‘ความตาย’ ของ ‘พะยูน’ บอกอะไรกับเรา ?

ความตายของ พะยูน’ บอกอะไรกับเรา ?

 

เชื่อว่า ตอนนี้ไม่มีคนไทยคนไหนที่ไม่รู้จัก “พะยูน” อีกแล้ว ช่วงสามเดือนที่ผ่านมา คนไทยได้ใกล้ชิดและเรียนรู้เกี่ยวกับ “พะยูน” มากอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ผ่านเรื่องราวของ “มาเรียม” และ “ยามีล”

“ลูกพะยูน” กำพร้าเพศเมียและเพศผู้ ที่ได้รับการอนุบาลอย่างใกล้ชิด โดยทีมสัตวแพทย์ นักวิชาการ ชาวบ้าน และ อาสาสมัคร กว่าร้อยชีวิต แต่ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา เราต้องพบกับข่าว “พะยูน” เสียชีวิตอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการจากไป ของ “มาเรียม” และ “ยามีล” นับตั้งแต่ต้นปี เราสูญเสีย “พะยูน” ไปแล้วถึง 17 ตัว

 

“ความตาย” ของ “พะยูน” บอกอะไรกับเราได้บ้าง ถึง “สถานการณ์สิ่งแวดล้อม” ในปัจจุบัน และอะไรคือความท้าทาย ในการอนุรักษ์สัตว์ทะเลหายากชนิดนี้ ให้อยู่คู่ทะเลไทย

 

มาเรียม พะยูนกำพร้าขวัญใจคนไทยทั้งประเทศที่ตายจากปัญหาขยะพลาสติกในทะเล © Sirachai Arunrugstichai

 

“พะยูน” เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อาศัยอยู่ในทะเล เป็นญาติห่าง ๆ ของช้าง แต่บรรพบุรุษของ “พะยูน” ซึ่งเคยอยู่อาศัยบนบกเมื่อราว 55 ล้านปีมาแล้ว ได้วิวัฒนาการลงไปอยู่ในทะเล แล้วไม่กลับขึ้นบกอีกเลย

 

“พะยูน” จัดอยู่ในอันดับ Sirenia และอยู่ในวงศ์ Dugong ซึ่งมีเพียงชนิดเดียวทั่วโลกนั่นก็คือ พะยูน (Dugong dugon) พบกระจายอยู่ในทะเลเขตร้อนและเขตอบอุ่นในเอเชียแปซิฟิกและแอฟริกาตะวันออก สัตว์ที่เป็นญาติใกล้ชิดและลักษณะคล้าย “พะยูน” แต่อยู่กันคนละวงศ์คือ “มานาตี” ซึ่งมีด้วยกัน 3 ชนิดในโลก แต่พบเฉพาะในทวีปอเมริกาและแอฟริกาตะวันตก ไม่พบในเอเชีย

 

“พะยูน” เป็นสัตว์ที่มีระบบย่อยอาหารที่สามารถย่อยเซลลูโลสของพืชได้จัดเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทางทะเลกลุ่มเดียวในโลกที่เป็นสัตว์กินพืช (Herbivore) โดยอาหารหลักของ “พะยูน” คือ “หญ้าทะเล” ชนิดต่างๆ “พะยูน” จึงใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ไม่ห่างจากบริเวณที่มีแหล่งหญ้าทะเลหนาแน่นและกว้างใหญ่เพียงพอ “พะยูน” จึงเป็นดัชนีบ่งชี้ “ความอุดมสมบูรณ์” ของ “ระบบนิเวศหญ้าทะเล” ได้เป็นอย่างดี

 

แต่ในทางกลับกัน “พะยูน” ก็มีบทบาทสำคัญอย่างมากในการรักษาสมดุลและความหลากหลายของแนวหญ้าทะเล เริ่มจากพฤติกรรมการกินหญ้าทะเลของ “พะยูน” ที่จะไถกินทั้งใบและลำต้นใต้ดิน จึงทำหน้าที่เหมือนการตัดแต่ง พรวนดิน ขุดต้นหญ้าชุดเก่าออกไป เปิดโอกาสให้ลำต้นใต้ดินชุดใหม่ได้แตกงอกออกมาทดแทน ทั้งยังเปิดพื้นที่ให้มีการแข่งขันระหว่างหญ้าชนิดต่างๆ จึงทำให้เกิดความหลากชนิดของหญ้าทะเล ยิ่งมีหญ้าทะเลหลากหลายชนิดก็ยิ่งมีจำนวนสิ่งมีชีวิตในแนวหญ้าทะเลมากขึ้นตามไปด้วย

