เวทีออกพรรษาลาเหล้า ชูปี 62 ชวนคนงดเหล้า ประหยัดกว่า 8 พันล้าน

 

สสส.ผนึกเครือข่ายเปิดเวทีออกพรรษาลาเหล้า สรุปบทเรียน งดเหล้าเข้าพรรษา นวัตกรรมช่วยคนไทย ลด ละ เลิกดื่ม สู่ชีวิตใหม่ ภายใต้สังคมที่เป็นสุข ชูปี 62 ปูพรมรณรงค์ 892 ชุมชนทั่วไทย ชวนคนรวมงดเหล้าได้ 53.5 % ประหยัดเงินกว่า 8 พันล้านบาท ลดคนตายจากเหล้าลง 25%

 

          ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) iร่วมแถลงข่าวออกพรรษา ภายใต้แนวคิด “ออกพรรษาลาเหล้า ปี 2562” จัดโดย สสส. ร่วมกับ สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า(สคล.) ณ อาคารเรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กรุงเทพฯ

 

 

 

          ดร.สุปรีดา กล่าวว่า  สสส. ร่วมกับ สคล. ริเริ่มโครงการรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษามาแล้ว 16 ปี ซึ่งริเริ่มจากความเชื่อทางศาสนาและศีลธรรมมาต่อยอดการทำงาน ทั้งด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคม โดยอาศัยความร่วมมือของภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน พัฒนาในระดับนโยบาย รวมทั้งกลไกของรัฐทุกหน่วยงานให้ขับเคลื่อนไปด้วยกัน ซึ่งปัจจุบันเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างไม่น่าเชื่อ โดยช่วงเทศกาลเข้าพรรษากิจกรรมงดเหล้าได้กลายเป็นกิจกรรมหลักที่มีการรณรงค์จากหลากหลายหน่วยงานเพื่อเชิญชวนให้คนไทย ลด ละ เลิก การดื่มเหล้า ทำสมาธิเข้าวัดฟังธรรม โดยใช้แนวทางสำคัญคือการสร้างชุมชนคนสู้เหล้า เน้นรณรงค์เปลี่ยนแปลงค่านิยมไม่เลี้ยงเหล้า ในเทศกาลงานบุญประเพณี ใช้แนวทางในการชวน ช่วย เชียร์ให้งดเหล้าเข้าพรรษาและงดตลอดชีวิต อีกทั้งการป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ โดยบังคับใช้กฎหมายตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551

 

          ดร.สุปรีดา กล่าวต่อว่า จากการประเมินผลการรณรงค์ “งดเหล้าเข้าพรรษาปี 2562” โดยศูนย์วิจัยปัญหาสุรา ร่วมกับศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ (SAB) และสสส. พบว่า มีผู้ร่วมงดเหล้าเข้าพรรษา 53.5% แบ่งเป็น ผู้ที่งดเหล้าตลอดพรรษา 31% และผู้ที่งดบางช่วงและลดการดื่มลง 22.5% ซึ่งสัดส่วนใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา กลุ่มที่ลด ละ เลิกดื่ม ส่วนใหญ่ระบุว่าทำให้สุขภาพร่างกายดีขึ้น และสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้ เฉลี่ยรายละ 1,284 บาท ประมาณการจำนวนเงินโดยรวมที่ประเทศประหยัดได้เป็นจำนวน 8,251 ล้านบาท โดยกลุ่มที่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมี 5% ตั้งใจจะเลิกดื่มตลอดชีวิต สำหรับเข้าพรรษาปีหน้า ยังคงมีผู้ดื่มเกือบ 2 ใน 3 มีความตั้งใจจะลด ละ เลิกเช่นเดิม  นอกจากนี้ ยังพบว่าในเดือนที่มีการรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษา ช่วยลดผู้เสียชีวิตจากทุกสาเหตุลง 9% การเสียชีวิตจากแอลกอฮอล์ลดลง 25% และยังส่งผลให้การดื่มลดลง 10% อีกด้วย ทั้งนี้ ช่วงเข้าพรรษาสามเดือนนี้ มีข้อดีมากมาย จึงขอสนับสนุนให้ใช้เป็นโอกาสสำคัญในการเปลี่ยนแปลงตนเอง ดูแลครอบครัว และเศรษฐกิจในครอบครัว และอยากขอเชิญชวนให้ทำต่อไป ไม่ใช่เฉพาะช่วงเข้าพรรษา แต่อยากเชิญงดเหล้าตลอดชีวิต มาร่วมสร้างรอยยิ้มให้คนรอบข้าง และมาสร้างความสุขให้สังคม

