วิกฤติ COVID-19 ผลกระทบต่อสังคมดนตรีของไทย : ‘อานันท์ นาคคง’

 

นักมานุษยวิทยาดนตรีชื่อดัง เผยแพร่ผลสำรวจปรากฏการณ์ด้านเพลงดนตรีและผลกระทบในสังคมดนตรีของไทยจากวิกฤตการณ์ COVID-19

 

 

 

           ‘อานันท์ นาคคง’ ศิลปินศิลปาธรสาขาดนตรี นักมานุษยวิทยาดนตรี และอาจารย์คณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เผยแพร่เนื้อหาจากหัวข้อบรรยาย : สำรวจปรากฏการณ์ด้านเพลงดนตรีและผลกระทบในสังคมดนตรีของไทยจากวิกฤตการณ์ COVID-19 (lecture topic : Netnomusicology and 2020’s COVID-19, a case study of Thailand music phenomena) ผ่านเฟซบุ๊ก “Anant Narkkong” โดยมีรายละเอียดดังนี้

 

 

           lecture topic : Netnomusicology and 2020’s COVID-19, a case study of Thailand music phenomena

           หัวข้อบรรยาย : สำรวจปรากฏการณ์ด้านเพลงดนตรีและผลกระทบในสังคมดนตรีของไทยจากวิกฤตการณ์ COVID-19

 

           ที่มาของการศึกษา : สถานการณ์ไวรัสโคโรน่า COVID-1 วิกฤตที่กลายมาเป็นโอกาสใหม่ของการเรียนรู้ของมานุษยวิทยาดนตรี

           เริ่มเก็บข้อมูล : 23 มีนาคม 2563 โดยใช้พื้นที่สนามเบื้องต้นคือ Youtube และ facebook

 

           ประเด็นที่น่าสนใจ การทำความเข้าใจกับสังคมไทยผ่านเพลง ผ่านโลกทัศน์ของผู้ประกอบอาชีพทางดนตรีในมุมต่างๆ

            (หมายเหตุ: โน้ตไว้ก่อน เท่าที่นึกออก ยังไม่เรียงลำดับความสำคัญ ยังไม่ได้ตกผลึก ไม่มีทฤษฎีอะไรมาสนับสนุน อาจมีการปรับเปลี่ยนหรือเพิ่มเติมความคิด ตามความเหมาะสม)

 

           I. ด้านบริบทสังคม เช่น

           1) อาชีพนักดนตรี (และผู้เกี่ยวข้องกับการจัดการแสดง) ตกงาน สถานบันเทิงเลิกจ้าง สถานที่บันเทิงยามค่ำคืน รวมไปถึงผับ บาร์ ร้านอาหาร ที่ใช้เพลงเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมการกินดื่มพักผ่อนหย่อนใจ หยุดกิจการ นักดนตรีส่วนหนึ่งที่ต้องเสียรายได้หลักจากการขายบริการ กับนักดนตรีอีกส่วนหนึ่งที่ตกงานเพราะคนจัดงานกลัวจะไม่มีคนฟังดนตรี ไม่คุ้มที่จะจัดการแสดง คำถามว่า อาชีพดนตรีที่จริงแล้วคืออะไร และถ้าไม่มีงานแนว performance แล้ว เขาเธอยังจะเรียกว่าเป็นนักดนตรีอยูหรือไม่
           2) คนดูคอนเสิร์ตในพื้นที่สาธารณะ คนที่เข้าโรงคอนเสิร์ต (ที่มีวัฒนธรรมการนั่งเบียดเสียดกันมายาวนาน) กลัวติดเชื้อ มีผลต่อการเลื่อนและยกเลิกคอนเสิร์ต เทศกาลดนตรี ต่อไปนี้วัฒนธรรมคอนเสิร์ตจะถูกเคลื่อนย้ายไปสู่โลกออนไลน์เช่นดียวกับกิจกรรมอื่นๆหรือไม่ การดูคอนเสิร์ตที่เบียดกันดูแล้วภาคภูมิใจในตั๋วขายหมด sold out ยังจะคงวัฒนธรรมความหยิ่งผยองนั้นไว้หรือไม่ หรือว่าถึงเวลาแล้วที่จะเลิกใส่ใจกับที่นั่งเบียดกัน (นักดนตรีบนเวทีก็เบียดกันด้วย โดยเฉพาะวงซิมโฟนี) แล้วคิดเรื่อง space ในการฟังการดูดนตรีกันใหม่
           3) วงการดนตรีศึกษา การเรียนการสอนดนตรี ซึ่งเป็นกิจกรรมมนุษย์ต่อมนุษย์ man to man เปลี่ยนไปเป็น online เท่าที่ทราบ ข้อจำกัดมีมากมาย ดนตรีมีเสียงและการแสดง-การสื่อสาร เป็นหัวใจสำคัญ ซึ่งเทคโนโลยีออนไลน์ไม่ได้เตรียมรองรับการเรียนการสอนดนตรีจริงๆนัก รวมทั้งการประกันความสำเร็จหรือสัมฤทธิผลของการเรียนออนไลน์ ที่ผ่านมา เราอาจจะมีวิชาที่เรียกว่า music technology แต่ว่าไม่เคยสนใจความสำคัญของ music education มากเท่างาน production รับใช้ทุนนิยม
           4) คำสั่งประกาศปิดสถานศึกษา รวมทั้งคณะวิชาทางดนตรี นอกจากเป็นอุปสรรคต่อการจัดการเรียนการสอนดนตรี ยังมีผลต่อการซ้อมดนตรี การใช้ห้องซ้อมรวม-ซ้อมเดี่ยว การมีเครื่องดนตรีของนักศึกษา อาจจะต้องดูถึงสถานประกอบการที่เป็นโรงเรียนดนตรีพิเศษด้วย เคยคิดเล่นๆว่าในที่สุดเราคงต้องมีพิธีสถาปนาปริญญาออนไลน์กันด้วยกระมัง
           5) การประกวดดนตรี การแข่งขันร้องเพลง ในพื้นที่สาธารณะ ถูกยกเลิก รางวัลของงานดนตรีกรรม จะเปลี่ยนพื้นที่ไปสู่การจัดการในมิติอื่นแล้ว ที่จริงพวกรายการเกมโชว์หรือเรียลลิตี้โชว์ที่แข่งเพลงแข่งความสามารถหรือแข่งความปลอมๆเขาก็ทำอะไรนำหน้างานประกวดดนตรีไปนานแล้ว อาจจะต้องหาทางคุยกันว่าฝ่ายที่ยังยึดติดกับการประกวดประเภทของจริงกัน
           6) นักดนตรีเปิดหมวก ชีวิตปกติไร้ความมั่นคงและสวัสดิการอยู่แล้ว จะเกิดอะไรขึ้นต่อไป
           7) เครื่องดนตรีที่เป็นพาหะของไวรัส จะโดยการจับ ลูบ แตะ จิ้ม กด อม เป่า ดูด ฯลฯ มีใครคิดถึงบ้างไหมว่าจะดูแลกันอย่างไร ทั้งในส่วนของเครื่องดนตรีและคนเล่นดนตรี ปกติแล้วสนับสนุนกันแค่ให้ล้างมือหรือใส่หน้ากาก แต่เราไม่เคยใส่ใจเรื่องความสะอาดของเครื่องดนตรีเลย เครื่องดนตรีในโรงเรียนหรือตามสำนักสถาบันยิ่งน่ากลัวใหญ่
           8) ดนตรีประเภทใด ที่จะเกิดขึ้นหลังจากยุคสมัยของโควิดล้างโลก ดนตรีประเภทใดที่ถึงเวลาจบตัวเองแล้ว ถ้ามนุษยชาติยังจะเจอการทดสอบของพระเจ้าในแนวโควิดนี้ต่อไป