 

นอกจากนี้ “พะยูน” ยังมีบทบาทสำคัญในการทำหน้าที่แพร่กระจายเมล็ดหญ้าทะเล เหมือนกับสัตว์ป่าที่ช่วยกระจายเมล็ดพันธุ์ไม้ในป่า เมล็ดหญ้าที่ถูกถ่ายออกมาจากพะยูนจะสามารถงอกได้ดีกว่าปกติ งานวิจัยจากออสเตรเลียเมื่อไม่นานมานี้พบว่าใน “อึ พะยูน” ทุกๆ 1 กรัมพบว่ามีเมล็ดหญ้าทะเลถึง 2 เมล็ด และราว 1 ใน 10 ของเมล็ดเหล่านี้มีความสมบูรณ์พร้อมที่จะงอกเป็นหญ้าต้นใหม่

 

ข้อมูลจากงานวิจัยพบว่า “พะยูน” กินหญ้าทะเลมากถึง 35 กิโลกรัมต่อวัน “พะยูน” จึงเป็น “นักปลูกหญ้าทะเล” ตัวยง แถมยังช่วยใส่ปุ๋ยให้เสร็จสรรพด้วยการถ่ายมูลออกมา “พะยูน” จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการทำหน้าที่ช่วยหมุนเวียนแร่ธาตุสารอาหารในแนวหญ้าทะเล “พะยูน” ต้องพึ่งพาแนว “หญ้าทะเล” แต่ขณะเดียวกันถ้า “หญ้าทะเล” ขาดสัตว์อย่าง “พะยูน” ความสมบูรณ์ก็จะค่อยๆ ลดลง และย่อมส่งผลถึงสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆอีกมากมาย รวมถึงชุมชนชายฝั่งที่ต้องอาศัยหญ้าทะเลเป็นแหล่งอาหารอีกด้วย

 

วิธีการกิน หญ้าทะเล ของ พะยูน © Greenpeace

  

“พะยูน” เป็นสัตว์ที่อายุยืนถึง 70 ปีหรือมากกว่า เป็นสัตว์ที่โตช้า ขยายพันธุ์ช้า ตัวเมียเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ระหว่างอายุ 7-17 ปี ใช้เวลาตั้งท้องนานถึง 14 เดือน โดยมากออกลูกเพียงครั้งละตัวเดียว และใช้เวลาให้นมและดูแลลูกอย่างใกล้ชิดถึง 18 เดือนหรือเกือบสองปี และทิ้งระยะห่างในการให้กำเนิดลูกแต่ละตัวนานถึง 3-7 ปี หากสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสมเช่นอาหารขาดแคลน “พะยูน” ก็จะไม่ผสมพันธุ์ จากการศึกษา พบว่า ในสภาพแวดล้อมที่อุดมสมบูรณ์ “พะยูน” สามารถเพิ่มประชากรได้อย่างมากร้อยละ 5 ต่อปีเท่านั้น ถ้าอัตราการตายสูงกว่าร้อยละ 5 ต่อปี หมายความว่าประชากร “พะยูน” ก็จะค่อย ๆ ลดลงและมีโอกาสสูญพันธุ์ไปได้ในที่สุด

 

ในประเทศไทย เราสามารถพบ “พะยูน” ได้ทั้ง “อ่าวไทย” และฝั่งทะเล “อันดามัน” ทางอันดามันพบ “พะยูน” กลุ่มเล็ก ๆ แพร่กระจายตั้งแต่ จ.ระนอง ลงไปถึง สตูล โดยมี “พะยูน” กลุ่มใหญ่ที่สุด บริเวณ เกาะตะลิบง เกาะมุกด์ จ.ตรัง สำหรับฝั่งอ่าวไทยยังพบ “พะยูน” กลุ่มเล็กๆ เหลือรอด ใน จ.ระยอง ตราด ชุมพร และ สุราษฎร์ธานี จำนวนประชากร “พะยูน” ในประเทศไทยโดยรวมเหลืออยู่ไม่มากนัก

 

