กสอ. ดันหมู่บ้าน CIV เน้นอัตลักษณ์ท้องถิ่น ดึงนักท่องเที่ยว สร้างรายได้ชุมชน

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ดันต่อพัฒนาหมู่บ้าน CIV ชูอัตลักษณ์ท้องถิ่น ผสานเทคโนโลยีสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และบริการ เผยเสน่ห์ชุมชน ผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย ดึงดูดนักท่องเที่ยว หวังสร้างรายได้ ยกระดับเศรษฐกิจฐานราก

 

          นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า จากผลสำรวจสุดยอดจุดหมายปลายทางโลกของมาสเตอร์การ์ด ประจำปี 2019 (Mastercard Global Destination Cities Index, GDCI 2019) ระบุว่า ประเทศไทยมีเมืองท่องเที่ยวติดอันดับความนิยมใน 20 อันดับแรก ถึง 3 แห่ง โดยกรุงเทพมหานครยังคงครองอันดับ 1 เมืองจุดหมายปลายทางที่นักท่องเที่ยวทั่วโลกเดินทางมาเยือนมากที่สุดติดต่อกันเป็นปีที่ 4 มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเยือนมากถึง 22.78 ล้านคน ขณะที่ ภูเก็ต ติดอันดับ 14 มีนักเดินทางมาเยือนมากถึง 9.89 ล้านคน และพัทยา ติดอันดับ 15 มีนักเดินทางมาเยือน 9.44 ล้านคน นั่นแสดงให้เห็นถึงความนิยมของนักท่องเที่ยวที่มีต่อประเทศไทย ซึ่งสิ่งที่ดึงดูดคนทั่วโลกให้เข้ามาในประเทศไทย มาจากความโดดเด่นของศิลปวัฒนธรรม เอกลักษณ์ด้านวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น ความหลากหลายทางชีวภาพ อาหาร ความมีน้ำใจไมตรีและความสามารถในการบริการของคนไทย

 

 

          กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ตระหนักเห็นความสำคัญในจุดนี้ จึงได้จัดทำโครงการหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Industry Village : CIV) ขึ้น ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 จนถึงปัจจุบัน เพื่อดึงอัตลักษณ์ของชุมชนผสานกับการใช้องค์ความรู้ การสร้างสรรค์และวัฒนธรรมภูมิปัญญาท้องถิ่นมาผนวกกับองค์ความรู้เทคโนโลยี สร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์และบริการ เชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวทั้งทางธรรมชาติและแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม บูรณาการให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นเอกลักษณ์ นำเสนอภาพลักษณ์ของประเทศไทยในมุมมองใหม่ที่แตกต่าง เน้นคุณค่าที่นักท่องเที่ยวจะได้รับจากการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมผ่านวิถีความเป็นไทย เพื่อหวังขยายฐานการท่องเที่ยวจากเมืองหลักไปเมืองรอง เพื่อเพิ่มรายได้แก่ชุมชน ยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุที่อยู่ติดบ้านในต่างจังหวัด ลดปัญหาความหนาแน่นของประชากรที่เข้ามาหางานทำในเขตนิคมอุตสาหกรรม และยกระดับเศรษฐกิจฐานราก

 

 

          ทั้งนี้ กสอ. ได้น้อมนำแนวพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร “ระเบิดจากข้างใน” เป็น “หัวใจ” ในการขับเคลื่อนโครงการหมู่บ้าน CIV ด้วยตระหนักถึงความสำคัญในการสร้างรากฐานชุมชนให้แกร่งจาก “ข้างใน” เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ โดยมีธุรกิจการท่องเที่ยวที่เป็นเป้าหมายในการสร้างรายได้ โดย CIV มีองค์ประกอบสำคัญ 3 ส่วน คือ 1. การประยุกต์ใช้ทุนทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาเพื่อสร้างสรรค์กิจกรรมเพื่อการท่องเที่ยว เช่น การทำโฮมสเตย์ การทดลองปั้นเครื่องปั้นดินเผา การทำผ้าบาติก 2. ผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น เช่น สินค้า OTOP  และ 3.แหล่งท่องเที่ยว ทั้งทางธรรมชาติและทางวัฒนธรรม

 

 

