“ของขวัญปีใหม่” จากนักดนตรี 10 ชาติอาเซียน ผ่านโลกไร้พรมแดน

สมาชิกวงดนตรี “ซี อาเซียน คอนโซแนนท์” จาก 10 ชาติอาเซียน ร่วมบรรเลงเพลง "Auld Lang Syne" มอบเป็นของขวัญปีใหม่ รำลึกถึงมิตรภาพอันยาวนานของพลเมืองอาเซียน พร้อมส่งกำลังใจให้ทุกคน Let's celebrate new year & remember the long-standing friendships of ASEAN citizens with this traditional folksong "Auld Lang Syne"

 

 

            “อานันท์ นาคคง” ศิลปินศิลปาธร สาขาดนตรี ประจำปี 2562 และ Music Director ของวง “ซี อาเซียน คอนโซแนนท์” (C Asean Consonant) กล่าวถึงคลิปวิดีโอสุดพิเศษนี้ว่า ตั้งใจส่งให้เป็นกำลังใจแก่ทุกคนครับ เป็นการร่วมกันของสมาชิกวง “ซี อาเซียน คอนโซแนนท์”  เพื่อให้ของขวัญผู้คนที่เราไม่จำเป็นต้องรู้จัก ในช่วงเปลี่ยนผ่านเวลา จึงเลยระดมเพื่อนในวงมาช่วยกันทำ

 

 

           “ชวนปุ๊บมาปั๊บ ทั้งที่เป็นช่วงที่ทุกคนหยุดงาน อยู่กับบ้านครอบครัวและยินดีทำโดยไม่มีค่าใช้จ่ายตอบแทนใดๆ แต่เพราะการเคารพนับถือกันจริงๆ ทั้งครูเพลงและเยาวชนอาเซียนที่ใช้ชีวิตร่วมกันมาในรอบสี่ห้าปีนี้ จึงช่วยกันทำให้งานในเวลาจำกัดเกิดขึ้นได้ 

           ผมเลือกเอาเพลง Auld Lang Syne มาเป็นสัญลักษณ์ ด้านหนึ่งอาจจะเป็นเสียงของโลกยุคหลังอาณานิคม แต่มันก็มีความหมายที่ดีในช่วงเวลานี้ งานไม่ยาก อาจจะเพราะทำนองคุ้นเคยกันอยู่แล้ว เนื้อร้องไม่ต้องใช้ก็ได้ ภาษาเป็นเรื่องรุงรัง ให้ตัวเพลงมันเล่าเรื่องของมันเองดีกว่า (เพลง "ออลด์แลงไซน์" มีการนำมาใส่เนื้อร้องภาษาไทย ใช้ชื่อเพลงว่า "สามัคคีชุมนุม")

 

 

           เรียบเรียงเสียงประสานง่ายๆ โดยมอบหมายให้ลูกศิษย์ศิลปากร วัชระ ปลื้มญาติ ทำสกอร์ และ midi ให้วงไปใช้อัดเสียง ผมเป็นคนออกแบบโครงสร้างและจุดสนใจของเพลงว่าตรงไหนจะให้มีอะไรเด่นออกมา บอกไอเดียว่าจะเล่าเรื่องโดยไม่มีภาษากันยังไง เป็นภาษาดนตรีและภาษาภาพด้วย ตรวจการบ้านกันสักวันสองวันก็ส่งงานให้ชาวอาเซียนทำ 

           เป็นการแสดงง่ายๆ ที่ไม่มีการเตรียมซ้อมอะไรกัน มีแต่โน้ตกลางๆ กับเมโทรนอมในหูให้เปิดฟังตอนบันทึก แต่ทุกคนเล่นด้วยความรู้จักหน้าที่ของตนและรู้จักเสียงของเพื่อนในวง เสียงออกมากลมกลืนมาก เหมือนอยู่ในเวทีเดียวกัน มิกซ์เสียงสะดวกกว่าคาดหมาย”

 

 

