ส.ว. ‘อภิชาติ’ เสนอแนวทางแก้ไข ‘โควิด 19’ ในระดับพื้นที่-ชุมชนของจังหวัด

ส.ว. อภิชาติเสนอแนวทางแก้ไข โควิด 19’ ในระดับพื้นที่-ชุมชนของจังหวัด

 

“อภิชาติ โตดิลกเวชช์” สมาชิกวุฒิสภา อดีตอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน (พช.) เสนอ 6 แนวทาง แก้ไขสถานการณ์ “โควิด 19” ในระดับ “พื้นที่” และ “ชุมชน” ของจังหวัด เน้น “บริหาร-จัดการ-ควบคุม-ป้องกัน” และ “ฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานรากในชุมชน” ไปพร้อมกัน เพื่อให้ชุมชนเข้มแข็งดูแลตัวเองได้ และอยู่รอดอย่างยั่งยืน

 

         ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอภิชาติ โตดิลกเวชช์ สมาชิกวุฒิสภา อดีตอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน (พช.) ได้นำเสนอบทความ “การแก้ไขสถานการณ์โควิด 19 ในระดับพื้นที่และชุมชนของจังหวัด” เพื่อเผยแพร่แนวทางในการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของ “โควิด 19” โดยมีเนื้อหา ดังนี้

 

 

การแก้ไขสถานการณ์โควิด 19 ในระดับพื้นที่และชุมชนของจังหวัด

 

 

 

ข้อกังวล

 

1.โควิด 19 เป็นเรื่องใหม่ไม่อยู่ในสถานการณ์ที่เคยประสบมาก่อน ข้อมูลข่าวสาร วิธีการแพร่ระบาด การติดโรค การควบคุม การรักษา การเผชิญและแก้ไขสถานการณ์ มีทั้งถูกและผิด ไม่มีใครสรุปได้ชัดเจนทั้งหมด

 

                2.การเผชิญสถานการณ์ทุกคนตั้งรับ สนใจตามแก้ไขปัญหาผู้ติดเชื้อและรักษาโรคตามสถานการณ์ แต่ใส่ใจน้อยในเรื่องการป้องกันโรคอย่างจริงจัง เพื่อยุติโรคไม่ให้เกิดขึ้น

 

                3. การเกิดสถานการณ์โควิด 19 อาจต้องก้าวต่อไปในการแพร่ระบาดระยะที่ 3 เนื่องจากมีการติดต่อภายในประเทศในวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ และเริ่มหาที่มาไม่ได้แล้ว การระบาดเริ่มกระจายไปยังพื้นที่ภูมิภาคในจังหวัดต่างๆ มากขึ้น      

 

                4.กิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมถูกระงับ ซึ่งสวนทางกับตัวเลขผู้ติดเชื้อยังคงอยู่ในอัตราเร่ง โดยเฉพาะในพื้นที่ภูมิภาคกระจายไปจังหวัดต่างๆ พบผู้ติดเชื้อมากรวมถึง ร้อยละ 44 ของทั้งประเทศ

 

                5.ระบบเศรษฐกิจ กิจกรรมต่างๆ แทบจะหยุดหมด ปิดศูนย์การค้า ห้างร้าน กิจการค้าขาย หาบเร่ แผงลอย การตกงาน การหยุดหมุนเวียนระบบเศรษฐกิจทำได้ชั่วคราว แต่หยุดในระยะยาวทำไม่ได้ เงินของประชาชนมีไม่มากพอ แรงงานหาเช้ากินค่ำต้องการเงินที่จะใช้ในแต่ละเดือนที่ผ่านไป

 

                6.องค์การอนามัยโลก (WHO) กล่าวถึงการแพร่ระบาดโควิดในเอเชีย สถานการณ์ระบาดยังอีกนานกว่าจะจบ การต่อสู้ครั้งนี้คือ ศึกระยะยาว มาตรการตรวจเชื้อจำนวนมาก การสกัดเชื้อแบบกลุ่มก้อน การรักษาแต่เนิ่นๆ การรักษาระยะห่าง หรือการล็อคดาวน์ช่วยซื้อเวลาอันมีค่าเพื่อพร้อมรับมือการแพร่เชื้อขนานใหญ่ แต่ต้องไม่ลืมว่ามาตรการทั้งหมดไม่ได้หมายถึงความเสี่ยงจะหมดไป ตราบใดที่โรคยังระบาดอยู่การแพร่ระบาด จะยุติอย่างน้อยจนกว่าจะพบวัคซีนในการป้องกันโรค

 

***ข้อเสนอแนวปฏิบัติสำคัญที่นำไปปรับใช้กับพื้นที่***

 

1.การบริหารสถานการณ์โควิดในระดับพื้นที่

               