 

          ด้าน นายธีระ วัชรปราณี ผู้จัดการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) กล่าวว่า แนวคิด “ออกพรรษลาเหล้า” เป็นการต่อยอดการรณรงค์ เพราะมีผู้ที่งดเหล้าเข้าพรรษา ตั้งใจอยากลาเหล้าต่อเนื่อง หรือเลิกดื่มตลอดชีวิต โดยการสำรวจของศูนย์วิจัยเพื่อพัฒนาสังคมและธุรกิจ ตั้งแต่ปี 2559-2561 พบว่า มีคนอยากเลิกดื่มไปเลย 13% อยากจะลดปริมาณลง 58% แสดงให้เห็นว่ากลุ่มตัวอย่างที่ลด ละ ในช่วงเข้าพรรษามีแนวโน้มที่จะลดละเลิกกว่า 71% จากการทำงานในช่วง 10  ปีแรก เน้นการรณรงค์สร้างการรับรู้ สร้างกระแส โดยมีการเชิญชวนขอความร่วมมือให้หน่วยงานองค์กรต่างๆ  เข้าร่วมกิจกรรมลงนามปฏิญาณตน โดยตั้งแต่ปี 2557เป็นต้นมา เป็นการชวนให้ชุมชนลุกขึ้นมาจัดการแก้ปัญหาประเด็นเหล้า โดยสร้างแกนนำในชุมชนเป็นพี่เลี้ยง ชี้ชวนให้ตระหนักในชีวิต ครอบครัว ส่งเสริมให้กำลังใจให้งดเหล้าแล้วจะเห็นการเปลี่ยนแปลง

 

          นายธีระ กล่าวต่อว่า สำหรับโครงการงดเหล้าเข้าพรรษาปี 2562 ดำเนินการในชุมชน 892 ชุมชนทั่วประเทศ มีผู้ที่ดื่มร่วมงดเหล้ารวม 34,432 คน มีนายอำเภอนักรณรงค์ร่วมขับเคลื่อนนโยบายงดเหล้า (บุหรี่) 130 อำเภอ และมีโรงงานอุตสาหกรรมเข้าร่วม 150 แห่ง ธนาคาร ธกส. ทุกสาขาทั่วประเทศ 1,280 แห่ง ทั้งนี้มีการจัดกิจกรรมรณรงค์และได้เชิญชวนพนักงานลดละเลิกเหล้า บุหรี่ในช่วงเข้าพรรษานี้ด้วย ปัจจุบันเครือข่ายฯ ได้วางแนวทางการทำงานในช่วงออกพรรษาอีก 9 เดือน คือ จัดตั้งชมรมคนหัวใจเพชรขึ้นตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา มีอยู่ 116 ชมรมทั่วประเทศ มีสมาชิกชมรมกว่า 7,500 คน ที่จะเป็นผู้อาสาชวนคนงดเหล้าต่อเนื่องตลอดทั้งปี

 

 

