรียนรู้อะไรเองได้โดยไม่ต้องมีครู แต่มันได้รับความสำเร็จช้า ต้องลองผิดลองถูก เสียเวลาไปมาก ครูเป็นผู้มีประสบการณ์ รู้กลเม็ด รู้ชั้นเชิง รู้ข้อบกพร่อง รู้อะไรๆ มาก่อนเท่ากับเป็นการเรียนลัด ทำให้เราไม่ต้องเสียเวลามาก เมื่อรู้จากครูเป็นพื้นฐานแล้วเราก็ค้นหากลเม็ดเอาเอง เราจึงต้องไหว้ครูเพราะเหตุนี้ นึกถึงครูทำให้เรามั่นใจ ทำอะไรด้วยความมั่นใจก็ผิดพลาดน้อย” ครูสอนก่อนจะลงมือฝึกซ้อม

           “ครูรู้ว่าทุกคนเล่นคนเดียวได้หลายเพลงแล้ว การเล่นคนเดียวกับการเล่นเป็นวงเป็นคณะไม่เหมือนกัน คนเดียวเราจะสีจะเล่นยังไงก็ได้ ปีนจังหวะผิดวรรคตอนเสียมั่งก็ไม่มีใครเขาว่า ไม่ต้องมีระเบียบแบบแผนอะไร แต่ถ้าเราเล่นเป็นวง มันต้องมีระเบียบ มีท่วงที มีจังหวะ ใครจะเล่นอย่างไรเป็นไปตามกฎเกณฑ์ของเพลงที่เขาวางไว้ เพลงจึงจะไพเราะเรียบร้อย”

           “ก็เหมือนชีวิตคนนั่นแหละ เราไม่ได้เกิดมาอยู่คนเดียว เราต้องอยู่ในสังคมอยู่ร่วมกับคนอื่น เราก็ต้องทำตามกฎเกณฑ์ของสังคม ของบ้านเมือง ทำอะไรตามใจตัวเองไม่ได้ มันทำให้บทเพลงแห่งชีวิตไม่เพราะไม่ราบรื่น บางทีจะกลายเป็นเพลงเศร้าเดือดร้อน เราจะฟังแต่เสียงดนตรีของเราไม่ได้ ต้องฟังของคนอื่นด้วย”

          ครูสอนดนตรีชีวิตควบคู่ไปด้วย เพราะเขาคิดว่าเด็กๆ เหล่านี้จะต้องเติบโตออกไปเป็นคนของสังคมสังคมที่มีสมาชิกที่เป็นคนมีระเบียบวินัย สุขภาพจิตดี ย่อมทำให้โลกร่มเย็นเป็นสุข เขามีความเชื่อมั่นว่า ศิลปะสุนทรีย์เป็นเครื่องกรองคัดเอาคนออกมาจากความเป็นสัตว์เดรัจฉาน

           “เอ้า เล่นเพลงครูก่อน เพลงครูเป็นเพลงที่รวบรวมท่วงทำนองลีลาการใช้นิ้ว ใช้เสียง เป็นการเตรียมพร้อมที่จะเล่นเพลงต่อๆ ไป”

          เสียงเพลงกังวานขึ้น ครูออกไปยืนฟังอยู่ห่างๆ

          เขารู้ว่ายังต้องการเวลาฝึกฝนอีกมาก แต่ก็พอใจที่เด็กๆ เล่นได้ขนาดนี้ ซอด้วง ซออู้ กดนิ้วยังไม่ถูกที่ จะเข้ยังอืดอาด ระนาดเสียงชัดแต่ยังกระโดกกระเดก

          เขาฟังเสียงเพลงพลางมองดูหน้าเด็กๆ อย่างเป็นสุข ทุกคนตั้งใจเล่นอย่างดี ใจจดจ่ออยู่กับบทเพลง เขารู้ว่าขณะนี้เด็กๆ กำลังมีสมาธิ กำลังรวบรวมจิตใจให้แน่วแน่ เขาเชื่อว่าลูกศิษย์เหล่านี้ จะไม่กลายเป็นฆาตกร เป็นภัยสังคมในอีกสิบปี-ยี่สิบปีข้างหน้า เขาจะเป็นคนมีสุขภาพจิตที่ดี ไม่จุดไฟเผาโลกเล่น

 

 

- 5 -

สายลมเสียงซอ

นิมิตร ภูมิถาวร

สำนักพิมพ์บรรณกิจ : 2522

192 หน้า, 10 บาท

 

 

- 6 -

          เมื่อครั้ง ครูนิมิตร ภูมิถาวร ยังมีชีวิตอยู่ในโลกนั้น ชื่อเขาเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่ผู้อ่านที่นิยมงานเขียนสะท้อนภาพชีวิตชนบท ชีวิตชาวบ้านท้องทุ่ง และการศึกษาประชาบาล ผลงานของเขาได้ตีพิมพ์ออกมาขายดิบขายดีเป็นประเภทเรื่องสั้นและนวนิยายจำนวนหลายสิบเรื่อง ตัวอย่างงานที่เคยสร้างชื่อเสียงของครูนิมิตร ได้แก่ สร้อยทอง คนเผาถ่าน แด่คุณครูด้วยคมแฝก เรื่องสั้นชนบท ผู้ใหญ่บ้านกลองยาว และอีกหลายๆ เรื่องที่มิได้เอ่ยถึงในที่นี้ก็ล้วนแต่มีคุณค่าในตัวเองทั้งสิ้น

          น่าเสียดายที่เขามาจบชีวิตไปเสียก่อน ด้วยอุบัติเหตุรถคว่ำเมื่อปี พ.ศ.2524 มิฉะนั้นก็คงจะมีผลงานคุณภาพจากประสบการณ์ชีวิตความเป็นครูสอนหนังสือ ชีวิตที่สัมผัสรสชาติแห่งชนบทซึ่งหล่อหลอมมาเป็นโลกทัศน์ของเขาออกมาสู่ตลาดวรรณกรรมไทยได้อีกมากมาย

          เรื่อง “สายลมเสียงซอ” วรรณกรรมดนตรีไทยในหัวใจของเด็กชายตัวอ้วน เคยเป็นนวนิยายที่ตีพิมพ์ลงในหนังสือฟ้าเมืองไทยรายสัปดาห์ของ อาจินต์ ปัญจพรรค์ มาก่อน โดยใช้รูปแบบของนวนิยายขนาดสั้น ความยาว 14 ตอนจบ ต่อมา สำนักพิมพ์บรรณกิจ ได้จัดพิมพ์เป็นเล่มสมบูรณ์ขึ้นจำหน่าย (หมายเหตุ : ทราบ ว่ามีการพิมพ์อย่างน้อย 2 ครั้งขึ้นไป คือ ฉบับปี พ.ศ.2522 และ พ.ศ.๒๕๒๕ ขณะที่เรียบเรียงต้นฉบับใหม่อยู่นี้คือ พ.ศ.2535 ก็มีการพิมพ์ซ้ำขึ้นมาอีกเพื่อใช้เป็นหนังสืออ่านนอกเวลาชั้นเรียนภาษาไทย)