                1.1 ข้อกำหนดตาม ม.9 พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ฉบับที่ 1 ให้อำนาจสำคัญแก่ผู้ว่าราชการจังหวัด ดังนี้

 

                1) ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้กำกับบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินทุกมิติในเขตท้องที่ที่ตนรับผิดชอบ รวมถึงการเตรียมรับสถานการณ์

                2) การห้ามประชาชนเข้าพื้นที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ

                3) การปิดสถานที่เสี่ยงต่อการติดโรค

                4) การปิดช่องทางเข้ามาในราชอาณาจักรในพื้นที่

                5) ห้ามกักตุนสินค้า เวชภัณฑ์ อาหาร น้ำดื่มและสิ่งจำเป็น

                6) ห้ามชุมนุม การทำกิจกรรมในสถานที่แออัด

                7) มาตรการพึงปฏิบัติสำหรับบุคคลที่มีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อให้อยู่ภายในเคหะสถาน หรือบริเวณที่พำนักตน

                8) ดูแลความสงบเรียบร้อย จัดเวรยาม ตั้งจุดตรวจตามถนน สถานที่สำคัญ

                9) มาตรการป้องกันโรคตามที่สาธารณสุขกำหนดให้ใช้เป็นการทั่วไป

 

                1.2 ในสถานการณ์ปกติ พรบ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ใช้ได้อยู่แล้ว และได้ให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดจัดการในพื้นที่อย่างเบ็ดเสร็จ ผู้ว่าราชการจังหวัดสามารถใช้คำปรึกษาจากคณะกรรมการสาธารณสุขของจังหวัด ดังนั้น ในแง่บริหารจัดการใช้อำนาจของสาธารณสุขเป็นหลัก ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจกำกับดูแลอยู่แล้ว แต่ที่มีการใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 เพราะงานแก้ปัญหาไม่ใช่เฉพาะด้านสาธารณสุขเท่านั้น แต่จะมีปัญหาด้านเศรษฐกิจ สังคม และการรักษาความสงบเรียบร้อย การปิดพื้นที่ ปิดด่านตามมาอีกมากมาย ความรวดเร็ว ความเข้มงวดและประสิทธิภาพการทำงานเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็น ดังนั้น การรวมกันระหว่างเทคนิคด้านสาธารณสุขกับการบริหารของพื้นที่ว่าเป็นอย่างไร ประเมินการเคลื่อนไหวของชุมชน ผู้นำนักการเมืองท้องถิ่น กลุ่มอิทธิพลต่างๆ ใครมีผลประโยชน์มากน้อยกว่าใคร แล้วจังหวัดจะมีมาตรการอะไรออกมาช่วยเหลือเยียวยาผลกระทบ จึงเป็นงานที่ผู้ว่าราชการจังหวัดต้องกำกับดูแลให้ได้และมีประสิทธิภาพแท้จริง

 

                1.3 การบริหารงานในภาวะวิกฤตโควิด ผู้ว่าราชการจังหวัดมีความสำคัญมาก ต้องสามารถคาดการณ์ได้ว่าฉากทัศน์ข้างหน้าจะเป็นอย่างไร จังหวัดกำลังจะไปทางไหน ความสามารถนี้ไม่จำเป็นต้องอยู่ที่ผู้ว่าราชการจังหวัด อาจอยู่กับคณะที่ปรึกษาต้องมีข้อมูลมาวางไว้ แล้วตกลงกันว่าจะตัดสินใจแบบไหน และรับผิดชอบร่วมกันต่อการตัดสินใจนั้นด้วย       

 

                1.4 วัฒนธรรมการทำงาน การบริหารจัดการในภาวะปกติของจังหวัด ไม่ค่อยมีประสิทธิภาพมากนัก เป็นการทำงานต่างคนต่างทำ ยึดแนวทางของกระทรวงที่สังกัด ดังนั้น เมื่อมีวิกฤตโควิดขึ้นการบริหารงานจะให้ดีขึ้นมาทันทีตามภาวะวิกฤตคงเป็นไปไม่ได้ ผู้ว่าราชการจังหวัดจึงต้องแยกการบริหารจัดการให้มีเอกภาพ ทำงานร่วมกันให้ได้ สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกัน ที่สำคัญมีระบบสั่งการแบบมืออาชีพ ผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งสาธารณสุขจังหวัดไปแล้วก็จบ จะไม่ข้ามไปสั่งหัวหน้าส่วนคัดกรอง ไม่ไปล้วงลูกกับ ผอ.โรงพยาบาล ต้องอยู่นิ่งๆ คอยติดตามกำกับเท่านั้น คนที่อยู่ในอำนาจสั่งแค่ไหนแค่นั้น อย่าแทรกแซงคนที่ทำงานทำตามหน้าที่ หากมีการคิดไม่เหมือนกัน ก็มาคุยกันให้ได้ข้อยุติบนพื้นฐานของข้อมูลที่ถูกต้อง

