กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี เปิดใจ เปิดโอกาส เสริมสร้างอาชีพ

          

เรื่องราวแห่งความงดงามในการรวมกลุ่มสร้างอาชีพ เพื่อก่อให้เกิดรายได้เลี้ยงตนเองและครอบครัวของสตรีกลุ่มชาติพันธุ์ “ลาหู่” เกิดขึ้นที่ตำบลแม่สลองใน อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย พื้นที่ซึ่งไม่เพียงมีทัศนียภาพที่งดงามตามธรรมชาติ  หากแต่ยังมีหัวใจงดงามของผู้คนอยู่ที่นี่ด้วย

 

 

          “โครงการกลุ่มเลี้ยงสุกร (หมูดำ)” เป็นการรวมตัวกันของผู้หญิงกลุ่มหนึ่ง โดยมี “ชุติมา  รัศมีจารุภา” ทำหน้าที่เป็นประธานกลุ่ม และมีสมาชิกอีก 5 คน รวมเป็น 6 คน ทั้งหมดเห็นพ้องตรงกันว่า “ชนเผ่าลาหู่” นิยมบริโภคหมูดำมาเน่ินนาน โดยเฉพาะอย่างย่ิงประเพณีปีใหม่ของชนเผ่า มีข้อกำหนดที่ต้องใช้หมูเพื่อบริโภค จึงทำให้สมาชิกสนใจเลี้ยงหมูดำเพื่อบริโภคและจำหน่ายให้แก่คนในอาศัยอยู่บนพื้นที่สูงเช่นเดียวกัน โดยเป็นการรวมกลุ่มกันเพื่อสร้างอาชีพเสริม นอกเหนือจากรายได้หลักที่มาจากการปลูกข้าวโพดและทำนา

 

 

          หลังเกิดการรวมกลุ่มเลี้ยงหมูดำแล้ว เมื่อสมาชิกเลี้ยงหมูได้น้ำหนักประมาณ 60-70 กิโลกรัม จะนำไปจำหน่ายในราคาหน้าฟาร์มกิโลกรัมละ 90 บาท แต่หากเป็นราคาหลังการชำแหละเนื้อ จะสามารถจำหน่ายได้ในราคากิโลกรัมละ 160 บาท ส่วนหมูเล็กที่หย่านมแล้วสามารถจำหน่ายในราคาตัวละ 2,000 บาท ซึ่งมีการจัดการเรื่องวัคซีนเรียบร้อยแล้ว

 

 

          สมาชิกของ “โครงการกลุ่มเลี้ยงสุกร (หมูดำ)” รวมกลุ่มกันเพื่อขอรับการสนับสนุนเงินกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2558 จำนวน 200,000 บาท เป็นทุนตั้งต้นของกลุ่ม และมีการศึกษาเรียนรู้ พร้อมแก้ปัญหาการกู้เงินในด้านต่างๆ อาทิ การลดต้นทุน โดยกลุ่มได้บริหารจัดการโดยนำอาหารหมู ผสมหยวกกล้วยสับละเอียดและ แกลบอ่อนหมักทิ้งไว้ ประมาณ 1-2 วัน แล้วนำอาหารที่หมักได้ที่มาเลี้ยงหมูดำ ทำให้สามารถลดต้นทุนการผลิตได้ค่อนข้างมาก 

 

 

          ในด้านการแก้ไขการชำระเงิน มีการแบ่งเงินจากการขายหมูแต่ละงวด เป็นสามส่วน ส่วนแรกคือต้นทุนซึ่งเป็นเป็นการคืนเงินกู้ยืมให้แก่กองทุนฯ  ส่วนที่สองสะสมไว้เป็นเงินออมทรัพย์ในกลุ่ม และส่วนที่สามเป็นรายได้แก่สมาชิกทุกคน  ในบางครั้งเนื่องจากหมูดำที่เลี้ยงไว้ยังไม่พร้อมจำหน่ายหรือโตไม่เต็มที่สำหรับการจำหน่ายออกสู่ตลาด  สมาชิกกลุ่มแก้ไขปัญหาโดยการยืมเงินออมทรัพย์ของกลุ่ม เพื่อใช้หนี้ให้แก่กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีก่อน ตามงวดที่ต้องชำระ เพื่อรักษาประวัติและวินัยทางการเงิน และหลังจากจำหน่ายหมูดำได้แล้วก็นำเงินไปคืนแก่ส่วนที่สองซึ่งเป็นเงินออมทรัพย์ของกลุ่มทันที      

