อนุศิลปะ-วัฒนธรรมฯ วุฒิสภา ลงพื้นที่ตามคืบหน้าฟื้นฟู 'บ้านบอมเบย์ เบอร์มา'

อนุศิลปะ-วัฒนธรรมฯ วุฒิสภา ลงพื้นที่ตามคืบหน้าฟื้นฟู 'บ้านบอมเบย์ เบอร์มา'

 

อนุกรรมาธิการด้านศิลปะและวัฒนธรรมฯ วุฒิสภา นำโดย “เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์” ลงพื้นที่ จ.แพร่ ติดตามความคืบหน้าบูรณะฟื้นฟู 'บ้านบอมเบย์ เบอร์มา' ระบุ ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม ภาคประชาชนตื่นตัว

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 30 ก.ย. - 1 ต.ค.ที่ผ่านมา คณะอนุกรรมาธิการด้านศิลปะและวัฒนธรรม วุฒิสภา นำโดยนายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ประธานคณะอนุกรรมาธิการ พร้อมด้วย นายสมชาย เสียงหลาย , นายประสาร มฤคพิทักษ์ , รศ.ตรีศิลป์ บุญขจร , นายสุทธิพงศ์ ชาญชยานนท์ และคณะที่ปรึกษา ฯลฯ ได้เดินทางไป จ.แพร่ เพื่อติดตามความคืบหน้าการฟื้นฟูโบราณสถาน อาคารศูนย์เรียนรู้ป่าไม้ฯ รับทราบแนวทางการอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรม และประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เกี่ยวกับการอนุรักษ์โบราณสถานสำคัญทางประวัติศาสตร์

 

ทั้งนี้มีผู้เข้าร่วมประชุมจากทุกภาคส่วน อาทิ นายวรญาณ บุญาณราช รองผู้ว่าฯ รักษาราชการแทนผู้ว่าฯ จ.แพร่ , นายเอกชัย วงศ์วรกุล ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดแพร่ (ประธานคณะกรรมการฟื้นฟูโบราณสถานอาคารศูนย์เรียนรู้ป่าไม้ฯ) , นายพิสันต์ จันทร์ศิลป์ วัฒนธรรมจังหวัดแพร่ (เลขานุการคณะกรรมการฟื้นฟูฯ) , นายสายกลาง จินดาสุ สำนักงานศิลปกรที่ 7 เชียงใหม่ , นางสาวสิริกุล เลี้ยงอนันต์ โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดแพร่ , นายโชคชัย พนมขวัญ นายกเทศมนตรีเมืองแพร่ , นายเสรี ทรงศักดิ์ รองนายก อบจ.แพร่

 

นายอิศเรศ สิทธิโรจนกุล ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 (แพร่) , นายธีรวุธ กล่อมแล้ว ประธานภาคีเครือข่ายอนุรักษ์เมืองเก่าแพร่ (กรรมการฟื้นฟูฯ) และหัวหน้าส่วนราชการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชนเชตะวัน ฯลฯ เข้าร่วมประชุมหารือ ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาการอนุรักษ์ต้นน้ำลุ่มน้ำยม จ.แพร่

 





 

ก่อนหน้านี้ ได้เกิดกรณีการรื้ออาคารศูนย์เรียนรู้การป่าไม้ สวนรุกขชาติเชตวัน จังหวัดแพร่ หรือที่รู้จักโดยทั่วไปในชื่อ 'บ้านบอมเบย์ เบอมาร์' โบราณสถานซึ่งเป็นอาคารไม้สักอายุ 127 ปี โดยปรากฏเป็นข่าวอย่างกว้างขวาง ตั้งแต่วันที่ 15 ม.ย.ที่ผ่านมา กระทั่งทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ได้เข้ามาแก้ไขปัญหาและเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้น

 

ทั้งนี้ ในส่วนของคณะกรรมาธิการการศาสนา คุณธรรม จริยธรรม ศิลปะและวัฒนธรรม วุฒิสภา และคณะอนุกรรมาธิการด้านศิลปะและวัฒนธรรมฯ ได้เชิญข้าราชการที่มีหน้าที่รับผิดชอบ , ผู้แทนสมาคม และองค์กรต่าง ๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าชี้แจง ให้ข้อมูล ตลอดจนแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อกระตุ้นให้เห็นคุณค่าทางประวัติศาสตร์ และร่วมกันแก้ไขปัญหาดังกล่าว

 





 

นายอิศเรศ สิทธิโรจนกุล ผอ.สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 (แพร่) กล่าวถึงแนวทางการบูรณะพื้นฟูอาคารศูนย์เรียนรู้การป่าไม้ฯ ว่า จะต้องทำให้มีสภาพใกล้เคียงของเดิมมากที่สุด และเป็นไปในรูปแบบของการบูรณาการร่วมกันทั้งหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง และภาคประชาสังคมในทุกขั้นตอน โดยกรมศิลปากรจะคอยเป็นที่ปรึกษา กำกับดูแลเรื่องการออกแบบอย่างใกล้ชิด และถอดแบบอาคารให้มีสภาพใกล้เคียงและนำของเดิมมาใช้ให้มากที่สุด

 

ทั้งนี้ จะอาศัยข้อมูลเดิมจากหอจดหมายเหตุ ข้อมูลภาพถ่ายเดิมจากภาคประชาชน ซึ่งเมื่อออกแบบเสร็จแล้ว จะทำประชาพิจารณ์ ให้ประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมเสนอความคิดเห็นต่อไป

 

“กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จะเป็นผู้รับผิดชอบงบประมาณ พร้อมสนับสนุนกำลังเจ้าหน้าที่ อุปกรณ์ ในการบูรณะฟื้นฟูอาคาร โดยมีภาคีเครือข่ายภาคประชาชนร่วมทุกขั้นตอน” นายอิศเรศ ระบุ

 

 

ด้าน นายธีรวุธ กล่อมแล้ว ประธานภาคีเครือข่ายอนุรักษ์เมืองเก่าแพร่ กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้น ไม่อยากให้เป็นเพียงกระแส แต่ต้องทำให้เป็นบทเรียน พร้อมเสนอแผนงานโครงการเพื่อพัฒนาสวนรุกขชาติให้สอดคล้องกับการพัฒนาเมืองเก่าแพร่ และพัฒนาอาคารศูนย์การเรียนรู้การป่าไม้ในรูปแบบพิพิธภัณฑ์

 

นายวรญาณ บุญาณราช รองผู้ว่าฯ รักษาราชการ ผู้ว่าฯ จ.แพร่ ระบุว่า จากกรณีที่เกิดขึ้น เราสามารถเปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาส โดยการทำให้ชาวแพร่ร่วมมือร่วมใจ และรวมใจเป็นหนึ่งเดียว ขณะที่ นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ประธานคณะอนุกรรมาธิการ ย้ำว่า การขับเคลื่อนแนวรบด้านศิลปวัฒนธรรม จะสำเร็จได้ ต้องประสานความร่วมมือ 3 ภาคส่วน หรือไตรภาคี นั่นคือ ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม

 

 

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีปัญหาที่เกิดขึ้น ส่งผลให้ประชาชนชาว จ.แพร่ ทุกภาคส่วน ตลอดจนเยาวชนคนรุ่นใหม่ เกิดความตื่นตัวอย่างสูง โดยเล็งเห็นถึงคุณค่าของโบราณสถาน และหันมาสนใจบ้านเก่าหลายแห่ง ที่สมควรได้รับการดูแลอนุรักษ์ไว้

 

//.........................