          ถ้าหากใครเคยผ่านงานเขียนของครูนิมิตร ภูมิถาวร มาบ้าง จะเห็นว่า หากเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับชีวิตชนบทแล้ว ตัวเอกของเรื่องมักจะเป็นครู ผู้คลุกคลีอยู่กับวงนักเลงหรือชาวบ้านในวงสันทนาการลูกทุ่งเคล้าเสียงปืน

          แต่ทว่าหนังสือเล่มนี้ กลับแปลกออกไปจากงานเขียนชิ้นอื่นๆ ของครูนิมิตร (หรือบางทีอาจจะกล่าวรวมไปถึงงานของนักเขียนคนอื่นๆ ในแวดวงวรรณกรรมไทยด้วย) เพราะในเรื่อง “สายลมเสียงซอ” นี้ ครูนิมิตรกลับจินตนาการให้ตัวเอกของเรื่องคือครูอุดม เป็นผู้ที่ฝักใฝ่อยู่กับดนตรีไทย อันเป็นศิลปะประจำชาติของเรา

          นับว่าเป็นเรื่องยากพอสมควรที่ผู้เขียนจะต้องใช้ความละเอียดอุตสาหะเป็นพิเศษในการค้นคว้าเรื่องราวเกี่ยวกับดนตรีไทย เพื่อนำข้อมูลที่ถูกต้องตามหลักการและเหมาะสมกับบรรยากาศ ซึ่งครูนิมิตรก็ได้ใช้ความสามารถและความรู้ของตน ทั้งเสี้ยวส่วนชีวิตที่เคยเป็นครู และเสี้ยวส่วนชีวิตที่เป็นนักดนตรีไทย (ครูนิมิตรเล่นซอด้วง) เพื่อพิสูจน์สิ่งที่น่าท้าทายนั้นออกมาเป็นตัวหนังสือได้อย่างชัดแจ้งเลยทีเดียว

 

 

- 7 -

          เรื่อง “สายลมเสียงซอ” เปิดฉากขึ้นที่หมู่บ้านเล็กๆ ในชนบทแห่งหนึ่ง ชื่อว่า “หมู่บ้านไทยเสรี”

           “…….เป็นบ้านนอกเหมือนบ้านนอกทุกแห่งของเมืองไทย มีทุ่งไร่ทุ่งนากอดแน่นอยู่กับผืนดิน……มีท้องฟ้าอันสดใสกว้างไกล มีดวงดาวสุกแจ่ม……”

          ที่หมู่บ้านแห่งนั้น ครูนิมิตรได้แนะนำเราให้รู้จักกับครูอุดม สุวรรณศิลป์

           “……เกิดมาท่ามกลางเสียงดนตรีธรรมชาติ เสียงขลุ่ย เสียงซอ และเครื่องดนตรีไทย……มีเสียงดนตรีเป็นลมหายใจ มีภาพเขียนศิลปะอมตะติดอยู่ที่ม่านตา ความประณีตแห่งสุนทรียรสเป็นสัจธรรมฝังอยู่ที่หัวใจ เขามองเห็นธรรมะแฝงอยู่ในบทเพลง ความอ่อนน้อม ขันติ เมตตาปราณี ความละอายต่อบาป ซ่อนเร้นเข้ามาในท่วงทำนองเพลงอันไพเราะ เขาค้นพบหนทางการดำเนินชีวิตอันสงบสุข แล้วยังเผื่อแผ่ไปให้เพื่อนพ้องในหมู่บ้านไทยเสรีด้วย……”

          ความสัมพันธ์ระหว่างเสียงเพลงดนตรีไทยของอุดมกับชาวบ้านนี้ นับว่าอยู่ในระดับแน่นแฟ้นทีเดียวเสมอดังส่วนหนึ่งของกันและกัน

           “……มันเหมือนเสียงดนตรีที่ล่องลอยมาจากสรวงสวรรค์ กล่อมให้ผู้ฟังมีความสุขสงบ บางคนนอนฟังหลับฝันดีตลอดทั้งคืน ชาวบ้านมีความสัมพันธ์กับครูอุดมอย่างลึกซึ้งทางเสียงซอ แม้บางคนจะยังไม่รู้จักคุ้นเคยกับเขามากนักทางการพบปะสนทนากัน แต่ก็คุ้นเคยกันทางเสียงเพลง จนสนิทสนมเป็นกันเองด้วยวิญญาณที่ส่งมากระทบกันระหว่างผู้เล่นกับผู้ฟัง…”

 

 

- 8 -

          อุดมขยับคันชักซอออกช้าๆ โปรยนิ้วอันเรียวของเขาลงไปบนสาย เสียงเพลงกังวานขึ้น แผ่วเบาแล้วค่อยๆ แรงขึ้นๆ ถ้าจะบันทึกเป็นตัวโน้ตก็จะได้เสียงสูงต่ำเป็น…มี ซอลซอลซอล โดเรโดลา ซอล มี ซอล เร มี ซอล โดเรโดลา ซอล มี ……

          แล้วเครื่องดนตรีทั้งวงก็รับขึ้นพร้อมกัน เสียงครางกระหึ่ม กังวานออกไปทางเครื่องขยายเสียงได้ยินไปทั่วทั้งหมู่บ้าน คนที่ยังอยู่บ้านหัวใจเต้น รีบแต่งตัวออกจากบ้าน คนที่กำลังเดินทางรีบสาวเท้าให้ถี่ขึ้น

          ทุกคนรู้ว่าดนตรีของครูเริ่มบรรเลงแล้ว เสียงอันไพเราะมีเสน่ห์เข้าไปเขย่าหัวใจชาวบ้าน ประหนึ่งว่ามันมีมืออันอ่อนนุ่มหยอกหยิกหัวใจเล่น

           “วันนี้โหมโรงด้วยเพลงไอยเรศ” ไอ้คล้ามือซออู้มันรู้ตั้งแต่วรรคแรกที่ครูขึ้นเพลง งานแต่งงานครูจะโหมโรงด้วยเพลงไอยเรศ เพราะมันมีลีลาสนุกสนาน แฝงความขลังความศักดิ์สิทธิ์ไว้ด้วยกัน

          จบท่อนสองขึ้นท่อนสาม ไปถึงลูกล้อลูกทะลวง ไอ้คล้าเริ่มวาดลวดลายชั้นเชิงการสีซออู้อย่างเต็มที่ ไม่กลัวจะล้มกลางคันเพราะมีครูถือด้วงเป็นหลัก จะหยอกล้อเล่นลูกแพรวพราวสะบัดสบิ้ง ขึ้นหน้าตามหลัง อย่างไรครูก็ยืนหลักอยู่ได้อย่างมั่นคง พวกที่มาจากในเมืองกินเหล้าฟังเพลงกันอย่างสนใจ เสียงของดนตรีไทยราบเรียบเหมือนกับสายลม เหมาะกับอุปนิสัยใจคนของคนไทย

          ขึ้นท่อนสี่พอถึงลูกล้อ ไอ้คล้าตกใจแทบหยุดหายใจ

          เสียงดังปังนั้น เหมือนเสียงปืน มันมองเห็นทางล่มเหมือนเรือล่มเมื่อจวนถึงฝั่ง ตกใจจนใจสั่น

