หลบบ้านเดือนสิบ ‘ยกหฺมฺรับ-ชิงเปรต’

หลบบ้านเดือนสิบ ยกหฺมฺรับ-ชิงเปรต

 

ทำบุญเหอ ทำบุญวันสารท

ยกหฺมฺรับดับถาด ไปวัดไปวา

พองลาหนมแห้ง ตุ๊กแตงตุ๊กตา

ไปวัดไปวา สาเสดเวทนาเปรต...เหอ

 

เสียงเพลงร้องเรือ (กล่อมเด็ก) แว่วขึ้นมาให้ได้ยิน ชวนให้หวนรำลึกถึง งานบุญเดือนสิบ หรือ สารทเดือนสิบ ของ คนคอน ชาวจ.นครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นประเพณีเก่าแก่ ที่สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน

 

ประเพณีสารทเดือนสิบ นับเป็นงานบุญสำคัญของคนใต้ ถือเป็นการทำบุญบรรพบุรุษประจำปีก็ว่าได้ โดยนอกจากจะได้รับอิทธิพลมาจาก อินเดียแล้ว ยังมีที่มาจากความเชื่อทางพระพุทธศาสนาอีกด้วย

 

ความเชื่อที่ว่าก็คือ ในวันแรม 1 ค่ำเดือนสิบพญายมจะปล่อย เปรตจาก ยมโลกให้ขึ้นมาพบกับญาติพี่น้องในเมืองมนุษย์ และจะต้องกลับคืนสู่ ยมโลกในวันแรม 15 ค่ำ เดือนสิบ ตามปฏิทินจันทรคติ

 


หฺมฺรับ เรียงรายในงานบุญเดือนสิบ

 

ลูกหลานที่แยกย้ายไปทำงานหรือไปอยู่ต่างบ้านต่างเมือง จะพากันกลับบ้านในช่วงเดือนสิบ ซึ่งมักจะตรงกับช่วงปลายเดือนกันยายน หรือต้นเดือนตุลาคม เพื่อร่วมในงานบุญอันยิ่งใหญ่นี้

 

ทุก ๆ บ้านจะคึกคักด้วยสมาชิกครอบครัวที่มารวมตัวกันพร้อมหน้า ช่วยกันจัดเตรียมอาหารและสิ่งของสำคัญสำหรับเตรียมงานบุญ โดยถือวันแรม 13 ค่ำ เดือนสิบ เป็น วันจ่าย สำหรับจัดเตรียมขนมสำคัญต่าง ๆ

 

ขนมสำคัญ 5 อย่าง ที่ขาดไม่ได้สำหรับการจัด หฺมฺรับ หรือ สำรับ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของงานบุญเดือนสิบ ประกอบไปด้วย ขนมพอง ขนมลา ขนมบ้า ขนมดีซำ และขนมไข่ปลา ซึ่งมีความหมายแตกต่างกันไป

 


ช่วยกันแยกขนมหลังเสร็จพิธีกรรม

 

ขนมพอง ทำจากข้าวเหนียวนึ่งสุก อัดลงแม่พิมพ์ที่ทำจากหวายรูปทรงเรขาคณิต เช่น ข้าวหลามตัด วงกลม ตากจนแห้ง นำไปทอดจนฟูเป็นแผ่น แทนสัญลักษณ์ เรือ-แพ ที่บรรพบุรุษใช้ข้าม ห้วงมหรรณพ

 

ขนมลา ทำจากแป้งผสมน้ำตาลตะโหนด ใส่ลงในภาชนะเจาะรูเล็ก ๆ ให้เนื้อแป้งไหลลงเป็นสาย ทอดในกระทะร้อน เส้นแป้งสลับกันไปมาจนแป้งสุก ยกขึ้นมาพับเป็นแผ่นสีเหลืองทอง แทน แพรพรรณ-เครื่องนุ่งห่ม

               

ขนมบ้า ทำจากแป้งผสมน้ำตาลตะโหนด ทอดเป็นแผ่นกลม คลุกงา แทนสัญลักษณ์ ลูกสะบ้าที่ใช้ในการละเล่นซึ่งเป็นที่นิยมกันในสมัยก่อน โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลสงกรานต์

 

