Play Day “วันเล่นสนุก” ให้เด็กเล่นอิสระ เสริมความสุข พัฒนาทุกด้าน

 

เครือข่ายการเล่นผนึกกำลัง ขยายแนวคิดการเล่นอิสระ  แนะพ่อแม่ควรให้โอกาสลูกได้เล่นสร้างพื้นฐานชีวิต เสริมความสุข เปิดทางให้เด็กได้พัฒนาตนเองทุกด้าน

 

 

          มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก (มพด.) ร่วมกับเครือข่ายการเล่นทั้งภาครัฐและเอกชน ได้แก่  กรมอนามัย กระทรวงสาธารณะสุข สาธารณสุขศูนย์ 5 สำนักงานเขตปทุมวัน คณะครุศาสตร์ สาขาวิชาศิลปศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน(สสย.) กลุ่มไม้ขีดไฟ มูลนิธิเพื่อนเยาวชนเพื่อการพัฒนา(มยพ.)  เครือข่ายครูมหัศจรรย์   We Are Happy  มูลนิธิเมล็ดฝัน และเครือข่ายรองเมืองเรืองยิ้ม และMBK  Center จัดงาน Play Day วันเล่นสนุก  เล่นเปลี่ยนโลก ณ ลานอเวนิว โซน A MBK Center  เขตปทุมวัน  กรุงเทพมหานคร  โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อขยายแนวคิดการเล่นอิสระและขับเคลื่อนการส่งเสริมสิทธิการเล่นในประเทศไทย  เปิดโอกาสให้เด็กได้เล่นอิสระมากขึ้น ซึ่งกิจกรรมในงานจัดเป็นมุมเล่นต่างๆที่ใช้ธรรมชาติ  วัสดุสิ่งของที่หลากหลาย  ของรีไซเคิล  เครื่องเล่น จำนวน 6 โซน  ประกอบด้วย โซนประดิษฐ์  คิดค้น  MBK SPIRIT ชวนสนุกกับของเล่นรีไซเคิล โซนเสริมสร้างความมั่นใจ วัยซน  โซน Loose part  โซนเล่น ATR SPACE  โซน Floor Play  และโซนมุมทราย

 

 

 

          นางสาวประสพสุข โบราณมูล  ผู้จัดการฝ่ายคุ้มครองและพัฒนาเด็ก มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก (มพด.) กล่าวถึงความหมายของการเล่นอิสระว่าเป็นการเล่นที่เด็กได้ออกแบบเอง ได้คิดค้นวิธีเล่นกับสิ่งของต่างๆที่อยู่รอบตัว  และการเล่นเป็นพื้นฐานชีวิตของเด็ก  เด็กจะมีความสุขเมื่อได้เล่น จึงเป็นการเปิดทางให้เด็กได้พัฒนาตนเองในทุกๆ ด้าน  ผู้ปกครองจึงควรเปิดโอกาสให้เด็กๆได้เล่นอย่างอิสระ

 

 

          ด้านนางสาวเข็มพร วิรุณราพันธ์ ผู้จัดการสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน(สสย.)  กล่าวว่า การเล่นเป็นสิ่งสำคัญไม่เฉพาะกับเด็กที่รวมถึงผู้ใหญ่ด้วยและการเล่นสามารถเปลี่ยนโลกได้ เพราะการเล่นสอนให้เด็กรู้จักการอยู่ร่วมกัน รู้จักจัดการเมื่อเกิดความขัดแย้ง หลายประเทศจึงเรียกร้องให้เด็กมรโอกาสได้เล่นอย่างอิสระ มากกว่าการเรียนการแข่งขันกัน

 

          “เครือข่ายที่ทำการเล่นไม่ได้มีเฉพาะในประเทศไทย แต่มีในประเทศอื่นด้วย  เวลาไปสัมมนาเรื่องการเล่นระดับ จะเป็นการรวบรวมคนหลายอาชีพ อย่างนักวางแผน นักเศรษฐศาสตร์ นักคิด นักปกครอง  โดยคนเหล่านี้ได้กล่าวไว้ว่า ถ้าเด็กได้เล่น เด็กจะรู้จักการอยู่ร่วมกัน หากเกิดความขัดแย้งต้องทำอย่างไร รู้จักการแก้ไขปัญหา  การเล่นจะทำให้เด็กได้รู้จักตัวตนที่แท้จริง  ฉะนั้นนักคิดหลายประเทศจึงยืนยันว่า ถ้าเด็กได้เล่นมากขึ้น โลกจะมีสันติภาพ” ผู้จัดการสถาบันสื่อเด็กและเยาวชนกล่าว

 

 

          นางทิชา  ณ นคร  กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิฯ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) กล่าวถึงการสนับสนุนการขับเคลื่อนในครั้งนี้ว่า “ สสส.ในฐานะที่เป็นองค์กรสุขภาวะ ในสำนักที่ 4 เราทำเกี่ยวกับเรื่อง เด็ก เยาวชน และครอบครัว จึงเห็นความสำคัญของเรื่องนี้ ยิ่งในยุคที่สื่อดิจิทัลล้ำหน้าในขณะที่การเล่นของเด็กกำลังจะหายไป  ถ้าไม่มีใครสักกลุ่มทำหน้าที่เป็นกำแพงเหล็ก  การเล่นอย่างอิสระเล่นอย่างธรรมชาติจะถูกลดคุณค่า ความสำคัญและจะหายไป ทั้งที่การเล่นเป็นคุณของมนุษยชาติ เราไม่อาจเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคนภาพได้ โดยที่เราไม่มีโอกาสได้เล่นอย่างอิสระ”

 

          กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิฯ สสส. เสริมว่า พ่อแม่เป็นพลังสำคัญที่จะชวนลูกเล่น พ่อแม่หลายคนก็มีข้อจำกัด ดั้งนั้นต้องมีคนกลุ่มหนึ่งทำหน้าที่เป็นลมใต้ปีกให้กลุ่มพ่อแม่ และองค์กรเหล่านั้นต้องมีลมใต้ปีกให้ด้วยเช่นกัน ทุกห่วงโซ่หากทำหน้าที่ร่วมกันเช่นนี้ไปเรื่อยๆ โอกาสที่จะปกป้องเด็กๆ ให้มีทุนชีวิตเรื่องการเล่นจะดำเนินต่อไปไม่ว่าสื่อดิจิทัลจะก้าวล้ำไปขนาดไหน การที่มีเครือข่ายลุกขึ้นมาทำเรื่องนี้โดยมีสสส.เป็นผู้สนับสนุน เป็นการทำภาระกิจกที่สมบูรณ์ที่สุดในยุคที่สื่อดิจิทัลเข้ามาคุกคามชีวิตเด็กๆ

 

 

          ปัจจุบันเรื่องการเล่นในประเทศไทยมีปัจจัยที่ส่งผลกระทบหลายอย่าง เช่น 1.ขาดความตระหนักถึงความสำคัญของการเล่นเพื่อสร้างสุขภาวะเด็ก ของครอบครัว และคนในสังคม 2. ขาดการออกแบบพื้นที่เล่นหรือการพัฒนาสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาเด็ก  3.ขาดการจัดการดูแล เรื่องการเล่นและกิจกรรมที่เหมาะสมสำหรับเด็กอย่างมีส่วนร่วม 4.ขาดพลังการขับเคลื่อนนโยบายส่งเสริมสิทธิการเล่นของเด็ก  5.ขาดกลไกผู้ดูแลการเล่น ที่จะเป็นพลัง และเป็นเครือข่ายในการขับเคลื่อนนโยบาย