Evil Eye แมวดำ และความเชื่อเรื่องโชคลางในตุรกี : ชาครีย์นรทิพย์

ประเทศที่มีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานและมีการหลอมรวมวัฒนธรรมและศาสนาต่าง ๆ จนกลายเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมอย่างแท้จริงเหมือนดั่งเช่น “ตุรกี” การมีความเชื่อเกี่ยวกับโชคลางมากมาย จึงถือได้ว่าไม่ใช่เรื่องแปลก 

          ความเชื่อเรื่องโชคลาง นั้น เป็นสิ่งที่ปรากฏอยู่ในแทบทุกวัฒนธรรมทั่วโลก โดยส่วนใหญ่ มีรากฐานมาจากตำนาน ความเชื่อ ธรรมเนียมปฏิบัติ หรือประเพณีในอดีต เพื่อหาคำตอบสำหรับบางสิ่งบางอย่างที่อาจไม่สามารถตอบหรืออธิบายได้ด้วยตรรกะ เหตุผลทั่วไป รวมถึงหลักคิดทางศาสนาหรือวิทยาศาสตร์ และแลดูเหมือนเป็นปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติ อาทิ ความโชคดี ความโชคร้าย ความบังเอิญ หรือโชคชะตา เป็นต้น หรือบางครั้ง ก็เพื่อที่จะเรียกสติ สร้างขวัญกำลังใจ ความมั่นใจ และความหวัง หรืออาจเพื่อเตือนให้คนรุ่นหลังหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่อันตรายและอาจสุ่มเสี่ยงถึงชีวิต

          หากมองด้วยสายตาของคนรุ่นใหม่ในโลกที่วิวัฒนาการทางวิทยาศาสตร์ล้ำหน้าไปมาก ก็พบว่าบางความเชื่อนั้น ถือได้ว่า เป็นคำแนะนำที่พอมีเหตุมีผลอยู่บ้าง ในขณะที่บางความเชื่อก็แปลกประหลาดจนไม่อาจเข้าใจได้เลยว่า มีที่มาจากไหน แต่กระนั้น ความเชื่อเหล่านี้ บางครั้งก็ฝังลึกลงไปถึงรากของคนในสังคม ซึ่งแม้คนรุ่นใหม่จะไม่ได้ให้น้ำหนักหรือเชื่อเรื่องโชคลางเหมือนคนรุ่นก่อน ๆ แต่ก็ยังอาจทำตามด้วยความเคยชินมากกว่าความเชื่ออย่างงมงาย

          ทั้งนี้ ตุรกี เป็นประเทศที่มีพื้นที่กว้างใหญ่ ทำให้แต่ละพื้นที่และภูมิภาคมีประเพณี และธรรมเนียมปฏิบัติที่หลากหลายและมีความโดดเด่นไม่แพ้กัน แต่ความเชื่อเกี่ยวกับโชคลางที่ชัดเจนและแพร่หลายที่สุดในตุรกี ก็คงไม่พ้น ความเชื่อเกี่ยวกับ นาซาร์ บอนจูก์ (Nazar Bonjuk) ซึ่งเป็นความเชื่อร่วมกันของประชาชนในแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ที่มองว่า สัญลักษณ์ที่มีลักษณะเป็นแป้นกลม ๆ แบน ๆ สีน้ำเงินเข้มและมีวงกลมเล็ก ๆ สีขาวฟ้า เหลือง และดำสลับกันตรงกลาง จนแลเห็นเป็นนัยน์ตาได้ชัดเจน ซึ่งเป็นที่รู้จักโดยทั่วไปว่า นัยน์ตาปีศาจ (Evil Eye) แต่แท้ที่จริง น่าจะเป็นดวงตาแห่งความเมตตา (Benevolent Eye) นั้น เป็นเครื่องลางที่สามารถป้องกันความชั่วร้ายต่าง ๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นความอิจฉาริษยา หรือความคิดร้ายทั้งหมดทั้งปวงได้

