หน้ากากผ้าแบบไหน ป้องกัน “COVID-19”

เฟซบุ๊ก “Doctor D” กรมวิทยาศาสตร์บริการ เผยแพร่ข้อมูล “หน้ากากผ้า” แบบไหน ป้องกัน “COVID-19” เพื่อพิจารณาให้เลือกใช้อย่างเหมาะสมและปลอดภัย แนะประชาชนทั่วไป ใช้หน้ากากผ้าตาม แบบด้านนอกกันน้ำ และด้านในสามารถดูดซึมน้ำได้

 

 

          กรมวิทยาศาสตร์บริการ เผยแพร่ภาพและข้อมูลผ่านเฟซบุ๊ก “Doctor D” โดยมีรายละเอียดเกี่ยวกับ “หน้ากากอนามัย” รูปแบบต่างๆ ดังนี้

 

 

          เพื่อนๆ ครับ!! จากข้อมูลที่สับสนมากมายว่า "หน้ากากผ้า" ป้องกันไวรัสที่ก่อโรค COVID-19 ได้หรือไม่ -- Dr.D เพิ่งได้รับความรู้จากผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งทอ 3 ท่าน จึงขอนำความรู้นั้นมาเผยแพร่ให้กับเพื่อนๆ ครับ!!

 

          ปัจจุบัน ความรู้เกี่ยวกับไวรัสที่ก่อให้เกิดโรค COVID-19 นั้น คือ นอกจากไวรัสจะมากับละอองสารคัดหลั่งต่างๆ เช่น น้ำลายจากการไอหรือจามที่ตกลงพื้นแล้ว ยังสามารถแพร่กระจายแบบ Aerosol คือ เกาะอยู่กับ Droplet nuclei ลอยปนอยู่ในอากาศได้ด้วย ซึ่งเราสามารถใส่หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันได้

 

          ก่อนจะถามว่าหน้ากากผ้าป้องกันไวรัสได้ไหม Dr.D ขอพูดถึงหน้ากากที่กันไวรัสได้ นั่นก็คือ Surgical Mask หรือ หน้ากากอนามัย เขียว/ขาว ที่เรารู้จักกันดี

 

          ทำไมหน้ากากอนามัยถึงป้องกันไวรัสได้?

 

          เพราะ...

 

          - ด้านนอก ((สีเขียว)) มีสารเคลือบเพื่อกันน้ำ เมื่อมีละอองไอจากสารคัดหลั่งลอยมา มันจะเกาะอยู่ด้านนอก ไม่ซึมเข้าไปด้านใน ไวรัสที่เกาะติดอยู่บนนั้นจึงไม่สามารถผ่านหน้ากากเข้ามาสัมผัสตัวเราได้ด้วย

 

          - ด้านใน ((สีขาว)) มีคุณสมบัติในการดูดซึมละอองไอของเหลวจากตัวเรา ซึ่งถ้าหากเราป่วย เชื้อโรคจะถูกเก็บไว้ในส่วนนี้ ไม่ซึมออกไปด้านนอกซึ่งมีสารกันน้ำอยู่

 

          ทีนี้หน้ากากผ้าล่ะ จะป้องกันไวรัสได้อย่างไร?

 

          หน้ากากผ้าที่จะป้องกันไวรัสได้ดี จะต้องมีคุณสมบัติเหมือนกับหน้ากากอนามัย เขียว/ขาว ครับ นั่นก็คือ ด้านนอกสามารถกันของเหลว และ ด้านในสามารถดูดซึมของเหลวได้ ดังนั้นหน้ากากผ้าควรจะต้องมี อย่างน้อย2 ชั้น

 

          วัตถุดิบที่เหมาะสำหรับทำหน้ากากชั้นนอก ตามที่สมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทยออกแถลงการณ์เมื่อวานนี้ คือ ผ้าที่ทอด้วยเส้นใยชนิดพิเศษ เป็นผ้าเส้นใยสังเคราะห์เป็นเส้นใยยาว ((ป้องกันการเป็นแหล่งเพาะเชื้อ เป็นขุยและฝุ่นละออง)) ทอด้วยวิธีพิเศษจนแน่น และบีบอัดเส้นใย มีประสิทธิภาพการกรองได้ถึง 0.3 ไมครอน เพิ่มการกันน้ำด้วย Fluorocarbon C6 หรือ เทฟลอน สามารถกรองได้ทั้งฝุ่น PM 2.5 และไวรัส -- สามารถซักได้ไม่น้อยกว่า 50 ครั้ง โดยที่คุณสมบัติไม่เปลี่ยน -- ซึ่งจะเป็นผ้าที่ใช้ทำหน้ากากผ้าได้ดีที่สุด 

          https://www.thoracicsocietythai.org/…/fabric-mask-use-cov…/…

 