 

           II. ด้านงานสร้างสรรค์ทางดนตรี

            โควิดมา นอกจากเสียงร้องไห้ ยังมีเสียงของความหวัง ความสุข ไปจนถึงความสนุก ประเทศไทยเราผลิตงานเพลงที่เรียกว่าเพลงสนุกในยุคความน่ากลัวมากที่สุดในโลก (ถ้าแค่มองเพลงรณรงค์ให้รักษาความสะอาดก็เหลือเชื่อแล้ว) นอกจากนี้ยังมี “เพลงปลุกใจ” ในแนวที่หลุดกรอบไปจากยุคความรักชาติบ้านเมืองหรือเสื้อเหลืองเสื้อแดงใช้วาทกรรมดนตรีมาด่าทอกันแล้ว เป็นการร้องเพลงปลุกใจเพื่อให้เกิดความหวังกำลังใจที่จะสู้กับโควิด รวมทั้งคำขวัญประเภทเราจะฝ่าฟันไปด้วยกัน เราจะชนะโควิดด้วยกัน 

           การรวบรวมเพลงสร้างสรรค์ มีแนวทางการศึกษามากมายที่เป็นประโยชน์กับการเปิดมุมมองใหม่ทางมานุษยวิทยาดนตรี นอกจากจะบันทึกสิ่งที่เป็นเป็น “ประวัติศาสตร์ร่วมสมัย” แล้ว อาจจะย้อนกลับไปถึงความรู้ในเชิงคติชนวิทยา ความรู้เรื่องวรรณกรรมดนตรี ความรู้เรื่องการปรับตัวของวัฒนธรรมในความเปลี่ยนแปลงทางสังคมเศรษฐกิจ อาจจะตั้งคำถาม ประเด็น เพลงทำหน้าที่อะไร มีผลต่อใคร สไตล์ดนตรีเป็นอย่างไร เนื้อหามีอะไรน่าสนใจ (ex ให้ความรู้ในการป้องกันตัว แทนคำสั่งประกาศที่เป็นตัวหนังสือ, ให้กำลังใจ, สั่งสอนจริยธรรมพื้นฐาน เช่น ไม่เห็นแก่ตัว สามัคคี) นอกจากนี้ น่าสนใจช่วงเวลาที่เพลงถูกผลิต ถูกถ่ายทอดผ่านสื่อ เสียงที่ส่งผ่านตัวเพลง เสียงตอบรับ คำวิจารณ์ รวมทั้งพฤติกรรมการแชร์-ส่งต่อในโทรศัพท์มือถือของผู้คน

            

           สำหรับการศึกษานวัตกรรมเพลงสร้างสรรค์ที่สำรวจเบื้องต้น เพื่อความเข้าใจในการเรียนและการค้นคว้าต่อด้วยตนเองของนักเรียน ได้แบ่งเพลงออกเป็น 7 กลุ่ม ได้แก่

           1) กลุ่มนวัตกรรมเพลงสร้างสรรค์ สายสาธารณสุขและองค์กร

           2) กลุ่มนวัตกรรมเพลงสร้างสรรค์ สายลูกทุ่งและพื้นบ้าน

           3) กลุ่มนวัตกรรมเพลงสร้างสรรค์ สายเพลงเพื่อชีวิตและโฟล์คซอง

           4) กลุ่มนวัตกรรมเพลงสร้างสรรค์ สายพ็อพ เทคโน และอินดี้

           5) กลุ่มเพลงสร้างสรรค์ สายย้อนรอย อ้างอิง ตัดต่อ

           6) กลุ่มเพลงดนตรีสายอนุรักษ์นิยม ดนตรีไทย โขนละคร คลาสสิค

           7) กลุ่มเพลงดนตรีสายราชการ สายรัฐบาล สายกองทัพ รวมสายสถาบันการศึกษาด้วย

 

           ที่จริง งานสร้างสรรค์ บางประเด็นที่อาจจะพัฒนาขึ้นเป็นงานวิจัยอย่างจริงจังก็ได้ อาทิ

           1) กรณีเพลงเพื่อความรู้ในการป้องกันตัวจากสายธารณสุข ใจถึงมาก ผลิตงานประชาสัมพันธ์เชิงรุก ส่วนใหญ่เป็นเพลงแนวเต้นรำที่คัฟเวอร์มาจากเพลงดังโดนใจวัยรุ่น ใช้ทุนทางวัฒนธรรมที่มีอยู่แล้วมาต่อยอด ออกแบบท่าเต้นกันเอง เต้นโดยแพทย์พยาบาล ถ่ายทำกันง่ายๆ เผยแพร่ในสื่อไร้พรมแดน น่าสังเกตว่าทำออกมาอย่างจริงจังก่อนที่รัฐบาลจะประกาศปิดเมืองและมาตรการป้องกันภัยอื่นๆ

           2) เพลงใหม่แนว studio work เกิดขึ้นมากมาย เผยแพร่ในพื้นที่ไซเบอร์สเปซ ไวรัลคัลเจอร์ สำหรับแบ่งปัน ให้กำลังใจ สร้างความสุขเทียม ฯลฯ น่าจะได้ทำการรวบรวมและวิเคราะห์วิจารณ์ด้วยเพื่อประโยชน์ทั้งทางประวัติศาสตร์และทิศทางอนาคตของสังคม

           3) กรณีเพลงตลกล้อเลียน โควิดอาละวาด จากเพลงเดิม บุปเพสันนิวาส สะท้อนอารมณ์ขันของคนไทยในวิกฤตและการหาทางออกในเชิงบวกผสมการเสียดสีประชดประชัน หรือการ quotation งานเพลงที่อยู่คนละบริบทมาทำเป็นงานสื่อสารมวลชน

