โรงเรียนในอเมริกาเลือกซีไรต์ “ช่างสำราญ” ฉบับแปลเป็นหนังสือเรียน


“เดือนวาด พิมวนา” เจ้าของรางวัลซีไรต์ ปี 2546 จากผลงานนวนิยาย “ช่างสำราญ” โพสต์เรื่องราว โรงเรียนมัธยมใน Massachusetts สหรัฐอเมริกา เลือก 'Bright' ซึ่งเป็นฉบับแปลภาษาอังกฤษของ “ช่างสำราญ” เป็นหนังสือเรียน


 

          “เดือนวาด พิมวนา” เจ้าของรางวัลซีไรต์ ปี 2546 จากผลงานนวนิยาย “ช่างสำราญ” โพสต์ภาพและข้อความผ่านเฟสบุ๊ก “Duanwad Pimwana” โดยมีรายละเอียดว่า

 

 

          โรงเรียนมัธยมใน Massachusetts สหรัฐอเมริกา เลือก 'Bright' เป็นหนังสือเรียน

          คุณมุ่ย เลิศหล้า ภู่พกสกุล ผู้แปลนิยาย 'ช่างสำราญ' ให้กลายเป็น 'Bright' ภาคภาษาอังกฤษ ได้ส่งข่าวที่น่ารักข่าวหนึ่งมาให้เมื่อหลายวันก่อน คือมีโรงเรียนมัธยมที่ Massachusetts สอน 'Bright' ด้วย เธอบอกว่าดีใจจริงๆ เพราะนั่นเป็นรัฐที่เธอเองก็โตมา และเรียนหนังสือที่นั่น ในสมัยที่เธอเรียนนั้นไม่มีทางคิดถึงเลยว่าโรงเรียนที่นั่นจะสอนหนังสือไทยได้

 

          น้องๆมัธยมที่เรียน 'Bright' เป็นเด็กนานาชาติค่ะ ในจำนวนนั้นมีเด็กไทยด้วย 1 คน คุณครูผู้สอนจึงเกิดไอเดียเขียนอีเมลไปขอหนังสือ 'ช่างสำราญ' ฉบับภาษาไทยจากสำนักพิมพ์ Two Lines ผู้จัดพิมพ์ 'Bright' คุณ CJ Evans บก.Two Lines ให้ความร่วมมือกับเรื่องราวนี้อย่างมีความสุข จัดส่งหนังสือ 'ช่างสำราญ' ที่เคยขอจากเราไว้ไปให้คุณครูทันที

 

          จากนั้นในคลาสเรียนชั้นมัธยมแห่ง Massachusetts ได้ร่วมกันอ่าน 'Bright' และ 'ช่างสำราญ' ควบคู่กัน โดยมีน้องพลอย เด็กไทยเพียงหนึ่งเดียวเป็นผู้สื่อสารแลกเปลี่ยนในภาคภาษาไทย

 

 

          ในเมืองไทยนั้น 'ช่างสำราญ' ที่ยังจัดพิมพ์อย่างต่อเนื่องมาจนถึงฉบับพิมพ์ครั้งที่ 20 ได้ ก็ด้วยเหตุผลเดียวกันนี้ คือเด็กๆใช้เป็นหนังสืออ่านนอกเวลา และน้องๆนิสิตนักศึกษาจำนวนมากเลือก 'ช่างสำราญ' เพื่อเรียนวรรณกรรมต่อเนื่องมาหลายปี ทุกครั้งที่รับทราบข่าวคราวเราได้แต่มีความสุขและรู้สึกขอบคุณการอ่านเหล่านี้เสมอมา ทว่าแม้จะได้ข่าวอยู่เนืองๆ เราก็ยังไม่เคยได้เห็นภาพของเด็กๆในเมืองไทยถือหนังสือ 'ช่างสำราญ' อยู่ในมือและอยู่ในชั้นเรียนเลยสักครั้ง

 

 

          เมื่อคุณครูแห่ง Massachusetts ได้ส่งภาพเด็กๆมัธยมในคลาสเรียนถือหนังสือ 'Bright' และ 'ช่างสำราญ' มาให้ดู ได้เห็นภาพแล้วรู้สึกตื้นตันจนอยากจะร้องไห้ (ปลื้มปริ่มอยู่หลายวันค่ะ แอบคาดหวังอยากจะเห็นภาพแบบนี้ของห้องเรียนในเมืองไทยบ้าง)

 

CR : Facebook Duanwad Pimwana