รำลึก 49 ปี ‘มิตร ชัยบัญชา’ 8-9 ต.ค.62 ชมฟรี หนัง ‘มิตร’ 16 มม.

รำลึก 49 ปี มิตร ชัยบัญชา’ 8-9 ต.ค.62 ชมฟรี หนัง มิตร’16 มม.

 

ถ้าวันนี้ “มิตร ชัยบัญชา” ยังมีชีวิตอยู่ ก็จะอายุได้ 85 ปี

 

         ข้อมูล จาก “วิกิพีเดีย” สารานุกรมเสรี ระบุว่า “มิตร ชัยบัญชา” (28 มกราคม พ.ศ. 2477 - 8 ตุลาคม พ.ศ. 2513) มีชื่อจริงว่า พันจ่าอากาศโท พิเชษฐ์ ชัยบัญชา (นามสกุลเดิม พุ่มเหม) เริ่มเข้าสู่วงการบันเทิงปลาย พ.ศ. 2499 เป็นพระเอกภาพยนตร์ไทยในช่วง พ.ศ. 2500 - 2513 มีผลงานเด่นในช่วง พ.ศ. 2501 - 2517 ซึ่งเป็นยุคเฟื่องฟูของภาพยนตร์ 16 มม. มีผลงานนับได้ขณะนั้น 266 เรื่อง จากทั้งสิ้น 300 กว่าเรื่อง

 

ผลงานเรื่องแรกคือเรื่อง “ชาติเสือ” ผลงานเรื่องที่สองที่ออกฉายคือ “จ้าวนักเลง” หรือ “อินทรีแดง” ทำให้ “มิตร ชัยบัญชา” มีชื่อเสียงโด่งดังเป็นอย่างมาก ทำรายได้เกินล้านบาท

 

“มิตร ชัยบัญชา” มีผลงานแสดงที่โดดเด่นมากและหลากหลาย ทั้งบทบู๊ รักกุ๊กกิ๊ก รักรันทด ตลก เชยเด๋อด๋า หรือชีวิตเศร้าเคล้าน้ำตา

 

พ.ศ. 2506 ภาพยนตร์เรื่อง “ใจเพชร” ทำรายได้สูงสุด และมีภาพยนตร์ที่ทำรายได้เกินล้านอีกหลายเรื่อง โดยเมื่อ พ.ศ. 2508 รับพระราชทานรางวัล "โล่ห์เกียรตินิยม" นักแสดงนำชาย ที่ทำ “รายได้สูงสุด” จากภาพยนตร์เรื่อง “เงิน เงิน เงิน” ซึ่งทำรายได้เป็นประวัติการณ์

 

ต่อมา พ.ศ. 2509 ภาพยนตร์เรื่อง “เพชรตัดเพชร” ทำรายได้ทำลายสถิติ “เงิน เงิน เงิน” ได้ 3 ล้านบาทในเวลา 1 เดือน และได้รับพระราชทานรางวัล “ดาราทอง” จากคุณสมบัติหลัก 4 ประการ คือ ศรัทธา หน้าที่ ไมตรี และ น้ำใจ ซึ่งแสดงถึงคุณภาพของผู้รับรางวัล

 

ต่อมา เมื่อ พ.ศ. 2513 ภาพยนตร์เรื่อง “มนต์รักลูกทุ่ง” ของ “รังสี ทัศนพยัคฆ์” เป็นภาพยนตร์เพลงลูกทุ่งที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก ทำรายได้มากกว่า 6 ล้านบาทและยืนโรงได้นานกว่า 6 เดือนในกรุงเทพ ทำรายได้ทั่วประเทศ กว่า 13 ล้านบาท

 

8 ตุลาคม พ.ศ. 2513 “มิตร ชัยบัญชา” เสียชีวิต ขณะถ่ายทำฉาก “โหนบันไดเชือกเฮลิคอปเตอร์” จากภาพยนตร์เรื่อง “อินทรีทอง” ท่ามกลางความอาลัยของมหาชน ซึ่งนับเป็นบุคคลธรรมดา ที่มีผู้มาร่วมงานศพมากที่สุดเป็นประวัติศาสตร์

 

ทั้งนี้ ได้มีการตั้งศาลบริเวณ หาดจอมเทียน พัทยาใต้ สถานที่ที่ “มิตร ชัยบัญชา” เสียชีวิต ซึ่งต่อมามีการปรับปรุงและสร้างรูปหล่อ ของ “มิตร ชัยบัญชา” ในชุด “อินทรีทอง” ไว้ที่ศาลด้วย ปัจจุบันอยู่ด้านหลังโรงแรมจอมเทียน

 