           4) เพลงอินดี้ เพลงเพื่อชีวิตจำนวนหนึ่ง เคลื่อนที่จาก theme ที่เคยทำซ้ำมาก่อนนี้ ไปสู่เรื่องใหม่ การต่อสู้ไม่ใช่แค่กับฝั่งรัฐหรือกับสัญลักษณ์เดิมๆแล้ว แต่กำลังสู้กับศัตรูของมนุษยชาติทั้งหลาย น่าสนใจว่ากลุ่มศิลปินอินดี้มีกระบวนการคิดที่คลี่คลายมาก กล้าที่จะวิจารณ์ผ่านเพลง งานหลายชิ้นพัฒนาทั้งตัวภาษา การเล่าเรื่อง ไปสู่การพูดถึงความหวังใหม่ อนาคตใหม่ๆ แต่น่าเสียดายที่สังคมทั่วไปไม่เอาใจใส่เขาเลย

           5) กลุ่มอนุรักษ์นิยม กลุ่มอิงขนบธรรมเนียมประเพณี พื้นที่เดิมมีน้อยอยู่แล้ว หากเมื่อสถานการณ์มาถึง โอกาสที่จะสร้างงานมาถึง กลับเพิกเฉย ไม่ปรับตัว หรือเลี่ยงที่จะปะทะกับปัญหา เป็นกลุ่มแรกที่เอาตัวรอด รอเวลาให้ไวรัสผ่านไป หากรอดตายก็คงจะกลับไปเฉลิมฉลองกันต่อ สวยๆ (และทิ้งให้พวกอินดี้ เทคโน แรพ เป็นพวกน่าชังต่อไป)  เชื่อว่าในความสวยๆนั้น จะมีทั้งเพลงซิมโฟนี เพลงโอเปร่ามหาวิจิตร เพลงโคตรพ่อโคตรแม่คอนแชร์โต้ และอาจจะใหญ่ไปถึงมหกรรมดุริยางค์เพื่อสดุดีการก้าวข้ามพ้นวิกฤตการณ์เลวร้ายนี้ไปได้ 

           6) ยังไม่มีโอกาสศึกษาเพลงสร้างสรรค์ฝ่ายรัฐบาลจริงๆ ไม่อาจสรุปได้ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง แต่เดาว่าในที่สุดคงจะมีผลงานอะไรที่เป็นอนุสรณ์แห่งความทรงจำในช่วงเวลาเลวร้ายนี้เกิดขึ้นบ้าง หวังแค่ท่านผู้นำจะเลิกแต่งเพลงเสียทีด้วย

           7) เพลงจากกลุ่มสถาบันการศึกษา น่าจะมีโปรเฟสเซอร์รอดตายกลับมาทำงานวิจัยเชิงสร้างสรรค์เอาตำแหน่งขุนนางวิชาการกันบ้าง รวมทั้งพวกนิสิตนักศึกษาที่ทำไฟน่อลโปรเจค ก็จะมีโอกาสจบปริญญาสวยๆด้วยบุญของไวรัสที่ทิ้งไว้ให้เช่นกัน

           8) เสียงที่เราไม่ได้ยิน หรือยังไม่ก็ไม่มีทางได้ยินอยู่ดี คือพวกชนเผ่า ชาติพันธุ์ชายขอบ คนเร่ร่อน คนไร้สิทธิไร้เสียงในการต่อรอง แม้แต่เสียงของผีน้อย ก่อนไวรัสจะมา เขาเหล่านี้ถูกเหยียดว่าไม่ใช่คนอยู่แล้ว จะตายหรือรอดตายก็ไม่มีความหมาย ไม่ต้องไปพูดถึงดนตรีอะไรก็ได้ พูดแค่ว่าเราเป็นคนเหมือนเรายังไม่มีใครสนใจเลย

 

           ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างเพลงสร้างสรรค์ในแต่ละกลุ่มที่คิดว่าน่าสนใจ บางกลุ่มก็น่าสนใจมากเหมือนกันแต่เลี่ยงที่จะไม่เอ่ยถึง เพื่อความสุขสงบของชั้นเรียน มีปัญญาก็ไปหาดูหาฟังเพิ่มเติมเอากันเอง โตจนป่านนี้แล้ว

 

- - - - - - - - - - - - - - - - -

 

 

           สายสาธารณสุขและองค์กร : เพื่อการประชาสัมพันธ์-ให้ความรู้สังคม โดยกลุ่มแพทย์พยาบาล ส่วนใหญ่เป็นเพลงเต้นรำ dance music ออกแบบท่าเต้นกันเองจากข้อมูลการป้องกันโรคเบื้องต้น ท่าเต้นและเนื้อหาเพลงที่เน้นมากคือการล้างมือ ถูมือ การหายใจ การใส่หน้ากาก การกินอาหารร้อนช้อนกลาง การเดินทาง ฯลฯ เพลงส่วนใหญ่จะเน้นภาพลักษณ์ของหมอพยาบาลค่อนข้างวัยรุ่น สดใส ทำกิจกรรมร่วมกันเป็นกลุ่มอย่าง สนุกสนาน น่าจะมีอิทธิพลของศิลปินไอดอลที่เป็นเกิร์ลกรุ๊ป/บอยแบนด์ผสมผสานอยู่ด้วย สายสาธารณสุขนี้สร้างสรรค์งานเพลงที่มีปริมาณมากอย่างไม่น่าเชื่อ เต้นกันน่าทึ่งมาก ถูมือล้างมือกันจริงจังมาก เปลี่ยนสเต็ปของการล้างมือไปเป็นท่วงท่าแด็นซ์ที่สนุกเหลือเกิน ทำไปทำมาน่าจะเป็นท่าเต้นแห่งชาติได้แทนท่านาฎศิลป์ขนบดั้งเดิม

           1) เชื้อโรค มะริ้งกิงก๊องบนมือเธอ ทีมแพทย์โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ทำคลิปเต้นประกอบเพลง สอนวิธีล้างมือแบบง่าย ๆ สู้ภัยไวรัสโคโรนา เผยแพร่ทาง youtube ครั้งแรก 5 ก.พ. 2020 https://www.youtube.com/watch?v=Nda10J0bvbY “ไม่ล้างมือเชื้อโรคจะเต้น มะริง กิงก่อง สะระน็อง ก่องแก่ง Corona Virus ทำร่างกายง๊องแง๊ง เต้นรำร็องแง็งบนมือของเธอ เชื้อโรคทั้งนั้น ที่มือต้องพบเจอ ต้องเตือน ย้ำตัวเองอยู่เสมอ ล้างมือ ล้างมือ บ่อยบ่อย”