ข่าวดีเมื่อช่วงต้นปีคือ การเพิ่มจำนวน “พะยูน” ในจังหวัดตรัง ซึ่งเป็นข้อมูลจากการบินสำรวจของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง นำโดย “ดร.ก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์” พบว่า มีจำนวนประชากรพะยูนราว 185 ตัว หรือร้อยละ 70 ของ “พะยูน” ทั้งประเทศ ที่น่ายินดีคือประชากรมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดหกปีที่ผ่านมา หลังจากลดลงเหลือราว 125 ตัวเมื่อปี พ.ศ. 2556 จังหวัดตรัง จึงมักถูกยกให้เป็น “เมืองหลวง” ของ “พะยูน” ในประเทศไทยโดยปริยาย

 

ข้อมูลล่าสุด ของ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ระบุว่า มี “พะยูน” ในน่านน้ำไทยประมาณ 200-250 ตัว อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่ากังวลคือ “พะยูน” ยังคงมีอัตราการตายเฉลี่ยต่อปีสูงมาก โดยข้อมูลย้อนหลัง พบว่า มี “พะยูน” ตายไม่ต่ำกว่า 12 ตัวต่อปีหรือเฉลี่ยเดือนละหนึ่งตัว

 

สิ่งที่น่าตกใจคือในสัปดาห์ที่ผ่านมา เราพบกับความสูญเสียอย่างต่อเนื่อง เริ่มจาก “มาเรียม” ที่จากไปกลางดึกคืนวันศุกร์ที่ 16 สิงหาคม วันอาทิตย์ที่ 18 สิงหาคม พบซาก “พะยูน” เพศผู้ตัวเต็มวัยที่อ่าวต้นไทร อ่าวนาง จังหวัดกระบี่ วันพฤหัสบดีที่ 22 สิงหาคม มีการพบ “พะยูน” เพศเมียเสียชีวิตเพิ่มขึ้นอีกบริเวณ เกาะลิบง จังหวัดตรัง แล้วคืนวันเดียวกัน “ยามีล” ก็เสียชีวิตที่โรงพยาบาลวชิระ จังหวัดภูเก็ต หลังทีมแพทย์พยายามยื้อชีวิตด้วยการผ่าตัดเอาก้อนหญ้าที่อุดตันในกระเพาะออก

 

เท่ากับว่า ประเทศไทยสูญเสียพะยูนไปแล้วถึง 17 ตัวตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา และเป็นการเสียชีวิตของ “พะยูน” ถึง 4 ตัวในรอบสัปดาห์ ซึ่งนับว่าสูงมาก สำหรับสัตว์ทะเลหายาก ที่คาดว่า มีประชากรทั้งประเทศเหลืออยู่แค่ 250 ตัวเท่านั้น ทั้ง “มาเรียม” และ “ยามีล” ได้ทำให้คนไทยรู้จักและผูกพันกับสัตว์ทะเลหายากสุดน่ารักของไทยเพิ่มมากขึ้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ขณะเดียวกันความตายของ “มาเรียม - ยามีล” และ “พะยูนนิรนาม” กว่า 10 ตัวทุก ๆ ปีก็ชี้ให้เห็นปัญหาสิ่งแวดล้อม และความท้าทายในการอนุรักษ์พวกเขาให้คงอยู่คู่ทะเลไทย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเครื่องมือประมง ขยะพลาสติก ไปจนถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

 

ข้อมูล จาก กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ชี้ชัดว่า สาเหตุหลักของการตายส่วนใหญ่ของ “พะยูน” (ราวร้อยละ 90) เกิดจากการติดเครื่องมือประมง หรือบาดเจ็บจากการหลุดรอดจากเครื่องมือประมงมาเกยตื้น เครื่องมือประมงที่ “พะยูน” มาติดและตายมากที่สุด ได้แก่ อวนลอยหรืออวนติดตาชนิดต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นอวนปลาสีเสียด อวนลอยปลากะพง อวนสามชั้น อวนจมปู อวนปลากระเบน รองลงไป คือ โป๊ะ

 

แนวหญ้าทะเลเป็นแหล่งหากินสำคัญของ “พะยูน” แต่ก็เป็นพื้นที่ที่มีการใช้ประโยชน์ของชาวประมงเช่นกัน การจัดสรรปันส่วนพื้นที่อย่างสมดุลย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็เป็นไปได้หากใช้ข้อมูลมาปรึกษาหารือร่วมกัน การแบ่งเขตจัดการใช้ประโยชน์อย่างมีส่วนร่วม โดยอาศัยข้อมูลการหากินของ “พะยูน” มาพิจารณา และร่วมกันงดใช้เครื่องมือประมงบางประเภทในแหล่งหากินสำคัญของ “พะยูน” เป็นแนวทางสำคัญ ที่จะช่วยอนุรักษ์ “พะยูน” ที่เหลืออยู่เอาไว้ให้ได้