           ทั้งนี้ในช่วงท้ายของคลิปวิดีโอ ยังได้เชิญ “ครูเพลง” ของแต่ละชาติมาร่วมอวยพรปีใหม่ด้วย โดย “อานันท์ นาคคง” ยังเล่าอีกว่า นักดนตรีจากเมียนมาร์ที่ตั้งใจแต่แรกว่าจะชวนมาร่วมกิจกรรมนี้ด้วยกันคนหนึ่ง ไม่สามารถมาร่วมได้เนื่องจากขณะนี้เป็นผู้ป่วยโควิดและกำลังอยู่ระหว่างรักษา  ขณะที่นักดนตรีเมียนมาร์ที่มาร่วมครั้งนี้ คนหนึ่งบรรเลงส่งมาจากย่างกุ้ง ส่วนอีกคนบรรเลงส่งมาจากจังหวัดสมุทรสาคร จึงตั้งใจส่งเสียงเพลงนี้มอบเป็นกำลังใจให้แก่ผู้ป่วยโควิดที่อยู่ระหว่างการรักษาตัว และมอบแก่คนอื่นๆ ที่ได้ยินเพลงนี้ด้วย

 

 

           “วิดีโอ รับผิดชอบถ่ายกันเอง มือถือของใครของมัน ส่งคลิปมาให้ edit รวมกัน ทุกอย่างเกิดขึ้นรวดเร็วมาก คำว่าโลกไร้พรมแดน มันเหลือเชื่อจริงๆ ขอขอบพระคุณ C ASEAN และ ThaiBav สนับสนุนการดำเนินงานในครั้งนี้ ศิลปินศิลปาธร กล่าวทิ้งท้าย

          ทั้งนี้ บทเพลง Auld Lang Syne ทำนองเดิมและกวีเป็นผลงานของโรเบิร์ต เบิร์นส์ (Robert Burns) ค.ศ. 1788 ตีความใหม่ท้ายปี 2020 โดยอานันท์ นาคคง Anant Narkkong เรียบเรียงเสียงประสานโดย วัชระ ปลื้มญาติ  อำนวยเพลงโดย โมฮัมหมัด ยาซิด ซากาเรีย Mohd Yazid Zakaria (Malaysia) ตัดต่อวิดีโอโดย รังสิยา กองเงิน Rungsiya Kongngoen ออกเผยแพร่สาธารณะวันที่ 1 มกราคม 2021

          นักดนตรี : สุคีรมาน สุกัตโต Sukirman Sugadto (Brunei Darussalem), พิเศษ สารท Peseth Sart (Cambodia), อากุง เอโร เฮอร์นันดา Agung Hero Hernanda (Indonesia), สินทะวง เสงมุนทอง Sinthavong Sengmounthong (Laos PDR), นูร์ เลซัม อาลี Noor Leyzam bin Ali (Malaysia), วาวา ซาน War War San และตาซิน ทวย Thazin Htwe (Myanmar), มาร์วิน ทามาโย Marvin Tamayo (Philippines), นิรันจัน พานดิน Niranjan Pandian (Singapore), กามเทพ ธีระเลิศรัตน์ Kammathep Theeralertrat (Thailand), เลอ ทุย หลิง Le Thuy Linh (Vietnam)

          นักดนตรีสมทบ : ดาดัง สุปรีอัตนา Dadang Supreatna (Brunei), วัชระ ปลื้มญาติ Watchara Pluemyart อานันท์ นาคคง Anant Narkkong (Thailand)

          ครูเพลงอาเซียนร่วมสวัสดีปีใหม่ท้ายเพลง : ดาดัง สุปริอัตนา Dadang Supriatna (Brunei Darussalem), ยศ จันดารา Yos Chandara (Cambodia), ดร.แฟรงกี้ ระเด่น Dr. Franki Raden (Indonesia), ดร.ดวงจำปี วุฒิสุข Dr.Douangchampy Vouthisouk (Laos PDR), โมฮัมหมัด ยาซิด ซากาเรีย Mohd Yazid Zakaria (Malaysia), เนเมียว ออง Ne Myo Aung (Myanmar), รศ.ดร.ลาเวิร์น เดอ ลา เพนญา Assoc. Prof. Dr. Laverne David De La Pena (Philippines), ดร.โจเซฟ ปีเตอรส์ Dr. Joseph Peters (Singapore), โง ชามี Ngo Tra My (Vietnam)

 

..........// 

“อานันท์ นาคคง” ศิลปินศิลปาธร กับเส้นทางของซีอาเซียนคอนโซแนนท์
https://www.bangkoklifenews.com/17124468/อานันท์-นาคคง-ศิลปินศิลปาธร-กับเส้นทางของซีอาเซียนคอนโซแนนท์