ตามรอย “เจ้าจันท์ผมหอม” นิราศพระธาตุอินทร์แขวน ของ “มาลา คำจันทร์”

สวธ. จัดกิจกรรมตามรอยวรรณกรรม เจ้าจันท์ผมหอม รางวัลซีไรต์ ประจำปี พ.ศ. 2534 ผลงานของนายเจริญ มาลาโรจน์ (มาลา  คำจันทร์) ศิลปินแห่งชาติ เปิดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ผ่านการเดินทางและการร่วมเสวนากับผู้ประพันธ์ แก่เยาวชน และผู้สนใจ

 

 

          กรมส่งเสริมวัฒนธรรม  กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ และโฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา จัดกิจกรรมตามรอยวรรณกรรม  เจ้าจันท์ผมหอม ผลงานเขียนของนายเจริญ  มาลาโรจน์ (มาลา  คำจันทร์)  ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พ.ศ. 2556 ซึ่งได้รับรางวัลซีไรต์ ประจำปี 2534 เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ทางด้านวรรณกรรมให้แก่เด็ก เยาวชน นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ได้ศึกษาต้นแบบการเรียนรู้กลวิธีการประพันธ์  การสร้างแรงบันดาลใจ การเก็บข้อมูล และวิธีการนำเสนอ ผ่านการเดินทางและการร่วมเสวนากับผู้ประพันธ์ โดยในโอกาสนี้ นายเสน่ห์ สายเย็นใจ  วัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ และเครือข่ายทางวัฒนธรรม ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น

 

 

          นายอนุกูล  ใบไกล  ผู้อำนวยการกองกองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและถ่ายทอดศิลปวัฒนธรรม ได้กล่าวถึงความเป็นมาของการจัดกิจกรรมครั้งนี้ว่า  กิจกรรม “ตามรอยวรรณกรรม เจ้าจันท์ผมหอม” ที่จัดขึ้นนี้  เป็นกิจกรรมการต่อยอดการเรียนรู้กลวิธีการประพันธ์ การสร้างแรงบันดาลใจ การเก็บข้อมูล และวิธีการนำเสนอ ผ่านการเดินทางและการร่วมเสวนากับผู้ประพันธ์ วรรณกรรมเรื่อง เจ้าจันท์ผมหอม  ซึ่งก็คือ นายเจริญ  มาลาโรจน์ หรือมาลาคำจันทร์  ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ พ.ศ. 2556 วรรณกรรมเรื่องนี้เป็นวรรณกรรมสะท้อนสังคมและประวัติศาสตร์ แนวคิด และวิถีชีวิตของชาวล้านนาและสยามประเทศในอดีตได้อย่างดียิ่ง  ทั้งยังได้รับรางวัลซีไรต์  ประจำปี พ.ศ. 2534  อีกด้วย เหมาะแก่การนำมาเป็นต้นแบบการเรียนรู้ดังกล่าวนี้  โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรม จำนวน 60 คน ประกอบด้วย ผู้เข้ารับการอบรมด้านวรรณศิลป์ ในโครงการเปิดพื้นที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยให้เป็นแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรม ผู้เข้าร่วมโครงการลายลักษณ์วรรณศิลป์  นักเรียน นักศึกษาจากสถาบันการศึกษาในจังหวัดเชียงใหม่ และสื่อมวลชนจากส่วนกลาง และสื่อมวลชนท้องถิ่น

 

 

          โอกาสนี้ นายเจริญ  มาลาโรจน์  ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พ.ศ. 2556 เจ้าของบทประพันธ์ เจ้าจันท์ผมหอม ได้บรรยายสรุปเกี่ยวกับการสร้างสรรค์ผลงานอันเป็นเอกลักษณ์ที่ได้ประพันธ์ขึ้น พร้อมทั้งเล่าถึงแรงบันดาลใจในการนำเอาเรื่องราวของเจ้าเมืองทางเหนือมารอยเรียงด้วยการใช้ขนบนิราศมาเล่าเรื่องในรูปแบบนวนิยาย ผสมกลิ่นอายด้วยวรรณกรรมท้องถิ่นล้านนาจนออกมาเป็น นิราศพระธาตุอินทร์แขวน เจ้าจันท์ผมหอม ที่โด่งดัง จนคว้ารางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน ประจำปี พ.ศ. 2534