พ.ศ. 2548 ได้มีการสร้างละครเรื่อง "มิตร ชัยบัญชา มายา-ชีวิต" ทางสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบก ช่อง 7 ละครสร้าง ดัดแปลงมาจากเรื่องและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ของ “มิตร ชัยบัญชา” เพื่อรำลึกถึงพระเอกดาราทองยอดนิยมอันดับ 1 ของประเทศไทย ซึ่งเป็นที่รักของมหาชนทั่วประเทศ

 

พ.ศ. 2549 - 2550 มีการรวมใจสร้างอนุสรณ์สถาน “มิตร ชัยบัญชา” พร้อมหุ่นไฟเบอร์กลาส ที่บ้านไสค้าน จังหวัดเพชรบุรี บ้านเดิมของ “มิตร ชัยบัญชา” ด้วย

 

ถ้าวันนี้ “มิตร ชัยบัญชา” ยังมีชีวิตอยู่ ก็จะอายุได้ 85 ปี

 

“มนัส กิ่งจันทร์ ชุมทางหนังไทยในอดีต” ได้เขียนข้อความผ่าน เฟซบุ๊ค กลุ่ม "ชุมทางหนังไทยในอดีต (ศูนย์ดิจิทัล ไทยมูฟวี่)" ดังนี้

 

“รำลึก 49 ปี มิตร ชัยบัญชา...”

 

ถ้าวันนี้ “มิตร ชัยบัญชา” ยังมีชีวิตอยู่ ก็จะอายุได้ 85 ปีแล้ว..

 

“มิตร” เป็นพระเอกที่แสดงหนัง 16 มม. พากย์สด ๆ ไว้มากที่สุดถึง 250 เรื่อง (หนัง 16 มม.เริ่มปี 2492-ปี 2515)

 

แต่ความที่ หนัง 16 มม. ไม่มีระบบการใช้ฟิล์มเนกาตีฟ (ต้นฉบับ) คือใช้ฟิล์มที่ถ่ายทำนั้น ล้างและนำออกฉายได้เลย การย้อนอดีตกลับไปดูหนัง 16 มม. จึงจะต้องดูผ่านกากฟิล์ม ที่ผ่านการฉายกลางแปลงมาอย่างหนัก

 

หนังทุก ๆ เรื่องจึงขาดความสมบูรณ์ แต่ก็ยังถือว่า โชคดีมาก ๆ ที่ค้นหากากฟิล์มพบ เพราะปัจจุบันบางเรื่องก็ยังหากากฟิล์มไม่ได้เลย

 

ในปีนี้ การรำลึกถึง “มิตร ชัยบัญชา” จะมีการนำกากฟิล์มหนัง 16 มม.ที่มิตรเคยแสดงไว้กลับมาฉายอีก บางเรื่องก็เป็นฟิล์ม outtake (ไม่ปรากฏกากฟิล์มชุดอื่น ๆ อีกแล้ว)

 

หนังทุก ๆ เรื่อง จะมีการพากย์เสียงเข้าไปใหม่นะครับ

 

อังคารที่ 8 ตุลาคม 2562*

-09.00 น. “ปูจ๋า” 2510 “มิตร-เพชรา” ยาว 57 นาที

         -09.58 น. “จำปาทอง” 2514 “มิตร-อรัญญา” ยาว 92 นาที

         -13.00 น. “ร้อยป่า” outtake 2507 – “เสือข้ามแดน”2508 “มิตร-เพชรา” ยาว 43 นาที

         -13.44 น. “อ้อมอกสวรรค์” 2505 “มิตร-เพชรา” ยาว 80 นาที

               

พุธที่ 9 ตุลาคม 2562*

         -09.00 น. “นกน้อย” outtake 2507 “มิตร-เพชรา” ยาว 36 นาที

         -09.37 น. “เหนือเกล้า” 2510 “มิตร-เพชรา” ยาว 72 นาที

         -13.00 น. “จำเลยรัก” outtake 2506 “มิตร-พิสมัย” ยาว 83 นาที

 

*เวลาฉายอาจเปลี่ยนแปลงได้ หากมีดารารับเชิญหรือกิจกรรมพิเศษ

 

         สถานที่ : โรงหนังศรีศาลายา หอภาพยนตร์นครปฐม ชมฟรี

 

 

//...................

CR : เฟซบุ๊ค กลุ่ม "ชุมทางหนังไทยในอดีต (ศูนย์ดิจิทัล ไทยมูฟวี่)"

https://www.facebook.com/groups/156185157894883/ 

 

         ขอบคุณข้อมูลเพิ่มเติม จาก “วิกิพีเดีย” สารานุกรมเสรี

         https://th.wikipedia.org/

//...................