 

                1.5 ควรกำหนดเกณฑ์ประสิทธิภาพตัวชี้วัดให้ชัดเจนในผลของการบริหารจัดการป้องกันการแพร่ระบาดของผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่ที่เพิ่มขึ้นใน 3 เดือน ของจังหวัด เพื่อกำกับงานและรู้สถานการณ์จริง โดยแบ่งประเภทออกเป็น

               

                1) ดีเยี่ยม ไม่พบว่ามีการแพร่เชื้อเพิ่มเติม หรือไม่มีผู้ติดเชื้อในพื้นที่จังหวัดเลย

                2) ดีปานกลาง มีผู้ติดเชื้อไม่มาก สามารถควบคุมได้ เช่น มีผู้ติดเชื้อเพิ่มเป็น 2 เท่า ในรอบระยะเวลาทุกๆ 10 วัน

                3) ต่ำกว่าเกณฑ์ต้องปรับปรุง มีผู้ติดเชื้อเพิ่มเป็น 2 เท่า ในรอบระยะเวลาทุกๆ 5 วัน

 

2.รณรงค์ป้องกันเชิงรุก สร้างความเข้าใจ และการได้รับความร่วมมือจากประชาชน

 

                2.1 การป้องกันโควิด ข้อเท็จจริงทำไม่ยาก เพราะไวรัสเข้าสู่ร่างกายได้ 3 ทาง คือ ตา จมูก ปากเท่านั้น ถ้าปิดทางเข้าก็กันเชื้อไวรัสได้ และไม่มีหลักฐานยืนยันว่าไวรัสนี้สามารถติดต่อผ่านอากาศ(airborne) ในสภาพแวดล้อมปกติได้ ช่องทางหลักยังคงติดต่อผ่านละอองน้ำมูก น้ำลาย เช่น การถูกไอใส่หน้า การสัมผัสกับเชื้อไวรัส แล้วนำมาสัมผัสกับใบหน้าทำให้เชื้อโรคผ่านตา จมูก และปาก

 

                2.2 คนแพร่เชื้อไม่ต้องมีอาการ สามารถแพร่เชื้อได้ ซึ่งอาจมีถึง 80% เดินผ่านก็ไม่มีทางรู้เลยว่าติดเชื้อ ระยะฟักตัวอาจไม่พบว่ามีไข้ การตรวจวัดไข้ไม่ได้ช่วยอะไรมาก โดยเฉพาะการตั้งด่านตามถนน ตรวจรถทุกคันไม่ได้ รถติดมากก็ต้องทยอยไป พอรถจอดก็ทำได้แค่วัดไข้ เป็นมาตรการด้านจิตวิทยามากกว่า

 

                2.3 จุดบกพร่องในการต่อสู้กับโควิด คือ การเน้นการรักษา ซึ่งต่อไปคนป่วยจะเกิดมากจนรักษาไม่ไหว ต้องให้ประชาชนช่วยอีกทาง คือ รณรงค์ป้องกันอย่างเข้มข้น โดย

 

                1) สวมหน้ากากอนามัยที่ป้องกันไวรัสโควิดได้ให้มากที่สุด เมื่อเดินทางหรือออกนอกบ้าน

                2) ล้างมือจนเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม

                3) กินร้อน ช้อนกลางตนเอง

                4) สร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย เช่น การออกกำลังกาย นอนให้เพียงพอ กินวิตามินเสริม ถ้าร่างกายแข็งแรงคนป่วยที่รักษาก็น้อยลง

               

2.4 ไวรัสจะทำร้ายเราได้จริงๆ แค่บุคคลที่ไม่มีภูมิต้านทาน หรือภูมิต้านทานต่ำ เช่น ผู้สูงอายุเกิน 60 ปีขึ้นไป หรือมีโรคประจำตัวอยู่ ถ้าเราแยกที่อยู่เฉพาะหรือระมัดระวังบุคคลเหล่านี้เป็นพิเศษก็จะลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดและป้องกันชีวิตได้

               

2.5 การรณรงค์ป้องกันเชิงรุกในจังหวัด ต้องทำคู่ขนานไปกับการค้นหาผู้ป่วยและการแกะรอยสอบสวนโรค จึงจะได้ผลและเสริมแรงได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

3.การค้นหาผู้ป่วยและการแกะรอยสอบสวนโรคและนำเข้ามาในระบบสาธารณสุขให้เร็วที่สุด

 

