'ธรณ์' ชี้ โลกต้องเปลี่ยน ! สาระคือทำหรือไม่ทำ !

'ธรณ์' ชี้ โลกต้องเปลี่ยน ! สาระคือทำหรือไม่ทำ !

 

“ปรากฏการณ์เด็กกับโลกร้อน” ! จาก "Greta Thunberg" ถึง "โลก" ย้ำ โลกต้องเปลี่ยน !  ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ระบุ ความเปลี่ยนแปลงต้องใช้เวลา ถูกหรือผิดไม่ใช่สาระ สาระคือทำหรือไม่ทำ !

 

ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์รองคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษและประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว “Thon Thamrongnawasawat” ระบุว่า

 

“สิบกว่าวันที่ผ่านมา ผมยุ่งมากจนไม่มีเวลาเขียนเรื่องยาว ถึงวันนี้พอว่างบ้างจึงจะเล่าเรื่อง #ปรากฏการณ์เด็กกับโลกร้อน ให้ เพื่อนธรณ์ ฟัง

 

ขอเริ่มด้วย น้องเกรตา เธอเป็นเด็กวัยรุ่นชาวสวีเดน เธอเริ่มด้วยการหยุดเรียน Climate Strike เพื่อประท้วงเรื่องโลกร้อนตั้งแต่เดือนสิงหาปีก่อน และยกระดับขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงวันนี้

 

เหตุผลที่ เกรตา ไม่ไปเรียน เพราะเธอค้นคว้าข้อมูลจนพบความน่ากลัวว่า หากเรายังลั้ลลากับข้อตกลงปารีสต่อไป คนรุ่นเธอย่ำแย่แน่นอน เธอจึงเรียกร้องให้ผู้นำโลกตั้งเป้าให้ดุเดือดขึ้น

 

คำถามคือเธอพบอะไร ? คงต้องอธิบายว่า ครั้งหนึ่งโลกเคยร้อนกว่านี้ น้ำทะเลเคยสูงกว่านี้ แต่นั่นเป็นอดีตกาลนานมาแล้ว

 

มนุษย์ไม่ได้เก่งหนักหนา เราไม่สามารถทำนายทายทักอะไรได้หากเราไม่มีข้อมูลเพียงพอ

 

สมัยที่โลกร้อนกว่านี้ เรายังไม่ใช่แม้แต่เป็นลิง ข้อมูลที่มีน้อยเป็นอย่างยิ่งจนไม่สามารถวิเคราะห์อะไรได้

 

เราเพิ่งมาเก็บข้อมูลเป็นเรื่องราวเมื่อเข้าสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ซึ่งข้อมูลระดับสองร้อยปีแทบไม่มีความหมายเมื่อคิดถึงอายุของโลก 4,600 ล้านปี

 

ว่าง่าย ๆ คือเหมือนเราเจอสาวคนหนึ่ง 5 นาที แล้วพยายามหาคำตอบว่า ชีวิตหลังแต่งงานของเธอกับฉันจะเป็นอย่างไร ?

 

ฝันเฟื่องทำได้ แต่จะให้ทำนาย  AI รุ่นไหนก็บอกว่า วะฮ่า ๆ ๆ  ข้อมูลไม่พอจ้ะ

 

การคาดการณ์ของนักวิทยาศาสตร์จึงไม่สามารถฟันธงได้ แต่ในมุมมองของ เกรตา เมื่อเวลาผ่านไป โลกยิ่งเกรี้ยวกราดขึ้น การวิเคราะห์ครั้งก่อน ๆ ล้วนเบาเกินไป โลกร้อนมาแรงและเร็วมากกว่าที่คิด

 

จึงไม่น่าแปลกใจที่ เกรตา ออกมาเรียกร้องหนักขึ้น เพื่อให้ผู้นำโลกหันมาสะดุ้งบ้าง และเอาจริงกับการลดก๊าซเรือนกระจกมากกว่านี้... มาก ๆ

 

หากดูในมุมของผู้นำโลกทั้งด้านการเมืองและเศรษฐกิจ พวกเขาอาจเห็นสถานการณ์ต่างจาก เกรตา หรือแม้แต่เห็นพ้อง แต่เขาก็อยู่ในสถานะที่ต่างกัน

 

