“เจ้าจันท์ผมหอม” รอยทางวรรณกรรม เติมเต็มความรู้ ชื่นชูวัฒนธรรม

 

ตามรอยทางนิยาย “เจ้าจันท์ผมหอม นิราศพระธาตุอินทร์แขวน” รางวัลซีไรต์ ประจำปี พ.ศ. 2534 ของศิลปินแห่งชาติ “มาลา คำจันทร์” หลากหลายเรื่องราวความประทับใจบนเส้นทางแห่งการเติมเต็มความรู้ ชื่นชูวัฒนธรรม

 

 

          หลายคนคงเคยได้อ่านหรืออาจเคยได้ยินชื่อนวนิยาย “เจ้าจันท์ผมหอม นิราศพระธาตุอินทร์แขวน” ผลงานชิ้นเด่นของนักเขียนถิ่นล้านนา ศิลปินแห่งชาติ “เจริญ มาลาโรจน์” หรือ “มาลา คำจันทร์” ซึ่งได้รับการยกย่องให้เป็นวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียนของประเทศไทย ประจำปี พ.ศ. 2534

          ครั้งเมื่อแรกเห็นคำว่า “นิราศ” ในชื่อของงานเขียนประเภทนวนิยาย ก็ดึงดูดให้ใคร่รู้ถึงเรื่องราว เพราะการรับรู้เราคุ้นชิน “นิราศ” กับวรรณคดีโบราณ และเมื่อได้อ่านก็ยิ่งตื่นใจที่ตัวเอกในการเดินเรื่องแบบนิราศเป็นผู้หญิง ซึ่งนิราศที่เคยอ่านมาจะเป็นฝ่ายชายคร่ำครวญถึงหญิงสาวที่รักยามต้องพรากจากกัน

 

 

           “เจ้าจันท์ผมหอม นิราศพระธาตุอินทร์แขวน” เล่าเรื่องราวของ “เจ้าจันท์” เจ้าหญิงล้านนา เดินทางไปบูชาพระธาตุอินทร์แขวน ซึ่งเป็นพระธาตุประจำปีเกิดที่อยู่ในเขตพม่าใกล้เมืองเชียงใหม่ เพื่อแก้บนที่ได้รอดชีวิตจากการเจ็บป่วยหนัก โดยไว้ผมยาวถวายเพื่อเป็นพุทธบูชา และขอเสี่ยงบุญเสี่ยงกรรมลอดผมใต้พระธาตุเพื่อได้แต่งงานกับชายคนรัก

          หนังสือหน้าสุดท้ายปิดลง การใช้ภาษากลิ่นอายล้านนา การสรรคำบรรยายจินตภาพอย่างมีวรรณศิลป์ ประกอบกับสารของเรื่องที่มากกว่าการเดินทางไปสักการะพระธาตุอินทร์แขวน นั่นคือ การเดินทางสู่สัจจะของชีวิต ทำให้นวนิยาย “เจ้าจันท์ผมหอม นิราศพระธาตุอินทร์แขวน” เป็นหนังสืออีกเล่มที่รู้สึกประทับใจ

          เมื่อ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ และโฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา จัดกิจกรรม “ตามรอยวรรณกรรม เจ้าจันท์ผมหอม” เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ทางด้านวรรณกรรมให้แก่ผู้สนใจได้ศึกษากลวิธีการประพันธ์ การสร้างแรงบันดาลใจ การเก็บข้อมูล และวิธีการนำเสนอ ผ่านการเดินทางและการร่วมเสวนากับผู้ประพันธ์ จึงไม่รอช้าที่จะไปร่วมกิจกรรม ณ จังหวัดเชียงใหม่

 

 