ขนมดีซำ ทำจากแป้งผสมน้ำตาล รูปทรงวงแหวนคล้ายโดนัท ทอดจนสุกสีเหลืองทอง แทนสัญลักษณ์ของ เงินตราไว้ใช้สอย เพราะเงินสมัยก่อน เป็นเงินเหรียญเจาะรู

 

ขนมไข่ปลาทำจากมะพร้าวทึนทึกผสมน้ำตาล  ปั้นเป็นรูปรียาวคล้ายไข่ปลาช่อน  ชุบแป้งแล้วทอดจนสุก แทนสัญลักษณ์ของ เครื่องประดับ

 

ในอดีต แต่ละบ้านมักจะจัดเตรียมวัตถุดิบสำหรับทำขนมต่าง ๆ ที่ต้องใช้ในการจัด หฺมฺรับ ของตนเอง โดยเฉพาะ ขนมลา นั้น มักจะใช้วิถีลงขันกันหลายครอบครัว แล้วสลับสับเปลี่ยนกันช่วย ทอดลา จนเสร็จ

 

ภาพของโรงครัวเล็ก ๆ ที่ถูกจัดเตรียมขึ้น เพื่อวางกระทะใบใหญ่สำหรับเตรียม ทอดลา เป็นภาพที่เด็ก ๆ ในอดีตยังจดจำ และจดจ้องว่า ลาผืนแรกที่ผสม ไข่แดง ใครจะได้ไปกิน เพราะอร่อยเสียเหลือเกิน

 


วิธีการทอด ขนมลา

 

แล้วกระทะใบเดิม หลัง ทอดลา เสร็จ ก็จะได้ ทอดพอง หรือ ทำ ขนมพองต่อไป

 

ขนมพอง และ ขนมลา ของแต่ละครอบครัว จะถูกแจกจ่ายไปบ้านอื่น ๆ เพื่อขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการทำ หฺมฺรับ ของครอบครัวอื่น อันแสดงถึงน้ำใจไมตรีที่มีต่อเพื่อนบ้านญาติมิตร ในละแวกเดียวกันนั้นด้วย

 

น่าเสียดาย ที่ภาพอดีตเหล่านี้ ปัจจุบันเลือนหายไปมาก จะเหลือก็เพียง วันจ่าย ที่หาซื้อขนมสิ่งของต่าง ๆ จากตลาด ซึ่งพ่อค้าแม่ค้าเตรียมไว้ขาย เมื่อใกล้ถึงวันงานบุญใหญ่ หรือเป็นของขวัญของฝากเท่านั้น

 


ขนมพอง ขนมลา ขนมดีซำ

 

หลังได้สิ่งของและขนมต่าง ๆ ครบถ้วนแล้ว แต่ละบ้านก็จะจัดเตรียม หฺมฺรับ โดยการนำกะละมัง หรือกระบุง มาตั้งแกนด้วยต้นกล้วย ใส่ขนมต่าง ๆ ลงไป ต่อด้วยการขนมพอง ขนมลา วางทับซ้อนตกแต่งให้สวยงาม

 

หฺมฺรับ ในอดีตมักจะมีรูปทรงคล้ายภูเขาทอง ยอดต้นกล้วย และบางครั้งก็อาจประดับด้วยธนบัตร

เพราะท้ายที่สุดแล้ว หฺมฺรับ ของทุกบ้านก็จะ ยกหฺมฺรับ ไปที่วัด เพื่อถวายให้แก่พระภิกษุสงฆ์นั่นเอง

               

วันแรม 15 ค่ำ เดือนสิบ เรียกกันว่า วันหฺมฺรับใหญ่ ลูกหลานจะ ยกหฺมฺรับ และเตรียมสำรับกับข้าวคาวหวานไปทำบุญที่วัด ญาติสนิทมิตรสหายที่ห่างหายกันไปนาน ก็จะมีโอกาสได้พบปะทักทายกันในคราวเดียว

               

ผู้คนคลาคล่ำเต็มศาลาการเปรียญ เสียงพูดคุยโหวกเหวกตามประสาคนใต้เสียงดัง ขณะที่ หฺมฺรับแต่ละบ้านจัดวางเรียงรายอยู่กลางศาลา ภัตตาหารเตรียมถวายจัดวางเป็นระเบียบ เพื่อรอเวลาทำบุญร่วมกัน

               

