หนึ่งวันใน ‘ภูเก็ต’ เกาะสวรรค์อันดามันแสนหวาน

หนึ่งวันใน ภูเก็ต เกาะสวรรค์อันดามันแสนหวาน

 

ภูเก็ตเกาะใหญ่ที่สุดของไทย เป็นเกาะเดียว ที่มีสถานะเป็น 1 ใน 77 จังหวัด

 

ความงดงามของ ภูเก็ต ได้รับการยืนยันผ่านยุคสมัย โดยบทเพลง ล่องใต้ ต้นฉบับ ชัยชนะ บุญนะโชติ ที่ว่า ภูเก็ตเกาะสวรรค์ วิลาวัลย์หนึ่งไม่มีสอง

 

 “ภูเก็ต ไข่มุกอันดามัน เป็นจุดหมายปลายทาง ของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก

 

และอื่น ๆ อีกมากมาย ที่เล่าขานถึง ภูเก็ตเกาะสวรรค์ที่ไม่เคยสร้างความผิดหวังให้กับผู้มาเยือน

 

 


อาทิตย์อัสดง “แหลมพรหมเทพ”

 

เราจะเริ่มเที่ยวภูเก็ตจากตรงไหนดี ?”  

คำถามนี้ ผุดขึ้นมาในใจทันที เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจสำคัญบนเกาะที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทยแห่งนี้

เหลือเวลาอีก 1 วันกับ 1 คืน ก่อนจะต้องเดินทางกลับเมืองหลวงกรุงเทพมหานคร

นับจากวันที่เราได้เดินทางจาก ดอนเมือง โดยสายการบินราคาประหยัด ด้วยเวลาประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง มุ่งหน้าสู่ท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต

ที่นี่ เราต้องเลือกใช้บริการแท็กซี่สนามบิน เหมาจ่ายราคาเดียว 500 บาท เพื่อให้ไปส่งจุดไหนก็ได้ไม่ว่าจะใกล้หรือไกล บนพื้นที่ประมาณ 543 ตาราง กม. ของ เกาะภูเก็ต

 

หลังเข้าสู่ที่พักในตัวเมือง และจัดการกับธุระสำคัญเสร็จสิ้นในช่วงเช้า แผนที่ท่องเที่ยวซึ่งเป็นเอกสารแจกฟรีของสนามบิน จึงถูกกางออก เพื่อเริ่มต้นเดินทางบนเกาะสวรรค์แห่งนี้

ใครบางคนแนะนำว่า เที่ยวภูเก็ตใช้ มอเตอร์ไซค์ สะดวกที่สุด

และนั่นทำให้เราตัดสินใจ ยืม รถจักรยานยนต์จาก มิตรรุ่นน้องที่คุ้นเคยและใจดีอย่างยิ่ง

 


เด็ก ๆ กับเพื่อนใต้น้ำ

 

“ไข่มุกอันดามัน สวรรค์เมืองใต้ หาดทรายสีทอง สองวีรสตรี บารมีหลวงพ่อแช่ม”

 

คำขวัญของจังหวัดภูเก็ต พิมพ์ด้วยตัวหนาขนาดใหญ่ เด่นตาอยู่ด้านบนของแผนที่ เป็นเสมือน เข็มทิศ นำทางตลอด 1 วัน 1 คืนที่นี่

เรามุ่งหน้าสู่ด้านตะวันออกเฉียงใต้ ที่เรียกกันว่า “แหลมพันวา” ที่ตั้งของ “สถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำภูเก็ต” หรือ Phuket Aquarium

ป้ายด้านหน้าอาคาร เขียนว่า “ท่องโลกสีคราม ความงามใต้สมุทร สู่ทะเลอันดามัน”

 

ที่นี่ เราเห็นเด็ก ๆ มากมาย ตื่นตาตื่นใจกับเพื่อนใต้สมุทร และสนุกสนานกับการถ่ายภาพร่วมกับสัตว์น้ำนานาชนิด ทั้งที่มีชีวิตและที่ไร้ชีวิต ใน “ทะเลจำลอง” และไม่เว้นกระทั่ง “หุ่นจำลองนักประดาน้ำ”

 