เกรตา เป็นเด็ก ไม่มีอะไรเสีย ทำเรื่องนี้แล้วดังดีด้วยนะ

 

พวกเขาเป็นผู้ใหญ่/ผู้นำ ทำแล้วเข้าเนื้อตัวเอง ต้องเพิ่มต้นทุนเพื่อลดก๊าซเรือนกระจก ทำไปทำมาธุรกิจอาจเจ๊งได้ โดยเฉพาะในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ การลดต้นทุนสำคัญสุด ๆ เพราะจะผลักภาระไปให้ลูกค้า ก็อาจโดนด่าอีกนั่นแล

 

อาจมีบางบริษัทที่ประกาศออกมาว่าทำได้ แต่ตั้งเป้าไว้ไกลหน่อย 10-20 ปีโน่นเลย หรืออาจเป็นบริษัทยักษ์ที่สามารถผลักต้นทุนไปให้คู่สัญญา หรือทำกิจการที่ไม่ได้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากนัก หรือทำมาหากินกับคนจำนวนมาก ต้องการสร้างแบรนด์สูง

 

เกรตา จึงต้องการพวกพ้อง โดยใช้การประท้วงโดยสงบเป็นเครื่องมือ เริ่มจากเด็กรุ่นราวคราวเดียวกัน ก่อนขยายวงไปสู่กลุ่มคนที่เป็นห่วงเรื่องโลกร้อนเป็นพิเศษ แต่ไม่มีจังหวะหรือโอกาสที่จะแสดงออก

 

การที่มีคนออกมาเยอะ จะสะท้อนกับไปที่ผู้นำประเทศ/ธุรกิจในประเทศ อาจจะสะดุ้งเพราะนักการเมืองต้องการฐานเสียง นักธุรกิจต้องการลูกค้า

 

อย่างไรก็ตาม บางประเทศจะสะดุ้งนักก็ไม่ได้ เช่น ออสเตรเลีย แม้มีผู้ออกมาประท้วงจำนวนหลายแสน ทว่า...ออสเตรเลียส่งออกถ่านหินติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลก ถือเป็นหนึ่งในรายได้หลักของประเทศเลยครับ

 

หากโชว์ออฟเรื่องโลกร้อนมากเกินไป คนอื่นก็จะหัวเราะหึ ๆ บอกว่า ต่อให้ประเทศยูใช้พลังงานหมุนเวียน แต่ยูก็ส่งออกถ่านหินไปทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกมหาศาล รักษ์โลกนักก็เลิกส่งออกดิ

 

เจอมุกนี้เข้าไป มีหวังหนาว ยิ่งเศรษฐกิจกำลังลำบาก ค่าเงินตกกราวรูด (จาก 24 บาทเมื่อใกล้สิ้นปีที่แล้ว ตอนนี้เหลือแค่ 20.75 บาท) ทำอะไรผลีผลามมีหวังเดี้ยง

 

เสียงเรียกร้องของ เกรตา จึงได้รับคำตอบเป็นรอยยิ้มจากผู้นำหลายประเทศ หรืออาจพูดคุยด้วยนิดหน่อยให้กำลังใจ แต่จะให้เกิดเป็นมรรคผลอาจยาก

 

แม้แต่อังกฤษที่ดูเหมือนจะออกแอคชั่นมากเป็นพิเศษ เช่น ประกาศภาวะฉุกเฉิน แต่ก็เป็นผลทางการเมือง ไม่ได้ก่อให้เกิดผลลัพธ์เรื่องก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจัง

 

เพราะแค่ Brexit with no deal ก็ปวดกบาลกันมากแล้ว เศรษฐกิจอังกฤษมีปัญหา จะให้ไปช่วยเรื่องโลกร้อนแบบลุยโลด คงลำบากหน่อย

 

หันมาดูประเทศไทย เราทำตามข้อตกลงปารีส และคงทำได้แน่นอนกับการลดก๊าซเรือนกระจก 20% จากภาวะปรกติ ไม่ใช่เพราะเราเก่งครับ แต่เป็นเพราะภาวะปรกติหมายถึงการคาดการณ์ GDP ว่าจะเติบโตสูง

 