 

 

          เรื่องย่อ เจ้าจันทร์ผมหอม

          เจ้าจันท์เป็นเจ้าหญิงล้านนาคนงาม เธอเดินทางไปบูชาพระธาตุอินทร์แขวน ซึ่งเป็นพระธาตุประจำปีเกิดที่อยู่ในเขตพม่าใกล้เมืองเชียงใหม่ ด้วยความตั้งใจว่าจะตัดผมหอมบูชาพระธาตุ ตำนานเล่าว่าผู้ใดที่ปูผมลอดพระธาตุได้ จะสมหวังในสิ่งใดก็ตามที่ตั้งใจไว้ และสำหรับเจ้าจันท์แล้ว เธอกำลังต้องการให้ความหวังที่มีอยู่เป็นจริงอย่างเหลือเกิน เจ้าจันท์ผู้ผูกพันรักใคร่กับเจ้าหล้าอินทะ แต่เจ้าพ่อกับเจ้าแม่ของเจ้าจันท์ได้ตกลงยกเจ้าจันท์ให้กับพ่อเลี้ยงผู้มั่งคั่งคนหนึ่ง

          ตอนเป็นเด็ก เจ้าจันท์เกิดล้มป่วยเจ้าพ่อเจ้าแม่จึงได้บนกับพระธาตุไว้ และจะไว้ผมยาวถวายเพื่อเป็นพุทธบูชา เจ้าจันท์เลี้ยงผมมาเป็นระยะเวลา 5 ปี ซึ่งผมของนางมีกลิ่นหอมเป็นที่ตรึงใจแก่ผู้ที่ได้เข้าใกล้ชิด เมื่อถึงกำหนดที่เจ้าจันท์ต้องเดินทางไปแก้บนที่พระธาตุอินทร์แขวน และจำต้องเดินทางไปสักการะพระธาตุ  โดยอาศัยเดินทางไปกับพ่อเลี้ยง ไม่เช่นนั้นก็จะเดินทางไม่ได้ เพราะต้องใช้ทั้งขบวนช้างม้า เดินทางกันเป็นเวลานาน ซึ่งต้องอาศัยกำลังทรัพย์จากพ่อเลี้ยง และในระหว่างการเดินทาง พ่อเลี้ยงก็ดูแลเจ้าจันท์เป็นอย่างดี  หวังจะเอาชนะใจเจ้าจันท์ แต่เจ้าจันท์ไม่สามารถทำใจให้รักพ่อเลี้ยงได้ เพราะเธอรักมั่นอยู่กับเจ้าหล้าอินทะอยู่แล้ว

          ความยากลำบากจากการเดินทาง การพลัดพรากจากคนรัก ระหว่างความรักกับหน้าที่ต้องประคับประคองความเป็นปึกแผ่นของบ้านเมือง ต้องอาศัยพ่อเลี้ยง เมื่อถึงพระธาตุอินทร์แขวน เจ้าจันท์ได้ตั้งจิตบนพระธาตุอีกครั้งหนึ่งว่า หากผมหอมนี้ปูลอดพระธาตุได้ นางจะกลับไปหาชายคนรัก หากปูลอดพระธาตุไม่ได้ นางจะแต่งกับพ่อเลี้ยง สุดท้ายเมื่อผมลอดไม่ได้เจ้าจันท์จึงได้ปฏิสังขรณ์องค์พระธาตุนั้นและตัดสินใจแต่งงานกับชายที่ไม่ได้หมายปอง