          ในตุรกี สามารถหาซื้อนาซาร์ ได้ทุกแห่งหน และมีในทุกรูปแบบ ตั้งแต่ของตกแต่งบ้าน และเครื่องประดับเรือนที่ทุกบ้านต้องมีไว้ ไปจนถึงเครื่องรางที่ทุกคนก็จะพกติดตัวไว้ ไม่ว่าจะในรูปแบบเครื่องประดับ อาทิ สร้อยคอ สร้อยข้อมือ พวงกุญแจ ฯลฯ และกลายเป็นสัญลักษณ์และของฝากจากตุรกีที่ขึ้นชื่อ และเมื่อใดก็ตามที่นาซาร์มีรอยร้าว ก็แสดงว่า ได้ทำหน้าที่ในการป้องกันความโชคร้ายได้แล้ว และเจ้าของจะต้องนำนาซาร์ที่แตกนั้น ไปทิ้งให้ห่างจากบ้านที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ 

 

 

          นอกจากนี้ คนตุรกี มักไม่นิยมพูดถึงความสุขและความโชคดีของตนเอง ทั้งนี้ ก็เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ฟังเกิดการริษยาขึ้นโดยไม่ตั้งใจ ซึ่งนำไปสู่อีกความเชื่อเรื่องโชคลางว่า หากชีวิตกำลังมีความสุข และประสบความโชคดีเป็นอย่างมาก เรียกว่าทำอะไรก็ดีไปหมด เหมือนโชคเข้าข้างตลอดเวลา หากมีใครถามถึง หรือจำเป็นต้องพูดคุยเกี่ยวกับโชคชะตาที่ดีนี้ ก็มีความเชื่อว่า เจ้าตัวควรยกมือขวาขึ้นหยิกหรือดึงติ่งหูขวา และใช้มือขวาเคาะสิ่งที่เป็นไม้ หรือทำจากไม้ สอง - สามครั้ง พร้อมกล่าวคำว่า มาชาอัลลอฮฺ (mashallah) เพื่อเป็นการแสดงความขอบคุณสำหรับสิ่งต่าง ๆ ที่อัลลอฮฺ ทรงประทานให้ และขอให้โชคดีของตนเองดำเนินต่อไป ในขณะที่ การเคาะไม้หรือสิ่งที่ทำมาจากไม้ นั้น มีความเชื่อว่า เป็นการขับไล่ปีศาจ หรือป้องกันไม่ให้ปีศาจได้ยินเกี่ยวกับความโชคดีของเจ้าตัว

          ในส่วนของความเชื่อเรื่องโชคลางในชีวิตประจำวันของตุรกี แม้จะมีคล้ายคลึงกับวัฒนธรรมอื่น ๆ อาทิ การห้ามเดินลอดใต้บันได การห้ามทำกระจกแตก เพราะจะนำโชคร้ายมาให้ถึง 7 ปี ความเชื่อเกี่ยวกับโชคร้ายของหมายเลข 13 หรือความเชื่อว่า การเปิดร่มกันฝนในบ้านหรือในที่ร่มจะนำพามาซึ่งความโชคร้าย แล้ว ตุรกีก็มีความเชื่อที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ อาทิ ความเชื่อเกี่ยวกับหมายเลข 40 ว่า เป็นหมายเลขแห่งความโชคดี โดยตัวเลข 40 นี้ สามารถสืบค้นที่มากลับไปถึงรากฐานความเชื่อจากพระคัมภีร์อัลกุลอาน ซึ่ง อัลลอฮฺได้ทรงประทานแก่ ท่านนบีมูฮัมหมัด ( ศ็อลฯ ) ศาสดาแห่งศาสนาอิสลาม เมื่อท่านอายุ 40 ปี นอกจากนี้ ท่านนบีอีซา (อ.ล.) หรือพระเยซู เคยถือศีลอดอาหารกลางทะเลทราย 40 วัน ในขณะที่ นบีนัวฮ์ (อ.ล.) หรือโนอาห์ ต้องเผชิญกับภัยพิบัติน้ำท่วมโลกครั้งใหญ่ ยาวนาน 40 วัน 40 คืน เป็นต้น

