รำลึก 26 ธ.ค.2547 ย้อน 16 ปี เหตุการณ์ ‘สึนามิ-ไทย’

รำลึก 26 ธ.ค.2547 ย้อน 16 ปี เหตุการณ์ สึนามิ-ไทย

 

“ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์” ย้อนรำลึก 16 ปี เหตุการณ์โศกนาฏกรรม “สึนามิ-ไทย” 26 ธ.ค.2547 ชี้ บทเรียนราคาแพง ระบุ “สึนามิ” สอนเราว่า ไม่มีอะไรต้านธรรมชาติได้ มากไปกว่าธรรมชาติ คาดหวัง จะไม่ทำผิดอีกครั้งและอีกครั้ง

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์รองคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษและประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  ได้เผยแพร่ข้อความและรูปภาพ ผ่าน เฟซบุ๊กส่วนตัว “Thon Thamrongnawasawat” ร่วมรำลึก 16 ปี เหตุการณ์สึนามิประเทศไทย 26 ธ.ค.2547 โดยมีเนื้อหา ดังนี้

 

“วันนี้ เมื่อ 16 ปีก่อน คลื่นยักษ์โถมเข้าใส่ฝั่งอันดามัน

 

ผมคงเป็นนักวิทยาศาสตร์ทางทะเลน้อยคนที่มีโอกาสขึ้นเฮลิคอปเตอร์สำรวจทั่วชายฝั่ง และได้เขียนเรื่องไว้

 

จึงอยากนำมาฝาก เพื่อนธรณ์ เพื่อเป็นหลักฐาน/ข้อมูลอ้างอิงครับ

 

...

 

ผมเดินทางมาภูเก็ตเพื่อสำรวจอันดามันทางอากาศในช่วงหลังสึนามิ

 

พาหนะของผมจอดรออยู่ เป็นเฮลิคอปเตอร์ขนาดเล็ก

 

หากไม่นับนักบินและช่างเครื่องที่ต้องมีแน่ แมลงปอเหล็กตัวนี้บรรทุกผู้โดยสารได้เพียง 3 ที่นั่ง

 

หลังจากปีนป่ายขึ้นเครื่อง เช็คเข็มขัดว่ารัดแน่น ผมจัดแจงหยิบกล้องคู่มือมาตรวจสภาพ

 

เสียงโรเตอร์ดังหวีดหวิว กระหึ่มก้องจนพูดกันแทบไม่รู้เรื่อง

 

ช่างเครื่องปีนป่ายเข้ามาพร้อมปิดประตู ก่อนชูนิ้วโป้ง ส่งสัญญาณโอเคให้คุณนักบิน

 

เพียงไม่ถึงนาที แมลงปอเหล็กยกลำตัวขึ้นจากพื้นอย่างเชื่องช้า ตั้งลำแล้วมุ่งหน้าเลาะริมฝั่งขึ้นเหนือ

 

เป้าหมายของเราคือเมืองระนอง

 

ผมเปิดหน้าต่างบานเล็กจิ๋ว มองลงไปเบื้องล่าง ยอดต้นมะพร้าวอยู่เพียงไม่ไกล

 

การเดินทางวันนี้ใช้ความสูงประมาณตึกยี่สิบสามสิบชั้นตลอดเส้นทาง

 

นั่นไง...หาดไม้ขาว ถนนโค้งเลียบชายฝั่งทะเล

 

ป่าพรุและป่าชายเลนผืนใหญ่ผืนสุดท้ายของภูเก็ตโผล่ขึ้นมา

 

บริเวณนี้เห็นความเสียหายน้อยมาก เพราะอาคารสิ่งก่อสร้างมีไม่มาก และอยู่ลึกเข้าไปในแผ่นดิน

 

เพียงไม่นาน ผมมาถึงร่องน้ำสารสิน ทะเลที่กั้นขวางระหว่างชายฝั่งพังงากับเกาะภูเก็ต

 

สะพานสารสินทอดตระหง่านเหนือผิวน้ำ  หาดทรายสีทองไล่ยาวเลียบฝั่งทั้งสองด้าน มองเห็นคลื่นใหญ่แตกฟองขาวอยู่ด้านนอกแถวปากร่อง