          โดยในปี พ.ศ. 2559 กสอ. ได้นำร่องจำนวน 9 หมู่บ้าน ใน 9 จังหวัดที่มีเสน่ห์แตกต่างกันไปตามอัตลักษณ์ของแต่ละหมู่บ้าน โดยสำรวจศักยภาพชุมชนและความต้องการของชุมชนสร้างความรู้ ความเข้าใจกับผู้นำชุมชนเพื่อหาจุดร่วมกันในการสร้างความร่วมมือของผู้ผลิตสินค้าชุมชน และประชาชนทั่วทั้งชุมชน พร้อมใจกันจัดทำแผนพัฒนาหมู่บ้าน พัฒนาสินค้าและบริการเพื่อรองรับการมาเยือนของนักท่องเที่ยวสร้างโอกาสทางการตลาดและสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน จากกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ พร้อมทั้งปรับปรุงภูมิทัศน์และสร้างการรับรู้สินค้าและบริการที่เป็นเอกลักษณ์ของหมู่บ้าน จากนั้นในปี พ.ศ. 2561 กสอ. ได้ใช้กลไกลประชารัฐและเน้นชุมชนเป็นกลาง เสริมสร้างทักษะฝีมือในการผลิตสินค้า และพัฒนาศักยภาพให้ผู้ประกอบการชุมชนให้สามารถนำความคิดสร้างสรรค์ผสมผสานกับทรัพยากรที่มีชุมชนสร้างเอกลักษณ์ของสินค้าและบริการไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มและเน้นการเชื่อมโยงสินค้าชุมชนสู่ตลาดการท่องเที่ยว รวมทั้งดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาท่องเที่ยวในพื้นที่ มีการจัดทำคู่มือการท่องเที่ยวและสร้างการรับรู้หมู่บ้าน CIV รูปแบบแอปพลิเคชั่น ชื่อ “CIV Like” โดยดำเนินการพัฒนาทั้งสิ้นจำนวน 27 ชุมชน และในปี พ.ศ. 2562 กสอ. ได้ดำเนินการพัฒนาหมู่บ้าน CIV เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการชุมชนให้มีความรู้ ความเข้าใจ และเพิ่มศักยภาพด้านการบริหารจัดการชุมชน การนำอัตลักษณ์ของชุมชนมาประยุกต์ใช้เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์และบริการชุมชนเพื่อรองรับอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ วัฒนธรรม และบริการที่มีมูลค่าสูง และสามารถเข้าถึงช่องทางการตลาด สามารถเผยแพร่วิถีชีวิต อัตลักษณ์ชุมชนผ่านสื่อทั้ง Online และ Offline ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมุ่งเน้นการเสริมสร้างศักยภาพผู้ประกอบการด้านการบริหาร จัดการชุมชน หรือ การเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์/บริการชุมชน และการพัฒนาขยายเครือข่ายและบริหารจัดการธุรกิจชุมชน การจัดทำสื่อแนะนำการท่องเที่ยวชุมชน การเชื่อมโยงชุมชนเข้ากับการท่องเที่ยว การศึกษาดูงานชุมชนท่องเที่ยวต้นแบบ เพื่อสร้างองค์ความรู้ ความเข้าใจในแนวทางปฏิบัติ รวมถึงสร้างความสัมพันธ์และสร้างเครือข่ายการดำเนินงานร่วมกันในอนาคต มีเป้าหมายทั้งสิ้น 215 หมู่บ้าน 800 ราย 800 ผลิตภัณฑ์ ซึ่งคาดว่าจะมีมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 1,500 ล้านบาท

 

 

           “ธุรกิจการท่องเที่ยวพัฒนามาไกลด้วยระบบโลจิสติกส์ การเดินทางสะดวกสบายมากขึ้น ขณะที่เทคโนโลยีทำให้เสน่ห์ของชุมชนเป็นที่รู้จักอย่างรวดเร็วมากขึ้น ผ่านการโพสต์ การแชร์ภาพถ่ายในโซเชียลมีเดีย จึงอาจกล่าวได้ว่า ชุมชนที่ยังคงบรรยากาศเดิม ๆ ยังรักษาอัตลักษณ์วิถีพื้นบ้านไว้ได้อย่างมีชีวิตชีวา คือ ความถวิลหาของนักท่องเที่ยว เราจึงเน้นการบริหารจัดการธุรกิจการท่องเที่ยวโดยชุมชน เป็นการทำงานแบบบูรณาการ นอกจากความโดดเด่นผลิตภัณฑ์ ชุมชนยังต้องการความรู้ในการบริหารจัดการในหลาย ๆ ด้าน ทั้งการดูแลรักษาแหล่งท่องเที่ยว การปรับปรุงภูมิทัศน์ ที่พัก และกิจกรรมที่สะท้อนถึงวัฒนธรรม ภูมิปัญญา และอาชีพ ที่จะช่วยดึงนักท่องเที่ยวให้ใช้เวลาอย่างเนิบช้าเพื่อเติมเต็มประสบการณ์อันมีค่า มีเวลาซึมซับความเงียบที่อ่อนโยนท่ามกลาง การเคลื่อนไหวอันเป็นปกติของวิถีชุมชน สุดท้ายแล้ว นอกจากคนในชุมชนจะมีอยู่มีกิน มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สิ่งที่ตามมาคือความรัก ความหวงแหนบ้านเกิดของตัวเอง” นายณัฐพล กล่าวทิ้งท้าย