                3.1 ปัจจุบันสถานการณ์ในไทยยังไม่ได้เลวร้ายเมื่อเทียบกับประเทศต่าง ๆ  แต่เราก็ยังไม่สามารถหยุดยั้งการติดเชื้อ ยังมีการพบผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่วันละเกือบ 100 ราย หากดำเนินการต่อไป แรงกดดันที่มีต่อระบบสาธารณสุขจะเพิ่มความเสี่ยงไปสู่การควบคุมไม่ได้ ต้องยอมรับความจริงว่าจำนวนคนที่ได้รับการตรวจว่าติดเชื้อในไทยถือว่าน้อย และมียอดสะสมรอการตรวจมากพอสมควร และผู้ติดเชื้อบางคนก็ไม่มีอาการซึ่งสามารถแพร่เชื้อได้ ดังนั้น เราต้องค้นหาผู้ป่วยและแยกรักษา ติดตามผู้เสี่ยงสูงที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย เพื่อแยกดูอาการมีการติดตามรายวัน

               

3.2 จังหวัดต้องตรวจสอบหาผู้ติดเชื้อให้เร็วที่สุด เมื่อได้ข้อมูลและแกะรอยผู้ติดโรคหรือสัมผัสเชื้อ หรือมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดให้ได้มากที่สุดหรือจนครบ 100% เพื่อกักตัวตามมาตรการเฝ้าระวังโรค แนวทางตัวอย่างเช่น มีทีมทำงาน 3 ทีม

 

1)ทีมสอบสวนโรค ซักประวัติอย่างละเอียด กำหนดไทม์ไลน์ของพฤติกรรม รู้ถึงความสัมพันธ์ในระยะใกล้ ไกล

                2)ทีมที่ 2 ทำต่อเนื่อง เริ่มติดต่อไปยังกลุ่มเสี่ยงที่ได้ข้อมูลจากทีมสอบสวนโรค เริ่มจากโทรศัพท์ไปจนถึงตัวบุคคลทุกคน ซักถามเพิ่มเติมพฤติกรรมหลังจากนั้นเป็นอย่างไร มีอาการโรคหรือไม่ เข้าไปใกล้ชิดที่จะแพร่เชื้อให้กับคนอื่นบ้าง ถ้าได้ข้อมูลว่าเป็นกลุ่มเสี่ยง ให้กักตัวในบ้าน 14 วัน และติดตามรายบุคคลจนครบกำหนด

                3)ทีมที่ 3 ทำหน้าที่ตรวจสอบ กรณีพบผู้ติดเชื้อและไม่สามารถรับข้อมูลเพิ่มเติมจากการซักประวัติได้ จำเป็นต้องสอบสวนเพิ่มเติมอาจใช้เจ้าหน้าที่ตำรวจที่มีความชำนาญ สอบสวนแกะรอยย้อนหลังอย่างละเอียด เพื่อค้นหากลุ่มเสี่ยงที่สัมผัสกับผู้ติดเชื้อให้มากที่สุด

 

                3.3 จังหวัดจัดหาทุ่มเทบุคลากรทางการแพทย์และอาสาสมัครตรวจเชื้อในเชิงรุกและกว้างขวางให้มากขึ้นกว่าปกติอย่างน้อย 2 - 3 เท่า เพราะการตรวจหาผู้ป่วยได้เร็วจะช่วยหยุดการระบาดโรคในชุมชนและยังช่วยให้การรักษาได้ผลดีขึ้นโดยอาจกำหนดการตรวจเป็นโซนพื้นที่ให้ได้ผู้ติดเชื้อที่แท้จริง จะได้กักตัวหรือถ้าพบผู้สงสัยติดเชื้อจะได้ให้หยุดอยู่ในบ้าน 14 วัน เพื่อไม่ให้มีการกระจายของโรคไวรัส

 

                3.4 จังหวัดต้องพยายามจัดหาชุดตรวจเชื้อโควิดให้มากพอจะไปสุ่มตรวจประชาชนที่ไม่มีอาการและเน้นกลุ่มเสี่ยงได้อย่างกว้างขวาง เพราะตามมาตรการการรักษาระยะห่างระหว่างกัน(ทางกายภาพ) แม้จะประสบความสำเร็จลดจำนวนผู้ติดเชื้อลงได้ แต่การกลับไปใช้ชีวิตและเศรษฐกิจกลับสู่ภาวะปกติจะทำได้ต่อเมื่อมีการตรวจค้นหาผู้ป่วยอย่างกว้างขวาง เพื่อนำไปสู่การแยกตัวของผู้ติดเชื้ออย่างเคร่งครัด หากไม่ดำเนินการการแพร่ระบาดในระยะที่ 2 และ 3 จะตามมา

 

                3.5 ใช้มาตรการค้นหาผู้ป่วยและการแกะรอยสอบสวนโรคอย่างเข้มข้นจริงจังล่วงหน้าดีกว่ามาตรการเริ่มจากเบาไปหาหนัก หากโรคแพร่กระจายในพื้นที่แล้วการควบคุมจะยากลำบากขึ้นมากกว่าเดิมหลายเท่าตัว