          สายซอด้วงขาด

 

 

- 9 -

          เรื่องราวของ “สายลมเสียงซอ” นับว่าได้ดำเนินไปจนแทบจะสมบูรณ์ในตนเองเป็นตอนๆ ไปจนครบ 14 ตอน โดยครูนิมิตรผูกเรื่องให้ครูอุดมเป็นตัวเสนอแก่นความคิดสำคัญในตอนต่างๆ มีตัวละครอื่นๆ เข้ามาเป็นองค์ประกอบ ชวนให้เรื่องราวมีชีวิตชีวา และสอดคล้องกับทรรศนะส่วนตัวที่ครูนิมิตรต้องการจะบ่งบอกกับผู้อ่านเป็นระยะๆ

          ดังเป็นที่ทราบกันดีว่า การที่จะนำเอาเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับดนตรีไทยซึ่งเป็นสิ่งสะท้อนความงามประณีตของวัฒนธรรมไทยมากล่าวถึงในรูปของนวนิยายได้นั้น นับว่าเป็นสิ่งที่ยากลำบากสำหรับนักเขียนโดยทั่วไป เพราะส่วนมากมักจะขาดพื้นฐานความรู้ทางดนตรีไทย ขาดความจริงใจที่จะศึกษาหาข้อมูลที่เท็จจริงหรือบางทีผู้รู้ที่เป็นนักวิชาการทางดนตรีบางคนก็ยังไม่สามารถหากลวิธีในการสื่อสารถ่ายทอดโน้มน้าวใจให้คนอ่านเกิดความรู้สึกสนใจและรักใคร่ใยดีในดนตรีไทยขึ้นมาได้ งานวรรณกรรม - งานข้อเขียนเรื่องดนตรีไทยกลับกลายเป็นเรื่องน่าเบื่อพอๆกับทัศนคติของคนรุ่นใหม่ที่มองเห็นว่าเพลงไทยน่าเบื่อ เอียน เลี่ยน ง่วง ดนตรีไทยเป็นเรื่องเชย ล้าสมัย นักดนตรีไทยคือพวกใจแคบ คร่ำครึ

          แต่ทว่า ครูนิมิตร ภูมิถาวร กลับสามารถนำเอาสิ่งละอันพันละน้อยของวงการดนตรีไทย มากล่าวถึงในหนังสือนวนิยายสำหรับเด็กเล่มนี้ได้อย่างไม่เคอะเขิน

          ผลงาน “สายลมเสียงซอ” เป็นสิ่งที่ยืนยันได้ว่า ก่อนที่เขาจะเขียนนวนิยายเรื่องนี้ เขาจะต้องใช้ความวิริยะอุตสาหะ ศึกษาเรื่องราวที่เกี่ยวกับการดนตรีไทยในแง่มุมต่างๆ ทั้งเครื่องดนตรี บทเพลง ชนิดของเพลงและคุณค่าเชิงปรัชญาของดนตรีไทย ครูนิมิตรได้นำความรู้ส่วนต่างๆมาย่อยใหม่ มาปรุงแต่งกลวิธีในการนำเสนอใหม่ ด้วยลีลาของนวนิยายที่สื่อสารไปยังผู้อ่านเยาวชนอีกเป็นจำนวนมากที่ไม่รู้จักหรือไม่รู้สึกอะไรเลยกับความดีงามของดนตรีไทย ซึ่งเรื่องนี้ เราท่านทั้งหลายก็เป็นที่ทราบกันอยู่แก่ใจว่ายากลำบากแค่ไหน

          คงไม่เป็นการเกินเลยนัก ถ้าจะให้การยกย่องว่าหนังสือเล่มนี้ เป็นปรากฏการณ์ที่น่าทึ่งบนกระแสวัฒนธรรมทางวรรณกรรมร่วมสมัย เป็นงานบันทึกคุณค่าภูมิปัญญาไทยลงไปบนหน้ากระดาษแผ่นเล็กๆ ได้อย่างวิเศษ และเป็นศิลปะทางเลือกสำหรับการเข้าสู่โลกดนตรีไทยของเยาวชนคนรุ่นใหม่อย่างน่าชื่นชม

          เราได้รู้จักกับชื่อของบทเพลงไทย(แท้) ซึ่งเป็นเพลงที่นักดนตรีไทยนิยมบรรเลงกันอย่างแพร่หลายจากการติดตามเรื่องราวของครูอุดมและเพื่อนพ้อง อย่างน้อยก็ 23 เพลงด้วยกัน ได้แก่ โหมโรงกระแตไต่ไม้ โหมโรงไอยเรศ โหมโรงครอบจักรวาล ม้าย่อง โหมโรงเยี่ยมวิมาน พม่าห้าท่อน เขมรพวง เขมรโพธิสัตย์ เขมรไทรโยค โสมส่งแสง นาคเกี้ยว แขกบรเทศ สุดสงวน นางครวญ นกขมิ้น พญาโศก ใบ้คลั่ง ลาวดำเนินทราย ลาวกระแซ ลาวดวงเดือน ตับนก ลาวแพน ราตรีประดับดาว ซึ่งในแต่ละเพลงก็มีการบรรยายถึงลีลาทำนอง ถึงคุณค่าของเพลงออกมาด้วยตัวอักษรที่สละสลวย งดงาม บางทีก็แทรกเกร็ดความรู้เล็กๆ น้อยๆ ทางดนตรีออกมาเป็นระยะๆ ให้ผู้อ่านทราบว่า “เพลงเถา” มีลักษณะเป็นอย่างไร “วิธีการจับคันชักซอและการเทียบเสียงซอ”เป็นอย่างไร “การไหว้ครูดนตรีไทย” สำคัญอย่างไร หรือแม้แต่ “ความรู้เรื่องวิธีการสร้างเครื่องดนตรีโดยละเอียด” ในบทที่ 2 ของนวนิยาย ที่ครูอุดมสอนให้เด็กนักเรียนชนบทบ้านนารู้จักทำเครื่องดนตรีเพื่อใช้เล่นกันเอง เป็นข้อมูลที่มีความละเอียดชัดเจนเป็นอย่างยิ่ง

          จุดสำคัญอีกข้อคือ ครูนิมิตรมีกลวิธีในการสื่อความหมายในแง่หลักสุนทรียศาสตร์ของดนตรีไทย ว่ามีผลกระทบต่อพฤติกรรม จิตใจอารมณ์ความรู้สึกของผู้เล่นและผู้ฟังอย่างไร โดยใช้สำนวนที่เรียบง่าย ทำความเข้าใจได้โดยไม่ต้องเสียเวลาถอดรหัสทางภาษาเหมือนที่นักวิชาการปรัชญานิยมขีดเขียนพูดคุยกัน