          ความเชื่อเรื่องหมายเลข 40 นี้ ทรงอิทธิพลต่อความเชื่อในมิติต่าง ๆ ของสังคมและวัฒนธรรมออตโตมันและตุรกีในเวลาต่อมาด้วย ดังจะเห็นได้จากการที่วงเมห์เตอร์ (Mehter) หรือวงดนตรีทหารของกองทัพออตโตมัน ประกอบไปด้วยนักดนตรี 40 นาย อีกทั้ง ตามความเชื่อของตุรกี คือ หากดื่มกาแฟตุรกีกับใคร มิตรภาพกับผู้นั้นจะยืนยาว 40 ปี นอกจากนี้ หากมีสิ่งใดที่ปรารถนามากเป็นพิเศษ การท่องความปรารถนาดังกล่าวซ้ำ ๆ 40 หน จะทำให้มันเป็นจริงขึ้นมา และเพื่อเป็นการถือเคล็ดให้ความปรารถนาเป็นจริงดั่งใจแน่ ๆ จึงอาจจะกล่าวย้ำ 41 ครั้ง เป็นต้น

 

 

          สำหรับผู้ที่ทำการค้าขาย ในตุรกีก็มีความเชื่อว่า การค้าขายครั้งแรกของวัน หรือ ซึฟทาห์ (Siftah) นั้น มีความสำคัญมาก และเจ้าของร้านจะปฏิบัติต่อลูกค้าคนแรกของวันอย่างดีเป็นพิเศษ ทั้งนี้ ตามธรรมเนียมดั้งเดิม เมื่อทำการขายของครั้งแรกของวันได้แล้ว พ่อค้า แม่ค้า ก็อาจจะนำเงินดังกล่าววางลงบนพื้น เพื่อเป็นการสื่อเสมือนว่านำเงินไปปลูกเป็นเมล็ดพันธุ์ที่จะผลิดอกออกผลอีกมากมาย และหากขายของได้เป็นธนบัตร พ่อค้า แม่ค้าก็อาจนำธนบัตรไปปัดแก้มทั้งสองข้าง เพื่อเป็นการแสดงความขอบคุณพระเจ้า และขอพรให้การทำมาค้าขายในวันนั้น เป็นไปด้วยดีต่อไป

          พ่อค้า แม่ค้าบางคนจะรับเงินด้วยมือขวาเท่านั้น ซึ่งสะท้อนความเชื่อที่ฝังลึกในหลายสังคมว่า ฝั่งขวามือคือสัญลักษณ์แห่งความโชคดี และฝั่งซ้ายมือคือสัญลักษณ์แห่งความโชคร้าย โดยในตุรกีเองมีความเชื่อที่ให้ความสำคัญกับฝั่งขวามือของมนุษย์เป็นอย่างมาก กล่าวคือ หากต้องการเริ่มต้นวันใหม่ให้โชคดี ก็จะต้องก้าวออกจากเตียงทางฝั่งขวามือโดยให้เท้าขวาแตะพื้นก่อน และการล้างมือก็ต้องล้างมือขวาก่อน ในขณะที่ หากก้าวเข้าไปในห้องทำงานด้วยขาขวาก่อน ก็จะนำความโชคดีมาให้ หรือ หากตาขวากระตุกแสดงว่ากำลังจะมีข่าวดี หรือหากมีเสียงแว่วในหูขวา แสดงว่ามีคนกำลังกล่าวถึงในแง่ดีอยู่ แต่หากมีเสียงแว่วในหูซ้าย แสดงว่ามีคนติฉินนินทาอยู่ หากมือขวามีอาการคัน ก็หมายความว่ากำลังจะรับทรัพย์ แต่หากคันมือซ้ายจะเสียทรัพย์ เป็นต้น

