พช. จับมือ มูลนิธิรักษ์ดินรักษ์น้ำ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชน สู่มาตรฐาน Earth Safe

กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย และ มูลนิธิรักษ์ดินรักษ์น้ำ (Earth Safe Foundation) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ส่งเสริมการใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนมั่นคง ใช้มาตรฐาน Earth Safe อินทรีย์วิถีไทย นำร่องหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ 228 หมู่บ้าน

 

 

          นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับนางสัณหจุฑา จิราธิวัฒน์ ประธานมูลนิธิรักษ์ดินรักษ์น้ำ (Earth Safe Foundation) โดยมี นายประชา เตรัตน์ คณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และนางปราณี รัตนประยูร หัวหน้าผู้ตรวจราชการกรม กรมการพัฒนาชุมชน ร่วมลงนามเป็นสักขีพยาน ณ เวทีกลาง อาคารชาเลนเจอร์ 2 อิมแพค เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี

 

 

          นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทย มอบหมายให้กรมการพัฒนาชุมชนน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มาเป็นหลักในการพัฒนาหมู่บ้านและชุมชน ตั้งแต่ปี 2549 ซึ่งสอดคล้องกับภารกิจหลักของกรมการพัฒนาชุมชน คือ การส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ และการมีส่วนร่วมของประชาชน ผ่านกระบวนการสร้างและพัฒนาผู้นำชุมชน และตั้งแต่ปี 2552 ถึงปัจจุบัน ได้ยกระดับการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง พัฒนาเป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ ซึ่งมีผลการดำเนินงานหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ ตั้งแต่ปี 2552 – 2562 จำนวน 18,495 หมู่บ้าน

 

 

          ดังนั้น เพื่อตอบสนองการขับเคลื่อนตามยุทธศาสตร์และภารกิจที่กระทรวงมหาดไทยมอบหมายโดยการพัฒนา ต่อยอด และขยายจำนวนหมู่บ้านที่มีการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปสู่การปฏิบัติให้มีความแพร่หลายทั่วถึงในทุกพื้นที่ เพื่อพัฒนาครอบครัวพัฒนาให้สามารถผลิตพืชผลทางการเกษตรที่มีมาตรฐานในการเพาะปลูก ไปจนถึงการรวมกลุ่มในการจำหน่ายผลผลิต ภายใต้การใช้มาตรฐาน Earth Safe อินทรีย์วิถีไทย มาตรฐานแห่งการใช้ศาสตร์พระราชา และสามารถเป็นศูนย์เรียนรู้และขยายผลให้แก่หมู่บ้านอื่นต่อไปได้ จึงได้จัดทำโครงการสืบสานศาสตร์พระราชาน้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่วิถีชีวิต

 

 

          นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่อว่า บันทึกข้อตกลงความร่วมมือนี้ เป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่เกษตรกรและชาวบ้านซึ่งล้วนประกอบอาชีพเกษตรกรรม ในเขตชนบทของประเทศไทยส่วนใหญ่กำลังได้รับผลกระทบจากการใช้สารเคมี ในการเกษตรอย่างหนักหน่วง รวมไปถึงการเพาะปลูกพืชเชิงเดี่ยว ในพื้นที่ขนาดใหญ่ ที่ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมในองค์รวม ในหลากหลายมิติ จนในที่สุด ต้องกลายเป็นปัญหาที่ต้องการการหาทางออกร่วมกัน งานที่สำคัญ จึงต้องเร่งแก้ไขวิกฤติที่เป็นปัญหาเฉพาะหน้า ช่วยชาวบ้านที่ยังมีปัญหาหนี้สิน ให้เห็นว่า ศาสตร์พระราชา คือ ทางเลือกและทางรอด ของเกษตรกรไทยด้วยการอัญเชิญแนวทางหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงตามศาสตร์พระราชา มาปฏิบัติให้เกิดผลจริงในพื้นที่

 

 

          “ความร่วมมือในครั้งนี้มีกรอบการดำเนินงาน 2 ปี ส่งเสริมให้ครอบครัวพัฒนาดำเนินชีวิตโดยยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ส่งเสริมให้ครอบครัวพัฒนาหยุดและปฏิเสธการใช้เคมีทุกชนิดคือ ปุ๋ยเคมี สารเคมีกำจัดวัชพืช และสารเคมีกำจัดแมลง ตลอดจนส่งเสริมให้ครอบครัวพัฒนาไม่ใช้พืชตัดต่อพันธุกรรม เน้นอนุรักษ์พันธุกรรมท้องถิ่น ตลอดจนเพื่อให้เกิดการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งได้แก่ ชาวบ้านและเกษตรกรในพื้นที่เป็นสำคัญ มีการให้ความรู้ความเข้าใจหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงตั้งแต่ขั้นพื้นฐาน และต่อยอดเป็นเศรษฐกิจพอเพียงขั้นก้าวหน้า มององค์ความรู้ด้านมาตรฐานการผลิต ส่งเสริมความรู้ทางเทคนิคให้ชาวบ้านในสิ่งที่ยังขาด โดยเฉพาะในเรื่องการใช้สิ่งทดแทนสารเคมีในกระบวนการเพาะปลูกทุกขั้นตอน เพื่อให้สามารถปฏิบัติได้จริงอย่างมั่นใจ ตามสถานการณ์และความเป็นจริงของปัญหาที่เกิดในแต่ละพื้นที่ และเสริมความรู้เรื่องการตลาดที่โปร่งใส เป็นธรรม ไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง และการให้ความรู้ผู้บริโภคให้มีความรู้ตระหนักถึงความสำคัญของอาหาร โดยทั้งหมดอยู่ภายใต้มาตรฐาน Earth Safe อินทรีย์วิถีไทย” อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชนกล่าว