          สิ่งต่างๆ เหล่านี้จักเกิดขึ้นได้อย่างชัดเจนแจ่มกระจ่าง ก็ต่อเมื่อผู้เขียนได้ผ่านประสบการณ์ดนตรีมาอย่างละเอียดลึกซึ้ง ได้ใช้ชีวิตคลุกคลีอยู่กับโลกดนตรีและโลกของภาษาไทยจริงๆ แล้วนำสิ่งที่ได้รู้ได้เห็นมาเขียนด้วยหัวใจ เขียนด้วยความศรัทธาที่ถ่องแท้และมีจิตสำนึกที่ดีงาม

          นอกจากครูนิมิตร จะบอกกล่าวเล่าเรื่องราวของดนตรีไทยที่เขารักให้ผู้อ่านได้รับรู้แล้ว เขายังมองชีวิตรอบตัวด้วยความลึกซึ้งน่าสนใจ มีการหยิบยกเอาแง่มุมต่างๆ ของชีวิตจริงของผู้คนในสังคมปัจจุบันที่ดำเนินไปด้วยความสับสนวุ่นวาย ความเบียดเบียนและความโลภโกรธหลง มาสะท้อนให้เห็นในชีวิตของตัวละครต่างๆ ที่ครูนิมิตรสร้างขึ้นมาเกี่ยวพันกับครูอุดม ทำให้เรื่องราว “สายลมเสียงซอ” มีเนื้อหาที่เข้มข้นขึ้นตามลำดับ

          ตัวละครเด่นๆ ที่ควรกล่าวถึง นอกจากครูอุดมแล้ว ก็มี

           “อุ่นเรือน” ลูกสาวแสนสวยของมัคทายกผู้ที่มีลมหายใจเป็นวัด เธอเป็นเทพธิดาแห่งท้องนาผู้กำเอาหัวใจของครูอุดมเอาไว้ได้นอกจากบทเพลงและซอที่เขาแสนรัก

           “ไอ้เขียม” หนุ่มอันธพาลประจำหมู่บ้าน ลูกชายเหลือขอของตาขุยและยายแย้ม เศรษฐีเฒ่าเจ้าอารมณ์ ทะเลาะกันวันยังค่ำ จนจิตใจของไอ้เขียมหยาบกระด้างเนื่องด้วยความเป็นผู้ “ไม่มีดนตรีการ ในสันดานเป็นคนชอบคนนัก” ตั้งแต่เล็กจนโต มักพาลหาเรื่องเอากับชาวบ้านเสมอโดยเฉพาะอุดม เพราะมันพึงใจในตัวสาวอุ่นเรือนด้วยเช่นกัน

          อีกคนที่น่ารู้จักคือ “ไอ้คล้า” นักดนตรีหนุ่มเลือดร้อน ลูกศิษย์ของครูอุดมผู้ถ่ายทอดจิตใจกล้าหาญและวิญญาณเสรีเอาไว้ด้วยเสียงซออู้สะท้านทรวง ไอ้คล้าเป็นผู้ร่วมวงดนตรีของครูอุดมและเป็นภาคขยายบุคลิกอีกด้านหนึ่งของนักดนตรีไทย ที่มิใช่เพียงแค่พับเพียบเรียบร้อย มั่นคง สงบนิ่ง ยอมจำนนต่อผลกระทบของสิ่งแวดล้อมที่ไม่เป็นใจให้ดนตรีไทย หากแต่กล้าพอที่จะลุกขึ้นมาตั้งคำถามต่อความไม่ชอบมาพากลต่างๆ น่าสังเกตว่าครูนิมิตรให้อุดมเป็นคนสีซอด้วง (ผู้นำวง-คนยืนเพลง) และไอ้คล้าเป็นคนสีซออู้ (ผู้ตาม-คนขัดล้อโต้เถียง) ทั้งสองซอมีจุดเด่นทั้งน้ำเสียง รูปร่าง และลีลาการบรรเลง ที่ต้องมีการปะทะสังสันทน์ทั้งทางความคิดและพฤติกรรม บางทีก็สอดคล้องสัมพันธ์กัน บางทีก็ขัดแย้งกัน แต่ในที่สุดก็สามารถหาทางบรรจบพบกันได้ในจุดใดจุดหนึ่ง

          นอกจากนี้ก็มีตัวละครอื่นๆ คือ ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ครูใหญ่ แอ๊ว ลุงเชิดมือโทน เด็กชายบุญแต่งเด็กๆ นักเรียนแห่งท้องทุ่ง ฯลฯ เข้ามาช่วยปรุงแต่ง ช่วยเสริมให้เรื่องราวของเสียงดนตรีไทยในหมู่บ้านไทยเสรีมีรสชาติน่าสนใจยิ่งขึ้น

          ในเรื่องของการแสดงออกทางความคิดเห็น การวิพากษ์วิจารณ์ การให้ข้อเท็จจริง และการสะท้อนความรู้สึกนึกคิดส่วนตัว ครูนิมิตรได้ถ่ายทอดสิ่งเหล่านี้ผ่านปากคำและการกระทำของตัวละครต่างๆ ออกมาอย่างน่าฟัง

          ในวงดนตรี ไอ้คล้าถามครูอุดมว่า “อะไรทำให้ครูใจเย็นยังงี้”

           “ก็ดนตรีนี่ไงละ มันสอนให้เรารักดอกไม้ สายลม ผีเสื้อ แมลง และเพื่อนมนุษย์ทั่วโลก เราเป็นเพื่อนร่วมทุกข์ร่วมสุขกัน เราจะไม่เบียดเบียนกัน ผมฟังดนตรีได้ทุกชาติทุกภาษา ดนตรีเป็นภาษาสากลเชื่อมโยงจิตใจของมนุษย์ไม่ให้เช่นฆ่ากัน วันใดถ้าโลกนี้ปราศจากดนตรีและเสียงเพลงก็จะถึงยุคไฟบรรลัยกัลป์ ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกจะดับสูญ…”

          หรือเมื่อคราวที่ครูอุดมยกวงดนตรีชาวบ้านไปบรรเลงในงานแต่งงานลูกสาวกำนัน สายซอ ของเขาเกิดอุบัติเหตุขาดลงไปกลางเพลง พาให้เพลงล่มและวงล้มลงกลางคัน

          ครูนิมิตรเล่าถึงสภาพความรู้สึกในจิตใจของครูอุดมในช่วงนี้ว่า

           “…อุดมหน้าชา หูอื้อไปครู่หนึ่ง เขามองไปทางแขกที่มาจากในเมือง … แสดงว่าเขารู้ว่าเล่นไม่จบเพลง เขาไม่ลงโทษใครนอกจากตนเอง วันนี้ เขาได้คิดว่า การมีพระเอกคนเดียวนั้น อาจเกิดเรื่องเสียหายได้…อยากจะด่าตัวเองให้สาสม ถ้าเขาเป็นผู้บริหาร ก็ผิดหลักวิชาอย่างหนึ่ง การเป็นผู้นำเพียงคนเดียวโดยไม่ฝึกให้คนอื่นนำบ้าง เป็นเผด็จการ เป็นการอวดอ้างแสดงว่าฉันเก่งคนเดียว ถ้าขาดฉันแล้ว บ้านเมืองจะไปไม่รอด เป็นการสกัดกั้นความเป็นผู้นำของคน เขาไม่ภูมิใจเลยที่หลายคนพูดว่าถ้าขาดครูอุดม วงก็ล่ม ซึ่งตีความหมายไปในทางเชิดชูความเก่งของเขา แต่เขาคิดไปในความหมายในทางตรงกันข้ามว่า เขาเป็นนายวงที่เลวมาก ถ้าเป็นเรือ เขาก็ถือหางเสือใช้ไม่ได้ ต้องโดดขึ้นไปให้ตัดหัวแบบพันท้ายนรสิงห์…