          แต่หากเพื่อนๆ ไม่สามารถหาผ้าชนิดนั้นได้ เพื่อนๆ สามารถใช้ผ้าอื่นๆ ที่กันน้ำได้ เช่น ผ้าโพลีเอสเตอร์ทอแน่น ผ้า Taffeta ผ้าไหม เป็นต้น เพื่อนๆ สามารถทดสอบว่า ผ้านั้นกันน้ำได้หรือไม่ด้วยการทดลองฉีดพ่นน้ำลงไปบนผิวผ้านั้น ถ้าน้ำเกาะตัวเป็นหยดน้ำ ไม่ซึมลงไป ถือว่าใช้ได้ครับ!! แต่มีข้อแนะนำว่า ให้ทดลองก่อนว่า เมื่อเอามาปิดจมูกจะสามารถหายใจได้หรือไม่ เพราะถ้ามีการทอที่แน่นมากเกินไป หรือ มีสารเคลือบกันน้ำ อาจจะทำให้หายใจได้ยาก ซึ่งก็จะไม่เหมาะสำหรับการทำหน้ากากครับ

 

          วัตถุดิบที่เหมาะสำหรับทำหน้ากากชั้นใน คือ ผ้าที่สามารถดูดซับของเหลวได้ดี ยกตัวอย่างเช่น ผ้าฝ้าย เป็นต้น

 

          แล้วลักษณะของหน้ากากผ้าควรเป็นอย่างไร ผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้เป็นหน้ากากสี่เหลี่ยมแบบมีจีบ เนื่องจากถ้าไม่มีจีบ อาจทำให้หายใจไม่สะดวก จะเป็นจีบแบบระบาย หรือจีบแบบสี่เหลี่ยม ก็ทำได้ตามถนัด

 

          ถ้าเป็นจีบ ตัวจีบควรจะจีบลง เพื่อไม่ให้รองรับของเหลว

 

          ส่วนหน้ากากสามเหลี่ยมนั้น ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่า ควรจะเป็นแบบที่ไม่มีตะเข็บตรงกลาง เนื่องจากอาจทำให้เกิดการรั่วซึม เมื่อมีละอองไอของเหลวลอยมาติดได้ครับ!!

 

          เพื่อนๆ สามารถดูลักษณะหน้ากากผ้าได้จากรูปข้างล่างนี้เลยครับ!!

 

          ผ้าอื่นๆ ที่มีการแชร์กันล่ะ ใช้ได้ไหม?

 

          ถ้าเป็นผ้าที่ไม่กันน้ำ อย่าลืมว่า เมื่อละอองไอของเหลวลอยเข้ามาติดผ้า ผ้าจะดูดซึมละอองไอของเหลวนั้นเอาไว้ และมันอาจจะซึมเข้ามาจนถึงผิวหนังของเราได้ -- ซึ่งอาจมีความเป็นไปได้ที่จะทำให้เกิดอันตรายกว่าการไม่ใช่หน้ากากผ้า

 

          เพื่อนๆ ลองนึกภาพดูครับ ถ้าหากมีคนไอใส่หน้าเรา โดยที่เราไม่ได้ใส่หน้ากาก ถ้าโชคร้ายคือละอองไอเข้าไปในปากและจมูก แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่ละอองไออาจจะกระเด็นไปตกอยู่ที่แก้ม คาง ถ้าเราไม่ไปจับ ไม่ไปขยี้มันก็จะอยู่ตรงนั้นโดยที่ไม่ได้เข้าไปในร่างกายของเรา แต่ถ้าหากมีคนไอใส่หน้าเรา โดยที่เราใส่หน้ากากผ้าอยู่ ไม่ว่าละอองไอนั้นจะกระเด็นไปตรงไหน ละอองไอนั้นจะค่อยๆ ซึมลงเนื้อผ้า ซึ่งอาจจะเข้าไปยังจมูกหรือปากของเราได้

 

          ดังนั้น...จึงไม่ต้องแปลกใจหากมีคำแนะนำจากบางแห่งว่า หน้ากากผ้าไม่สามารถกันไวรัสได้ ไม่ใส่เสียยังจะดีกว่า

 

          แต่ถ้าไม่มีจริงๆ มีแต่หน้ากากผ้าไม่กันน้ำนี่ทำไง ใส่ได้ไหม

 

          ใส่ได้ด้วยความเสี่ยงครับ แต่ลดความเสี่ยงนี้ได้ด้วยการที่ว่า หากมีใครไอจามใส่ ให้รีบถอดหน้ากากผ้านั้นออกไป เพราะของเหลวอาจจะยังไม่ได้ซึมผ้าเนื้อผ้าเข้ามา -- นำไปซักเลยครับ!