 

4.มาตรการการรักษาระยะห่างระหว่างกัน (Physical Distancing, Social Distancing)

 

                4.1 โควิด 19 แพร่กระจายผ่านละอองฝอย โดยเฉพาะเวลาไอหรือจาม การรักษาระยะห่างที่ปลอดภัยอย่างเข้มงวด จึงเป็นเรื่องที่จำเป็นที่จังหวัดต้องขับเคลื่อนจริงจังเพื่อช่วยลดเชื้อติดต่อระหว่างกัน ซึ่งเป็นอาวุธที่ดีที่สุดและประหยัดใช้เงินน้อยที่จะชะลอการแพร่ระบาดกระจายเชื้อไวรัสอย่างมีประสิทธิภาพ มาตรการนี้ถูกนำไปใช้

ในหลายประเทศและได้ผล เพื่อให้การระบาดเป็นไปอย่างช้าๆ และระบบสาธารณสุขสามารถรับมือโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

                4.2 ความกังวลของโควิด คือ ผู้ป่วยหรือผู้ติดเชื้อในช่วงแรกๆ มักไม่แสดงอาการป่วยให้เห็นชัดเจน หลายคนยังมีสุขภาพดีอยู่ทำให้ใช้ชีวิตเป็นปกติ พบเจอคนหมู่มากแบบไม่ระวังตัว กว่าจะรู้ตัวจึงแพร่เชื้อไปทั่วทุกสถานที่ที่ไป การเว้นระยะห่างระหว่างกันจึงเป็นสิ่งจำเป็น

               

4.3 เป้าหมายมาตรการรักษาระยะห่างระหว่างกันในไทย ปัจจุบันทำได้ 70% เราต้องการเพิ่มให้ถึง 90% เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยลง โดยเฉพาะในภูมิภาคจังหวัดต่างๆ ยังมีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นมากขึ้นเรื่อยๆ

               

4.4 ตามมาตรการของรัฐบาลอยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ เป็นมาตรการที่ถูกต้อง อยู่บ้านให้มากขึ้น ทำงานอยู่กับบ้าน การจำกัดคนมาเยี่ยมบ้าน ในกรณีจำเป็นต้องออกจากบ้าน การรักษาระยะห่างไม่น้อยกว่า 12 เมตร ในที่มีคนเยอะหรืออยู่ห่างจากคนอื่นในที่สาธารณะเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งในสถานการณ์ หรือกิจกรรมต่างๆ ที่มีอยู่ในจังหวัด เช่น งานสวดอภิธรรมศพ การรับประทานอาหาร การใช้รถร่วมกัน การเข้าคิวรับบริการทั้งภาครัฐและเอกชน การจัดที่นั่งประชุม

การรับบริการในร้านสะดวกซื้อ ตลาดสด หรือห้างสรรพสินค้า การออกกำลังกาย เป็นต้น

                               

4.5 มาตรการเช่นนี้ต้องอาศัยความร่วมมือของประชาชนและจิตสำนึกของทุกคนในจังหวัด การรับผิดชอบต่อส่วนรวม ไม่พาตัวเองไปเสี่ยงหรือรับเชื้อ ซึ่งจะส่งผลทางอ้อมให้ระบบการแพทย์และสาธารณสุขของพื้นที่ สามารถดูแลและรักษาผู้ป่วยให้หายได้ทัน และลดความตึงเครียดของบุคลากรทางการแพทย์ได้เป็นอย่างดี

               

4.6 มาตรการนี้จังหวัดอาจนำมาปรับใช้ขยายผลขึ้นหรือลงได้ เมื่อพิจารณาถึงปัจจัยต่าง ๆ ที่มีลักษณะเฉพาะของชุมชน ลักษณะประชากรส่วนใหญ่และโอกาสในการเข้าถึงบริการการดำรงชีวิตประจำวัน รวมถึงใช้ทรัพยากรน้อยที่สุด เป็นประโยชน์มากที่สุด และดูแลรักษาง่าย เช่น

 

1)สำหรับสถานการณ์ที่ยังไม่ถึงขั้นระบาดใหญ่ เราอาจไปซื้ออาหารนอกบ้านได้ แต่ควรเลือกสถานที่คนไม่แน่น และรักษาระยะห่างจากลูกค้าอื่นราว 12 เมตร

                2)การขนส่งสาธารณะ ควรเลือกในจุดที่ห่างจากผู้โดยสารคนอื่นให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้และในทางกลับกันหน่วยงานของรัฐในจังหวัดก็ควรเพิ่มจำนวนรถ เพื่อช่วยลดความหนาแน่นต่อผู้โดยสารลง หรือจำกัดจำนวนผู้โดยสารที่จะขึ้นได้ในแต่ละคัน