 

จากสารสินเลาะชายฝั่งขึ้นไปคือตำบลโคกกลอย

 

ชายฝั่งเป็นหาดทรายสีทองเปิดสู่ท้องทะเลกว้าง ยังไม่มีการพัฒนามากนัก

 

นานทีถึงมีถนนตัดตรงเข้ามาแล้วก็สิ้นสุด ไม่มีโรงแรมขนาดใหญ่หรือชุมชนใด

 

พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าชายหาดที่ยังคงเขียวขจี มีทรายขาวปะปนอยู่บ้าง ยังไม่เห็นผลจากคลื่นสึนามิชัดเจน

 

จนเมื่อเข้าสู่เขตอำเภอท้ายเหมือง ชุมชนเริ่มเพิ่มขึ้น

 

ผมเห็นบางจุดกำลังก่อสร้าง มีโรงแรมสองสามแห่งริมฝั่งทะเล

 

จากสภาพพอบอกได้ แม้โดนคลื่นแต่ผลกระทบคงไม่มาก ปัจจุบันคงกำลังอยู่ระหว่างการปรับปรุงซ่อมแซม

 

เพียงไม่นาน เราเข้าสู่เขตอุทยานแห่งชาติหาดท้ายเหมือง

 

ผมได้ข่าวว่าที่นี่เสียหายน้อยมาก เมื่อมองดูจากฟ้า จึงทราบว่าทำไม ?

 

ถนนถูกสร้างให้ห่างจากริมทะเลหลายสิบเมตร มีดงสนต้นไม้ใหญ่คั่นขวาง

 

ถัดจากถนนลึกเข้าไปในแผ่นดินร่วมร้อยเมตร คืออาคารที่มีหมู่ไม้ปกป้องรอบด้าน

 

มองตรงไหนเห็นแต่สีเขียวเหมือนกำแพงกั้นคลื่น

 

ผิดจากชายฝั่งอีกหลายแห่งที่โรงแรมสร้างติดทะเล ต้นไม้ถูกตัดโค่นเพื่อเปิดซีวิว สร้างสระน้ำโล่งโจ้งขึ้นมาแทน

 

ยามเมื่อทะเลโหมกระหน่ำ ความเศร้าจึงเข้ามาเยือน

 

บทเรียนจากหาดท้ายเหมืองได้รับการพิสูจน์แล้ว

 

ในอนาคตหากมีการวางผังเมืองอย่างจริงจัง นี่แหละตัวอย่างชั้นยอด ไม่ต้องไปดูงานที่ไหนให้ไกล

 

เลยจากอุทยานฯ ขึ้นไปทางเหนือ ชายฝั่งเริ่มเปลี่ยนไป

 

แม้ยังเป็นหาดทรายเลียบทะเล แต่ลักษณะชายฝั่งคงทำให้คลื่นโหมกระหน่ำรุนแรง

 

ผมมองเห็นป่าชายหาดผืนใหญ่ ปัจจุบันกำลังแปรสภาพเป็นป่าใกล้ตาย

 

ต้นไม้ล้วนทิ้งใบกลายเป็นสีน้ำตาล ไม่รู้กี่หมื่นกี่แสนต้น ยาวติดต่อกันหลายกิโลเมตร

 

ป่าชายหาดคือทรัพยากรที่ทรงคุณค่า เราเหลืออยู่ไม่เท่าไหร่แล้ว กลับมาตกอยู่ในสภาพย่ำแย่ด้วยสึนามิ

 

หากเราไม่คิดเข้าไปศึกษาให้ถ่องแท้ หาทางช่วยเหลืออย่างจริงจัง โอกาสที่ป่านั้นจะฟื้นตัวคงใช้เวลาเนิ่นนาน

 

ในความจริง...อาจกลายเป็นช่องทางทำให้เกิดการบุกรุก เปลี่ยนแปลงสภาพไปตลอดกาล

 

และนั่นจะเป็นสมบัติของชาติชิ้นสำคัญที่กำลังจะสูญหายไป

 