          …เขาประมาณค่าตนเองเกินไป หรือไม่ก็ประมาท วันนี้เขาได้บทเรียนอันสูงค่าสำหรับชีวิต เขาไม่สามารถนำวงไปได้ตลอดรอดฝั่งได้เพราะขาดหลักการบริหารงานบุคคล ยึดอำนาจไว้เพียงคนเดียว นี่มันเป็นดนตรีบรรเลง ถ้ามันเป็นดนตรีชีวิต มันคงจะทำความเสียหายให้อย่างไม่น่าให้อภัย…”

 

 

- 10 -

          ในบทที่ 11-12 ครูนิมิตรใช้ครูอุดมเป็นสะพานในการวิพากษ์วิจารณ์ ความขัดแย้ง ความเสื่อมของระบบการศึกษาในโรงเรียนชนบท และระบบราชการส่วนภูมิภาค ที่ดำรงความเก่าแก่อยู่ได้ด้วยความเห็นแก่ตัวเห็นแก่ได้

          และที่สำคัญที่สุดคือ สะท้อนชีวิตครูสอนดนตรีไทย (ธรรมดา) อย่างถึงอกถึงใจ

          ในที่นี้ เป็นการตัดต่อเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับชีวิตครูอุดม - ครูดนตรีไทย (ซึ่งคงจะไม่แตกต่างจากสภาพความเป็นจริงในสังคมปัจจุบันนัก) มาเล่าให้ฟังเป็นบางช่วงๆ

……………………

 

          ครูเล็กๆ อย่างครูอุดม ไม่มีบทบาทในการบริหารโรงเรียนอะไรเลย ทำหน้าที่ผู้ตามที่ดีพยายามทำงานที่ได้รับมอบหมายและงานในหน้าที่ให้ดีที่สุด แต่ก็ยังไม่วายโดนเล่นงานจากครูที่ไม่ค่อยทำอะไรนอกจากพูดติคนอื่น

           “ไอ้ครูคนนี้ก็ดีแต่สีซอ”

          เขาไม่ได้เอาเวลาเรียน เวลาราชการไปสอนดนตรีเด็กเลย ทั้งที่มันก็เข้าไปอยู่ในหลักสูตรได้แต่เกรงว่าคนอื่นจะไม่ยอมรับ จึงสอนเอานอกเวลา

           “ก็ทำเอาหน้าจะเอาสองขั้น”

          เขาโดนโจมตีจากคนปากโป้งบางคน อุดมพอจะมองออกว่าระบบราชการอันเก่าแก่เป็นอย่างไร มันแพร่ขยายไปอยู่ทุกวงการ ต่างทำเพื่อผลประโยชน์ จ้องหาโอกาสกัน หวังกันแต่ความชอบพิเศษเอาจนลืมนึกถึงอาชีพของตน บางคนอยากได้เอาเสียจนหน้าด้าน วิ่งหายศตำแหน่งจนลืมความอาย

……………………

 

           “อำเภอเขาอยากจะได้เด็กเราไปเล่นดนตรีที่อำเภอจะได้ไหม” ครูใหญ่รับบัญชาจากอำเภอมาทำให้พอมองเห็นความสำคัญของอุดมขึ้นบ้างแล้ว

           “ทำไมเขารู้ล่ะครับว่าเด็กเราเล่นได้”

           “อ้าว ก็ครูไม่ได้บอกเขาหรือ” ผู้ช่วยผู้ไม่ค่อยชอบหน้าอุดมมากนักถามขึ้น

          เขาไม่เคยทำอะไรให้ผู้ช่วยครูใหญ่ แต่เขาก็ไม่ได้เข้าไปประจบสอพลอ จึงเป็นเรื่องที่ไม่ถูกใจตามแบบฉบับของข้าราชการ

           “ผมไม่เคยไปคุยอวดใครที่ไหน” เขาตอบเรียบๆ ไม่ได้มีน้ำเสียงแสดงการประจบสอพลอแต่อย่างใดและก็ไม่ได้แสดงอาการเย่อหยิ่งตามนิสัยของเขา

           “เขาคงรู้จากใครก็ได้” ครูใหญ่ตัดบท

           “ผมก็ฝึกคนไปเล่นๆ เอาคนที่ชอบ”

           “เจ้านายเขาอยากให้ไปเล่นงานปีใหม่ ที่ศาลาประชาคม ไหวไหม”  เขารู้ว่าครูใหญ่ต้องไปรับปากเจ้านายมาแล้ว เพราะครูใหญ่เป็นคนไม่ขัดใคร เจ้านายจะเอายังไงก็ครับๆ รับเรื่อย

           “ก็ต้องฝึกซ้อมกันหนักหน่อย เข้าไปเล่นในเมืองเดี๋ยวเสียชื่อโรงเรียน”

           “เป็นอันว่ารับปากได้ใช่ไหม จะได้ไปบอกเจ้านายท่าน”

           “ได้ครับ”

          เขารับปากด้วยความมั่นใจ เพราะเห็นแววเด็กๆ ของเขาแล้วว่าพอจะไปได้ ถึงจะพลาดยังไงก็คงไม่มีใครถือเพราะเป็นเด็ก

          ครูใหญ่ยิ้ม เขาพอจะรู้ว่า มันมีผลทำให้ครูใหญ่พลอยได้หน้าได้ตาด้วยเหมือนกัน ใครเขาไม่รู้จักครูเล็กๆ อย่างอุดมหรอก เขาก็พูดถึงแต่ครูใหญ่นั่นแหละ

……………………

 

           “ของเราแน่ใจไหมอุดม” ครูใหญ่มาขึ้นรถเมื่อทุกอย่างเรียบร้อย ถามถึงเด็กๆ

           “ก็เล่นเท่าที่จะเล่นได้ครับ ซ้อมกันเต็มที่แล้ว”

           “อย่าให้อายเขานะ” ผู้ช่วยครูใหญ่หันไปทำเสียงดุๆกับเด็ก

           “ผมไปคุยไว้มากแล้ว อย่าให้เสียหน้าได้” ครูใหญ่มองหน้าครูผู้ฝึกสอนอย่างไม่แน่ใจ

          ไอ้คล้าแสดงท่าทีไม่พอใจนัก จะพูดอะไรหลายคำ มันไม่เคยเห็นครูพวกนี้มาเยี่ยมเยียนเลยเวลาฝึกซ้อมเห็นแต่ครูอุดมนั่นแหละ มันรู้ว่าการเอาเด็กมาฝึกซ้อมกันบ่อยๆนั้น ครูต้องเสียอะไรบ้าง อย่างน้อยก็ต้องมีของไว้เลี้ยงเด็ก ขนม ข้าวต้ม พวกเครื่องเล่น นอกจากเครื่องมือของครูเองแล้ว พวกสาย ยางสน ชัน อุปกรณ์การเล่นต่างๆ อุดมต้องควักกระเป๋าซื้อ แล้วยังค่ารถที่จะเข้าไปในเมืองวันนี้ ยังไม่รู้เหมือนกันว่าใครจะเป็นคนออกเงิน