          ความเชื่อเกี่ยวกับความสำคัญฝั่งขวามือนั้น ก็มีรากฐานมาจากคำสอนและการปฏิบัติตนของท่านนบีมูฮัมหมัด (ซ.ล.) ศาสดาแห่งศาสนาอิสลาม เช่นกัน โดยมีบันทึกว่า ท่านสอนให้นอนตะแคงขวา ซึ่งเป็นท่านอนที่ได้ประโยชน์มากที่สุด เพราะอาหารในกระเพาะจะอยู่ในท่านี้ได้ดี เนื่องจากกระเพาะจะค่อนอยู่ทางซ้ายเล็กน้อย ในขณะที่การนอนตะแคงซ้ายบ่อย ๆ จะเป็นอันตราย เพราะอวัยวะต่าง ๆ จะโถมทับหัวใจ นอกจากนี้ ยังมีบันทึกว่า ท่านนบีมูฮัมหมัด (ซ.ล.) สอนให้รับประทานอาหาร และดื่มน้ำด้วยมือขวา เพราะเหล่ามารร้าย หรือ ชัยฏอน รับประทานและดื่มด้วยมือซ้าย ทำให้เป็นที่มาของความเชื่อว่า ตัวแทนของความชั่วร้ายจะนั่งอยู่บนไหล่ซ้ายและตัวแทนแห่งความดีจะนั่งอยู่บนไหล่ขวา

          สำหรับความเชื่อที่เกี่ยวกับสังคมและวัฒนธรรมตุรกีที่น่าสนใจอื่น ๆ อาทิ การงดเว้นการจัดพิธีแต่งงานระหว่างช่วงไบรัม หรือเทศกาลทางศาสนาสองเทศกาล โดยในพิธีแต่งงานของตุรกี นั้น แต่เดิมมีธรรมเนียมที่ในระหว่างพิธีแต่งงานนั้น เจ้าสาวจะพยายามเหยียบเท้าเจ้าบ่าว ทั้งนี้ ก็เพื่อเป็นการแสดงว่า เจ้าสาวจะเป็นผู้มีอำนาจในบ้าน ซึ่งก็คงจะสอดคล้องกับความเชื่อของไทย ที่ตกทอดจากรุ่นสู่รุ่นเกี่ยวกับการตักบาตรในวันแต่งงานว่า เจ้าบ่าวหรือเจ้าสาวผู้จับที่ยอดหรือคอทัพพี จะได้เป็นใหญ่ในบ้านเหนืออีกฝ่ายหนึ่ง

          ทั้งนี้ ในงานแต่งงานของตุรกีในบางพื้นที่ เมื่อเจ้าบ่าว เจ้าสาวเดินทางเข้าไปในที่พักแล้ว จะมีการนำแก้วชาตุรกีมาโยนให้แตก เพื่อเป็นสัญลักษณ์ในการกีดกันไม่ให้คนที่ไม่ปรารถนาดีเข้ามาในบ้าน อีกทั้งสกัดกั้นเหล่ามารร้ายด้วย นอกจากนี้ เมื่อเจ้าสาวเข้าไปในบ้านใหม่ ก็จะมีญาติมิตรนำเด็กมาวางลงบนตักของเจ้าสาว หรือนำเด็กมาให้เจ้าสาวอุ้ม โดยเชื่อกันว่า หากเป็นเด็กผู้ชาย ก็เชื่อว่า จะมีลูกชาย หรือถ้าเป็นเด็กผู้หญิง ก็จะได้ลูกสาว เป็นต้น ในขณะที่ ในงานแต่งงานในบางพื้นที่จะมีการเขียนชื่อของสาว ๆ คนอื่น ๆ ไว้ใต้รองเท้าของเจ้าสาว และเชื่อกันว่า เมื่อเสร็จพิธีแต่งงานแล้ว ชื่อของใครยังไม่เลือนจางหายไปหลัง ผู้นั้นจะได้แต่งงานเป็นคนถัดไป

 

ภาพจากเว็บไซต์ turkeyhomes.com

 

          นอกจากความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องพิธีแต่งงานแล้ว ตุรกีก็มีความเชื่อเกี่ยวกับการตั้งครรภ์และเด็กทารกไม่น้อยเช่นกัน อาทิ หากว่าที่คุณแม่ รับประทานไข่ระหว่างตั้งครรภ์ เด็กจะเติบโตขึ้นมาเป็นเด็กซน หรือ หากว่าที่คุณแม่ อยากกินแต่ของหวาน จะได้ลูกชาย และหากอยากทานแต่อาหารรสเปรี้ยว จะได้ลูกสาว แต่หากว่าที่คุณแม่ไม่ได้กินสิ่งที่อยากกินในช่วงตั้งครรภ์ ลูกที่เกิดมาจะมีปานเป็นรูปสิ่งนั้นบนร่างกาย

          ในการนี้ เมื่อทารกคลอดออกมาแล้ว ก็มีความเชื่อว่า ถ้าเด็กกำมือแน่น แสดงว่า โตขึ้นมาจะเป็นคนขี้เหนียว และหากอยากให้เด็กเดินเร็ว ก็ควรจะจูบที่ใต้ฝ่าเท้า หากอยากให้พูดเร็วก็ควรจูบที่ปาก แต่ไม่ควรจูบที่ท้ายทอย เพราะจะทำให้เป็นเด็กดื้อรั้น ในขณะเดียวกัน ถ้าเป่าลมใส่ปากเด็กแรกเกิด จะทำให้เด็กคนนั้น โตขึ้นมา มีบุคลิกเป็นคนอารมณ์ดี หรือหากนำดินสอไปให้เด็กแรกเกิดถือ จะทำให้เด็กโตขึ้นมีความสุข และประสบความสำเร็จในการเรียนหนังสือ ต่อมา เมื่อเด็กโตขึ้น ก็มีความเชื่อว่า ไม่ควรปล่อยเด็กทารกไว้ตามลำพัง แต่หากจำเป็นจริง ๆ ก็จะนำไม้กวาดมาวางข้าง ๆ เตียงของเด็ก

          นอกจากนี้ ยังมีความเชื่อว่า ห้ามกระโดดข้ามเด็ก มิเช่นนั้น เด็กจะตัวเตี้ย และห้ามเด็กเดินลอดใต้บันใด เพราะจะตัวเตี้ยตลอดไปเช่นกัน ส่วนเด็กผู้ชายดื่มกาแฟตุรกีตั้งแต่เล็ก ๆ จะโตขึ้นโดยไม่มีหนวดเครา ในขณะที่ มีความเชื่อว่า หญิงสาวที่คลอดลูกแล้ว ควรต้องเก็บตัวอยู่ในบ้าน เป็นเวลา 40 วัน เพื่อป้องกันตนเองให้หลุดพ้นจากอิทธิพลของสิ่งชั่วร้าย ซึ่งอาจจะมีพื้นฐานมาจากหลักการทางสังคมในอดีตที่พยายามจะให้คุณแม่มือใหม่พักฟื้นหลังการคลอด

          นอกจากนั้น ในยุคโบราณ มีความเชื่อด้วยว่า รก นั้น เป็นสายเชื่อมต่อที่ให้ชีวิตกับเด็กในท้อง จึงไม่ควรจะโยนทิ้งไปเสีย แต่ควรนำไปฝังในที่เหมาะสม เช่น หากนำไปฝังในสถานที่ที่มีความสำคัญทางศาสนาจะทำให้เด็กโตขึ้นมาเป็นเด็กที่มุ่งมั่นและศรัทธาในศาสนา ในขณะที่ หากนำไปฝังในสถานที่ที่เกี่ยวกับการศึกษา ก็จะทำให้เด็กโตขึ้นมาเป็นคนฉลาด เป็นต้น แต่ปัจจุบัน โดยที่ระบบสาธารณสุขพัฒนาไปมากแล้ว และเด็กคลอดในโรงพยาบาลหมดแล้ว ความเชื่อนี้ ก็เลยหายไปโดยปริยาย