           2) “COVID-19" บีทีเอส เต้นสู้ไวรัส โดยเจ้าหน้าที่ขนส่งมวลชนของบีทีเอส เอาพนักงานรถไฟฟ้ามาเต้น สอนคนให้ระวังตัวและให้กำลังใจแพทย์อนามัย เผยแพร่ครั้งแรdตามสถานีและในรถไฟฟ้าเมื่อ 5 ก.พ. 2020 ต่อมาไทยรัฐออนไลน์เอามาเผยแพร่ทาง youtube ครั้งแรก 7 ก.พ. 2020 https://www.youtube.com/watch?v=JAi0Ma7mcs4

           3) ล้างมือบ่อยๆ ผลิตโดยสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร Healty Bangkok แปลงมาจากเพลงxxx เต้นท่าล้างมือ7ขั้นตอน โดยพนักงานของสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร เผยแพร่ทาง youtube ครั้งแรก 4 ก.พ. 2020 https://www.youtube.com/watch?v=YEtgKChn644

           4) ล้างมือไม่เสี่ยงโรค เวอร์ชั่นคุกกี้เสี่ยงทาย เต้นกันทั้งหมอ พยาบาล คนงานของโรงพยาบาล เผยแพร่ทาง youtube ครั้งแรก 5 ก.พ. 2020 https://www.youtube.com/watch?v=-DnUdrBOQd0

           5) ปี้โคโรน่าให้ป่น (Cover) วิธีการล้างมือให้สะอาด 7 ขั้นตอน แปลงมาจาก ต้นฉบับเพลง: ปี้(จน)ป่น ศิลปิน: มหาหิงห์ feat. บัว กมลทิพย์ คำร้องใหม่โดย พ.อ.นายแพทย์ศิวพล บุญรินทร์ (รพ.ร้อยเอ็ด) น่าสนใจมีแทรกลูกเล่นหมอลำอีสานด้วย เผยแพร่ทาง youtube ครั้งแรก เมื่อ 5 ก.พ. 2020 น่าจะเป็นแนวทดลอง https://www.youtube.com/watch?v=3iZ2YusGnhM ต่อมาปรับแนวดนตรีให้แน่นขึ้น ขับร้องใหม่ ถ่ายทำแบบทุ่มเทมากทั้งโรงพยาบาลร้อยเอ็ด เผยแพร่เมื่อ 12 ก.พ. 2020 https://www.youtube.com/watch?v=Icc5EKrWUPU ต่อมาพัฒนาอีกเวอร์ชั่นใน https://www.youtube.com/watch?v=kzRTXxL8QpY

           6) ล้างมือทั้งอำเภอ ทีมแพทย์ พยาบาล โรงพยาบาลแพร่จัดทำขึ้น จากเพลงต้นฉบับเลิกคุยทั้งอำเภอเพื่อเธอคนเดียว เพื่อให้ทุกคนหันมาใส่ใจการล้างมือ ป้องกันโรคร้ายต่าง ๆ ได้ ไม่เฉพาะโควิด-19 เผยแพร่ทาง youtube ครั้งแรก เมื่อ 25 ก.พ. 2020 โดยสํานักข่าวไทย TNAMCOT https://www.youtube.com/watch?v=FgB9aiOyMFw

           7) พักก่อน covid19 โดย Dr.Fai VFight คัฟเวอร์เพลงพักก่อนของ Milli เต้นสนุก งานเท่ เผยแพร่ทาง youtube ครั้งแรก เมื่อ 28 ก.พ. 2020 https://www.youtube.com/watch?v=mQji8UlTeuw

           8) ถูๆ บิดๆ พิชิตไวรัส [covid-19] โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ผลิตโดยคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แปลงมาจาก เพลง T26 โบกโบ๊กโบก (Ost.ป้าแฮปปี้ She ท่าเยอะ) และเพลง รถแห่รถยู้ [ป๊ะโล๊งโป๊งฉึ่ง] เผยแพร่ทาง youtube ครั้งแรก 6 มี.ค. 2020 https://www.youtube.com/watch?v=-twVg1mtmKI

           9) ล้างมือบ่อยๆ ผลิตโดย Thai PBS แปลงมาจากเพลงxxx เต้นท่าล้างมือ7ขั้นตอน โดยพนักงานของสถานี เผยแพร่ทาง youtube ครั้งแรก 13 มี.ค. 2020 https://www.youtube.com/watch?v=UtouE_okshk

          10) COVID-19 รณรงค์ป้องกันโรคไวรัสโควิด-19 ของ บมจ.ทีโอที. นครหลวง MV เป็นการประชาสัมพันธ์ในองค์กร ถ่ายทำใหม่ทั้งหมด คำร้อง-ทำนอง ปื๊ด ขับร้อง น้องกัปตัน ผยแพร่ทาง youtube ครั้งแรก 20 มี.ค. 2020 https://www.youtube.com/watch?v=cpOpLx9g_8g

- - - - - - - - - - - - - - - - -

 

           สายลูกทุ่ง-พื้นบ้าน : มีทั้งงานที่ผลิตโดยศิลปินอาชีพและสมัครเล่น คำร้องเรียบง่าย ใช้ข้อมูลที่สกัดมาจากข่าวสารบ้านเมืองมากกว่าเรื่องการให้ความรู้ทางสาธารณสุขแบบกลุ่มแพทย์พยาบาล มีการสอดแทรกประเพณีวิถีชีวิตและความรู้สึกของคนชนบทอยู่บ้างในบางเพลง เพลงส่วนใหญ่จังวะปานกลาง อารมณ์กลางๆ ไม่เศร้าแต่ก็ไม่สนุก

           1) ไวรัสโคโรนา (โควิด-19) โดย ชิน ล่องน่าน เพลงซอล้านนา ทำนองซอล่องน่าน คำร้องโดย อินสาน บันทึกเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ไว้ในเพลงพื้นบ้าน เผยแพร่ทาง youtube ครั้งแรก 15 มี.ค. 2020 โดยแอ่วฟิลแชนแนล https://www.youtube.com/watch?v=dDoBB1ikykI

           2) สู้โคโรน่า(COVID-19) - พ่อใหญ่วอ - Thai Batman fights coronavirus ทำ MV แนวชาวบ้านดูสนุกมาก แต่งตัวแบทแมนร้องเพลง เผยแพร่ทาง youtube ครั้งแรก 15 มี.ค. 2020 https://www.youtube.com/watch?v=2i5739DyxgY