……………………

 

          ระยะทางเกือบยี่สิบกิโลเมตรใช้เวลาในการเดินทางเกือบสองชั่วโมง เข้าไปถึงตลาดอำเภอเมื่อเวลาเกือบค่ำ ไปถึงอำเภอ ครูใหญ่กับผู้ช่วยครูใหญ่ก็ลงจากรถเข้าไปรายงานเจ้านายว่าบัดนี้คณะดนตรีไทยของโรงเรียนได้เดินทางมาถึงเรียบร้อยแล้ว

          เจ้านายใจดีกล่าวชมเชย ให้กำลังใจว่าโรงเรียนมีความสามารถให้ความร่วมมือกับทางอำเภอดี ครูใหญ่ยิ้มหน้าบาน ยืนระวังตรง คุยอวดว่า พวกเด็กๆเล่นได้ไม่แพ้ผู้ใหญ่ แต่กลัวจะตื่นเต้นเท่านั้นเพราะว่าเป็นงานแรกและเป็นงานที่ยิ่งใหญ่

………………………

 

…. เสียงผู้ประกาศเชิญชวนผู้มีเกียรติเข้านั่งประจำโต๊ะเริ่มรับประทานอาหาร และแจ้งรายการแสดงคืนนี้

          อันดับแรกเป็นการรำอวยพรปีใหม่ของโรงเรียนในเมือง ผู้แสดงแต่งตัวพร้อมอยู่แล้ว

           “เตรียมตั้งเครื่องให้เรียบร้อย” อุดมสั่งศิษย์

           “เข้านั่งประจำที่ เอายังงี้นะ ถึงเวลา ด้วงขึ้นเพลงครูทันที พอฉากเปิดก็รับพอดี”

          เขาสั่งเสร็จ ก็เข้ามาแอบอยู่หลังฉาก “ไม่ต้องกลัวใคร พวกเธอเป็นศิษย์มีครู” เขาพูดกับลูกศิษย์เป็นประโยคสุดท้าย

………………………

 

          สิ้นเสียงปรบมือกราวใหญ่ เกิดความเงียบขึ้นสักสองสามวินาที……

           “ต่อไปเป็นการแสดงดนตรีไทยของโรงเรียนบ้านไทยเสรี เป็นการแสดงของนักเรียนระดับประถมศึกษา ขอเชิญรับชมและรับฟังได้ ณ บัดนี้”

           “ขึ้น” ครูสั่ง……

          เสียงซอด้วงดังกังวานก่อนที่ฉากจะเปิด แล้วม่านสีแดงสดก็ค่อยๆ รูดออกไปทั้งสองข้าง

……………………

 

          เสียงเพลงไอยเรศจบลงพร้อมด้วยเสียงปรบมืออันกึกก้อง บุญแต่งไม่ยอมเสียเวลา ขึ้นโสมส่องแสง ทอดเสียงให้ผกากับมานีขับร้อง เสียงของเด็กหญิงสดใสราวกับจิ้งหรีด สะกดให้ผู้คนเงียบไปชั่วขณะ เพลงหวานในท่วงทำนองลึกซึ้งในเนื้อร้อง สลับกับการบรรเลงผสมผสานต่อเนื่องกันไป

          ครูยืนยิ้มอยู่หลังฉาก มันเป็นความอิ่มใจที่เขาได้รับเป็นครั้งแรกในชีวิต เขาไม่ต้องการประกาศให้ชาวโลกรู้ว่าเขาเป็นคนปลุกปั้นเด็กเหล่านี้ เขาไม่ต้องการเรียกร้องความเห็นใจจากใคร เสียงเพลงที่กำลังกังวานแหวกบรรยากาศออกไปตามเครื่องขยายเสียง ก้องไปถึงตลาดนั่นแหละเป็นความชื่นใจ เป็นรางวัลสำหรับครูที่เฝ้าฝึกซ้อม ฝึกสอนลูกศิษย์มาเป็นแรมปี ความเหน็ดเหนื่อยเหล่านั้นหายไปหมดแล้ว เงินทองที่เสียไปมันคุ้มค่าของมันแล้ว…

          …ออกลูกหมดแล้ว สีหน้าของลูกศิษย์ยิ้มแย้มกันอย่างสนุก ไอ้คล้าปรบมือยิ้มร่าอยู่ข้าหลัง

……………………

 

          สิ้นเสียงโน้ตตัวสุดท้าย ดูเหมือนโลกหยุดหมุนไปสักหนึ่งวินาที ทุกสิ่งทุกอย่างหยุดหายใจเสียงปรบมืออันยาวนานก็ตามมา ม่านปิด ครูกระโดดเข้ากอดลูกศิษย์

          ผู้ประกาศ ของเชิญตัวแทนโรงเรียนรับรางวัลจากผู้ว่าราชการจังหวัด ครูใหญ่เดินยิ้มร่าออกไปรับ ท่ามกลางเสียงปรบมืออันกึกก้อง

          ครูอุดมพาลูกศิษย์ขึ้นรถ เดินทางกลับบ้าน เขาคำนวณเวลาแล้ว กว่าเด็กทุกคนจะถึงบ้านตัวเองคงไม่น้อยกว่าครึ่งคืน

          สิ้นเสียงปรบมือ สิ้นเสียงเพลง มันก็ยังไม่สิ้นภาระหน้าที่การรับผิดชอบของเขา

 

 

- 11 -

          นอกจากครูนิมิตรจะเสนอข้อเท็จจริงและทัศนคติของตนต่อโลกดนตรีไทยโดยผ่านครูอุดมแล้ว ความคิดคำนึงต่อสังคม ต่อแผ่นดิน ต่อความเป็นไปของชีวิต เขาก็ยังใช้ถ้อยคำที่ลึกซึ้ง ชวนคิด มาขยายประเด็นความคิดเห็นอิสระ พรรณนาออกมาเป็นตัวหนังสือได้เป็นอย่างดี

          ในบทสุดท้าย (14) เขาสรุปความคิดเห็นที่มีต่อสภาวธรรม และแก่นความคิดด้านดุลยภาพในนวนิยายเรื่องนี้ว่า

           “ทุกสิ่งทุกอย่าง เกิดมาเพื่อขัดแย้งกัน ความสุขกับความทุกข์มีมากเท่าๆ กัน ความหอมกับความเหม็นมีเท่าๆ กัน…”

          ครูนิมิตรนำสิ่งที่เป็นทั้งสัญลักษณ์นามธรรม วัตถุธรรม และชีวิตมาประดับเนื้อความ เพื่อเป็นอรรถาธิบายเสริมให้ชัดเจนยิ่งขึ้นว่า อะไรเป็นความขัดแย้งที่กล่าวถึง พร้อมทั้งสอดแทรกการวิพากษ์วิจารณ์เพิ่มเติมด้วยเหตุผลที่น่าฟังสิ่งขัดแย้งที่นำมาพูดถึงในเรื่องราวของการดนตรี เช่น