เฮลิคอปเตอร์บินเข้าเขตป่าชายเลน เป็นป่าผืนแรกที่ผมเห็น นับจากร่องน้ำสารสิน

 

มองไปข้างหน้า ผมเห็นท่าเรือที่คุ้นเคย ทราบทันทีว่าเรากำลังลอยอยู่เหนือท้องฟ้าทับละมุ

 

ชุมชนชายฝั่งอันเป็นจุดเริ่มต้นของการเดินทางสู่หมู่เกาะสิมิลัน และเป็นที่ตั้งของฐานทัพเรือพังงา

 

ผมมีโอกาสเข้ามาสำรวจตั้งแต่คลื่นเพิ่งผ่านไปได้ 2 วัน นับเป็นบริเวณที่ผลกระทบรุนแรงชนิดตกใจ

 

ผมยังมีภาพเรือรบเอียงกระเท่เร่อยู่บนหาดเลนชายฝั่ง พลังของคลื่นนั้นเรียกว่าเหลือเชื่อ

 

มองจากฟ้า ผมพอเห็นร่องรอยความรุนแรงของคลื่น

 

ป่าชายเลนส่วนหนึ่งแหลกยับ เท่าที่ทราบข้อมูล คลื่นถล่มป่าเลนของเราไป 2,000 ไร่ เกือบทั้งหมดเป็นป่าเลนในจังหวัดพังงา

 

จนเข้าสู่ฐานทัพเรือพังงา ยังมีร่องรอยความเสียหายและการปรับพื้นที่เพื่อซ่อมแซม

 

เลยจากทับละมุเพียงไม่ไกล เราผ่านอุทยานแห่งชาติเขาหลัก

 

กัปตันดึงเครื่องขึ้นข้ามเหลี่ยมเขา ฉับพลัน...ภาพเบื้องหน้าปรากฏ

 

สิ่งที่เห็นอยู่คือชายฝั่งที่ได้รับผลกระทบจากคลื่นรุนแรงที่สุด = เขาหลักถึงบ้านน้ำเค็ม

 

หาดที่เคยเต็มไปด้วยโรงแรมและรีสอร์ท ชุมชนและหมู่บ้าน บัดนี้กลายเป็นผืนดินสีน้ำตาลเลี่ยนโล่ง

 

มีเพียงบางโรงแรมที่สร้างอยู่บนเชิงเขารอดจากแรงคลื่น หรือบางตึกที่คงทนอยู่ได้

 

ส่วนใหญ่เหลือเพียงสระว่ายน้ำกับต้นไม้หรอมแหรม

 

เหลือเพียงร่องรอยของถนนเพียงเล็กน้อย พอบอกให้ทราบว่า สมัยก่อนเคยเป็นทางลัดเลาะไปสู่ห้องสุดหรู

 

ยิ่งเฮลิคอปเตอร์บินผ่านไป ผมยิ่งเห็นสภาพแสนเศร้า

 

จะเป็นรีสอร์ทยักษ์ใหญ่หรือบังกาโลเล็กนิดเดียว ล้วนแต่ตกอยู่สภาพคล้ายกัน

 

บางแห่งเป็นซากอาคารที่เคยเป็นพูลวิลล่าคืนละหลายหมื่น มาบัดนี้ให้นอนฟรียังไม่มีคนมานอน

 

อีกบางแห่งผมเคยมานอนแล้ว ยังจำได้เลยว่าเรานอนอยู่หลังไหน บัดนี้กลายเป็นเศษหินเศษอิฐระเกะระกะ

 

ผมเห็นสภาพเช่นนี้ตลอด จากเขาหลักจนถึงแหลมปะการัง นับเป็นพื้นที่เสียหายยับเยิน

 

แม้บางโรงแรมพอรอดอยู่ได้ มองจากฟ้าแล้วอาคารยังอยู่ครบ

 

แต่สภาพของโรงแรมปิดให้บริการ สระน้ำเป็นสีขุ่น พูลบาร์หรือทางเดินทรุดโทรม

 

ผมดูเขาหลักด้วยความเศร้า

 

ผมมาที่เขาหลักหลังจากคลื่นผ่านไปเพียงแป๊บเดียว ยังเห็นภาพความเศร้าและผู้คนที่โดนภัยพิบัติทำร้าย