          กิจกรรมเริ่มที่ “โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา” สถานที่ให้ความรู้และสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นภาคเหนือที่โอบล้อมด้วยต้นไม้ พืชหลากพรรณ อยู่ที่ถนนแก้วนวรัฐ กลางเมืองเชียงใหม่ เราไปถึงก่อนกิจกรรมเริ่ม จึงแอบเดินไปแอ่ว “กาดสืบสานคัวฮัก” กาดหรือตลาดวัฒนธรรมบรรยากาศสุดร่มรื่นที่อยู่ภายในโฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา กาดสืบสานคัวฮักเป็นสถานที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ซื้อหาของพื้นเมืองต่างๆ ซึ่งนอกจากจะมีสินค้างานฝีมือ เช่น ผ้าทอ ผ้าซิ่น เครื่องเงิน งานจักสาน จำหน่ายแล้ว ยังมีกิจกรรมเวิร์คช็อปให้ผู้มาแอ่วได้เรียนรู้งานศิลปหัตถกรรมกับพ่อครูแม่ครูปราชญ์ท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นการระบายสีเครื่องปั้นดินเผา การเพ้นท์ร่ม งานช่างสล่าพื้นบ้าน หรือจะนั่งชมการแสดงดนตรีพื้นบ้านภาคเหนือให้อิ่มใจ หรือจะเลือกอิ่มอร่อยกับอาหารพื้นเมืองก็มีให้ชิมหลากหลาย แอ่วกาดเดียวเต็มอิ่มทั้งความรู้ หัวใจฟูลไปด้วยความสุข

 

 

          กิจกรรม “ตามรอยวรรณกรรม เจ้าจันท์ผมหอม” เริ่มต้นด้วยการล้อมวงเสวนาเล่าที่มาและแรงบันดาลใจในการแต่งเรื่องเจ้าจันท์ผมหอมฯ มาลา คำจันทร์ เล่าว่า ระหว่างสืบค้นข้อมูลเพื่อทำวิทยานิพนธ์ วิเคราะห์วรรณกรรมไทยลื้อ เรื่อง คำขับลังกาสิบหัว ขณะศึกษาต่อปริญญาโท ก็ได้เกิดข้อสงสัยบางอย่าง นั่นคือ ผู้หญิงหายไปไหนในประวัติศาสตร์ และจากการค้นข้อมูลก็ได้เจอเรื่องประวัติศาสตร์ไทลื้อ เจ้าจันทะยอดฟ้าเป็นเจ้านางไทลื้อ เคยตัดผมบูชาพระธาตุที่สิบสองปันนา นวนิยายเรื่องเจ้าจันท์ผมหอมฯ จึงมีตัวละครเอกเป็นเจ้าหญิงล้านนารูปโฉมงดงาม และนำเหตุการณ์ประวัติศาสตร์สังคมล้านนาช่วงการเปลี่ยนแปลงทางสังคมท้องถิ่นในสมัยรัชกาลที่ 5 มาวางโครงเรื่อง เป็นช่วงที่ระบบเจ้าในดินแดนล้านนากำลังจะล่มสลาย

 

 

          เพราะเรื่องราวในนวนิยายเกิดขึ้นในสังคมล้านนาช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 เส้นทางการตามรอยวรรณกรรมเจ้าจันท์ผมหอมฯ จึงเดินทางไปที่ “พิพิธภัณฑ์พระตำหนักดาราภิรมย์” อำเภอแม่ริม เดิมเป็นพระตำหนักที่ประทับของ พระราชชายาเจ้าดารารัศมี ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 สร้างขึ้นหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้พระราชชายาเจ้าดารารัศมีทรงย้ายกลับมาประทับที่เชียงใหม่ หลังจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต

 

 

 

          พระราชชายาเจ้าดารารัศมี เป็นพระธิดาของพระเจ้าอินทวิชยานนท์ กษัตริย์ผู้ครองนครเชียงใหม่ สตรีผู้มีบทบาทสำคัญในประวัติศาสตร์การรวมล้านนาเข้ากับสยาม โดยการถวายตัวเป็นบาทบริจาริกาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

          พระราชชายาเจ้าดารารัศมีทรงใช้พื้นที่ของตำหนักปฏิบัติพระกรณียกิจที่เป็นคุณูปการหลายด้าน ทั้งการเกษตรและศิลปวัฒนธรรมล้านนา ซึ่งภายหลังจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ทำการบูรณะพระตำหนักให้สมบูรณ์งดงามใกล้เคียงสภาพเดิม และจัดแสดงเป็นพิพิธภัณฑ์สิ่งของเครื่องใช้อันเกี่ยวเนื่องกับพระราชชายาเจ้าดารารัศมี เพื่อเผยแพร่พระเกียรติคุณ และสืบสานงานศิลปวัฒนธรรมล้านนาให้คงอยู่ ผู้สนใจมาเยี่ยมชมได้ทุกวันอังคาร-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 9.00– 17.00 น. (ปิดวันจันทร์) โทรสอบถามรายละเอียดได้ที่ 0 5329 9175