 

          ที่มีการแชร์กันว่า ให้ใช้ผ้าสาลูทำหน้ากากผ้า ตกลงใช้ได้ป่าวเนี่ย?

 

          ได้ครับ อยู่บนพื้นฐานเดียวกับผ้าไม่กันน้ำ แต่เนื่องจากผ้าสาลูมีความบางและมีช่องว่างระหว่างเส้นใยมาก จึงจะต้องซ้อนกันอย่างน้อยที่สุด 3 ชั้นนะครับ ถ้ามีคนไอหรือจามใส่ ให้รีบถอดออกทันที

 

          สำหรับการทำความสะอาดหน้ากากผ้านั้น ที่ง่ายและดี คือ ซักและต้มด้วยน้ำร้อน ครับ!!

 

          มีคนถาม Dr.D ว่า แล้วผ้าสปันบอนด์ล่ะ ใช้ได้ไหม ขอทำความเข้าใจก่อนครับว่า สปันบอนด์ไม่ใช่ผ้า แต่เป็น nonwoven ซึ่งก็คือ พลาสติกดีๆ นี่เอง แต่สามารถย่อยสลายได้ง่ายกว่า และมีหลายเกรดมากๆ หน้ากากอนามัยแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งบางอย่างทำจากสปันบอนด์เกรดที่สามารถป้องกันได้ แต่ก็เหมาะกับการใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งเลย จึงไม่เหมาะกับการนำมาเป็นส่วนประกอบของหน้ากากผ้าที่ต้องเอาไปซัก และอย่างที่บอกครับว่า มีหลายเกรดมาก การจะตรวจสอบว่า เกรดไหนกันได้หรือกันไม่ได้ ไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้น Dr.D จึงขอแนะนำรวมๆ ไปเลยว่า ไม่ควรใช้ครับ!!

 

          สุดท้าย Dr.D ขอย้ำว่า วิธีการป้องกันไวรัสที่ดีที่สุดสำหรับประชาชนทั่วไปที่ไม่ได้เป็นโรค คือ การกินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือบ่อยๆ อย่างถูกวิธี คือ ล้างด้วยน้ำสบู่จนทั่วโดยใช้เวลาไม่น้อยกว่า 20 วินาที ถ้าไม่สะดวกล้างมือด้วยสบู่ สามารถใช้เจลล้างมือที่มีความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ระหว่าง 70-75% ตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งถ้าเพื่อนๆ ต้องการทำเจลเอง ก็สามารถดูสูตรและวิธีทำได้จากเพจ Dr.D นี้นะครับ

          https://www.facebook.com/ScienceDoctorD/videos/2498990727023114/

 

          ผู้ที่ควรใช้หน้ากากอนามัย เขียว-ขาว คือ

          - บุคคลากรทางการแพทย์

          - ผู้ป่วย

          - ผู้ที่ต้องอยู่ใกล้ชิดผู้ป่วย

 

          สำหรับประชาชนทั่วไป Dr.D ขอรณรงค์ให้ใช้หน้ากากผ้าตามแบบที่แนะนำ คือ ด้านนอกกันน้ำ และด้านในสามารถดูดซึมน้ำได้ เพื่อให้บุคคลากรทางการแพทย์ของเราที่มีความเสี่ยงสูง และเป็นปราการด่านหน้าในการต่อสู้กับโรคร้าย ได้มีหน้ากากอนามัย เขียว-ขาว ใช้ครับ!!

 

          ถ้าเพื่อนๆ มีคำถาม สามารถฝากไว้ใต้โพสต์นี้ Dr.D จะมาตอบคำถามเพื่อนๆ ครับ

 

          #กรมวิทยาศาสตร์บริการ #กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม #DoctorD #covid19 #หน้ากากผ้า #หน้ากากอนามัย

 

CR : Facebook Doctor D
https://www.facebook.com/ScienceDoctorD