 

ภาพเหล่านั้นเคยเห็นแต่บนท้องถนน ไม่ชัดเจนในมุมกว้างเหมือนครั้งนี้

 

เราผ่านเขาหลักสู่ตะกั่วป่า จนมาถึงบ้านน้ำเค็ม ตั้งอยู่บนสันดอนทรายปากแม่น้ำ

 

จากตำแหน่งของปากแม่น้ำ จากภาพที่มองเห็น คลื่นส่งผลกระทบกับบริเวณนี้เยอะมาก

 

เกือบจะเรียกได้ว่า กวาดหมดหมู่บ้าน

 

เลยจากบ้านน้ำเค็ม เราเข้าสู่ผืนป่าชายเลนที่แท้จริง

 

เพื่อให้คุณเห็นภาพรวม ชายฝั่งอันดามันเหนือแบ่งเป็น ๒ แบบง่าย ๆ

 

จากภูเก็ตตอนบนจนถึงอำเภอตะกั่วป่า เป็นชายฝั่งเปิดหาดทรายสีทอง

 

จากอำเภอคุระบุรีขึ้นไปทางจังหวัดระนอง จนถึงแม่น้ำกระบุรี เป็นชายฝั่งปิดและกึ่งปิด ส่วนใหญ่เป็นป่าชายเลน

 

ผมกำลังอยู่ในเขตที่สอง อาณาจักรของป่าเลนใหญ่สุดในประเทศไทย

 

จะมีป่าพอทัดเทียมได้คือป่าในอ่าวพังงา

 

สำหรับที่อื่น เมินเสียเถอะ ไม่มีป่าผืนใหญ่ในระดับนี้อีกแล้ว

 

ระดับนี้หมายถึงผืนป่าสุดกว้าง มองเห็นไกลสุดตา

 

จากเชิงเขาจรดชายทะเล เป็นต้นไม้สีเขียวเข้ม แผ่ขยายอาณาเขตรอบด้าน

 

มีคลองคดเคี้ยวผ่าน คล้ายรากไม้ซอกซอนไปทั่ว

 

ความสูญเสียจากคลื่นแถวนี้น้อยมาก แม้บางจุดที่โดนคลื่นเข้าจัง ๆ แต่ไม้โกงกางช่วยกั้นไว้

 

ผมเห็นต้นไม้ล้มราบเข้าไปแค่ 50-60 เมตร หมู่บ้านข้างในปลอดภัย

 

ป่าชายเลนไม่ใช่แค่หล่อเลี้ยงชีวิต

 

ป่าชายเลนยังช่วยชีวิต ผมยืนยันเพราะเห็นมาด้วยตาตนเอง

 

เราพักเครื่องเฮลิคอปเตอร์ที่โรงเรียนกลางอำเภอ

 

การเดินทางในช่วงสุดท้าย เราผ่านสถานีวิจัยของเกษตรศาสตร์ ณ หาดประพาส

 

เรื่องเศร้าเกิดที่นี่ ทำความเสียหายให้มหาวิทยาลัย รวมถึงชีวิตของคนที่ผมคุ้นเคยหลายท่าน

 

หลายสิบชีวิตสูญไปเพราะคลื่นยักษ์ รวมถึงลูกศิษย์ผู้พยายามถ่ายภาพคลื่นเก็บไว้เป็นหลักฐานทางวิทยาศาสตร์

 

เฮลิคอปเตอร์บ่ายหน้าสู่ทะเล เรากำลังข้ามฟากไปเกาะใหญ่ใกล้ชายฝั่ง

 

เป็นเกาะที่เกิดจากการสะสมของทรายในอดีต ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของทะเลไทย

 

ผมเคยมาเกาะพระทองสองสามครั้ง แต่อยู่ชั่ววูบชั่ววาบ

 

ครั้งนี้ได้บินสำรวจทางอากาศ จึงเข้าใจว่าเกาะพระทองมีดีอย่างไร ?

