งานใหญ่แห่งปี ‘เนียลสัน เฮส์’ เชิญนักเขียนมือรางวัลนานาชาติร่วมฉลอง 150 ปี

“สมาคมหอสมุดเนียลสัน เฮส์” ฉลองครบรอบ 150 เตรียมจัดเทศกาลวรรณกรรม เนียลสัน เฮส์ “Neilson Hays Bangkok Literature Festival” ครั้งแรกในไทย เชิญนักเขียนมือรางวัลจากนานาชาติเข้าร่วม หวังส่งเสริมการอ่านหนังสือ พร้อมผลักดันวรรณกรรมไทยสู่สากล

 

          นางสาวนลิน วนาสิน ประธานคณะกรรมการบริหาร “สมาคมหอสมุดเนียลสัน เฮส์” เปิดเผยว่า “สมาคมหอสมุดฯ” ฉลองครบรอบ 150 ปีในปีนี้ จึงร่วมกับ “สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย” (OCAC) มีแนวคิดจัด เทศกาลวรรณกรรม เนียลสัน เฮส์ นับว่าเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ที่จัดโดยสมาคมหอสมุดเนียลสัน เฮส์ ใน วันเสาร์ ที่ 16 และวันอาทิตย์ ที่ 17 พฤศจิกายน 2562 โดยนอกจากจะมีการปาฐกถา และการเสวนาโดยนักเขียนแล้ว ยังจะมีกิจกรรมบันเทิงอื่น ๆ เช่น ตลาด และเวิร์คชอปศิลปะและงานฝีมือ และ การฉายภาพยนตร์ อีกด้วย

 

 

          “เรารู้สึกเป็นเกียรติกับการจัดงาน เทศกาลวรรณกรรม เนียลสัน เฮส์ ซึ่งเป็นงานครั้งแรกของสมาคมหอสมุดเนียลสัน เฮส์ ซึ่งจะมีนักเขียนที่มีชื่อเสียงและได้รับรางวัลกว่า 25 คน ทั้งจากประเทศไทยและต่างประเทศ ซึ่งการจัดงานฯ ทั้ง 2 วัน จะจัดขึ้นที่หอสมุดเนียลสัน เฮส์ และสมาคมสโมสรอังกฤษกรุงเทพ (British Club) ขณะที่กิจกรรมพิเศษในช่วงเย็นจะจัดขึ้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และวังจักรพงษ์” นางสาวนลิน กล่าว

 

          ภายในงานได้รับเกียรติจากนักเขียนชื่อดังทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติมากกว่า 25 คน ที่ได้รับรางวัลต่างๆ ระดับประเทศและภูมิภาค อาทิ National Book Award (USA), Pulitzer Prize (USA), Windham-Campbell Prize (USA), S.E.A. Write Award, Francisco Balagtas Prize by the Committee of Philippine literature, William E. Colby Award (USA), Miles Franklin Award (Australia) และ Sahitya Akademi Yuva Puraskar จะมาร่วมพูดคุย, ปาฐกถาเสวนา, อ่านบทกวี และสัมภาษณ์ในแง่มุมต่างๆ ด้านวรรณกรรม

 

 

          ส่วนรายชื่อนักเขียนที่ตอบรับเข้าร่วมงาน อาทิ วีรพร นิติประภา, อุทิศ เหมะมูล, ซะการีย์ยา อมตยา, เดือนวาด พิมวนา, พิชญา สุดบรรทัด, Melissa Lucashenko (ออสเตรเลีย), Clare Wright (ออสเตรเลีย), Qiu Xiaolong (จีน-อเมริกา), มุ่ย ภู่พกสกุล (ไทย-เยอรมนี), Raghu Karnad (อินเดีย), P. Sivakami (อินเดีย), Ma Thida (เมียนมา), Kanako Nishi (ญี่ปุ่น), Adam Johnson (อเมริกา), Mike Curato (อเมริกา), Pankaj Mishra (อังกฤษ-อินเดีย), Haresh Sharma  สิงคโปร์), Dr. Michael M Coroza (ฟิลิปปินส์), Patrick Winn (อเมริกัน / นักข่าวและนักเขียนที่พักอาศัยอยู่ในประเทศไทย), Nisid Hajari (อินเดีย / นักข่าวและนักเขียนที่พักอาศัยอยู่ในประเทศไทย), Darrel J. McLeod (แคนาดา), อนุสรณ์ ติปยานนท์, เรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์ และสฤณี อาชวานันทกุล

 

 

          ในส่วนของผู้สนับสนุนการจัดงาน นอกจาก สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยแล้ว เทศกาลวรรณกรรมเนียลสัน เฮส์ ยังได้รับการสนับสนุนจากพันธมิตรต่างๆ ได้แก่ สถานเอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย, สถานเอกอัครราชฑูตแคนาดาประจำประเทศไทย, ห้องสมุดมูลนิธิญี่ปุ่นแห่งประเทศไทย, ศูนย์อินเดียศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, โรงเรียนนานาชาติกรุงเทพ, Southeast Asian Writers Award (S.E.A Write Awards), สมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์, Bangkok Edge, สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย, กลุ่มบริษัท พรีเมียร์, ธนาคารกสิกรไทย, สมาคมสโมสรอังกฤษ, สายการบินแอร์เอเชีย, เดอะไวน์ การาจ, นิตยสาร a day, โรงแรมเพนนินซูล่า กรุงเทพ,โรงแรมรอยัล ออคิด เซอราตัน กรุงเทพฯ