ที่น่าปลื้มใจ คือ เราได้ยินเสียงของผู้ใหญ่ไม่ขาดระยะ คอยสอนให้เด็ก ๆ รู้จักเพื่อนใต้สมุทร พร้อมกับปลูกฝังให้รู้สึกรักและหวงแหนธรรมชาติ อย่างเพื่อนร่วมโลกที่ต้องอยู่ร่วมกันตลอดไป

 


บางมุม จาก “สะพานสารสิน”

 

กระนั้น เราก็อดสงสัยไม่ได้ว่า แล้วทำไมผู้ใหญ่อีกจำนวนไม่น้อย จึงมุ่งมั่นทำลายธรรมชาติตลอดเวลา

 

หลังจากเพลิดเพลินกับเหล่าสิ่งมีชีวิตใต้น้ำ และเก็บเกี่ยวความรู้ทางนิเวศวิทยาของ ภูเก็ต และ ทะเลอันดามันแล้ว เราก็เบนเข็มสู่ทิศเหนือของเกาะ เพื่อสำรวจหาดทรายต่าง ๆ ที่มีชื่อเสียงติดอันดับโลก

 

ระหว่างรายทาง เราถือโอกาสแวะ “วัดฉลอง” หรือ “วัดไชยธาราราม” เพื่อนมัสการ “หลวงพ่อแช่ม” หรือ “พระครูวิสุทธิวงศาจารย์ญาณมุนี” สมณศักดิ์ซึ่งรัชกาลที่ 5 พระราชทาน

เมื่อก้าวเข้าสู่เขตวัด เสียงแรกที่เราได้ยินคือ เสียง ประทัดแก้บน

นี่เป็นผลต่อเนื่องจากความศรัทธา ต่อ “บารมีหลวงพ่อแช่ม” ของผู้คนทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ

 

ประวัติศาสตร์แห่งยุคสมัย บอกเล่าสืบต่อกันมาว่า “หลวงพ่อแช่ม วัดฉลอง” ได้แจกผ้าประเจียดสีขาวให้ชาวบ้านโพกหัว เพื่อสร้างขวัญกำลังใจ ในการต่อสู้กับพวก อั้งยี่กระทั่งได้รับชัยชนะในที่สุด

 

ที่ วัดฉลองยังเป็นที่ตั้งของ “พระมหาธาตุเจดีย์พระจอมไทยบารมีประกาศ” ซึ่งประดิษฐาน พระบรมสารีริกธาตุ และภายในยังมีภาพจิตรกรรมพุทธประวัติ รวมถึงพระพุทธรูปปางต่าง ๆ

 


หลวงพ่อแช่ม-เจดีย์ฯ วัดฉลอง

 

จาก  วัดฉลองเรามุ่งสู่ “อนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรี-ท้าวศรีสุนทร”

 

ที่นี่ เป็นความภาคภูมิใจของชาวภูเก็ต มีประวัติศาสตร์บอกเล่าตอนหนึ่งว่า เมื่อครั้ง “สงคราม 9 ทัพ” ในสมัยรัชกาลที่ 1 “สองวีรสตรีเมืองถลาง” นำทัพ-แต่งกลศึก กระทั่งมีชัยเหนือทัพพม่า

 

ภาพอนุสาวรีย์แห่งนี้ ยังใช้เป็น “ตราประจำจังหวัดภูเก็ต” เพื่อยกย่องความกล้าหาญ เช่นเดียวกับชื่อ “ถนนเทพกระษัตรี” ถนนสายหลักและยาวที่สุดของเกาะภูเก็ต ที่พาเราไปถึงด้านเหนือสุดของเกาะ

ส่วนที่ยาวที่สุดของเกาะภูเก็ต ระยะทางประมาณ 48 กม. ตลอดเส้นทางติดทะเลคดโค้งไปมา จากการกระทำของธรรมชาติ และก่อให้เกิดหาดทรายสะอาดขาวทอดยาว ๆ เป็นช่วง ๆ มีเรียกชื่อแตกต่างกันไป

 


อนุสาวรีย์สองวีรสตรี

 

เหนือสุดของเกาะ คือที่ตั้งของ “สะพานสารสิน” สะพานที่เชื่อมเกาะภูเก็ตเข้ากับแผ่นดินใหญ่ ที่ จ.พังงา ที่มาของภาพยนตร์ชื่อดัง “สะพานรักสารสิน” ที่เล่าขานตำนานรักของหนุ่มสาว ให้ผู้คนได้จดจำ

