สรุปชัด ! ทำไมต้องแบน ‘พาราควอต-ไกลโฟเซต-คลอร์ไพริฟอส’

สรุปชัด ! ทำไมต้องแบน พาราควอต-ไกลโฟเซต-คลอร์ไพริฟอส

 

"เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช" (Thai-PAN) ระบุชัด ต้องแบน พาราควอต-ไกลโฟเซต-คลอร์ไพริฟอส ชี้ ผลกระทบต่อสุขภาพ ของ เกษตรกร , ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม เผย มติ "องค์การความปลอดภัยอาหารแห่งยุโรป" แบน "คลอร์ไพริฟอส" โดยสิ้นเชิง

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เพจ “เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช” (Thai-PAN) ได้โพสต์ข้อความอัพเดทข้อมูลล่าสุด ระบุชัดถึงเหตุผลที่ต้องแบน “พาราควอต” ,  “ไกลโฟเซต” และ “คลอร์ไพริฟอส” ด้วย Fact sheets 3 หน้าสั้น ๆ (1 สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ต่อ 1 แผ่น) พร้อมกับเรียกร้องให้ช่วยกันแชร์และเผยแพร่ไปอย่างกว้างขวาง

 

สำหรับ Fact sheets ทั้ง 3 หน้าดังกล่าว ได้ชี้ชัดถึงผลกระทบจากการใช้ “พาราควอต” ,  “ไกลโฟเซต” และ “คลอร์ไพริฟอส” ต่อสุขภาพของเกษตรกรผู้ใช้สารเคมี , ผู้บริโภค และผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อมโดยรวม ดังนี้

 

 

 

 

 

          ก่อนหน้านี้ “เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช” (Thai-PAN) ได้โพสต์ข้อความระบุว่า ในขณะที่ “คณะกรรมการวัตถุอันตราย” ลงมติด้วยเสียง 16 : 5 ไม่แบน “คลอร์ไพริฟอส” โดยอ้างว่า ไม่มีหลักฐานเพียงพอเรื่องความไม่ปลอดภัย ล่าสุด (31 สิงหาคม 2562) EFSA “องค์การความปลอดภัยอาหารแห่งยุโรป” (European Food Safety Authority) ได้ออกคำแถลงยืนยันว่า “คลอร์ไพริฟอส” สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ซึ่งนิยมใช้ในผักและผลไม้ ส่งผลกระทบต่อพัฒนาการต่อระบบประสาท และสมองของเด็ก แม้จะมีปริมาณน้อยที่สุดก็ตาม โดยมีหลักฐานยืนยันทั้งในสัตว์ทดลองและข้อมูลระบาดวิทยา อีกทั้งมีผลต่อระบบสืบพันธุ์ (ชั้น 1B)

 

ทั้งนี้ โดยสรุปว่า “ไม่สามารถกำหนดระดับการได้รับสาร คลอร์ไพริฟอส ที่ปลอดภัยได้ และไม่เข้าหลักเกณฑ์สำหรับการต่ออายุการใช้ได้อีก”

 

 

คำประกาศของ EFSA ทำให้การใช้ “คลอร์ไพริฟอส” ซึ่งทะเบียนจะหมดอายุในวันที่ 31 มกราคม 2563 จะถูกแบนโดยสิ้นเชิง โดยก่อนหน้านี้ ประเทศในยุโรปจำนวนมาก เช่น เดนมาร์ก ฟินแลนด์ เยอรมนี ไอร์แลนด์ ลัตเวีย ลิธัวเนีย สโลวีเนีย สวีเดน นอรเวย์ ไอซ์แลนด์ สวิสเซอร์แลนด์ ได้แบนสารพิษนี้ไปก่อนแล้ว (ส่วนประเทศอื่น ๆ ในยุโรปก็เข้มงวดในการใช้มาก เช่น อังกฤษอนุญาตแค่พืชเพียงชนิดเดียวเท่านั้น เป็นต้น)

 

นอกเหนือจากยุโรป ประเทศต่าง ๆ ได้ทยอยแบน “คลอร์ไพริฟอส” แล้ว เช่น จีน เยเมน แอฟริกาใต้ มอลต้า และเวียดนาม

 

ส่วนในประเทศไทย “คณะกรรมการวัตถุอันตราย” กลับสวนทางข้อเสนอ ของ ก.สาธารณสุข และหน่วยงานด้านสุขภาพของประเทศ อนุญาตให้มีการใช้สารพิษร้ายแรงนี้ต่อไป โดยลงมติยืนยันเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2562 ด้วยเสียง 16 ต่อ 5 เสียง

 

ทั้งนี้ เครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษร้ายแรง 686 องค์กรได้แถลงแสดงความเศร้าสลดต่อการลงมติดังกล่าว และตั้งข้อสังเกต ต่อกระบวนการและการลงมติ ของคณะกรรมการชุดดังกล่าว

 

 

 

//....................

หมายเหตุ: เพจ "เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN)"

https://www.facebook.com/ThaiPesticideAlertNetwork/ 

//....................