 

นอกจากเครื่องมือประมงแล้ว การคุกคามทำลายแหล่ง “หญ้าทะเล” ทั้งทางตรงและทางอ้อม ก็เป็นปัญหาใหญ่เช่นกัน การทำลายทางตรงได้แก่การทำประมงแบบลาก ไถ หรือคราดไปตามพื้นท้องทะเล เช่นอวนรุน อวนลาก การคราดหอย ซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว การใช้เครื่องมือดังกล่าวในแนวหญ้าทะเลทำให้หญ้าทะเลเสื่อมโทรมอย่างหนัก ซึ่งย่อมส่งผลกระทบต่อแหล่งหากินของ “พะยูน” รวมไปถึงทำลายแหล่งวางไข่ แหล่งอนุบาลตัวอ่อนของสัตว์น้ำชนิดอื่น ๆ ไปด้วย ทางการต้องเร่งให้มีการจัดการแหล่งหญ้าทะเลเหล่านี้อย่างมีส่วนร่วม เพื่อกำหนดการใช้ประโยชน์ในรูปแบบที่เหมาะสมและมีความยั่งยืน

 

การทำลาย “หญ้าทะเล” ทางอ้อมคือการปล่อยน้ำเสีย และตะกอนที่เกิดจากการพัฒนาชายฝั่ง น้ำเสียส่วนมากมาจากอาคารบ้านเรือน จากพื้นที่เกษตรกรรม ยิ่งเมื่อเข้าสู่ฤดูฝน หรือในช่วงที่มีภัยธรรมชาติหรืออุทกภัย น้ำเสียและตะกอนจะยิ่งถูกชะล้างลงสู่แนวหญ้าทะเล ซึ่งทำให้หญ้าทะเลเสื่อมโทรมอย่างรวดเร็ว นักวิทยาศาสตร์สามารถใช้คุณภาพน้ำเป็นตัวบ่งชี้คุณภาพของแนวหญ้าทะเล และการลดลงของจำนวน “พะยูน” ได้

 

หญ้าทะเลบริเวณเกาะศรีบอยา จังหวัดกระบี่ © Luke Duggleby / Greenpeace

 

ใน ออสเตรเลีย พบว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ทำให้เกิดพายุไซโคลนที่มีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งนำมาสู่น้ำท่วมใหญ่หลาย ๆ ครั้ง เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้แนวหญ้าทะเลเสื่อมโทรมเป็นบริเวณกว้าง จนทำให้ “พะยูน” นับพันตัวขาดอาหาร และเกยตื้นตายนับร้อยตัว หลังเกิดเหตุการณ์พายุไซโคลนถล่มในปี พ.ศ. 2554

 

สิ่งที่น่าเสียใจที่สุด ต่อการจากไปของ “มาเรียม” ก็คือการกินเศษ “พลาสติก” เข้าไป จนทำให้เกิดการติดเชื้อตาย  “ขยะ” ที่พบในทางเดินอาหารของ “มาเรียม” คือ “เศษถุงพลาสติกหูหิ้ว” ที่เรายังคงใช้กันดาษดื่น เพราะฉะนั้นอาจจะมาจากไหน จากใครก็ได้ เมื่อขยะเหล่านี้หลุดรอดออกสู่สภาพแวดล้อม ตอนนี้ งานวิจัยพบว่า “สัตว์ทะเล” ที่หากินในแนวหญ้าทะเลหลงกินเศษ “พลาสติก” เพราะหลงคิดว่า เป็นอาหาร โดยเฉพาะ “เต่าทะเล” กรณีของ “มาเรียม” เป็นหลักฐานสำคัญว่า “ขยะพลาสติก” ก็เป็น “อันตราย” ต่อ “พะยูน” เช่นกัน

 