 

จาก สะพานสารสิน เราลัดเลาะสู่ “หาดในยาง” มองเห็น “ธงแดง-เหลือง” ปักไว้ริมหาด ซึ่งแปลว่า เป็นพื้นที่สามารถลงเล่นน้ำได้ โดยจะมีเจ้าหน้าที่ หรือ “Lifeguard” คอยดูแล

 

หาดในยาง เป็นหาดทรายสีขาว เงียบสงบ มีนักท่องเที่ยวไม่มากนัก เมื่อเทียบกับจำนวนนักท่องเที่ยวหาดอื่น ๆ เช่น หาดป่าตอง หรือหาดกมลา

จาก หาดในยางเรามองเห็นเครื่องบินลำแล้วลำเล่า ร่อนลงยัง สนามบินนานาชาติภูเก็ต ที่อยู่ไม่ไกลออกไปนัก คล้ายกับเป็นดัชนีชี้วัดความนิยมของนักท่องเที่ยว ที่ปรารถนาจะมาถึงเกาะสวรรค์แห่งนี้

 


“หาดในยาง” ปัก “ธงแดง-เหลือง”

 

เราอ้อยอิ่งอยู่ที่หาดในยางกว่าค่อนวัน ลงเล่นน้ำ และเลือกเมนูมื้อเที่ยงแสนประหยัด เป็นข้าวเหนียวหมูทอดห่อละ 10 บาท จากแม่ค้าหาบเร่ แล้วจึงค่อย ๆ ลัดเลาะเที่ยวชมหาดอื่น ๆ

 

เราผ่าน หาดในทอน-หาดสุรินทร์-แหลมสิงห์-หาดกมลาเรื่อยมาจนถึงหาดป่าตอง ที่ตั้งของ “จังซีลอน” ศูนย์สรรพสินค้าขนาดใหญ่ชื่อดัง ที่ตั้งชื่อตามชื่อเรียกภูเก็ต ในเอกสารทางประวัติศาสตร์

น่าเสียดายที่ “หาดป่าตอง” วันนี้ แทบไม่ต่างจาก “พัทยา” ที่อึกทึกคับคั่ง ด้วยนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก

 


หนึ่งฉากความรักในความทรงจำ

 

จาก หาดป่าตอง ผ่าน หาดกะรน-หาดกะตะ-หาดในหาน เราเร่งมุ่งสู่ “แหลมพรหมเทพ” หมายใจจะให้ทันก่อน ตะวันตกน้ำ เพื่อชม “อาทิตย์อัสดง” ที่ว่ากันว่า สวยงามที่สุดในประเทศไทย

ทว่า ! รถที่ติดเป็นทางยาว ตลอดเส้นทางสู่จุดชมวิว บน แหลมพรหมเทพ ก็ทำให้เราต้องเปลี่ยนใจกระทันหัน และเราก็พบว่า นี่เป็นการตัดสินใจถูกที่สุด ที่เลือกจอดรถรอชมความงามอยู่ด้านล่างแทน

 


“แหลมพรหมเทพ” อาทิตย์อัสดง

 

เราดื่มด่ำกับธรรมชาติงดงามตรงหน้า เช่นเดียวกับทุกผู้คน ณ จุดนั้น กระทั่งแสงสีส้มค่อย ๆ ลับหายจากสายตา ที่เส้นขอบฟ้าตัดขอบน้ำเบื้องหน้า

 

จุมพิตแสนหวานเกิดขึ้นที่นี่ เช่นเดียวกับความรักที่เบ่งบาน ในหัวใจคู่รักอีกหลายคู่ ริมหาดทรายสีทอง

“ภูเก็ต” เกาะสวรรค์แห่งอันดามัน 1 วันสั้น ๆ ในความทรงจำยาวนาน...

 

 

//.......................

หมายเหตุ : หนึ่งวันใน ภูเก็ต เกาะสวรรค์อันดามันแสนหวาน : คอลัมน์ ลมหายใจเดินทางโดย จตุระคน” (ออนอาร์ต) : บางกอกไลฟ์นิวส์

//........................