แต่ผลที่ผ่านมา เห็นเลยว่า GDP ของเราไปไม่ถึงภาวะปรกติ และมองไปข้างหน้า ก็ยังคงต่ำต้อยตามสถานการณ์เศรษฐกิจโลกไปอีกหลายปี

 

สภาพเศรษฐกิจจะเป็นปัจจัยให้ยังไงซะเราก็สามารถทำได้ตามสัญญา

 

ผมประชุมพูดคุยเรื่องนี้มาหลายกรรมการหลายที่ ไม่เคยมีใครบอกว่าเป็นห่วงว่าจะทำไม่ได้ตามข้อตกลง เพราะเราก็เห็นกันอยู่ว่าได้แน่

 

เล่ามาทั้งหมด อาจคิดว่า ผมไม่เห็นด้วยกับ เกรตา หรือเด็ก ๆ

 

บอกได้เลยว่าไม่ใช่ ผมเห็นด้วยกับพวกเธอสุด ๆ

 

เห็นด้วยว่า เราประเมินสถานการณ์ต่ำไป เห็นด้วยว่า โลกจะเกรี้ยวกราดกว่าที่คิด เห็นด้วยว่า ภัยพิบัติที่คาดการณ์ไม่ได้จะมาอีกมหาศาล สร้างความเสียหายต่อชีวิตทรัพย์สินอีกมาก ๆ

 

ผมยังเห็นด้วยว่า ในฐานะที่เป็นเด็ก การกระทำของเธอกล้าหาญ ฉลาด และสมกับสถานะของเธอ

 

แต่ถ้าอยากให้ถึงจุดหมายปลายทาง มันต้องใช้เวลา ความเปลี่ยนแปลงไม่ได้เกิดขึ้นง่ายขนาดนั้น

 

คนฟังเธอพูด คนเห็นด้วยกับที่เธอพูด คนทวิตคนแชร์ แต่คนไม่ยอมจ่ายตังค์เพิ่มขึ้นเพื่อผลิตภัณฑ์ที่ทำให้โลกร้อนน้อยลง คนไม่ยอมลดความสะดวกสบายเพื่อใช้พลังงานให้น้อยลง

 

ผู้ใหญ่อย่างพวกเราเสพติดการใช้ชีวิตที่สะดวกสบายแบบถลุงโลก เราไม่อาจเปลี่ยนได้ในฉับพลัน หรือคนที่เปลี่ยนได้ก็ยังไม่มีมากพอสร้างความเปลี่ยนแปลงที่เห็นผลลัพธ์

 

ทว่า...ความเปลี่ยนแปลงเริ่มจากจุดเล็ก ๆ และคนเพียงไม่กี่คน นี่ไม่ใช่คำพูดสวยหรู แต่เป็นเรื่องที่ผมมั่นใจ

 

ปัญหามีเพียงอย่างเดียว คือความเปลี่ยนแปลงต้องใช้เวลา

 

ผมไม่คิดว่า เกรตา หรือเด็กคนอื่น ๆ จะสร้างผลลัพธ์ให้ผู้นำโลกเปลี่ยนได้อย่างที่เธอต้องการ ไม่ใช่ภายในปีสองปีนี้

 

แต่ถ้าเธอทำต่อไปและต่อไป ปรับวิธีการ/เรียนรู้ มันจะต้องเกิดขึ้นในสักวัน

 

เช่นเดียวกับ น้องลิลลี่ ในเมืองไทย ผู้ลุกขึ้นมาเพื่อสู้ในเรื่อง “ขยะพลาสติก” และ “โลกร้อน”

 

ผมเห็นด้วยว่า เธอทำในสิ่งที่ควรทำ นั่นคือทำตามสิ่งที่เธอคิด ทำตามสิ่งที่คนรุ่นเธอคิด

 

ผมบอกไม่ได้หรอกว่าสิ่งที่พวกเธอทำ ถูกหรือผิด เพราะผมไม่ใช่คนรุ่นเธอ ผมเป็นคนรุ่นลุงเธอ

 

ลุงธรณ์ อยากจะบอกว่า เธอทั้งคู่และเด็ก ๆ อีกมาก ทำตามสิ่งที่คิดว่าควรทำไปเถิด

 

ถูกหรือผิดไม่ใช่สาระ สาระคือทำหรือไม่ทำ”

 

 

 

//........................

CR : Facebook Thon Thamrongnawasawat

//........................