สิ้น “ครูอุทัย แก้วละเอียด” มือระนาดเอกชั้นครู ศิษย์หลวงประดิษฐไพเราะฯ

 

ครูอุทัย แก้วละเอียด มือระนาดเอกชั้นครู ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทย) พุทธศักราช 2552 ศิษย์ระนาดเอกของหลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) เสียชีวิตแล้ว กำหนดสวดพระอภิธรรมศพ ณ วัดมกุฏกษัตริยาราม    

  

 

          นายชาย นครชัย อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) เปิดเผยว่า นายอุทัย แก้วละเอียด ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทย) พุทธศักราช 2552  เสียชีวิตเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2563  เวลาประมาณ 06.40 น. ที่ โรงพยาบาลศิริราช  เนื่องมาจากปอดติดเชื้อ สิริรวมอายุ 88 ปี โดยทางทายาท ได้ขอพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ ในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2563 เวลา 17.00 น. และสวดพระอภิธรรมศพ เวลา 18.00 น.  จากนั้นระหว่างวันที่ 5-8 กุมภาพันธ์ 2563 มีกำหนดสวดพระอภิธรรมศพ เวลา 19.00 น. ณ ศาลา 5 วัดมกุฏกษัตริยาราม ราชวรวิหาร เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ซึ่งทางครอบครัวจะเก็บศพไว้บำเพ็ญกุศลเป็นเวลา 100 วัน และกรมส่งเสริมวัฒนธรรม จะดำเนินการขอพระราชทานเพลิงศพให้ต่อไป

 

 

          อธิบดีสวธ. เปิดเผยอีกว่า นอกจาก สวธ.ในฐานะหน่วยงานที่ดำเนินการยกย่องเชิดชูเกียรติศิลปินแห่งชาติ จะขอพระราชทานเพลิงศพแล้ว และยังให้การช่วยเหลือด้านต่าง ๆ ด้วยการมอบเงินช่วยเหลือเมื่อเสียชีวิตเพื่อร่วมการบำเพ็ญกุศลศพ จำนวน 20,000 บาท และเงินช่วยเหลือค่าจัดทำหนังสือเพื่อเผยแพร่ผลงานเมื่อเสียชีวิตเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 150,000 บาท ตามระเบียบสวัสดิการของศิลปินแห่งชาติ

 

 

          สำหรับประวัติของ นายอุทัย แก้วละเอียด เกิดเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม พุทธศักราช 2475 ที่ตำบลอัมพวา อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม สำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษาปีที่ 4 ที่โรงเรียนวัดอัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม เติบโตในครอบครัวปี่พาทย์ ได้หัดดนตรีไทยจนมีความสามารถ ต่อมาฝากตัวเป็นลูกศิษย์ระนาดเอกของหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ณ สำนักปี่พาทย์บ้านบาตร เป็นศิษย์ที่คุณครูรักมากที่สุดคนหนึ่ง ได้รับการถ่ายทอดชั้นเชิงการบรรเลงเดี่ยวระนาด เพลงหน้าพาทย์ การปรับวง การขับร้อง และการประชันวงอย่างลึกซึ้งมีความรู้เแตกฉาน ทั้งทางระนาดเอกและระนาดทุ้ม ท่านยังมีผลงานและ ประสบการณ์ด้านดนตรีไทยมาอย่างยาวนานกว่า 65 ปี ได้รับใช้งานดนตรีที่บ้านบาตร แม้จนกระทั่งเกิดมูลนิธิหลวงประดิษฐ์ไพเราะขึ้นมาใน พ.ศ. 2524 ก็ยังทำหน้าที่เป็นทั้งครูผู้ฝึกสอน เป็นกรรมการตัดสินกิจกรรมการประกวดดนตรี และรับประสิทธิการอ่านโองการไหว้ครูโดยตรงจากคุณหญิงชิ้น ศิลปบรรเลง ได้ร่วมงานกับทายาทของคุณครูหลายท่าน โดยทำหน้าที่บรรเลงระนาดเอกให้กับคณะนาฏศิลป์ผกาวลีมาโดยตลอด ทั้งการแสดงในประเทศไทยและการออกเดินทางเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมในต่างประเทศ

 

 

          นอกจากนี้ ยังได้บรรเลงระนาด ในรายการ “ดร.อุทิศแนะดนตรีไทย” ออกเผยแพร่ความรู้แก่สาธารณชนมาเป็นเวลากว่า 30 ปีและบรรเลงปี่พาทย์ไว้กับงานบันทึกเสียงเพลงไทยอีกเป็นจำนวนมาก ทั้งเพลงโบราณ เพลงชุดความรู้สายวิชาหลวงประดิษฐ์ไพเราะ และเพลงที่ ศ.ดร.อุทิศ นาคสวัสดิ์ ได้ประพันธ์ขึ้นใหม่ ได้ใช้ความรู้ความสามารถทางด้านดนตรีไทยไปเผยแพร่ยังประเทศสหรัฐอเมริกา อาร์เจนตินา แคนาดา เม็กซิโก ปานามา ชิลี บราซิล กับคุณหญิงชิ้น ศิลปะบรรเลง เป็นเวลา 9 เดือน มีผลงานประพันธ์เพลงจำนวนมาก เช่น เพลงอุสเรน เถา เทพทอง เถา ดอกไม้เหนือ เถา สุดคะนึง เถา โหมโรงมัธยมศึกษา โหมโรงอักษรศาสตร์ ฯลฯ ผลงานเพลงมีความไพเราะมาก ในวงการดนตรีปัจจุบันก็ยังมีการนำมาใช้บรรเลงอยู่ ได้รักษาตำราและพิธีการไหว้ครูของหลวงประดิษฐ์ไพเราะไว้อย่างเคร่งครัดต่อจากรุ่นครูประสิทธิ์ ศิลปะบรรเลง

 

 

          ท่านยังได้รับเชิญให้แสดงเดี่ยวระนาดเอก ในการแสดงระนาดโลก ที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ได้รับยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทย) จากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้รับรางวัลเพชรสยาม สาขาดนตรีไทย จากมหาวิทยาลัยราชภัฎจันทรเกษม  ในช่วงบั้นปลายของชีวิต ยังคงยึดมั่นตั้งใจที่จะถ่ายทอดความรู้ให้แก่ศิษย์ทำให้มีลูกศิษย์จำนวนมากยังดูแลและปรับวงไทยบรรเลงที่อำเภออัมพวาบ้านเกิด จนเป็นวงดนตรีไทยที่มีชื่อเสียงและยังสร้างสรรค์ผลงานเพลงอย่างต่อเนื่องนายอุทัย แก้วละเอียด จึงได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทย) พุทธศักราช 2552

 

 

CR ภาพ : อานันท์ นาคคง, อัษฎาวุธ สาคริก