 

 

          จุดหมายปลายทางของเจ้าจันท์คือ ไปบูชาพระธาตุอินทร์แขวน สิ่งศักดิ์สิทธิ์ยึดเหนี่ยวจิตใจที่สำคัญของเจ้าจันท์ พระธาตุอินทร์แขวนเป็นที่รู้จักกันดี มีตำนานเล่าว่า พระอินทร์เจ้าฟ้าลงมาแขวนไว้ในเมืองคน ใครได้ไหว้พระธาตุอินทร์แขวน ก็เท่ากับได้ไหว้พระธาตุจุฬามณีบนสวรรค์

          พระธาตุอินทร์แขวนนับเป็นตัวแปลสำคัญที่คลี่คลายปมขัดแย้งในใจของเจ้าจันท์ที่มีตลอดการเดินทางไปนมัสการพระธาตุอินทร์แขวน ภาพพระธาตุในจินตนาการของเจ้าจันท์คือ “องค์พระธาตุอินทร์แขวน สูงงามลอยเด่นมองเห็นอยู่ตรงหน้าพระธาตุแก้วแขวนลอยมีเมฆหย่อมน้อยเบาบางพรางตา เมฆเรี่ยเคลียคลออยู่ที่ฐานพระธาตุ องค์พระธาตุสูงส่งโผล่เมฆพ้นไม้ ฟ้าแจ้งแดดไล้พระมหาธาตุ แดดวาดอาบประกายทองวาวสุก สูงเด่นเสียดฟ้าสมคำเล่าลือ...”

          แต่แล้วเมื่อเจ้าจันท์เดินทางไปถึง ได้เห็นพระธาตุในความจริง “เป็นหินผาก้อนใหญ่แท้เสียแต่เก่าหม่น บนก้อนหินมีพระธาตุน้อยทรุดโทรมแปะติดปิดไว้”  “พระธาตุแก้วหล้าเก่าหมองเป็นแต่ก้อนหินหัวล้าน” และสุดท้ายแล้วก็ไม่สามารถปูผมลอดพระธาตุได้ นั่นทำให้เจ้าจันท์เห็นความต่างของภาพมายาและความจริง

 

 

          เพื่อให้เกิดความเข้าใจมากยิ่งขึ้น สถานที่ต่อไปในเส้นทางการตามรอยวรรณกรรม เจ้าจันท์ผมหอม ก็คือ “วัดพระธาตุดอยมอญจิ่ง” ที่อำเภอเชียงดาว สักการะ “พระธาตุดอยมอญจิ่ง” พระธาตุเก่าแก่อายุ 1,000 กว่าปี เป็นสถาปัตยกรรมศิลปะแบบไทใหญ่ และมีพระธาตุอินทร์แขวนจำลองขนาดเท่าองค์จริงที่ประเทศพม่า ทำให้เห็นภาพของพระธาตุอินทร์แขวนที่ผู้เขียนพรรณนาได้ดียิ่งขึ้น นอกจากพระธาตุอินทร์แขวนจำลองแล้วยังมีเจดีย์ชเวดากองจำลองอยู่ที่วัดแห่งนี้อีกด้วย

          ถึงเวลาเย็นย่ำ เรากลับไปกิ๋นข้าวแลงที่โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา มีเสียงดนตรีพื้นบ้านบรรเลงขับกล่อม อิ่มท้องพร้อมอิ่มใจไปในคราวเดียวกัน

 

 

          จบหนึ่งวันกับการตามรอย เจ้าจันท์ผมหอม นิราศพระธาตุอินทร์แขวน วรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมของไทย ด้วยความประทับใจ ได้ทั้งความรู้ ได้ประสบการณ์ ได้เห็นวัฒนธรรมต่างถิ่น ได้พักใจท่ามกลางบรรยากาศธรรมชาติ ก่อนจะนิราศจากเมืองเชียงใหม่กลับสู่นครหลวงกรุงเทพฯ ด้วยรอยยิ้ม