          เสียงปืน กับ เสียงเพลง

          เหล็ก (ปืนที่ใช้ยิงกัน) กับ เหล็ก (ระนาดเหล็กและฆ้องวง)

          ไม้ชิงชันและไม้ไผ่ (ที่ใช้เป็นอาวุธเข่นฆ่า) กับ ไม้ชิงชันและไม้ไผ่ (ที่ทำขลุ่ย ทำซอ ทำระนาด)

          นอกจากนี้ก็ยังมีเรื่องของการช่วงชิงอำนาจระหว่างผู้นำชุมชน (กำนันกับผู้ใหญ่บ้าน) สมภารกับลูกวัด ครูใหญ่กับครูน้อย การปฏิบัติต่อกันระหว่างข้าราชการและชาวบ้าน พ่อค้ากับลูกค้า ไปจนถึงการทะเลาะเบาะแว้งของไอ้ด่าง (หมาของครูอุดม) กับไอ้มอม (หมาของไอ้เขียม)

          กลการดำเนินเรื่องนั้น มีพัฒนาการจากการพยายามพลิกกลับสถานการณ์ของความเรียบ ความนิ่งไปสู่ความตึงเครียดขึ้นมาฉับพลัน เช่น กรณีของบทที่ 8 ซึ่งครูอุดมพาสาวอุ่นเรือนไปลอยเรือดูนก อุ่นเรือน ชื่นชมในความงามของนกกระยางผัวเมียได้เพียงชั่วครู่ชั่วยาม ไอ้เขียมก็มายิงนกคู่นั้นตายไปต่อหน้าต่อตาพร้อมทั้งขู่จะยิงทั้งสองหนุ่มสาวทิ้งด้วย

          กรณีความขัดแย้งที่พัฒนาอย่างรุนแรงที่สุด ท้ายเรื่องในบทที่ ๑๔ ระหว่างเสียงปืน เสียงทะเลาะวิวาทของครอบครัวไอ้เขียม ความสูญเสีย ซึ่งตัดกันกับเสนาะเสียงซออู้กล่อมราตรีของไอ้คล้า

          ข้อเสนอแนะที่คิดว่าครูนิมิตรต้องการที่จะพูดถึงอีกข้อหนึ่งในนวนิยายเรื่องนี้ คือความพยายามที่จะสื่อให้ผู้อ่านเล็งเห็นมิติที่สัมพันธ์และแตกต่างระหว่างความคิดเรื่อง “จิตนิยม” กับ “วัตถุนิยม”

          แบบแผนและพฤติกรรมของตัวละครที่เป็นตัวแทนฝ่ายจิตนิยมอย่างเด่นชัดเห็นจะเป็น ครูอุดม อุ่นเรือน และพ่อของเธอ (มัคทายก) ซึ่งต่างก็ดำรงชีวิตอยู่กับท้องทุ่งแห่งหมู่บ้านไทยเสรีด้วยความเรียบง่ายและสงบ สันติสุข ส่วนพวกที่เป็นตัวแทนของฝ่ายวัตถุนิยมก็คือ ไอ้เขียม ตาขุย ยายแย้ม กำนัน ครูใหญ่ ที่ดำเนินชีวิตไปกับความลุ่มหลงมัวเมาเงินทอง เกียรติยศ ชื่อเสียง อำนาจ และต่างฝ่ายต่างเล่นละครสวมหน้ากากเข้าหากันอยู่ตลอดเวลา

          อย่างไรก็ตาม แม้ว่าครูนิมิตร จะนำเอาผู้คนเหล่านี้มาสวมบทบาทที่ออกจะชัดเจนเหมือนขาวกับดำ แต่เมื่อมองลึกๆแล้ว ดูเหมือนครูนิมิตรจะต้องการสะกิดให้ผู้อ่านย้อนกลับมามองตัวเองว่า ขณะนี้ เรากำลังดำเนินชีวิตอยู่ในสถานะใด เส้นทางใด สิ่งที่เรากำลังประสพอยู่นั้น เป็นความสุข ความพึงพอใจ ที่แท้จริงแล้วหรือ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ผู้อ่านเท่านั้น ที่จะสามารถให้คำตอบได้โดยการแสวงหาข้อเท็จจริงและหมั่นพิจารณาทำความเข้าใจด้วยตนเอง

          ข้อเด่นอีกด้านหนึ่งที่น่าพูดถึง คือ กลวิธีการใช้ภาษาในการดำเนินเรื่อง การใช้ถ้อยคำพรรณนาและบทสนทนาในนวนิยายเล่มนี้ มีความเรียบง่าย มีน้ำใสใจจริง ตรงไปตรงมา เห็นภาพพจน์อย่างชัดเจน เช่น

          ภาพของอุ่นเรือน สาวชาวนาธรรมดาๆ คนหนึ่งซึ่งมีความแตกต่างไปจากนางเอกนิยายน้ำเน่าเรื่องอื่นๆ หรือต่างจากดาราภาพยนตร์ นักร้องยอดนิยม และนางแบบสุดเซ็กซี่บนปกนิตยสารผู้หญิงทั่วไป

           “…เธอมีมืออันหนาเตอะ น่องขาใหญ่เพราะงานหนัก เสน่ห์ของเธออยู่ที่ใบหน้าและความแข็งแรง มีเสียงที่กังวานแจ่มใสจับใจคนฟัง…เป็นสาวบ้านนาผู้แข็งแรง พร้อมที่จะทำงานหนัก ผิวสีน้ำตาลเกลี้ยงเกลาสะอาด…”

          หรือการบรรยายลักษณะของกระโหลกซออู้ที่สามารถจินตนาการถึงภาพของจริงไปด้วยได้

           “เป็นซอที่ทำมาจากกะลามะพร้าวที่คัดขึ้นมาเป็นพิเศษ กะลาไม่แก่ไม่อ่อนเกินไป เป็นสีเหลืองเข้ม ก้นกะลายุบลงไป มีปีกโค้งขึ้นมาเหมือนหัวช้าง แล้วแหลมงอนขึ้นไปทางที่ทำเป็นก้นซอด้านที่ฝานออกปิดด้วยหนังงูที่ฟอกจนบาง มีก้นเป็นทางระบายลม แกะสลักเป็นลายเทพพนม ประดับลวดลายไทยลายนูน”

          นอกจากจุดเด่นของความเรียบง่ายของภาษาแล้ว การใช้กลวิธีของการเล่นคำที่มีชั้นเชิงน่าฟัง ก็ยังปรากฏให้เห็นด้วยเช่นกัน ตัวอย่างเช่น ตอนที่ครูอุดมคุยกับอุ่นเรือนบนบ้านของเธอ

           “อยากได้ไหม จะให้” อุดมยิ้มให้เธอ

           “ซอคันนี้หรือคะ”

           “คนไหนก็ได้ถ้าอยากได้”

