70 ปี ประเทศไทย กับ ธนาคารโลก มีอะไรในกรอบความร่วมมือ 2562-2565

70 ปี ประเทศไทย กับ ธนาคารโลก มีอะไรในกรอบความร่วมมือ 2562-2565

 

 

 

          “หนึ่งในโครงการเงินกู้ในระยะแรกของประเทศไทยคือ การฟื้นฟูบูรณะการรถไฟแห่งประเทศไทยเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2493  การปรับปรุงระบบรางนอกจากจะช่วยเชื่อมต่อภูมิภาคทั้งหมดในประเทศไทยแล้ว ยังมีบทบาทสำคัญด้านการขนส่งภายในประเทศและอำนวยความสะดวกเรื่องการค้าต่างประเทศ”

 

 

          ธนาคารโลกได้ฉลองครบรอบ 70 ปีความสัมพันธ์กับประเทศไทยไปเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2562 ความร่วมมือนี้ได้พัฒนามาจากการกู้ยืมและการบริการงานวิเคราะห์วิจัยแบบเดิมไปสู่ความร่วมมือด้านความรู้โดยใช้นวัตกรรมดำเนินการ โดยเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2561 คณะกรรมการบริหารธนาคารโลกได้ให้การรับรองกรอบความร่วมมือระดับประเทศฉบับใหม่สำหรับประเทศไทย และเปิดตัวกรอบความร่วมมือเพื่อการพัฒนาประเทศ 2562-2565 และระบุว่าอีกสามปีต่อจากนี้ ธนาคารโลกจะมุ่งเน้นการทำงานเพื่อสนับสนุนการปฏิรูปประเทศไทยเพื่อให้แน่ใจว่าการเติบโตอย่างมีส่วนร่วมนั้นจะช่วยเปลี่ยนผ่านประเทศไทยไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูง

 

 

 

 

          ทั้งนี้กรอบความร่วมมือระดับประเทศนี้เป็นยุทธศาสตร์ความร่วมมือร่วมกันระหว่างองค์กรในเครือของกลุ่มธนาคารโลก อาทิ ธนาคารระหว่างประเทศเพื่อการบูรณะและวิวัฒนาการ (International Bank for Reconstruction and Development: IBRD) บรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ (International Finance Corporation: IFC) และสถาบันประกันการลงทุนพหุภาคี (The Multilateral Investment Guarantee Agency: MIGA) กับรัฐบาลไทย ทั้งนี้ ในช่วง 70 ปีที่ผ่านมา ธนาคารโลกได้ให้การสนับสนุนโครงการต่างๆ ทั้งในด้านการศึกษา การเกษตร การสื่อสารโทรคมนาคม โครงสร้างพื้นฐาน การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ การพัฒนาภาครัฐ และการสาธารณสุข

 

          ที่สำคัญกรอบความร่วมมือระดับประเทศนี้มีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ของประเทศไทย (2560-2579) และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 ของประเทศไทยซึ่งกลุ่มธนาคารโลกจะให้ความสำคัญกับการให้บริการด้านคำปรึกษาและการวิเคราะห์ที่สามารถเบิกค่าใช้จ่ายคืนได้หรือสามารถขอรับการสนับสนุนจากกองทุนที่เกี่ยวข้อง และจะยังคงเปิดช่องทางในการให้ความช่วยเหลือด้านการจัดหาเงินทุนในอนาคตหากรัฐบาลไทยมีความต้องการ และบรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศจะให้บริการจัดหาเงินทุนและให้คำปรึกษากับภาคเอกชนเพื่อสนับสนุนการเติบโตอย่างมีส่วนร่วมต่อไป โดยสถาบันประกันการลงทุนพหุภาคีจะให้การสนับสนุนการลงทุนที่เป็นไปตามเงื่อนไขด้วยการเพิ่มความน่าเชื่อถือของตราสารและการรับทำประกันความเสี่ยงทางการเมือง

 

 

          โดยกรอบความร่วมมือระดับประเทศนี้จะเกี่ยวข้องกับการให้ความช่วยเหลือในด้านต่างๆ อย่างเป็นระบบเพื่อช่วยให้ประเทศไทยสามารถพัฒนาในด้านการเติบโตอย่างมีส่วนร่วม ความมีภูมิคุ้นกัน และความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์ ได้แก่

 

          1. การพัฒนาสภาพแวดล้อมของการประกอบธุรกิจด้วยการส่งเสริมการแข่งขันและใช้นวัตกรรม

          2. เสริมสร้างความเข้มแข็งขององค์กรทางการเงินและการคลัง

          3. การเพิ่มคุณภาพของการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานในภาคการขนส่งทางราง

          4. การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการจัดการทรัพยากรน้ำ

          5. ส่งเสริมการศึกษาที่มีคุณภาพ

          6. สนับสนุนการมีส่วนร่วมของกลุ่มประชากรที่มีความเสี่ยง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ที่มีความเปราะบางและความขัดแย้งในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทย

          ทั้งนี้ การจัดทำกรอบความร่วมมือระดับประเทศได้มีการการปรึกษาหารือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั่วประเทศ และได้แจ้งเกี่ยวกับวัตถุประสงค์และการจัดลำดับความสำคัญของประเด็นการพัฒนาแล้ว

 

          เบอร์กิท ฮานสล์ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า "ประเทศไทยอยู่ในจุดที่จะก้าวสู่การเปลี่ยนผ่านทางประชากรเนื่องจากจำนวนผู้สูงวัยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ แรงงานที่มีจำนวนมากนั้นก็กำลังจะลดลง ดังนั้น การปรับปรุงผลิตภาพโดยผลักดันให้เกิดเศรษฐกิจที่แข่งขันด้วยนวัตกรรม รวมถึงสร้างความพร้อมด้านทักษะให้คนรุ่นใหม่จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องมีเพื่อสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน"

 

ดาวน์โหลด กรอบความร่วมมือการพัฒนาประเทศไทย 2562-2565

 

CR : www.worldbank.org