          ทั้งนี้ ในยุคที่การล่าสัตว์ และธรรมชาติยังเป็นส่วนสำคัญของชีวิตประจำวัน เคยมีความเชื่อว่า ก่อนออกล่าสัตว์ นักล่าจะเอาปืนวางกับพื้น แล้วให้เด็กที่อายุอย่างน้อยสาม – สี่ขวบกระโดดข้ามปืน เพื่อความโชคดี แต่หากถูกทักหรือสอบถามว่า กำลังไปไหนในระหว่างการออกไปล่าสัตว์ ก็จะต้องยกเลิกการล่าสัตว์ในวันนั้นทันที เพราะถือว่าเสียฤกษ์ ในขณะที่ชาวประมง เมื่อออกล่าปลาแล้ว นับจำนานปลาที่จับได้ ก็จะทำให้ไม่สามารจับปลาได้มากไปกว่านั้น

          การมีผลทับทิมในบ้าน ถือว่า เป็นการนำโชคดีเข้าสู่ตัวบ้าน ในขณะที่การโยนขนมปังทิ้ง ถือ เป็นการนำงความโชคร้ายเข้าบ้าน ทั้งนี้ เพราะขนมปัง ถือเป็นอาหารศักดิ์สิทธิ์ ดังนั้น ชาวตุรกีจึงมักนำขนมปังไปวางในที่สูง ๆ ที่จะไม่แตะพื้น ซึ่งหากกินไม่หมดก็จะนำไปให้เป็นอาหารแก่นกแทน ในขณะที่หากปีไหน ต้นฅควินช์ออกลูกดก ก็จะแสดงว่า ฤดูหนาวในปีนั้น จะหนาวจัดและกินเวลานาน เช่นเดียวกับหากต้นสนมีลูกสนมาก ก็จะหมายความถึงฤดูหนาวที่ยาวนานเช่นกันเป็นต้น

 

 

          นอกจากนี้ ตุรกีมีความเชื่อเกี่ยวกับการทำนายความฝัน เช่นกัน อาทิ การฝันเห็นไข่ หมายความว่ามีคนนินทาถึง การฝันถึงแกะสีขาว จะสะท้อนว่า ฤดูหนาวที่จะมาถึงจะเต็มไปด้วยหิมะ หากฝันเห็นม้าขาว หมายความว่า จะสมหวังและประสบความสำเร็จในสิ่งที่ประสงค์ การฝันเห็นหอคอยสุเหร่า จะเป็นสัญญาณว่ากำลังจะมีโชคดี ส่วนท่าการนอน นั้น เชื่อว่า คนที่นอนเหยียดตัวเต็มเตียง จะสามารถทำงานหาเงินได้เยอะ ในขณะที่คนที่นอนขดตัวจนแขนและขาใกล้ชิดกันนั้น จะไม่สามารถทำงานที่หาเงินได้

          ในตุรกี ยังมีความเชื่อเรื่องโชคลาง อื่น ๆ อีก อาทิ เวลากินข้าว ไม่ควรนั่งไข้วเท้ากัน เพราะเป็นการไม่เคารพโต๊ะอาหาร และจะเป็นสัญญาณแห่งความอดอยากปากแห้งในอนาคต แต่หากกินข้าวแล้ว ข้าวติดคอ หรือสำลักอาหาร แสดงว่า มีเพื่อนที่กำลังหิวอยู่ ในขณะที่ การยืนใส่กางเกง เป็นสัญลักษณ์ของความยากจน นอกจากนี้ ยังมีความเชื่อเรื่องโชคลางที่น่ารัก จนต้องอมยิ้มตามไปด้วย เช่น หากเจอเต่าทอง ให้นำเต่าทองมาไว้บนฝ่ามือ แล้วร้องเพลงให้เต่าทองฟังจนกว่ามันจะบินจากไป ซึ่งจะนำพามาซึ่งความโชคดี หรือหาก บังเอิญเจอเพื่อนสองคนที่มีชื่อเหมือนกัน ก็ให้เดินเข้าไปยืนอยู่ตรงกลางเพื่อนสอง แล้วอธิษฐาน ซึ่งจะทำให้คำอธิษฐานเป็นจริง