                3)การออกกำลังกาย ควรทำในพื้นที่เปิดโล่ง เลือกไปในเวลาที่คนน้อย เช่น เช้าตรู่ หรือตอนดึก เลือกสถานที่มีความสะอาดและมีการฆ่าเชื้อบนพื้นอย่างจริงจังในเครื่องมือที่ใช้ออกกำลังกาย

                4)ออกกฎห้ามพบกันในที่สาธารณะเกิน 2 คน หรือการมีกิจกรรมที่คนมาชุมนุมหรือรวมกันเกิน 50 คน ทำไม่ได้

                5)แนะนำให้อยู่ในบ้านห้ามออกนอกบ้าน ไม่เดินเป็นกลุ่มก้อน ไม่สังสรรค์ยามกลางคืนเวลาเคอร์ฟิว

                                               

สรุปมาตรการการรักษาระยะห่างระหว่างกัน หากคนไหนเข้าใจ ยึดหลักการนี้อยู่แต่ในบ้าน ออกบ้านเท่าที่จำเป็น หากคนร่วมกันทำให้ได้ 90 % ก็สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ การปิดเมือง ปิดจังหวัด ก็ไม่ใช่เรื่องจำเป็น

 

5.ฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจฐานรากในชุมชน

 

                5.1 การแก้ไขปัญหาด้านสาธารณสุขเป็นเรื่องจำเป็นต้องควบคุมให้ได้ แล้วค่อยมาแก้ปัญหาด้านเศรษฐกิจทีหลังแต่ก็ต้องไม่มองข้ามทางเลือก ทั้ง 2 เรื่องไม่สามารถแยกออกจากกันได้ หากปัญหาด้านสาธารณสุขไม่สามารถแก้ไขได้สำเร็จเป็นผลชัดเจน ย่อมเป็นไปไม่ได้ที่เศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะปกติ หรือตรงข้ามหากเศรษฐกิจไม่ถูกจัดหาให้ดีพอ ปัญหาสาธารณสุขก็จัดการไม่ได้ เพราะความอยู่รอดทางด้านเศรษฐกิจส่งผลกระทบต่อมาตรการความร่วมมือต่างๆ ที่รัฐกำหนด ทั้ง 2 ด้านจึงต้องทำคู่ขนานกันไปซึ่งเป็นหน้าที่ของจังหวัดต้องเตรียมการด้านเศรษฐกิจตั้งแต่ต้น โดยเฉพาะเมื่อสถานการณ์โควิดยุติลง ประชาชนต้องทำมาหากินต้องมีรายได้มาเลี้ยงตนเองและครอบครัว โครงการต่างๆ ที่ถูกกำหนดโดยจังหวัดในการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากจะต้องมีงบประมาณรองรับ จึงจะขับเคลื่อนไปได้ทันที

 

                5.2 มาตรการช่วยเหลือทางด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลในระยะต่อไปทำดีอยู่แล้ว แต่ต้องปรับใช้วิธีง่ายๆ ไม่ยุ่งยากซับซ้อน ไม่เพิ่มงานจังหวัดในการตรวจสอบหรือคัดกรองผู้มีสิทธิมาก ควรใช้เป็นระบบประกันรายได้ขั้นต่ำหรือกำหนดรายได้สำหรับคนที่มีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ ต้องเสียภาษีได้รับการช่วยเหลือเพราะมีฐานข้อมูลอยู่แล้ว

                               

5.3 สถานการณ์โควิดไม่ได้ส่งผลต่อด้านสุขภาพอนามัยอย่างเดียว แต่กระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่การทำมาหากินและรายได้ของประชาชนด้วย จึงต้องมีมาตรการช่วยอุดหนุนสินค้า บริการของชุมชนด้วยกันเองก่อนที่จะไปอุดหนุนกลุ่มทุนใหญ่ หรือสินค้าโรงงานที่สายป่านยาวไม่ได้รับผลกระทบมากเท่ากับประชาชนที่หาเช้ากินค่ำ

               

5.4 ปัจจุบันสถานการณ์เศรษฐกิจเริ่มหยุดชะงัก ประชาชนถูกจำกัดให้อยู่ในบ้านเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด มีการหยุดงาน ถูกเลิกจ้าง ต้องกลับไปอยู่ต่างจังหวัดบ้านเกิด จังหวัดจึงจำเป็นต้องเตรียมมาตรการสำคัญจำเป็นเพื่อการช่วยเหลือ อาทิเช่น

 

                1)มาตรการช่วยกลุ่มที่กลับไปอยู่บ้านในพื้นที่ชุมชนต่างๆ ของจังหวัด ให้สามารถมีอาชีพทำงานในชุมชน หมู่บ้าน ภายในจังหวัดที่ตนอาศัย เป็นกิจกรรมหรือโครงการทางเศรษฐกิจภายในท้องถิ่นให้สามารถประคับประคองช่วยเหลือตัวเองได้ภายใน 36 เดือน

