ทำไมเราต้องกิน ‘อาหารทะเล’ จาก ‘ประมงพื้นบ้าน’ ?

ทำไมเราต้องกิน อาหารทะเลจาก ประมงพื้นบ้าน’ ?

 

           “บรรจง นะแส” อดีตนายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย ชี้ชัด กิน “อาหารทะเล” จาก “ประมงพื้นบ้าน” สด ปลอดสารฟอร์มาลีน สนับสนุนการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และส่งเสริมเศรษฐกิจท้องถิ่น สร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน

 

           ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เฟซบุ๊ค “บรรจง นะแส” ซึ่งเป็นอดีตนายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย และนักอนุรักษ์และฟื้นฟูทะเลไทย ได้โพสต์ข้อความและรูปภาพ ตั้งคำถามว่า “ทำไมเราต้องกินอาหารทะเลจากประมงพื้นบ้าน ?” โดยมีเนื้อหา ดังนี้

 

“อาหารทะเลเป็นของโปรดของใครหลายคน บางคนยกให้อาหารทะเลเป็นมื้อพิเศษ นาน ๆ รับประทานที อาจจะด้วยข้อจำกัดเรื่องราคา การเข้าถึงแหล่งจำหน่าย การเตรียมการที่ยุ่งยากในการปรุง การเจอประสบการณ์ที่ไม่ดีในรสชาติ คุณภาพ อาการแพ้ ฯลฯ แต่จะอย่างไรก็แล้วแต่ อาหารทะเลยังเป็นที่นิยมและชื่นชอบมาทุกยุคสมัย

 

จะว่าไปแล้ว ทุกพื้นที่ในประเทศ ก็สามารถเข้าถึงอาหารทะเลได้ แม้ว่า จะได้อยู่ติดกับทะเลก็ตามที อาหารทะเลเข้าไปอยู่ในซุปเปอร์ ในตลาดสดแทบจะทุกแห่ง คุณภาพและราคาก็แตกต่างกันไป ใกล้ทะเลราคาก็ถูก คุณภาพก็ดี ไกลหน่อยราคาก็สูง คุณภาพก็อาจจะด้อยลง (หากการจัดการไม่ดี)

 

ด้วยที่ความต้องการอาหารทะเลทั้งภายในและภายนอกประเทศมีสูง ทำให้อุตสาหกรรมประมงเติบโตขึ้นมาก มีขนาดตลาดที่ใหญ่และมีมูลค่าสูง ส่งผลให้ทั้งผลดีและผลกระทบตามมา

 

#ผลดี อาหารทะเลเกิดการกระจายไปยังผู้บริโภคทั่วประเทศ เกิดการแข่งขันทำให้คุณภาพและบริการเริ่มดีขึ้น

 

#ผลกระทบ เกิดการจับที่มากเกินไป มีการใช้เครื่องมือที่ทำให้จับสัตว์น้ำได้ปริมาณเยอะ ๆ เกิดการทำลายทรัพยากรทางทะเล ไม่ปล่อยให้สัตว์น้ำได้โตและขยายพันธุ์ต่อ ฯลฯ

 

#ประมงพื้นบ้านเป็นทางออก ?

 

-ประมงพื้นบ้านมีวิธีการจับที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ใช้เครื่องมือการจับเฉพาะประเภท เช่น ปลากระพง ปลาเก๋า ปลาสาก ปลาอินทรีย์ ใช้เบ็ดตกปลา , กุ้ง ปู ใช้อวนเฉพาะอย่าง , หมึก ใช้ลอบหรือใช้เบ็ด ฯลฯ เมื่อใช้เครื่องมือจับสัตว์น้ำที่ระบุชนิด จะทำให้ชาวประมงเลือกได้ว่า จับได้ตัวขนาดที่พอเหมาะ ถ้าขนาดตกไซด์ก็สามารถปล่อยคืนได้ ทำให้ทรัพยากรทางทะเลและสัตว์น้ำไม่ถูกทำลายจนไม่สามารถฟื้นคืนกลับมาได้

 

-เนื่องจากเรือประมงพื้นบ้านขนาดเล็ก มีข้อจำกัดเรื่องน้ำหนักบรรทุกและระยะเวลาในการออกทะเล ดังนั้น ส่วนใหญ่จะไปเช้า-กลับบ่าย ออกบ่ายกลับเย็นหรือดึก ทำให้สัตว์น้ำที่จับได้ยังคงความสด ไม่ต้องแช่สารเพื่อไม่ให้เน่าเสีย

 

-อาหารทะเลที่ไม่มีสารเคมีที่คงความสด (สารเคมีที่นิยมใส่คือฟอร์มาลีน) จะมีความสด อร่อย สัมผัสได้ถึงคุณภาพและรสชาติของทะเลจริง ๆ บางคนที่เคยมีอาการแพ้อาหารทะเล บางส่วนเกิดจากการแพ้สารเคมีที่อยู่ในอาหารทะเล

-ประมงพื้นบ้านเป็นประมงชายฝั่งในระยะไม่เกิน 3 ไมล์ทะเล สัตว์น้ำที่จับเป็นสัตว์น้ำตามฤดูกาล เลือกจับชนิดที่มีปริมาณมาก ทำให้สัตว์น้ำชนิดนั้นมีปริมาณเพียงพอ ที่มีน้อยก็ปล่อยให้ขยายพันธุ์ต่อ

 

-ประมงพื้นบ้านขนาดเล็กส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือน พ่อออกเรือกับลูก ภรรยารอปลดปลาจากอวน มีลูกจ้างบ้างแต่ไม่มาก จึงไม่มีปัญหาเรื่องการใช้แรงงานที่ผิดกฎหมาย ไม่เป็นธรรม

 

-เว้นว่างจากการออกเรือช่วงมรสุม หรือฤดูขยายพันธุ์สัตว์น้ำก็รวมตัวกันทำงานอนุรักษ์ ทำซั้งกอ ทำธนาคารปู ซ่อมแซมเครื่องมือทำมาหากิน

 

การช่วยสนับสนุนประมงพื้นบ้าน นอกจากผู้บริโภคจะได้รับอาหารที่สด สะอาด ปลอดภัยแล้ว ยังเป็นการช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจท้องถิ่นให้มีความเข้มแข็ง ชุมชนชาวประมงเติบโต และยังมีส่วนช่วยเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลอีกด้วย

 

ถ้าเกิดการสนับสนุนจากผู้บริโภค อาหารทะเลดี ๆ จะมีเพียงพอสำหรับเราทุกคนนะ”

 

 

//....................

                CR : เฟซบุ๊ค "บรรจง นะแส"

                https://www.facebook.com/bnasae

 //....................