เรื่องของ “ขยะพลาสติก” เป็นสิ่งที่เรารณรงค์กันมานาน โดยเฉพาะในระยะหลัง แต่คนส่วนใหญ่ยังเข้าใจผิดว่า การทิ้งให้ถูกที่ คือทางออก ต้องเลิกมักง่ายทิ้งขยะลงทะเล แต่ความจริงขยะส่วนใหญ่ในทะเลมากถึง 80 % มาจากทางบก นั่นหมายความว่า ในขณะที่ทุกคนมีส่วนช่วยอนุรักษ์ “มาเรียม” ได้ แต่เราทุกคนก็มีส่วนทำให้ “มาเรียม” เสียชีวิตเช่นกัน จากขยะที่เราสร้างขึ้นทุก ๆ วัน ทางออกสำคัญที่สุดจึงต้อง “ลดขยะ” ที่ไม่จำเป็นให้เหลือน้อยที่สุด และปรับปรุงการคัดแยกให้เกิดเป็นรูปธรรมสักที

 

เมืองไทยต้องมีมาตรการที่เด็ดขาดในการจัดการเรื่อง “ขยะพลาสติก” ที่มากกว่าการรณรงค์หรือขอความร่วมมือได้แล้ว การรณรงค์ช่วยสร้างจิตสำนึกได้ก็จริง แต่ไม่สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมของคนส่วนใหญ่ได้ อันนี้ไม่ใช่เฉพาะเมืองไทย ประเทศตะวันตกก็เป็น มันฝืนความเป็นมนุษย์ที่รักความสะดวกสบาย

 

“ความตาย” ของ “มาเรียม ยามีล” และ “พะยูน” ในช่วงเวลานี้ได้ก่อให้เกิดแรงกระเพื่อมสำคัญในการอนุรักษ์สัตว์ทะเลหายาก เพราะไม่เคยมีครั้งไหนที่เราได้เห็นคนระดับรัฐมนตรี ปลัดกระทรวง อธิบดี มาพร้อมหน้ากันเพื่อแถลงข่าวการเสียชีวิตของสัตว์ทะเลหายากหนึ่งตัว ความรักและความสนใจอย่างล้นหลามของคนไทย ทำให้ข้าราชการและนักการเมืองต้องตื่นตัวไปด้วย

 

แต่การจะอนุรักษ์ “พะยูน” ให้อยู่คู่ทะเลไทยได้ เราก็ต้องแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่งอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่เรื่องการจัดการประมงอย่างยั่งยืน การพัฒนาพื้นที่ชายฝั่ง การควบคุมเส้นทางเดินเรือในแหล่งหญ้าทะเล รวมไปถึงการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างจริงจัง

 

เราคงได้แต่หวังว่า “ความตาย” ของ “มาเรียม” และเหล่า “พะยูนไทย” จะไม่เป็นเพียงกระแสที่รอวันจางหาย หากเราใช้โอกาสและจังหวะช่วงนี้หยิบยกเอางานยาก ๆ ที่ต้องหาทางออกมาทำให้สำเร็จ โดยเฉพาะ “แผนการจัดการพะยูนแห่งชาติ” ซึ่งมีมาตรการต่าง ๆ อยู่แล้ว แต่ยังมีอุปสรรคในการนำมาปฏิบัติ

 

“มาเรียม” เป็นบทพิสูจน์ว่าคนไทยสนใจเรื่องของสัตว์ เรื่องของทะเลมาก ๆ และต้องการที่จะมีส่วนสนับสนุน และช่วยเหลือ หากหน่วยงานรัฐสามารถสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะสามารถใช้โอกาสตรงนี้สร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง และส่งเสริมให้คนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน และผลักดันนโยบายสำคัญ ๆ ได้อีกมาก

ถ้าทำได้อย่างนั้น “ความตาย” ของ “พะยูน” คงไม่ใช่เรื่องสูญเปล่า

 

//.................

 

CR : greenpeace thailand https://www.greenpeace.org/thailand/

 

เกี่ยวกับผู้เขียน : เพชร มโนปวิตร : เป็นนักวิทยาศาสตร์ด้านการอนุรักษ์ที่ผ่านการทำงานในองค์กรสิ่งแวดล้อมระดับโลกหลายแห่งทั้ง IUCN, WWF และ WCS ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา พร้อม ๆ กับเป็นนักเขียนและนักแปลบทความด้านสิ่งแวดล้อมและทางออกด้านการอนุรักษ์ ปัจจุบันขับเคลื่อนประเด็นเศรษฐกิจหมุนเวียน ขยะทะเลและการอนุรักษ์ปะการังกับ ReReef บริษัทสตาร์ทอัพที่เน้นการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนด้วยพลังผู้บริโภค

 

 

 

//.................