‘พ่อแม่’ ควรทำอย่างไร ในวันที่ ‘ลูก’ กลัว ?

พ่อแม่ควรทำอย่างไร ในวันที่ ลูกกลัว ?

 

คำถามนี้จากคุณแม่ท่านหนึ่ง ทำให้หมอคิดว่า ถ้านำมาตอบในหน้าเพจ น่าจะมีประโยชน์ จริง ๆ คำถามดั้งเดิม คุณแม่ถามว่า

 

"สวัสดีค่ะคุณหมอ ลูกชายเป็นคนกลัวผีมาก เขาอายุ 8 ขวบ แต่เวลากลางคืน ที่ต้องไปห้องน้ำ ไม่กล้าไปคนเดียว แม่รู้สึกว่าเขาโตแล้ว ไม่อยากให้เป็นแบบนี้ คุณหมอมีวิธีแนะนำมั้ยคะ"

 

แต่หมอนำมาปรับในรูปประกอบ ให้เป็นคำถามที่กว้างขึ้นหน่อย

 

ในการเป็นจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น มีเด็กหลายคนที่มาหาด้วยเรื่องของความกลัวในสถานการณ์บางอย่าง

 

อาจจะเป็นกลัวผี กลัวความมืด กลัวสัตว์บางอย่าง กลัวที่แคบ กลัวความสูง ฯลฯ

 

 

ความกลัวเป็นเรื่องธรรมดา ความกลัวนิดหน่อยอาจจะดีเพราะทำให้เราระมัดระวังตัวเองมากขึ้น แต่หากเป็นความกลัวในบางเรื่อง ที่มีผลกระทบถึงการใช้ชีวิตอย่างมาก ตรงนั้นอาจจะเป็นโรคที่เรียกว่า Phobia

 

ในเด็กเราอาจจะพบเป็นความกลัวในบางเรื่องที่เฉพาะเจาะจง เช่นเด็กเล็กหรือวัยเรียนจะพบ Seperation anxiety disorder หรือโรคกลัวการแยกจากบุคคลที่รัก พอเด็กค่อย ๆ โตขึ้นบางคนมีลักษณะที่เรียกว่า Social phobia หรือโรคกลัวสังคม เป็นต้น

 

ในเบื้องต้นจะบอกเล่าถึงวิธีจัดการสำหรับพ่อแม่ว่า ในเด็กที่มีความกลัว กังวลกับอะไรบางอย่าง เราจะช่วยเขาได้อย่างไร

 

1.เข้าใจในความกลัวของเด็ก

 

เรื่องที่ผู้ใหญ่รู้สึกว่า ไม่เห็นมีอะไรเลย ทำไมจะต้องไปกลัวจนบางทีเราเผลอพูดแบบนั้นออกไปเวลาที่เด็กรู้สึกกลัว อาจจะทำให้เด็กรู้สึกว่าผู้ใหญ่ไม่เข้าใจเขา

 

ตรงนี้สำคัญ เพราะจุดแรกที่เราจะช่วยเขาได้นั้น ผู้ใหญ่ต้องมีความเห็นอกเห็นใจและเข้าใจความรู้สึกเด็ก

 

เรื่องบางเรื่องที่เป็นเรื่องที่เราคิดว่าเล็กน้อย เด็กอาจจะมีประสบการณ์บางอย่างกับมันมาก่อน ทำให้เขารู้สึกกลัวก็เป็นได้

 

เช่น เด็กบางคนกลัวการไปโรงพยาบาลหาหมอสวมชุดขาว ๆ มาก เพราะตอนเล็ก ๆ เคยต้องเข้าโรงพยาบาล ถูกจับฉีดยา ล้างจมูก เจาะเลือด ฯลฯ ตรงนั้นเป็นประสบการณ์ที่ไม่ดีของเขา จึงทำให้เขากลัวต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน ดังนั้นเวลาที่ไปหาหมอแม้ว่าจะเป็นคุณหมอที่ใจดีดูไม่คุกคาม เด็กก็อาจจะกลัวอย่างมากก็เป็นได้

 

ผู้ใหญ่อาจจะลองคิดย้อนถึงตัวเองดู หมอคิดว่าทุกคนคงมีสิ่งที่เรากลัวหรือไม่ชอบ บางเรื่องก็เป็นเรื่องที่ดูไร้สาระด้วยซ้ำ แต่จริง ๆ มันมีความสำคัญกับเรา เด็กก็เหมือน ๆ กัน

 

2.รับฟัง จนกระทั่งความกลัวนั้นสงบลง แล้วให้เด็กได้พูดระบายความรู้สึกของเขา ผู้ใหญ่จะเข้าใจที่มาที่ไปของความกลัวนั้นมากขึ้น

 