          นอกจากนี้ ไม่ควรติดกระดุมเสื้อโค้ตของตนเอง ในขณะที่หันหน้าเข้าหาผู้อื่น เพราะเชื่อว่าจะเป็นการปิดกั้นคิสเม็ต (Kismet) นั่นก็คือโชคชะตาหรือความโชคดีของผู้นั้น อีกทั้ง เชื่อว่า โชคชะตาของมนุษย์ถูกลิขิตอยู่บนหน้าผาก  ซึ่งการสวดมนต์หรืออวยพร ในจังหวะที่ปัดผม เปิดหน้าผากของใครสักคน ถือ เป็นการเปิดทางให้ผู้นั้นได้รับคิสเม็ต ด้วย ในขณะที่ หากมาเยือนตุรกีแล้ว เห็นชาวตุรกีนำน้ำแก้วหนึ่งมาสาดตามหลัง คนที่กำลังเดินทางไกล ก็ไม่ได้เป็นการขับไล่แต่อย่างใด แต่ถือเป็นการอวยพรและให้โชคผู้ที่กำลังจะเดินทางไกล “เพื่อให้การเดินทางนั้นราบรื่นเหมือนสายน้ำริน และให้เดินทางคืนถิ่นมาอย่างปลอดภัยดังสายน้ำไหล” 

          สำหรับสัญลักษณ์แห่งความโชคดีในตุรกี อาทิ นาซาร์ เท้ากระต่าย เกือกม้า การนำรองเท้าเด็กทารกมาแขวนไว้ในรถ ดอกโคลเวอร์สี่แฉก เช่นเดียวกับการเห็นงูเลื้อยผ่านหน้า เป็นต้น แต่หากเจอแมวดำเดินผ่านหน้า จะเชื่อว่า เป็นโชคร้าย ดังนั้น ให้รีบหลีกเลี่ยงหรือเปลี่ยนทาง หากไม่ทันก็ให้สัมผัสอะไรสีดำ หรือจับเส้นผมของตัวเอง เพื่อแก้เคล็ด ทั้งนี้ ความเชื่อที่สุดโต่งที่สุด ก็อาจจะเป็นความเชื่อที่ว่า หากเด็กผู้ชายเดินผ่านใต้สายรุ้งกินน้ำ จะกลายเป็นผู้หญิง และเด็กผู้หญิงจะกลายเป็นผู้ชาย

           เป็นที่น่าสนใจว่า แม้ประเทศไทยและตุรกีจะอยู่ห่างกันมาก อีกทั้ง พื้นเพทางสังคมและวัฒนธรรมก็มีความแตกต่างกันไม่น้อย แต่ก็มีความเชื่อในเรื่องโชคลางที่ค่อนข้างจะใกล้เคียงกันหลายเรื่อง

 

 

          ทั้งนี้ ความเชื่อเรื่องโชคลางของตุรกีที่ต่างกันกับไทย อาทิ ตุรกีเชื่อว่า ถ้านกถ่ายรดศีรษะ แสดงว่า จะโชคดีและจะได้เงิน ในขณะที่ของไทยเชื่อว่า การถูกนกถ่ายรดบนศีรษะจะโชคร้าย ซึ่งหากกำลังจะออกเดินทางก็ควรต้องหยุดการเดินทางทันที หรือเลื่อนกำหนดออกไปก่อน และในขณะที่ตุรกีเชื่อว่า การก้าวเท้าขวาออกหรือเข้าบ้านนั้น เป็นโชคดี ฝั่งของไทย เชื่อว่า การก้าวเท้าซ้ายออกจากบ้าน จะนำโชคดีมาให้ เพราะเชื่อว่าร่างกายมนุษย์เป็นพลังงานลบที่อ่อนแอกว่าด้านขวา เป็นต้น