หลังเสร็จพิธีกรรมทางศาสนาแล้ว หฺมฺรับ ที่จัดมาอย่างสวยงามในตอนเช้า จะถูกแยกส่วนออกอย่างรวดเร็ว เพื่อแยกขนมชนิดต่าง ๆ ไว้รวมกัน สำหรับพระคุณเจ้าได้หยิบใช้สอย ตามแต่เห็นสมควรในวาระต่าง ๆ

               

แต่ละครอบครัวจะแยกขนมส่วนหนึ่ง ไปจัด หลาเปรต หรือ ตั้งเปรต ในบริเวณลานวัด หรือป่าช้าโดยจัดวางเรียงขนมทุกอย่าง ปักด้วยธูปหนึ่งดอก เพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่า เป็นสิ่งของที่จะอุทิศส่งให้ถึงบรรพบุรุษ

               

ทุกคนในครอบครัวจะร่วมกันอธิษฐาน แผ่ส่วนบุญส่วนกุศล ให้แก่บรรพบุรุษ และเจ้ากรรมนายเวร

 

หลังจากนั้นก็จะ ชิงเปรต คือแบ่งกันกินของที่นำมา ตั้งเปรตเพราะเชื่อว่า เป็นกุศลในการกินอาหารเหล่านั้น

 


“ตั้งเปรต” อุทิศให้บรรพบุรุษ

 

หลังเสร็จงานบุญที่วัดแล้ว ก็มักจะพูดคุยทักทาย สอบถามสารทุกข์สุกดิบของกันและกัน เพราะสำหรับคนใต้ งานบุญใหญ่ที่มีโอกาสได้เจอกันพร้อมหน้า คือเดือนห้าบุญสงกรานต์ และเดือนสิบบุญสารทเท่านั้น

 

นอกเหนือไปจากงานบุญที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน และยังคงเป็นประเพณีสำคัญแล้ว ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ยังมีการจัด งานเดือนสิบ ซึ่งเป็นงานรื่นเริง ควบคู่กับ ประเพณีสารทเดือนสิบ อีกด้วย

 

ตามบันทึกทางประวัติศาสตร์ บอกว่า มีการจัด งานเดือนสิบ  มาตั้งแต่ พ.ศ. 2466 จนถึงปัจจุบัน

 


ร้านขาย ตัวหนังตะลุง ในงานเดือนสิบ

 

ก่อนหน้านี้สถานที่จัด งานเดือนสิบคือ สนามหน้าเมือง ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับ กำแพงเมืองเก่า แต่ปัจจุบันได้ย้ายสถานที่ไปจัดยังบริเวณ สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ 84หรือ ทุ่งท่าลาด ซึ่งมีพื้นที่กว้างกว่า

 

นอกจากนั้น ก็มีอีกส่วนหนึ่ง ที่จัดขึ้นในบริเวณ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร ซึ่งเป็นที่ตั้งของ พระบรมธาตุนครศรีธรรมราช สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง และเป็นที่เคารพสักการะของคนใต้

 


พระธาตุนครสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของคนใต้

 

ถึงแม้กาลเวลาจะล่วงเลยไปนานนับร้อยนับพันปี งานบุญประเพณีต่าง ๆ อาจถูกปรับเปลี่ยนเพื่อให้เหมาะสมกับยุคสมัย แต่หัวจิตหัวใจแห่งความกตัญญูรู้คุณของคนใต้ ก็ไม่เคยเสื่อมสูญไปตามกาลเวลา

 

ใกล้บุญเดือนสิบทุกปี เรายังคงเห็นภาพของลูกหลานชาวใต้ เดินทางกลับบ้านเพื่อร่วมงานบุญใหญ่ประจำปี และหลังงานบุญแล้วเสร็จ ก็จะได้ยินเสียงไล่หลังจากผู้หลักผู้ใหญ่ ให้ได้ยินอยู่เสมอ

 

เดือนสิบอย่าลืมหลบบ้าน  ยกหมฺรับชิงเปรต ทำบุญให้ตายายนะลูกหลานเหอ...

 

 

//............................

หมายเหตุ : หลบบ้านเดือนสิบ ยกหฺมฺรับ-ชิงเปรต: คอลัมน์ ลมหายใจเดินทางโดย จตุระคน” (ออนอาร์ต) : บางกอกไลฟ์นิวส์

//...........................