เมื่อผู้ใหญ่แสดงว่ายอมรับ เข้าใจความรู้สึกกลัวที่เด็กมี สักพักเด็กก็จะรู้สึกดีขึ้น เมื่อเด็กสงบ ค่อย ๆ ถามว่าเขารู้สึกอย่างไรและให้เขามีโอกาสบอกและระบายสิ่งที่อยู่ในใจออกมา

 

อาจจะถามเขาว่า อะไรทำให้เขารู้สึกกลัวเมื่อเขาเล่า ผู้ใหญ่จะเข้าใจเขามากขึ้น

 

มีผู้ใหญ่หลายคนรีบที่จะแนะนำ บอกเด็กว่า เขาควรจะต้องทำอย่างไร แบบไหน ทั้งที่อาจจะยังไม่ได้เข้าใจสาเหตุความกลัวของเด็กที่ชัดเจน อาจจะทำให้แก้ปัญหาผิดจุด และไม่ช่วยเด็กให้ดีขึ้นแถมเด็กก็อาจจะสับสนมากขึ้นด้วย

 

3.ค่อย ๆ ให้เด็กเผชิญกับสิ่งที่กลัว จะทำให้เขาจัดการความตัวได้ดีขึ้น

 

ที่หมอบอกว่า ค่อย ๆมีความสำคัญอยู่ เพราะผู้ใหญ่บางคนพอหมอบอกว่า ให้เด็กเผชิญหน้าก็คิดว่าจะต้องไปขู่ให้เค้ากลัวมากขึ้น หรือบังคับให้เขาเผชิญกับสิ่งที่กลัวทันที ซึ่งในบางครั้ง อาจจะทำให้เด็กยิ่งกลัวมากขึ้นและหลีกเลี่ยงสิ่งที่กลัวมากขึ้นก็ได้ การที่พ่อแม่ค่อย ๆ เพิ่มระดับการเผชิญหน้า โดยให้เผชิญกับสิ่งที่กลัวในระดับน้อยที่สุดก่อน แล้วก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยที่ผู้ใหญ่ก็อยู่เคียงข้างเขาในช่วงแรก ๆ น่าจะทำให้เด็กรู้สึกว่าเขามีกำลังใจ และพร้อมที่จะเผชิญหน้ากับความกลัวนั้นได้มากขึ้น

 

เช่น เด็กที่กลัวผีจนตอนกลางคืนไม่กล้าไปห้องน้ำเอง คุณแม่ก็อาจจะใช้วิธีว่าจากปกติที่ไปยืนเฝ้าในห้องน้ำเลย ก็ค่อย ๆ ยืนห่างขึ้น ๆ เมื่อคืนต่อ ๆ ไป เขาก็จะค่อย ๆ กลัวน้อยลงจนไปเข้าห้องน้ำได้เองก็ได้ พอเด็กจัดการกับความกลัวได้ เราก็ชมเชยเด็กด้วย เขาจะมีความภาคภูมิใจและอยากจะทำได้มากขึ้น ๆ เรื่อย ๆ

 

4.หลีกเลี่ยงคำพูดที่ทำให้เด็กรู้สึกว่าผู้ใหญ่ไม่เข้าใจ เช่น ถ้ากลัวของแค่นี้แล้ว อีกหน่อยโตขึ้นจะไปทำอะไรได้ตรงนั้นไม่ช่วย แถมจะเป็นการบั่นทอนกำลังใจเด็กด้วย

 

5.จัดการความกังวลของผู้ใหญ่ด้วย เพราะบ่อย ๆ เด็กที่มีความวิตกกังวล มักจะมีพ่อแม่หรือญาติใกล้ชิดที่มีความกังวล ตรงนี้มีทั้งการถ่ายทอดทางพันธุกรรม และการเห็นแบบอย่างพฤติกรรมและซึมซับไป ดังนั้นก่อนอื่นผู้ใหญ่ที่ดูแลก็ต้องจัดการความกังวลของตัวเองก่อน สร้างบรรยากาศของบ้านให้โอเค เด็กก็จะมีสุขภาพจิตที่ดี จัดการกับความกังวลได้ดีขึ้นค่ะ

 

แต่ถ้าหากเด็กมีความกังวลอย่างมาก และมีผลกระทบกับการเรียน การใช้ชีวิต หรือความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ตรงนั้นต้องมีการรักษาเพิ่มเติม ผู้ใหญ่ก็ควรพาเด็กไปพบจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นในลำดับถัดไปค่ะ

 

#หมอมินบานเย็น

#พ่อแม่ควรทำอย่างไรในวันที่ลูกกลัว

 

 

 

//...............

CR : เพจ "เข็นเด็กขึ้นภูเขา"

https://www.facebook.com/kendekthai/

 //...............