                2)การสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนในท้องถิ่นในรูปแบบปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวทางพระราชดำริในรัชกาลที่ 9 ให้มีการผลิต การจ้างงาน สร้างตลาดทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มมูลค่าของสินค้าและบริการ

                3)ใช้วัฒนธรรมและภูมิปัญญาของชุมชนท้องถิ่นและบูรณาการองค์ความรู้ทางวิชาการที่สอดคล้องกับพื้นที่ในทุกมิติเป็นตัวขับเคลื่อนโดยใช้มหาวิทยาลัยในพื้นที่จังหวัด รวมถึงการมีส่วนร่วมของนักศึกษา คณาจารย์ และชุมชนในลักษณะของ Area Base เพื่อต่อยอดสร้างสรรค์วัฒนธรรมท้องถิ่นให้มีมูลค่าเพิ่มกลับคืนสู่คนในชุมชน ซึ่งต้องดำเนินการทันทีเมื่อผ่านพ้นวิกฤตโควิด

                4)กลุ่ม SME และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนหรือสหกรณ์ต่างๆ ต้องกระตุ้นให้มีการยกระดับการทำงานหรือให้ช่วยเหลือระบบเศรษฐกิจฐานรากได้ทันทีอย่างเข้มแข็ง ซึ่งช่วงวิกฤตต้องมีข้อมูลแต่ละกลุ่มปัญหา เช่น กลุ่มขาดเงินทุนหมุนเวียน กลุ่มไม่มีเงินชำระหนี้ กลุ่มมีสินค้าค้างสต๊อกไม่มีที่ขาย กลุ่มยอดขายลดลงมาก หรือกลุ่มที่ไม่มีวัตถุดิบ และมีปัญหาต้นทุนการผลิต ซึ่งต้องได้รับการช่วยเหลือตามปัญหาที่ถูกจำแนกไว้ด้วยข้อมูลที่ถูกต้อง

                5)การปรับโครงสร้างทางสังคมอันเป็นพื้นฐานการพัฒนาที่ยั่งยืน เน้นการกระจายอำนาจ สร้างความเข้มแข็งแก่ชุมชนและท้องถิ่น สร้างเครือข่ายเศรษฐกิจชุมชน เช่น วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ เครือข่ายโอทอป หรือวิสาหกิจเพื่อสังคม ให้มีเครือข่ายที่สมบูรณ์และมีประสิทธิภาพ

 

6.การเตรียมรับสถานการณ์ล่วงหน้า

 

                เมื่อสถานการณ์วิกฤตไวรัสโควิดผ่านไป กลไกและโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมตลอดจนการใช้ชีวิตของประชาชนจะกลับไปไม่เหมือนเดิม จึงควรจัดให้มีการศึกษาวิจัย แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงต่างๆ รวมถึงการหาเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้กับการดำรงชีวิตของประชาชน ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้กับจังหวัดและประเทศ ซึ่งสามารถกำหนดไว้ได้ ดังนี้

 

                6.1 มาตรการระยะสั้น คือ 2 เดือนต่อจากนี้ต้องมีการเยียวยาช่วยเหลือผลกระทบจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยการทำวิจัยแบบเร็วๆ ดังนี้

                               

                1)มีมาตรการชดเชยเยียวยาแบบไหนจะเหมาะสมที่สุด แยกออกเป็นกลุ่มไหนบ้าง ซึ่งเหตุการณ์เกิดขึ้นแล้วรีบศึกษาได้ทันทีเลย

                2)ศึกษาวิจัยในมาตรการเยียวยาที่สอดคล้องกับทางเลือกที่จะต้องเลือกในอนาคตอันใกล้ เช่น อีก 1 เดือนข้างหน้าเห็นสถานการณ์ชัดเจนรัฐบาลอาจจะเลือกมาตรการบางอย่างที่เป็นยาแรงออกมาใช้ เช่น ปิดประเทศจะมีมาตรการเยียวยาอะไรที่รอไว้ ทั้งหมดคือความสามารถของนักวิจัยที่จะมองจากสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วหรือคาดการณ์

จากสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นข้างหน้าอันใกล้แล้วศึกษาวิจัยหามาตรการรองรับไว้

               

6.2 มาตรการระยะกลาง อีก 36 เดือนข้างหน้า พอมีวัคซีนออกมาแล้วจะทำอย่างไร การก่อให้เกิดมาตรฐานสังคมใหม่จะทำอย่างไร ผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคม การจ้างงาน ค่าเสียโอกาสที่จะเกิดขึ้น ทำอย่างไร เงื่อนไขแบบไหนที่จะทำให้การตัดสินใจแต่ละมาตรการแตกต่างกันและมีผลอย่างไรเป็นต้น