           3) โควิด-19 ร้องโดย ซูโม่ เพลงด๊านซ์แนวพื้นบ้านอีสาน ศิลปินเด็กๆ ไม่มียอดวิวมากนักแต่น่าสนใจในการทำงาน ละเบ๋อ เรคคอร์ด เผยแพร่ทาง youtube ครั้งแรก 15 มี.ค. 2020 https://www.youtube.com/watch?v=SLOwgDvaKeI มีอีกเพลงที่อยู่ในชุดเดียวกันคือ โควิด-19 โดย น้องเพลง รมิดา เพลงด๊านซ์แนวพื้นบ้านอีสาน โปรดักชั่นเดียวกันกับซูโม่ ละเบ๋อ เรคคอร์ด เผยแพร่ทาง youtube ครั้งแรก 15 มี.ค. 2020 https://www.youtube.com/watch?v=twP0TXix5Ms

           4) โควิดซา สิมากอดเด้อ สลา คุณวุฒิ เผยแพร่ทาง youtube ครั้งแรก 18 มี.ค. แบบไลฟ์ แล้วจัดการมิกซ์เสียงใหม่เผยแพร่ 20 มี.ค. 2020 เพจบ้านครูสลา https://www.youtube.com/watch?v=KLPFEpZHwMU, https://www.youtube.com/watch?v=OXVDjdYv2ZY เพลงนี้มีนักร้องเอามาคัฟเวอร์กันมาก

           5) ห่วงเธอเจอโควิด19 ยิ่งยง ยอดบัวงาม คำร้อง/ทำนอง : อ.วิไล พนม เรียบเรียง : กิตติศักดิ์ สายน้ำทิพย์ เผยแพร่ทาง youtube ครั้งแรก 21 มี.ค. 2020 yingyong24 https://www.youtube.com/watch?v=RNeiTlK19G0

           6) โคหวิด อิดใจ ( Cover วิบวับ) โดยเอ็ดดี้ ตลาดแตก Pp StudiO มีกระทบรัฐบ้างสนุกๆ เผยแพร่ทาง youtube ครั้งแรก 21 มี.ค. 2020 https://www.youtube.com/watch?v=9gW5KUPCEDI

           7) โควิดรักษาหาย หลายใจรักษายาก เพชร สหรัตน์ ถ่ายทำ MV จริงจัง เผยแพร่ทาง youtube ครั้งแรก 23 มี.ค. 2020 นัวร์มิวสิค https://www.youtube.com/watch?v=gyMW8PsmTpA

           8) โควิดมา น้ำตาไหล จินตรา พูนลาภ เผยแพร่ทาง youtube ครั้งแรก 23 มี.ค. 2020 JINTARA CHANNEL OFFICIAL https://www.youtube.com/watch?v=UNAWZ_ahNSY

- - - - - - - - - - - - - - - - -

 

           สายเพลงเพื่อชีวิตและโฟล์คซอง : มีความเป็นเพลงเล่าเรื่องสูง เล่าสถานการณ์ สอดแทรกการวิจารณ์ปัญหาความล้มเหลวของการบริหารบ้านเมือง มีบ้างบางเพลงที่ให้ข้อมูลการดูแลตัวเองในยามโรคระบาด งานส่วนหนึ่งบันทึกกันแบบง่ายๆไม่เน้นคุณภาพเสียงและภาพ

           1) ​เชื้อร้ายสายพันธุ์มรณะ(โควิด19)​ โดย อาวโหน่ง ดีดกีตาร์ร้องเพลงอัดมือถือง่ายๆ เผยแพร่ทาง youtube ครั้งแรก 10 มี.ค. 2020 https://www.youtube.com/watch?v=DqLnzROun0E

           2) โควิด-19 กลายพันธุ์ โดย ขุน นรินทร์ เผยแพร่ทาง youtube ครั้งแรก 13 มี.ค. 2020 Phupoom Records Official https://www.youtube.com/watch?v=lSG1hslypx4

           3) โควิด โดย โคบาล งานสตูดิโอ มีคาราโอเกะ เผยแพร่ทาง youtube ครั้งแรก 17 มี.ค. 2020 https://www.youtube.com/watch?v=07tD-olh6Y0

           4) รวมใจไทยข้ามโควิด19 แอ๊ด คาราบาว เผยแพร่ทาง youtube ครั้งแรก 19 มี.ค. 2020 carabao official https://www.youtube.com/watch?v=7jkvmq-RZvE

           5) โควิด-19 ขวัญ​ Forlife เผยแพร่ทาง youtube ครั้งแรก 19 มี.ค. 2020 เฉลิมชัย ไกลทุกข์ https://www.youtube.com/watch?v=KDdJEqsTiw8

           6) โควิดจ๋า สร่างซาที โดย พีเตอร์ อมก๋อย เผยแพร่ทาง youtube ครั้งแรก 19 มี.ค. 2020 https://www.youtube.com/watch?v=G6b6qGR-lEA

           7) เพลงโควิด19-กีตาร์ลิง ถอดเสื้อนุ่งกางเกงขาสั้น คาดหน้ากากอนามัย ดีดกีตาร์ร้องเพลง เผยแพร่ทาง youtube ครั้งแรก 19 มี.ค. 2020 https://www.youtube.com/watch?v=4Cr7aT35Ahc

           8) โควิด-19 โดย ปังสะพานดาว บันทึกสดในสตูดิโอ เผยแพร่ทาง youtube ครั้งแรก 19 มี.ค. 2020 https://www.youtube.com/watch?v=tu0ouyvYI1s

           8) สู้ให้ผ่านโควิท19ไปด้วยกัน แนวโฟล์คซองเพื่อชีวิต ศิลปิน วุฒิ กาฬสินธุ์ แต่งโดยจอห์น ขวัญใจ งานดิบๆ ถ่ายมือถือง่ายๆ ผลิตโดยโคยเสียกเร็คคอร์ด เผยแพร่ทาง youtube ครั้งแรก 20 มี.ค. 2020 เซน สายจ๊วด https://www.youtube.com/watch?v=uxav-o9IQPc

           9) วันใหม่ (สู้ COVID-19) พงษ์สิทธิ์ คำภีร์ ดนตรีงดงาม ร้องประณีตมาก ใช้ภาพนิ่งและคลิปข่าวมาทำ MV เผยแพร่ทาง youtube ครั้งแรก 20 มี.ค. 2020 Pu Pongsit Official https://www.youtube.com/watch?v=aWKO_IUdn6M

           10) โควิด 19 ไวรัสมรณะ สมพงศ์ วงลูกคลัก คำร้อง/ทำนอง : สมพงศ์ คงเอียง เรียบเรียง : อภิชัย ชูเกื้อ สร้างสรรค์ : ครูเชาว์โชว์ เผยแพร่ทาง youtube ครั้งแรก 20 มี.ค. 2020 https://www.youtube.com/watch?v=wb4kjPdHo9Q

- - - - - - - - - - - - - - - - -

 