 

สภาพทั่วทั้งเกาะ...สวยแปลก

 

หมายถึงเกาะก่อเกิดจากสันดอนทรายยักษ์ใหญ่ ใช้เวลาเนิ่นนานกว่าจะเป็นเหมือนที่เห็น

 

ระบบนิเวศหลากหลาย ทั้งป่าพรุแหล่งสุดท้ายที่นกตะกรุมทำรังวางไข่ในแผ่นดินไทย

 

ทุ่งหญ้ากว้างเป็นแหล่งอาศัยของกวาง ที่เชื่อว่าเป็นกวางป่าแท้จริง

 

ผมยังเห็นป่าชายเลนชั้นยอด ต้นไม้สวยสมบูรณ์ ที่บ่งบอกได้จากน้ำสีดำในคลองกลางป่า

 

น้ำพวกนี้ไม่ใช่ดำเพราะเน่าเสีย แต่ดำเพราะสารอินทรีย์จากป่าใหญ่ เป็นน้ำที่นำพาธาตุอาหารไปสู่ท้องทะเล

 

จุดสังเกตแสนง่าย คือน้ำดำแต่ใส ผิดจากน้ำในป่าชายเลนส่วนใหญ่ของไทย สีน้ำตาลขุ่น เพราะตะกอนที่เกิดจากผลการพัฒนาชายฝั่ง

 

ร่องรอยความสูญเสียจากคลื่นยักษ์บนเกาะมีน้อยมาก และคงฟื้นคืนในไม่ช้า

 

ผมโบกมืออำลาพระทอง อำลาอันดามันเหนือ

 

ในใจคิดว่า แม้ความเสียหายจะเกิดขึ้นมา ทั้งจากผลกระทบของธรรมชาติและของมนุษย์

 

แต่ชายฝั่งแห่งนี้ยังคงมีของดีเหลืออยู่ ขอเพียงพวกเราเข้าใจ...ก่อนสาย

 

อันดามันเหนือยังเป็นดินแดนที่งดงาม และจะให้ผลประโยชน์ประเมินค่ามิได้ ตลอดชั่วชีวิตของเรา

 

ส่งทอดสืบต่อถึงลูกหลายอีกหลายสิบชั่วอายุคน

 

จงอย่าเกลียดสึนามิ เพราะสึนามิทำให้เราหันมาเหลียวมองธรรมชาติอีกครั้ง

 

สึนามิสอนเราว่า ไม่มีอะไรต้านธรรมชาติได้ มากไปกว่าธรรมชาติ

 

เขื่อนกันคลื่นที่ไร้ค่า ถนนริมหาดที่ปราศจากความหมาย

 

การเปลี่ยนสภาพของพื้นที่ชายฝั่งทะเลอย่างไม่สนใจอดีต

 

มุ่งหน้าแต่จะฟุ้งเฟ้อไปกับอนาคต/ผลกำไร แต่ปราศจากความรักและการอยู่ร่วม

 

สึนามิทำลายสิ่งเหล่านั้นสิ้น

 

สึนามิทำให้เราหันมามองอีกครั้ง

 

ทำไมหมู่บ้านที่สร้างจากไม้โย้เย้ที่อยู่หลังป่าชายเลน จึงไม่มีใครเป็นอะไร

 

ทำไมตึกเรียงเป็นตับแถวป่าตอง โรงแรมยักษ์ที่เขาหลัก ฯลฯ จึงพินาศสิ้น

 

เป็นบทเรียนราคาแพงเหลือหลาย

 

จึงได้แต่หวังว่าเราจะไม่ทำผิดอีกครั้งและอีกครั้ง

 

เราเสียน้ำตามากมายเกินไป มากจนเกินกว่าผลกำไรจากการพัฒนาใด ๆ จะคู่ควร...

 

มอบเรื่องนี้ให้ทุกชีวิตที่จากไป ทุกคนที่ร้องไห้ในวันนั้นและหลังจากนั้น

 

ขอให้ลูกศิษย์และเพื่อน ๆ มีความสุขชั่วกาลนิรันดร์ ณ ที่หนึ่งบนนั้น

 

ผมคิดถึงทุกคนครับ...”

 

 

 

//..................

                CR : Thon Thamrongnawasawat

https://www.facebook.com/thon.thamrongnawasawat

//..................