           “มีหลายคันด้วยหรือ” สาวเน้นว่าหลายคันพร้อมสบตาเขา

           “ซอน่ะมีหลายคัน แต่หัวใจมีอันเดียว”

           “เห็นเขาว่าครูรักซอเท่าชีวิต”

           “ต่อไปอาจจะรักอย่างอื่นยิ่งกว่าซอก็ได้”

           “ก็น่าสงสารซอมัน”

 

          หรือคราวที่ไอ้คล้ากับอุดมทราบว่าไอ้เขียมกำลังล่าตัวเขาอยู่เพราะความแค้น

           “พวกไอ้เขียมอาจมาที่นี่ ผมวิ่งกลับไปเอาปืนก่อน ครูอย่าลงบ้านนะ” ไอ้คล้าไม่ไว้ใจ

           “ไม่ต้องไปเอาหรอกปืน เราอยู่บนบ้าน ใครจะมาทำไม”

           “สัตว์ป่ามันไม่กลัวดอกไม้หรอกครับ มันกลัวหนาม” ไอ้คล้าไม่ฟังเสียงวิ่งไปทันใด

          จะเห็นได้ว่าครูนิมิตรมีวิธีการนำเอาสัญญลักษณ์ “สัตว์ป่า” “ดอกไม้” และ “หนาม” เข้ามาแทนตัว “ไอ้เขียม” ที่แสนดุร้าย “คุณธรรม” และ “อาวุธ” ตามลำดับได้อย่างน่าสนใจ

          ในบทสุดท้าย (14) และกระดาษหน้าสุดท้าย

          ดูเหมือนว่าครูนิมิตรจะฝากข้อคิดอะไรบางอย่าง ที่เขาต้องการให้ผู้อ่านได้นำไปขบคิดเอาเองหลังจากติดตามเรื่องราวของการดำเนินชีวิตของครูอุดมและคนอื่นๆในหมู่บ้านไทยเสรีจบลง

          เขาปูพื้นฐานเหตุการณ์ก่อนหน้านี้มาว่า ในค่ำคืนของความเหน็บหนาว ค่ำคืนของความสุขของหนุ่มสาวและค่ำคืนแห่งความสูญเสีย ความตายของครอบครัวไอ้เขียมหลังเสียงทะเลาะวิวาทและเสียงปืน

          ค่ำคืนนั้น ไอ้คล้าทำหน้าที่สีซออู้กล่อมชาวบ้านไทยเสรีและครูอุดม ครูที่มันรักยิ่งกว่าสิ่งใด

          เสียงซออู้ของไอ้คล้า ดำเนินไปจนถึงเพลงลาวดวงเดือน ซึ่งมันถือว่าเป็นเพลงลาของมันจบลง ก็ยังเหลือแต่ ……เสียงลมหนาวกระดิกใบไม้เป็นตัวโน้ตเพลงสามสี่เสียง สลับกับเสียงจิ้งหรีด แมลงและสรรพสัตว์รวมเป็นมหกรรมดนตรีวงใหญ่แห่งโลก… บรรเลงเพลงชีวิตให้ผู้คนเลือกฟัง เลือกเต้นตามจังหวะท่วงทำนองเอาตามชอบใจ…

          …เพลงนี้มีท่วงทำนองแห่งความสุขและความทุกข์ผสมผสานกันไปอย่างละเท่าๆกัน อันเป็นกฎหมายที่ยุติธรรมที่สุดของธรรมชาติ…

          ผู้จัดรายการเพลงประกาศก้องมาจากนรกและสวรรค์ว่า

           “พวกเจ้าจงเลือกเอาเถิด ข้าฯให้ความเสมอภาคและเสรีภาพแก่พวกเจ้าแล้ว”

 

 

- 12 -

          ทุกวันนี้ บทเพลงแห่งชีวิตก็ยังคงดำเนินไปเรื่อยๆ ตามความยาวนานของอายุขัยที่มวลมนุษย์จะพึงมี …ชีวิตมีการก่อเกิด การดำรงอยู่และเสื่อมเป็นไปตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ…

          … ครูนิมิตร ภูมิถาวร ยุติการบรรเลงเพลงชีวิตไปนานแล้ว…

          เหลือไว้เพียงเพลงที่มีคุณค่ายิ่งต่อโลกดนตรีไทย ชื่อ “สายลมเสียงซอ” ซึ่งครั้งหนึ่งเขาเคยขับขานบรรเลงเป็นกำนัลแก่ฟากฟ้าวรรณกรรมและเปิดประตูให้เด็กชายตัวอ้วนคนหนึ่งได้ก้าวเดินเข้าสู่โลกดนตรีไทยด้วยความรักและศรัทธา

          คืนวันผ่านไป

          หนังสือเล่มเก่ากรอบที่มารดาของเด็กชายตัวอ้วนเคยซื้อให้ลูกชายอ่านเป็นรางวัลในการหัดเรียนดนตรีไทยนั้น ได้ผุพังไปตามอายุขัยและสูญหายไปในเวลาต่อมา ไม่ว่าจะไปเที่ยวตามหาจากร้านหนังสือ จากแผงหนังสือสักเท่าใด ก็ไม่เคยเจอะเจอหนังสือเล่มเล็กๆที่มีรูปนางฟ้าแสนสวยสีซอสามสายให้เห็นอีก

          ทุกครั้งที่เด็กชายตัวอ้วนนึกถึงหนังสือเล่มนี้ขึ้นมา ก็คงได้แต่ส่งใจไปคารวะครูนิมิตร ภูมิถาวร นักเขียนนิยายในดวงใจ ผู้ใช้ตัวหนังสือไม่กี่ตัว กระดาษไม่กี่หน้า ในการถ่ายทอดจินตนาการบรรเจิดของตนออกมาด้วยความบริสุทธิ์ใจ และรับผิดชอบต่องานเขียนของตน ต่อดนตรีไทย และต่อสังคมไทยที่ครั้งหนึ่งเขาได้เคยมีชีวิตร่วมอยู่ด้วยนี้เอง

          แม้คืนวันจะผ่านไปนานสักเท่าไร

          ในใจก็ยังหวนคำนึง คิดถึงครูนิมิตร, ครูอุดม และสายลมเสียงซออยู่เสมอ

 

 

*บทความนี้ แต่เดิมเขียนให้ครูภาษาไทยอ่าน เป็นการบ้านวิชาภาษาไทย : บรรณนิทัศน์ สมัยที่เรียนรู้ดนตรีไทยจากคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มกราคม 2528

*ปรับปรุงใหม่ เมื่อเริ่มต้นใช้ชีวิตครูดนตรีที่คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, กรกฎาคม 2535

 

ขอขอบพระคุณ : แม่

และของขวัญชิ้นหนึ่งที่เคยได้รับเมื่อนานมาแล้ว

เป็นหนังสือเล่มเล็ก หน้าปกรูปนางฟ้าแสนสวย สีซอสามสาย

 

 

 

//............................

หมายเหตุ : สายลมเสียงซอ : คอลัมน์ “เสียงโลก เสียงเรา” โดย อานันท์ นาคคง : บางกอกไลฟ์นิวส์

//...........................