           สายพ็อพ เทคโน อินดี้ : งานหลากหลายและก้าวหน้ามาก เข้าถึงตลาดทุกแนว คนฟังหลากหลายประเภท งานหลายชิ้นเป็นวัฒนธรรมการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ แต่ก็มีบางชิ้นที่เป็นการทดลองมากกว่าจะเพื่อสาธารณะจริงๆ

           1)  ไวรัส โคโรน่า(Thai) COVID-19 ครูโจ้อินดี้ เผยแพร่ทาง youtube ครั้งแรก 30 ม.ค. 2020 https://www.youtube.com/watch?v=4Ty2XvgMu-M

           2) เพลงโควิด-19 แรพโควิค โดยป๋อม ธนกร โกมลสุต งานโฮมสตูดิโอ แต่งเองเล่นเองร้องเองถ่ายทำเองตัดต่อเอง เผยแพร่ทาง youtube ครั้งแรก 12 ม.ค. 2020 https://www.youtube.com/watch?v=_p9l0OOmeN4

           3) มึงว่ากูติดยังวะ COVID-19 แรพโดย SUNNY-K เผยแพร่ทาง youtube ครั้งแรก 18 มี.ค. 2020 https://www.youtube.com/watch?v=r-CEqKNq1ag

           4) แอบนอยด์ (ไวรัสโควิด) โอ๊ต ปราโมทย์ มีช่วงแซะรัฐบาลสนุกๆ ส่วนหนึ่งจาก WhyLive สู้ไวรัส เผยแพร่ทาง youtube ครั้งแรก 18 มี.ค. 2020 https://www.youtube.com/watch?v=yf2srkJWYsk หรือดูงานรวมที่สตรีมมิ่งเมื่อ 17 มี.ค. https://www.youtube.com/watch?v=lNCzJB3dsJw

           5) โควิด-19 มะล่องก่องแก่ง - มิกค์โบว์ เผยแพร่ทาง youtube ครั้งแรก 19 มี.ค. 2020 TQM Insurance Broker https://www.youtube.com/watch?v=OYtc4JVkyQc

           6) พัก(COVID)ก่อน โดยศิลปินเพศทางเลือก ฮายโซล Haiseoul แปลงจากเพลงต้นฉบับ พักก่อน ของ MILLI หนึ่งในงานคัฟเวอร์ยอดนิยมของปีนี้ ถ่ายทำสนุก เผยแพร่ทาง youtube ครั้งแรก 22 มี.ค. 2020 https://www.youtube.com/watch?v=Tb9qydadXB8

           7) พักก่อน COVID 19 เกรซ กาญจน์เกล้า แนวฮิปฮอป แรพสนุก มิกซ์เสียงดี ถ่ายทำวิดีโอเท่มาก เนื้อร้องตั่งต่าง @gracekanklao n P Max ผู้ไม่มีไอจี GRACEKANKLAOOFFICIAL เผยแพร่ทาง youtube ครั้งแรก 22 มี.ค. 2020 https://www.youtube.com/watch?v=LXeveVU1FBk

           8) จะไม่ทิ้งกัน เนื้อร้อง ทำนอง และ ควบคุมการผลิต​  บอยด์ โกสิยพงศ์ เนื้อร้อง Rap : Golf Fukkling Hero ร่วมส่งเสียงโดย อัญชลี จงคดีกิจ​ ธนชัย อุชชิน​ ชลาทิศ ตันติวุฒิ​ สุวีระ บุญรอด​ Golf Fukkling Hero อาทิวราห์ คงมาลัย และ พงษ์สิทธิ์ คำภีร์ สไตล์งานดนตรีชวนให้นึกถึงงานจำพวก we are the world และ เพลงปราบไพร่เสื้อแดง ขอความสุขกลับคืนมา อารมณ์น่าจะถูกใจคณะรัฐบาลปัจจุบัน เพลงเผยแพร่ทาง youtube ครั้งแรก 23 มี.ค. 2020 โดย we thai https://www.youtube.com/watch?v=FGkGdhh6yqs

 

- - - - - - - - - - - - - - - - -

 

           สายย้อนรอย อ้างอิง ตัดต่อ : นำเพลงเก่าที่เคยมีอยู่แล้ว เป็นที่รู้จักของสังคมหมู่มากกันมาก่อน ถูกผลิตขึ้นในบริบทอื่น หรือเคยมีชื่อเสียงโด่งดังในช่วงเวลาอื่น มาใช้ในการสื่อสาร ส่วนใหญ่จะเป็นงานเชิงตลกขบขัน เสียดสี แม้ต้นฉบับเดิมของเพลงหรือศิลปินจะไม่ได้เป็นเช่นนั้นมาก่อนก็ตาม แต่การนำมาใช้สื่อสารส่งผลให้คนที่รับสารเกิดความสนุกสนาน มองโลกในแง่ดีแม้ในยามวิกฤตการณ์น่ากลัวนี้

           1) โควิดอาละวาด จากเพลงเดิม บุปเพสันนิวาส ถูกนำไปร้องกันมากมาย และแชร์ในลักษณะลูกโซ่ไปตามไลน์ เฟซบุค ถือว่าเป็นหนึ่งในเพลงที่ปลุกกระแสการนำเพลงเก่ามา “เล่น” กันใหม่ในสังคมนี้

           2) บางส่วนของคำร้อง และ MV เพลงเก่ากลับมาฮิต ที่น่าสนใจมากคือ กรณีบี้ สุกฤษณ์ อดีตนักร้องวัยรุ่น เพลงที่ถูกนำมาตัดต่อ และแชร์กันในสังคม เช่น I Need Somebody จากอัลบั้มแรกของเขา ได้กลายเป็นผลงานแรกๆ ที่หลายคนนำมาล้อกับกระแส โควิด-19 โดยเฉพาะเนื้อร้องท่อน "คนที่โทรผิดมาเมื่อวานตอนเช้า คนที่นั่งกินข้าวติดกันเมื่อคืน คนที่ยิ้มให้กันตรงหน้าปากซอย ใช่หรือเปล่า" แทนความรู้สึกกังวลว่าคนรอบตัวกำลังติดเชื้อไวรัสหรือไม่ หรืออีกเพลง “กลัวที่ไหน" กลายเป็น “เพลงปลุกใจ” ของคนที่ต้องสุ่มเสี่ยงกับการสัมผัสคนอื่น หรือ “เจ็ดวันที่ฉันเหงา” ก็ถูกนำมาใช้บรรยายความรู้สึกของคนที่ถูกกักตัว 14 วันเพื่อตรวจสอบว่าจะติดเชื้อหรือไม่

- - - - - - - - - - - - - - - - -

 

           ข้อมูลเสริม เพลงใหม่บางเพลง

 

           เพลง รวมใจไทยข้ามโควิด-19 ศิลปิน : ยืนยง โอภากุล (แอ๊ด คาราบาว)