          นายสุริยา บุตรจินดา นายอำเภออุทุมพรพิสัย จ.ศรีสะเกษ นายอำเภอนักรณรงค์ กล่าวว่า หน้าที่สำคัญของนายอำเภอคือการบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่ประชาชน สาเหตุสำคัญที่สร้างความทุกข์ให้แก่ประชาชนคือเหล้า จึงมีแนวคิดว่าถ้าทำให้การเลี้ยงเหล้าในงานศพและงานบุญ-ประเพณีต่างๆ ลดลงได้  ปัญหาที่เกิดขึ้นก็จะลดตามไปด้วย จึงเริ่มทำงานงดเหล้าจริงจังเมื่อปี 2558 โดยเริ่มต้นที่ อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ  แม้จะย้ายพื้นที่ทำงานก็ยังคงทำเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง  โดยจุดแตกหักคือระดับหมู่บ้านที่ต้องมีกติกาและมาตรการของตนเอง  โดยจัดเวทีประชาคมงานศพปลอดเหล้า ปลอดการพนัน ขยายไปงานบุญประเพณีปลอดเหล้า และรณรงค์งดเหล้าครบพรรษา ซึ่งแม้หลายคนจะเริ่มจาก ลด ละ ได้ก่อนก็ถือเป็นเรื่องดี พอทำไปเรื่อยๆ นอกจากจะได้ช่วยเหลือเจ้าภาพให้ลดค่าใช้จ่ายแล้ว ปัญหาเรื่องความวุ่นวาย การทะเลาะวิวาท อุบัติเหตุจากการเมาแล้วขับก็ลดลงเป็นเงาตามตัวเช่นกัน

 

          คุณพ่อเวช มีตุวงศ์ อายุ 71 ปี แกนนำคนหัวใจเพชร ต.หายโศก อ.พุทไธสง จ.บุรีรัมย์ กล่าวว่า เกือบ 20 ปีที่หลงทางไปกับน้ำเมาจนแทบจะเอาชีวิตไม่รอด ในช่วงวัยหนุ่มเป็นคนที่ดื่มเหล้าจนถูกเรียกว่าไอ้หนุ่มขี้เมา พอตั้งใจจะบวชก็มีคนคอยให้คำสบประมาท เพราะเคยแอบถอนเงินในบัญชีภรรยานับแสนบาทไปเลี้ยงเหล้าเพื่อน นานเข้าไม่ใช่แค่ดื่มเหล้าแต่กลับมีสิ่งอื่นอีกมากมายจนครอบครัวแทบจะล่มสลาย  พอมีสติได้ไตร่ตรองชีวิตของตนเอง จึงตั้งใจเลิกเหล้าโดยปฏิญาณตนต่อพระเจ้าใหญ่วัดหงษ์พระคู่บ้านคู่เมืองพุทไธสง ใช้เวลาทำใจ 7 วัน กับการจะหักดิบในครั้งนั้น ซึ่งทรมานแต่ก็ต้องทน ได้กำลังใจจากครอบครัวจนทำให้หยุดเหล้าได้โดยเด็ดขาดจนถึงปัจจุบัน และเป็นแกนนำขับเคลื่อนชมรมคนหัวใจเพชรตำบลหายโศกเพื่อช่วยคนอื่นๆ ที่ติดเหล้าให้เลิกเหล้าและสร้างชีวิตใหม่ที่ดีกว่าเดิม

 

          ทั้งนี้ ภายในงานมีการนำเสนอรูปแบบการทำงานในท้องถิ่น จากอำเภอสู่ชุมชน โดยแกนนำนักรณรงค์คนหัวใจเพชร ซึ่งจิตอาสานำการเปลี่ยนแปลง สื่อสารการร่วมขับเคลื่อนงานรณรงค์ในชุมชน กับภารกิจชวนคนลงนามปฏิญาณตน วิธีการชวน ช่วย ชม เชียร์ เชิดชู ให้คนในชุมชนลุกขึ้นมาสู้เหล้าได้ รวมถึงระบบบำบัดและจัดสภาพแวดล้อมภายใต้แนวคิดชุมชนมีสุข สุขภาพดี วิถีคนเลิกเหล้า ส่งผลให้ชุมชนเป็นสุข