                               

6.3 มหาวิทยาลัยต่างๆ ของรัฐและเอกชนที่อยู่ในจังหวัดต้องมีบทบาท จัดหาทีมวิจัยทำหน้าที่ศึกษาวิจัยในมาตรการระยะสั้นและระยะยาวของสถานการณ์โควิด โดยคำนึงถึงผู้วิจัยไม่ใช่นักวิชาการ ต้องเป็นนักปฏิบัติร่วมด้วย ต้องไปนั่งทำงานกับหน่วยงานรัฐ เขาทำอะไร อย่างไร ลำบากแค่ไหนในการทำงาน มีกฎเกณฑ์ระเบียบอะไร ทำให้ตัดสินใจแบบนั้น เราต้องการงานวิจัยที่สามารถถอดบทเรียนที่ถูกต้องชัดเจนจากสถานการณ์ครั้งนี้ เพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง

 

สรุป

 

                สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิดในโลกยังระบาดอีกนานกว่าจะจบลง มาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลและจังหวัดได้ทำมาแล้วทั้งหมดหรือที่ยังไม่ได้ทำ เช่น ในด้านการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่จะเป็นผลกระทบเป็นคลื่นลูกที่ 2 และ 3 ตามมา

เพียงช่วยซื้อเวลาอันมีค่า เพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดที่อาจมีขึ้นต่อไปอีก

 

                ผู้เชี่ยวชาญระบาดวิทยานานาชาติต่างชี้ว่ากว่าที่ประเทศที่มีการระบาดจะกลับมาเป็นปกติเหมือนเดิมต้องผ่าน 4 ระยะ ตอนนี้ทั่วโลกเพิ่งจะอยู่ในระยะที่ 1 เท่านั้นเองยกเว้นจีน

 

                ระยะที่ 1 Slow the Spread เป็นการชะลอการระบาดด้วยวิธีมาตรการลดการติดต่อเพิ่มความสามารถในการตรวจสอบ การจัดการข้อมูล เพิ่มความสามารถของระบบสาธารณสุขจัดหาเวชภัณฑ์ให้พอ เพิ่มความเข้มข้นในการหาตัวผู้สัมผัสมากักตัว เน้นย้ำให้ประชาชนสวมใส่หน้ากากอนามัยและล้างมือ

 

                ระยะที่ 2 Reopen, State by State เป็นการค่อยๆ เปิดทีละเมือง ทำความสะอาดสถานที่สม่ำเสมอ เฝ้าระวังและกักตัวผู้ติดเชื้อ และผู้สัมผัส สำหรับผู้สูงอายุยังมีความเสี่ยงแนะนำให้อยู่กับบ้าน หาตัวผู้มีภูมิคุ้มกันซึ่งสามารถกลับไปทำงานได้

 

                ทั้งหมดมีตัวชี้วัดที่บอกว่าอยู่ในระยะที่ 2 คือ มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลงเรื่อยๆ ต่อเนื่อง 14 วัน โรงพยาบาลต้องรักษาผู้ที่นอนป่วยได้อย่างสบายๆ รัฐสามารถตรวจทุกคนที่มีอาการได้ และติดตามผู้ติดเชื้อและผู้สัมผัสได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้เมื่อไหร่จำนวนที่พบผู้ป่วยใหม่เพิ่มขึ้นต้องกลับไปที่ระยะที่ 1 ใหม่

 

                ระยะที่ 3 Establish protection then lift All Restrictions จะเข้าสู่ระยะนี้ได้ต่อเมื่อมีการนำวัคซีนมาใช้สำเร็จ (ผ่าน FDA) สามารถป้องกันการติดเชื้อด้วยการฉีดวัคซีนเป็นจำนวนมาก รวมถึงสำรวจหาผู้ที่มีภูมิคุ้มกัน

 

                ระยะที่ 4 Rebuild Our Readiness for the Next Pandemic เป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือการระบาดครั้งหน้า พัฒนาวิธีการให้ได้มาซึ่งวัคซีนสำหรับไวรัสตัวใหม่ให้เร็วขึ้น เป็นเดือน ไม่ใช่เป็นปี และเพิ่มความสามารถและประสิทธิภาพของระบบสาธารณสุข

 

                การรู้สถานการณ์ว่าเราอยู่ในระยะที่เท่าใดจะช่วยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้บริหารของจังหวัดสามารถมองเหตุการณ์ให้ตรงตามความเป็นจริง เพื่อกำหนดแผนและกิจกรรมการดำเนินงาน เพื่อคุมพื้นที่และช่วยเหลือประชาชนได้มีประสิทธิภาพในสถานการณ์ปัจจุบัน และในอนาคตต่อไป

 

 
อภิชาติ โตดิลกเวชช์ สมาชิกวุฒิสภา

 

//..................