คำร้อง /ทำนอง : ยืนยง โอภากุล กีตาร์ไฟฟ้า : ขจรศักดิ์ หุตะวัฒนะ บันทึกเสียง /โปรแกรม /มิกซ์ /มาสเตอร์ /เรียบเรียง : ภูวกฤต นนท์ธนธาดา

           เกิดมาบนโลกใบนี้ ล้วนมีชะตากรรมร่วมกัน ทุกคนคือหนึ่งในนั้น ในสนามรบ สงครามโควิด ให้ดูและระวังตนเอง ช่วยลดสะกดเชื้อสู่คนใกล้ชิด คนไทยพร้อมใจฝ่าวิกฤต โควิด-19 อย่างรู้เท่าทัน ฝันร้ายจะมลายไป ด้วยเราคนไทยร่วมกันฝ่าฟัน

           ขอส่งแรงใจให้คุณหมอ พยาบาล มดงานนิรนาม แห่งสาธารณสุข หน้ากากนั้นมีไม่พอ สำหรับคุณหมอ พยาบาลและผู้ป่วย ใครมีขอจงมาช่วย มาบริจาคให้ โรงพยาบาล รณรงค์ให้หมั่นล้างมือ กินร้อน ใช้ช้อนกลางส่วนตัว ป้องกันสัมผัสสารคัดหลั่ง ระวังมือที่เปื้อนไปจับใบหน้า ทิ้งหน้ากากติดเชื้อให้ถูกที่ ถูกทาง ใครที่เสี่ยง ก็ให้อยู่บ้าน 14 วัน

           จงร่วมมือ ร่วมใจกันฝ่าฟัน ไม่เห็นแก่ตัวในภาวะที่คับขัน ข้ามโรคร้ายไปด้วยกัน สามัคคีเถิดผองไทย หน้ากากผ้าสำหรับประชาชนคนธรรมดา หน้ากากเขียวอนามัยสำหรับผู้ป่วย หมอ พยาบาล จงร่วมมือ ร่วมใจกันฝ่าฟัน ไม่เห็นแก่ตัวในภาวะที่คับขัน ข้ามโรคร้ายไปด้วยกัน สามัคคีเถิดผองไทย ไม่เห็นแก่ตัวในภาวะที่คับขัน ข้ามโรคร้ายไปด้วยกัน สามัคคีพี่น้องไทยฝันร้ายจะมลายไป ด้วยเราคนไทยร่วมกันฝ่าฟัน ขอส่งแรงใจให้คุณหมอ พยาบาล มดงานนิรนาม ด้วยเสียงปรบมือ

 

           เพลง : โควิดซา สิมากอดเด้อ

           ขับร้อง : สลา คุณวุฒิ คำร้อง - ทำนอง : สลา คุณวุฒิ เรียบเรียง : ปิยะวุฒิ ณ บางช้าง

           สงกรานต์..ปีนี้เมืองไทยคงเหงา นัดเรา คงเลื่อนอีกแล้วแก้วตา โควิดไนน์ทีนจากเมืองจีนข้ามแดนเข้ามา ส่งแมสให้นางต่างหน้ากับแอลกอฮอร์ซามพ้อ..หน้ากัน ฮักเดอ..แต่ก็มาเจอบ่ไหว คิดหลาย..จนบ่เป็นอันทำงาน เซฟตี้เมืองไทยช้าไปโรคร้ายเล่นงาน ใส่แมสเฮ็ดเวียกอยู่บ้าน อยู่ไผอยู่มันคือทางรอดตาย

           อย่าอยู่ใกล้ไผ อย่าให้ผู้ใด๋ใกล้เธอ บ่แม่นหวงเด้อ ย่านเจอโควิดจากคนชิดใกล้ ส่วนอ้ายน่ะหรือใช้เจลล้างมือพุ้นเด้ ก่อน line ฮักแฮงแพงปานหัวใจ..ให้เจ้าปลอดภัยเด้อหล้า ขอแรง..คนไทยต้านภัยรุกราน ฮักกัน..และมีสติมีหนทางฝ่า คอยเบิ่งหน้าจอรออ้ายออนไลน์ส่งหา อย่าเหงาเด้ออ้ายสัญญา เมื่อโควิดซา..สิมากอดนาง(แพงคิงรออ้ายเด้อหล้า เมื่อโควิดซา สิมาคิดดอก หัว..ใจ )

 

           เพลง : โควิดมาน้ำตาไหล

           ศิลปิน : จินตหรา พูนลาภ คำร้อง/ทำนอง : ดาว บ้านดอน เรียบเรียง : สวัสดิ์ สารคาม

           พุทธังมัดจิต ธัมมังมัดใจ ศัตรูทั้งหลายวินาศสันติ พุทธังมัดจิต ธัมมังมัดใจ โรคภัยทั้งหลาย วินาศสันติ คาถาหลวงปู่ ฤษีลิงดำๆ ไล่โควิดท่องจำจะแคล้วคลาดปลอดภัย เศร้าใจนอนคิด โรคโควิดมันระบาดทั่วไทย ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคน จงเข้มแข็ง สวมหน้ากากทุกคนสวมกันทุกแห่ง โรคภัยไม่แทรกแซง หมั่นล้างมือบ่อยๆกัน ห่วงแต่คนที่ติดโรคโควิด ต้องพลัดพรากห่างกัน โดนกักตัวตั้งหลายวัน โควิดมาน้ำตาไหล รักษาตัวหลายครอบครัวนั่งซึมร้องไห้ ขอเป็นกำลังใจ ให้ทุกคน จงหายดี

           โควิด 19 เป็นร้อนหนาวกลัวกันอีหลี รัฐบาลไม่หวั่น รีบป้องกัน ประชาชนเต็มที่ สั่งยาฆ่าไวรัสเต็มพิกัดจากจีนทันที แพทย์หมอรักษาดี ทุ่มเทให้หายทุกคน กลุ้มใจนอนคิด โรคโควิดจนน้ำตามันไหล วิงวอนให้หายไว ให้หายดีเป็นห่วงจัง ดูทีวีทุกวันมีติดกันหลายคน ทรมานต้องอดทน ให้ทุกคนจงปลอดภัย วิงวอนอย่าตกใจให้หายไวกันทุกคน วิงวอนอย่าตกใจให้หายไวกันทุกคน

 

           เพลง : มะล่องก่องแก่ง

           ศิลปิน : มิกค์ ทองระย้า และ โบว์ เมลดา สุศรี

           อยากให้เธอเข้าใจ ไม่ได้อยากจะเซ้าซี้ ต้องมาเตือนวันนี้ มันก็มีเหตุผล ช่วงนี้มีไวรัสระบาดทุกแห่งหน ถ้าไม่ป้องกันตน ก็จะไม่ปลอดภัย แวะมาบอกให้เธอระวัง ถ้าจะไปที่ใด หน้ากากอนามัยใส่เอาไว้ก่อนนะ อย่าไป...ที่คนเขาพลุกพล่าน อย่าลืม...หมั่นล้างมือด้วยนะ