 

 

          ตลอดระยะเวลานับแต่เริ่มตั้งกลุ่มเป็นต้นมา “โครงการกลุ่มเลี้ยงสุกร (หมูดำ)” มีการขอรับการสนับสนุนเงินกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี มาแล้ว 3 ครั้งคือ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 จำนวน 200,000 บาท สถานะปิดโครงการแล้ว ต่อมาในเดือนเมษายน 2560 จำนวน 200,000 บาท สถานะปิดโครงการแล้วเช่นกัน และล่าสุดมีการขอรับการสนับสนุนเงินกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2562 จำนวน 200,000 บาท ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินโครงการตามที่เสนอขอรับการสนับสนุน โดยได้นำไปซื้อแม่พันธุ์ 12 ตัว พ่อพันธุ์ 2 ตัว และอาหาร ในการเลี้ยงหมูดำสามารถสร้างรายได้ให้กับกลุ่มได้ถึง 200,000 – 300,000 บาทต่อปี ทั้งนี้รายได้มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับราคาของหมูดำในช่วงนั้น ๆ นอกจากนี้ สมาชิกยังสามารถมีรายได้ส่งลูกเรียนได้สูงขึ้น รายได้ในครอบครัวมีมากขึ้นโดยไม่ต้องไปกู้ยืมเงินนอกระบบ และยังมีเงินออมอีกด้วย

 

 

          ความตั้งใจในการประกอบอาชีพ ด้วยหัวใจอันซื่อสัตย์ของสตรีกลุ่มชาติพันธุ์ “ลาหู่” เป็นตัวอย่างให้แก่กลุ่มอาชีพสตรีอื่น ๆ ทั้งยังพิสูจน์ให้เห็นว่าการรวมกลุ่มกันอย่างเข้มแข็งและมีความมุ่งมั่น นอกจากจะสร้างการยอมรับอย่างกว้างขวางแล้ว ยังสามารถสร้างอาชีพ สร้างรายได้ ให้แก่ตนเองและครอบครัวได้อย่างต่อเนื่อง นำมาซึ่งความมั่นคงในการดำรงชีวิตอีกด้วย

 

 

          กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเสริมสร้างพลังที่เข้มแข็งให้แก่ “ผู้หญิง” ทั่วประเทศ ทั้งพร้อมสนับสนุนเงินทุนให้แก่กลุ่มอาชีพที่ต้องการสร้างรายได้ เพียงรวมกลุ่มอาชีพตั้งแต่ 3 คนขึ้นไปและดำเนินโครงการที่มีผลการดำเนินงานอยู่แล้ว หรือเป็นโครงการที่เกิดจากการฝึกอาชีพมาก่อน โดยแต่ละกลุ่มสามารถขอกู้เงินต่อครั้งได้ไม่เกิน 2 แสนบาท อัตราดอกเบี้ยปกติร้อยละ 0.10 ต่อปี และกำหนดชำระคืนไม่เกิน 2 ปี โดยต้องผ่อนชำระอย่างน้อยปีละ 2 งวด

 

 

          ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี กรมการพัฒนาชุมชน ชั้น 3 อาคารรัฐประศาสนภักดี ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ 10210 โทรศัพท์ 02-1413093 หรือ 02-1413095 หรือสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอ/จังหวัดใกล้บ้านและสามารถติดตามข้อมูลต่าง ๆ ของกองทุนฯ ได้ที่ facebook fanpage  กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี – สกส. www.womenfund.in.th