          แต่กระนั้น ก็เป็นที่น่าสนใจว่า แม้ประเทศไทยและตุรกีจะอยู่ห่างกันมาก อีกทั้ง พื้นเพทางสังคมและวัฒนธรรมก็มีความแตกต่างกันไม่น้อย แต่ก็มีความเชื่อในเรื่องโชคลางที่ค่อนข้างจะใกล้เคียงกันหลายเรื่อง อาทิ ความเชื่อว่า อาการคันฝ่าเท้า จะหมายถึงการเดินทาง การห้ามกวาดบ้านเรือนเวลากลางคืน ซึ่งของไทยเชื่อว่าจะเป็นการกวาดเงินกวาดทองที่สะสมมาตั้งแต่ตอนเช้าออกไป ในขณะ ที่ของตุรกี เชื่อว่าการกวาดบ้านเวลากลางคืน จะนำพามาซึ่งความยากจน ทั้งนี้ อาจเป็นได้ว่า ในอดีต ไม่มีไฟฟ้าตอนกลางคืนมืดมาก การกวาดบ้านตอนกลางคืนจึงไม่ปลอดภัย

          นอกจากนี้ ยังมี ความเชื่อเรื่องการห้ามตัดเล็บในเวลากลางคืน โดยของไทยเชื่อว่า วิญญาณบรรพบุรุษจะอยู่ไม่เป็นสุข เพราะสมัยก่อนการตัดเล็บจะใช้มีดเจียนหมาก หรือมีดเล็ก ๆ จึงอาจจะอันตราย ในขณะที่ของตุรกี เองก็บอกว่า การตัดเล็บในยามกลางคืนจะทำให้ชีวิตสั้นลง รวมไปถึงความเชื่อว่า มือซ้ายกระตุก จะมีเหตุให้เสียเงินเสียทอง แต่มือขวากระตุกเชื่อว่าเป็นลางดีที่จะได้รับทรัพย์ รวมถึง ความเชื่อเกี่ยวกับของแหลมและสิ่งของมีคมนั้น ซึ่งทั้งสองประเทศมีความเชื่อคล้ายกันว่า ไม่ควรยื่นปลายแหลมให้ผู้อื่น เพราะจะนำไปสู่ความบาดหมางและปัญหาทะเลาะเบาะแว้งในอนาคต ดังนั้น ชาวตุรกีจึงจะวางของมีคนลงและให้อีกฝ่ายหนึ่งมาหยิบไป หรือจะหันด้านคมเข้าตัวเอง และยื่นด้ามจับให้อีกฝ่ายหนึ่ง โดยทั้งตุรกีและไทยมีการแก้เคล็ดในเรื่องนี้ด้วยการมอบเหรียญให้เป็นการตอบแทน เมื่อมีผู้หยิบยื่นของแหลมหรือของมีคมให้เป็นของขวัญ เพื่อป้องกันไม่ให้มีปากเสียงกันในอนาคต เป็นต้น 

          ความเชื่อเรื่องโชคลางในตุรกียังมีอีกมากมาย และที่กล่าวมาก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่ก็เป็นฉายภาพกว้าง ๆ เพื่อสะท้อนถึงความคล้ายคลึงของสังคมและวัฒนธรรมตุรกีกับไทย ซึ่งก็ต้องใช้วิจารณญาณในการตีความความเชื่อเหล่านี้ แต่การได้เรียนรู้เกี่ยวกับความคิดและความเชื่อของคนในสังคมหนึ่ง ๆ นอกจากจากป้องกันความเข้าใจผิดแล้ว อย่างน้อย ๆ ก็น่าจะช่วยทำให้เราเข้าใจสังคมนั้นได้มากขึ้น ไม่มากก็น้อย อีกทั้งเข้าข่ายไม่เชื่ออย่าลบหลู่และรู้ไว้ใช่ว่าใส่บ่าแบกหาม และอาจช่วยทำให้เราเข้าใจการกระทำบางอย่างของเพื่อนต่างวัฒนธรรมได้มากขึ้นด้วย   

 

CR : Facebook “ชาครีย์นรทิพย์ คนช่างฝัน” 
https://www.facebook.com/charkrienorrathip.sevikul