           *ขอโทษที่เข้าไปเป็น มะริ่งกิ่งก่อง สะระน๊องก่องแก่ง มะน่องมะแน่งมั๊บ ปะล่องป่องแป่ง ง้องแง้งง้องแง้ง ในชีวิตเธอ (ซ้ำ*) กินต้องกินร้อน ช้อนกลางด้วยนะเธอ มืออย่าจับจมูก ปาก ตา ด้วยนะเออ ระวังจะติดโควิด-19

           *ขอโทษที่เข้าไปเป็น มะริ่งกิ่งก่อง สะระน๊องก่องแก่ง มะน่องมะแน่งมั๊บ ปะล่องป่องแป่ง ง้องแง้งง้องแง้ง ในชีวิตเธอ (ซ้ำ*)

           ถ้าไม่ห่วงใย ไม่เตือนหรอกนะเธอ ที่ทำให้รำคาญ เพราะฉันนั้นรักเธอ เพราะว่าโควิดมันติดกันง่าย

 

           เพลง : โควิดจ๋า สร่างซาที

           คำร้อง/ทำนอง : พีเตอร์ อมก๋อย บันทึกภาพ/เสียง : โพควา โปรดักชั่น

           ยุทธวิธียับยั้งโรคโคโรน่า หรือโรคที่เรียกกันว่าโควิด สร้างความเดือดร้อนให้ชาวโลกความวุ่นวายให้ชีวิต ร่วมมือร่วมใจพิชิตโควิด19

ต้องกินร้อนช้อนส่วนตัว อาหารที่สุกสะอาด อาหารที่แปลกประหลาดงดไว้ ต้องล้างมือบ่อยๆประจำหมั่นสวมหน้ากากอนามัย จามหรือไออย่าลืมปิดปากนะสหายเอย

           *ไม่ควรเสี่ยงไปอยู่สถานที่มีคนชุมนุม ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงจะต้องกักเก็บตัว14วัน ถ้าเจ็บป่วย ต้องบอกข้อมูลให้หมออย่าปิดบัง อย่าแชร์ข่าวลวงเสพย์ข่าวกลั่นกรองให้ดี

           **โอ้! โควิดจ๋า สร่างซาซะที ทั่วโลกตอนนี้ หวาดระแวงหวาดกลัว เราจะสู้ไปด้วยกันหมั่นดูแลรักษาตัว เพื่อสุขภาพแข็งแรงออกกำลังกาย

           ***โควิด19 เจ้าจงเลือนหาย หยุดแพร่กระจาย เร็วไวด้วยเถิด สวดมนต์ภาวนาพรใดๆล้ำเลิศ ขอบังเกิดทุกทั่วทุกทิศพิชิตโควิด19

           ต้องร่วมมือขจัดโรคร้ายร่วมกัน สิ่งใดที่พอช่วยกันร่วมใจ ความหวาดระแวงหวาดกลัวเดือร้อนวุ่นวายจะหายไป รักษาใจกายให้ดีมิตรสหายเอย

 

แอบนอยด์(ไวรัสโควิด) - โอ๊ต ปราโมทย์

           " อยู่คนเดียวได้บ้างแล้ว ดูแลตัวเองได้นิดหน่อย เปิดข่าวดูได้เล็กน้อย ค่อยๆนอยด์ขึ้นทุกวันเมื่อคืนนอนกูฝันร้าย ฝันว่าไอและจามกัน เมื่อวานกูไปไหนบ้าง เจอคนแพร่เชื้อหรือเปล่า สบายดี ไม่เป็นไร สบายใจ ใช่ไหมแล้วกู? แค่เดินไป ไม่ทันไร เห็นคนไอ ชิปหายแล้วกู

           ฉันขอโทษที่ตอนนี้นอยด์แดก ช่วงนี้ไม่พร้อมที่จะเจอ 14วันฉันควรต้องทำใจออกไปไหนไม่ได้ แล้วก็ต้องกักตัว อยากจะวอนท่านทั้งหลาย พูดความจริงได้หรือเปล่า เปิดอ่านข่าวเมื่อตอนเช้า ยอดมันเพิ่มขึ้นทุกวัน หน้ากากก็มีไม่พอใช้ มันหายไปไหนสองสามล้านตัน ไม่รู้ไปอยู่ไหนบ้าง แต่เหมือนได้ยินว่าที่จีน....

           คงจะดี ถ้าเรามีคนที่นำสักคนหนึ่ง เพราะตอนนี้หมอก็ยังไม่เห็นสักคนหนึ่ง ของก็แพง เงินก็เหลือทั้งตัวแค่พันหนึ่ง ถึงตอนนี้จะทำอะไรก็ทำสักทีหนึ่ง ทำสักทีหนึ่ง ช่วยทำสักทีหนึ่ง โควิดมาตั้งนานแล้ว พี่ก็เพิ่งจะประชุม ชิปหายกันพอดี.... "

 

           พัก(COVID)ก่อน

           Artist : HAISEOUL Lyrics : HAISEOUL Backing Track by Chawax Background Video by J Magix

           COVID จ๊ะ ไม่เอาจ้ะ ใดใดก็คือกักตัวเด้อ หยุดจ้ะ หยุดจ้ะ หยุดจ้ะ ไปไกลๆ เด้อ (แม่พาไปโรงพยาบาลหน่อยจ้า)

           COVID พูดไปแล้วแม่งก็เพลียจิต ขนาดปิด ปิดหน้ากาก มันก็อาจจะมีสิทธิ์เป็น COVID แม่งเอ๊ย ฉิบหาย กูกลัวติด กูก็คิดว่ากูติด COVID หรือยังวะ            
           COVID พูดไปแล้วแม่งก็เพลียจิต ขนาดปิด ปิดหน้ากาก มันก็อาจจะมีสิทธิ์เป็น COVID แม่งเอ๊ย ฉิบหาย กูกลัวติด แล้วมึงคิดว่ากูติด COVID หรือยังวะ

(RAP)

           กูก็กลัวจะตาย เดี๋ยวอีกสักพักก็ไม่สบาย ค่าตรวจบางที่ก็แพงฉิบหาย แล้วใครจะไปล่ะคะ อีดอก บอกไม่เข้า Phase 3 แต่แม่งจะลามไปทั้งประเทศ แล้วยังจะ Said ว่าทรงตัวได้ I'm not a ควาย uh f*ck it all

(ซ้ำ HOOK)

 

CR : Facebook “Anant Narkkong”
https://www.facebook.com/korphaiband