อนุกมธ.ศิลปะ-วัฒนธรรมฯ วุฒิสภา เตรียมระดมสมอง-เสนอแผนฟื้นศิลปวัฒนธรรมยั่งยืน

อนุกมธ.ศิลปะ-วัฒนธรรมฯ วุฒิสภา เตรียมระดมสมอง-เสนอแผนฟื้นศิลปวัฒนธรรมยั่งยืน

 

         เปลี่ยน “วิกฤติ โควิด-19” เป็น “โอกาส” อนุกมธ.ด้านศิลปะและวัฒนธรรมฯ วุฒิสภา จัดระดมสมอง เชิญศิลปิน-ผู้ได้รับผลกระทบในมิติศิลปะ-วัฒนธรรม ร่วมแลกเปลี่ยน “เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์” ระบุ จัดทำ “ข้อเสนอเชิงนโยบาย” พร้อมมาตรการฟื้นฟูเยียวยา เพิ่มพื้นที่สื่อสารด้านศิลปวัฒนธรรม ในระดับยุทธศาสตร์ ปฏิบัติการ และสร้างการมีส่วนร่วม

 

         ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะอนุกรรมาธิการด้านศิลปะและวัฒนธรรม ในคณะกรรมาธิการการศาสนา คุณธรรม จริยธรรม ศิลปะและวัฒนธรรม วุฒิสภา ที่มี นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ เป็นประธานฯ ได้พิจารณาภารกิจสำคัญ อันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) เป็นวาระเร่งด่วน

 

ทั้งนี้ คณะอนุกรรมาธิการฯ ได้วิเคราะห์สถานการณ์ปัจจุบัน และแนวโน้มการดำเนินงานว่า ควรปรับปรุงรูปแบบภายใต้เงื่อนไขอันจำกัด โดยการระดมความคิดความเห็น เพื่อจัดทำแผนดำเนินงานด้านศิลปะและวัฒนธรรมในสถานการณ์ดังกล่าว โดยประธานอนุกรรมาธิการฯ ได้แบ่งผลแห่งวิกฤติเชื้อไวรัสโควิด-19 ออกเป็น 3 ช่วง คือ ช่วงแรก-เผชิญภัย , ช่วงสอง-ผ่อนเพลา และ ช่วงสาม-ผ่านพ้น

 

 

         เป็นที่ทราบกันดีว่า วิกฤติครั้งนี้เกิดขึ้นทั่วโลก เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และรุนแรงจนไม่สามารถตั้งรับได้ทัน ก่อให้เกิดความสูญเสียมหาศาล ทั้งชีวิต เศรษฐกิจ ภาวะจิตใจ การดำรงชีวิตเปลี่ยนไปจากเดิมจนปรับตัวไม่ทัน ถึงกระนั้นก็ต้องอยู่กับมันให้ได้ และช่วยกันประคับประคองกันไป ซึ่งคณะอนุกรรมาธิการฯ ได้ตระหนักในสิ่งนี้ ดังนั้น การปรับตัวให้เข้าสู่ชีวิตปกติวิถีใหม่ (NEW NORMAL) จึงเป็นสิ่งจำเป็น

 

         อย่างไรก็ตาม ความเป็นจริงในปัจจุบัน เริ่มมีการขยับปรับตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้ก้าวทันโลกสมัยใหม่อยู่แล้ว จากการศึกษาข้อมูลพบว่า ภายในปี 2573 ความต้องการทำงานจากที่บ้านจะเพิ่มขึ้น 30 % เนื่องจากกลุ่มคน Gen Z กำลังเข้าสู่ตลาดแรงงานอย่างเต็มตัว และ 64 % ของคนทำงานในปัจจุบัน ระบุว่า พวกเขาสามารถทำงานจากที่ไหนก็ได้ (โดย 71 % ขององค์กรทั่วโลก มีนโยบายการทำงานจากที่บ้านเป็นเรื่องปกติ) แต่การเกิดขึ้นของโควิด-19 กลับกลายเป็น “ตัวเร่ง” ให้การทำงานแบบ Remote Working ซึ่งหนึ่งใน subset นี้คือ “Work From Home” ที่ได้สร้างพฤติกรรมการทำงานผ่านดิจิทัลเต็มรูปแบบ