 

 

          ทั้งนี้ หอสมุดเนียลสัน เฮส์ (Neilson Hays Library) เป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไร โดยค่าใช้จ่ายต่างๆ มาจากระบบรับสมาชิก การระดมทุน การรับบริจาค และการจัดกิจกรรมต่างๆ โดยจดทะเบียนเป็นสมาคมห้องสมุดเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2412 ภายใต้ชื่อ “ห้องสมุดสตรี กรุงเทพ” ที่จัดตั้งโดยสมาชิกสมาคมสตรีชาวอังกฤษและอเมริกัน หลังจากนั้นได้เปลี่ยนชื่อจากห้องสมุดสตรี กรุงเทพ มาเป็น หอสมุดเนียลสัน เฮส์ ซึ่งเกิดจากตำนานความความรักของ “นายแพทย์โทมัส เฮย์วอร์ด เฮส์” หรือ “หมอเฮส์” และ “เจนนี่ เนียลสัน” มิชชันนารีในสมัยนั้น ซึ่งเป็นผู้อุทิศตนให้กับห้องสมุดมานานกว่า 25 ปี และหลังจากที่ภรรยาสุดที่รัก “เจนนี่ เนียลสัน” เสียชีวิตด้วยโรคอหิวาตกโรคในช่วงเดือนเมษายน 2463 และด้วยความรักที่มีต่อภรรยาอย่างมาก “หมอเฮส์” จึงได้สานต่อเจตนารมณ์ด้วยการก่อสร้างอาคาร หอสมุดเนียลสัน เฮส์ ซึ่งแล้วเสร็จและเปิดดำเนินการในเดือนมิถุนายน 2465 ซึ่งปัจจุบันเปิดดำเนินการมากว่า 150 ปี

 

 

          หอสมุดเนียลสัน เฮส์ เป็นอาคารชั้นเดียว ออกแบบภายใต้สถาปัตยกรรมนีโอคลาสสิก โดยผังอาคารเป็นรูปพยัญชนะภาษาอังกฤษ ตัว H  โดดเด่นที่หลังคาทรงโดม ที่หัวเสาทุกต้นสลักลวดลายสวยงาม ใต้อาคารเป็นบ่อน้ำเพื่อให้ความเย็นภายในอาคาร โดยมี มร.มาริโอ ตามัญโญ (Mr.Mario Tamagno) ชาวอิตาเลียน เป็นสถาปนิกผู้ออกแบบ ที่มีผลงานการออกแบบที่มีชื่อเสียง ได้แก่ พระที่นั่งอนันตสมาคม, พระที่นั่งอัมพรสถาน, พระที่นั่งอภิเษกดุสิตในพระราชวังดุสิต, พระที่นั่งราชฤทธิ์รุ่งโรจน์, พระราชวังพญาไท, วังบางขุนพรหม, ตำหนักปารุสกวัน, ตำหนักจิตรลดา, สะพานมัฆวานรังสรรค์ และสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา (2561-2562) หอสมุดเนียลสัน เฮส์ ได้ทำการบูรณะครั้งใหญ่ หลังจากที่ได้รับการบูรณะครั้งล่าสุดเมื่อช่วงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือในปี 2488 เนื่องจากการสะสมของน้ำในดิน ทำให้เกิดความชื้นในปริมาณมาก ส่งผลให้พื้นไม้สักเกิดการทรุดตัว รวมถึงการผุพังของผนังอาคาร ซึ่งได้ใช้งบประมาณในการบูรณะในครั้งนี้ กว่า 12 ล้านบาท โดยมี คุณนลิน วนาสิน ประธานคณะกรรมการบริหาร สมาคมหอสมุดเนียลสัน เฮส์ เป็นหัวเรือใหญ่ในการระดมทุนจากองค์กร หน่วยงาน บริษัทเอกชน และบุคคลทั่วไป ปัจจุบันอาคาร หอสมุดเนียลสัน เฮส์ ได้รับรางวัลอนุรักษ์ดีเด่น ปี 2525 ของสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์  

 

          ผู้ที่สนใจสามารถเข้าชมบริเวณโดยรอบหอสมุดฯ ได้โดยไม่เสียค่าใช่จ่าย หากต้องการเข้าชมและใช้บริการภายในหอสมุดฯ จะต้องเสียค่าบำรุง 100 บาทต่อท่าน (กรณีที่ไม่ใช่สมาชิก) เปิดให้บริการทุกวันอังคาร-วันอาทิตย์ เวลา 09.30-17.00 น. (หยุดทุกวันจันทร์และวันหยุดนักขัตฤกษ์) สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ โทร. 02-233-1731 หรืออีเมล: info@neilsonhayslibrary.org