กสอ. หนุนเอสเอ็มอีเข้าถึงงานวิจัย ชู 50 นวัตกรรม ต่อยอดพัฒนาธุรกิจ

           กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เดินหน้าขับเคลื่อน SMEs เข้าถึงงานวิจัยและนวัตกรรม  เข้าร่วมโครงการ Research Connect  หรือ ตลาดต่อยอดงานวิจัยสู่อุตสาหกรรมที่จะนำไปสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ ชู 50 งานวิจัยและนวัตกรรมทที่สำเร็จแล้ว ถ่ายทอดสู่ ผู้ประกอบการ ใช้ประโยชน์ต่อยอดธุรกิจ   พัฒนาผลิตภัณฑ์ตอบโจทย์ตลาดยุคใหม่


           นายเดชา จาตุธนานันท์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.)  ได้วางแผนการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน ให้กับ  วิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (SME) ของไทย  ให้สอดรับกับทิศทางการเปลี่ยนแปลงของตลาดและผู้บริโภค โดยต้องเน้นความสำคัญของการนำงานวิจัยและพัฒนา เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ และยกระดับกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพ ภายใต้การทำโครงการ “Research Connect “ หรือ ตลาดต่อยอดงานวิจัยสู่อุตสาหกรรม”  ที่จะนำไปสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ ทั้งนี้ได้มีการนำกว่า 50 ผลงานที่ผ่านการวิจัยและพัฒนาใน 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มเกษตรและอาหารแปรรูป กลุ่มพลังงานและสิ่งแวดล้อม กลุ่มการแพทย์ – สุขภาพ และกลุ่มซอฟต์แวร์และดิจิทัลที่มีแนวโน้มการเติบโตและสร้างมูลค่าเพิ่มได้ในอนาคต  มาส่งเสริมให้เกิดการใช้ประโยชน์กับ กลุ่ม SME ที่มีความพร้อม สามารถนำงานวิจัยฯไปปรับใช้เพื่อยกระดับการผลิตและการบริหารจัดการธุรกิจ ให้มีต้นทุนที่สามารถแข่งขันได้เพิ่มขึ้น

 

 

        "การส่งเสริมให้ SME นำงานวิจัยและนวัตกรรมมาพัฒนาธุรกิจ มีเป้าหมายสำคัญในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการนำนวัตกรรมมาพัฒนาสินค้าและบริการที่เป็นสิ่งใหม่ที่แตกต่างจากสินค้าที่มีอยู่ในท้องตลาดที่ เพื่อสร้างจุดขายให้กับผู้บริโภคใช้นวัตกรรมเป็นเครื่องมือเพิ่มประสิทธิภาพและความสามารถในการผลิต รวมทั้งลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้ง ยังนำมาต่อยอดสร้างนวัตกรรมทางการตลาดใหม่ เพื่อผสมผสาน ระหว่างการใช้เทคโนโลยีและความคิดสร้างสรรค์เพื่อสร้างการเติบโตทางธุรกิจแบบก้าวกระโดด" นายเดชา กล่าว

 

 

        สำหรับตัวอย่างงานวิจัยและนวัตกรรมที่ประสบความสำเร็จ และตอบโจทย์ ทั้งผู้ประกอบการและตลาด อาทิ ผลิตภัณฑ์หลอดกินได้ ที่ผลิตจากข้าวและพืช ตอบโจทย์การรณรงค์ลดใช้พลาสติกและเป็นเทรนด์ธุรกิจที่อยู่ในความสนใจมากขึ้น ดินปลูกต้นไม้ที่ไม่ต้องรดน้ำ (Soil Moisted) ตอบโจทย์คนที่รักต้นไม้แต่ไม่ค่อยมีเวลา  หรือต้องเดินทางบ่อย ๆ โปรตีนจากข้าวเพื่อทดแทนเนื้อสัตว์ (Rice Protein) เข้ากับเทรนด์การบริโภคเพื่อสุขภาพ   เครื่องเติมอากาศประหยัดพลังงานแบบไฮบริดจ์และนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ต้นแบบจากสารสกัดกัญชา และแพลตฟอร์ม IoT อัจฉริยะเพื่อยกระดับกระบวนการผลิตอาหาร หรือ Food Factory Internet of Things Platform (FIoT)

 

 

        อย่างไรก็ตามพบว่า สัดส่วนของผู้ประกอบการไทยที่ให้ความสำคัญกับกาวิจัยและพัฒนานวัตกรรม ยังมีเพียงร้อยละ 1 หรือมีไม่ถึง 30,000 ราย จากจำนวนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีของไทยทั้งหมดที่มีอยู่กว่า  3 ล้านราย ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ประกอบการที่นำงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้สร้างธุรกิจใหม่และประสบความสำเร็จจะอยู่ในกิจการสตาร์ทอัพเท่านั้น

 

 

        สาเหตุที่ทำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอียังไม่สามารถเข้าถึงงานวิจัยและนวัตกรรม โดยหลัก ๆ มาจากขาดข้อมูลของการเผยแพร่องค์ความรู้ของงานวิจัย โดยเฉพาะผลงานเผยแพร่งานวิจัยใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น การศึกษาข้อมูลตัวอย่างของผู้ประกอบการต้นแบบที่ประสบความสำเร็จ ฯลฯ ปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการ เนื่องจากงานวิจัยหรือนวัตกรรมยังมีต้นทุนที่สูง ขณะเดียวกันยังไม่มีระบบการเชื่อมโยงกับของ สถาบันการเงิน สถาบันการศึกษา และภาคเอกชน ที่สำคัญ ความพร้อมของจำนวนแรงงานคุณภาพที่มีทักษะด้านการใช้เทคโนโลยี   และส่วนใหญ่งานวิจัย จะอยู่ในพื้นที่ส่วนกลาง หรือหัวเมืองใหญ่ ยังไม่กระจายตัวในระดับภูมิภาค