 

         นับตั้งแต่การระบาดของโควิด-19 ด้านหนึ่งสามารถเห็นการเพิ่มขึ้นของความร่วมมือ หลายฝ่ายแสดงให้เห็นถึงความเป็นหนึ่งใจเดียวกัน การสื่อสารเชื่อมโยงระหว่างรุ่น-คนต่างวัย ระหว่างชุมชน ไปจนถึงระหว่างวัฒนธรรมผ่านแพลตฟอร์มหลากหลายรูปแบบ เพื่อหาทางออกที่เป็นประโยชน์สูงสุดร่วมกันในด้านต่าง ๆ

 

เมื่อเป็นเช่นนี้ ทางออกของปัญหา ที่คณะอนุกรรมาธิการฯ เห็นว่า ควรเร่งดำเนินการ คือ

 

(1) เชิญผู้ได้รับผลกระทบในมิติศิลปะและวัฒนธรรม เข้าร่วมหารือแลกเปลี่ยนทัศนะ

 

(2) จดทะเบียนศิลปินและผู้ได้รับผลกระทบในมิติศิลปะและวัฒนธรรม

 

(3) จัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อส่งต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

 

จากนั้น นำเสนอมาตรการฟื้นฟูเยียวยา สำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์นี้ รวมทั้งเพิ่มพื้นที่การสื่อสารข้อเสนอเชิงนโยบายด้านศิลปวัฒนธรรม ทั้งในระดับยุทธศาสตร์ ปฏิบัติการ และสร้างการมีส่วนร่วม และนำเสนอกรณีศึกษาเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรม ในระดับภูมิภาคและระดับโลก ตลอดจนการสร้างการมีส่วนร่วมกับเครือข่าย กลุ่มเป้าหมาย และประชาชนทั่วไป ผ่านนโยบาย ข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะด้านศิลปวัฒนธรรมเพื่อผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และเกิดผลลัพธ์ที่ดีขึ้น

 

         “ในเบื้องต้น คณะอนุกรรมาธิการฯ มีแนวคิดจะจัดสัมมนา หรือจัดในรูปแบบเวิร์กช็อป โดยเชิญบุคคลผู้เกี่ยวข้อง และกลุ่มองค์กรต่าง ๆ ที่ได้รับผลกระทบเพื่อระดมความคิด และรับฟังความเห็นโดยรอบด้าน เพื่อรวบรวมจัดทำเป็นข้อเสนอเชิงนโยบาย ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดังกล่าวข้างต้นต่อไป ซึ่งการจัดสัมมนาที่ว่านี้ คณะอนุกรรมาธิการฯ จะเป็นเจ้าภาพ จัดให้มีขึ้นในเร็วๆ นี้” นายเนาวรัตน์ ระบุ

 

         สำหรับ คณะอนุกรรมาธิการด้านศิลปะและวัฒนธรรม ในคณะกรรมาธิการการศาสนา คุณธรรม จริยธรรม ศิลปะและวัฒนธรรม วุฒิสภา ที่มี นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ เป็นประธานฯ ได้วางกรอบการทำงานเชิงรุก เพื่อพัฒนาสังคมในทุกมิติด้วยพันธกิจหลัก 6 ด้าน คือ

 

(1) การขับเคลื่อนกฎหมายเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมและวัฒนธรรมร่วมสมัย

(2) การนำทุนทางวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชุมชน ท้องถิ่นและเมือง

(3) การส่งเสริมให้มีการจัดตั้งสถาบันภูมิภาษาและปัญญาแห่งชาติ

(4) การส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ไทย

(5) การส่งเสริมและอนุรักษ์วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์

และ (6) การแก้ไขปัญหาด้านศิลปะและวัฒนธรรม โบราณสถาน โบราณวัตถุ และติดตามประเมินผลการดำเนินงาน

 

นอกจากนี้ ยังพิจารณารับเรื่องร้องเรียน ตลอดจนออกหนังสือเชิญผู้แทนสถาบัน หน่วยงาน องค์กรต่าง ๆ มาให้ข้อมูลหรือชี้แจงในที่ประชุม ซึ่งได้ดำเนินการเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง

 

 

 

//................