Zero Waste จัดการขยะอย่างสร้างสรรค์ Now or Never

 

          ขยะเกิดขึ้นโดยใช้ช่วงเวลาเพียงสั้นๆ ทุกวันนี้ทั่วโลกมีขยะใหม่เกิดขึ้นตลอดเวลาในแทบจะทุกๆ วินาทีที่เวลาขยับเดิน ขยะกำลังเป็นปัญหาที่ยากต่อการแก้ไขมากขึ้นทุกวัน โดยที่เราไม่เคยรู้ หรือไม่คิดจะรับรู้มาก่อน 

          เมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ มีขยะสูงถึงวันละกว่าหนึ่งหมื่นตัน และเมื่อเมืองโตขึ้น ผู้คนทำกิจกรรมต่างๆ กันมากขึ้น เราก็สร้างขยะเพิ่มมากขึ้นทุกวัน ขยะเกือบทั้งหมดถูกจัดการอย่างไม่ถูกวิธี สร้างปัญหามากมาย ขณะที่ขยะที่ถูกจัดการอย่างเป็นระบบมีน้อยมาก การแยกขยะดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่คนทำกันน้อย มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องนี้น้อย และแทบจะไม่ให้ความสำคัญ ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องที่สำคัญมาก

 

 

 

          เราร่วมเดินทางไปกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ เพื่อเยี่ยมชม “ศูนย์การเรียนรู้ด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม” โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงราย โดย มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในพระบรมราชูปถัมถ์ ตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะเป็นองค์กรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีแนวทางในการดำเนินการที่ “ใช้น้อย” คือลดการใช้พลังงานจากฟอสซิล และ “ปล่อยน้อย” คือลดการปล่อยมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม

          เรานั่งรวมกันอยู่ภายใต้ตัวอาคารหลังเล็กที่เปิดโล่งรับอากาศให้ไหลผ่านได้อย่างสะดวก โดยผู้อธิบายแนวความคิด และการปฎิบัติ เพื่อดำเนินการไปสู่เป้าหมายที่จะทำให้ โครงการพัฒนาดอยตุง เป็นองค์กรที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ในปี 2563 คือ ดร.ธนพงศ์ ดวงมณี วิศวกรด้านสิ่งแวดล้อม มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ หนึ่งในผู้ขับเคลื่อนกระบวนการที่เดินไปสู่เป้าหมายการจัดการเรื่องขยะ

 

 

 

          ศูนย์จัดการขยะที่เราแวะมาเยี่ยมชม รับขยะทั้งหมดมาจากโครงการพัฒนาดอยตุงฯ มีลักษณะขยะที่หลากหลายมาก ขยะมีต้นทางมาจากหลายส่วนงานของโครงการฯ อาทิ สำนักงาน โรงงาน ห้องอาหาร ส่วนท่องเที่ยว ซึ่งขยะทั้งหมดนั้นมีการแยกขยะมาจากต้นทางแล้วส่วนหนึ่ง เมื่อขยะเดินทางมาถึงศูนย์ฯ จะมีการคัดแยกอีกครั้งหนึ่งให้ถูกต้องตรงตามการใช้ประโยชน์ โดยมีเป้าหมายเพื่อไม่ให้มีขยะเดินทางไปสู่บ่อฝังกลบ 

 

 

 

          โครงการนี้เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2555 โดยมีการทำงานที่รอบด้านนั่นคือ เริ่มตั้งแต่ต้นทางด้วยการให้ความรู้แก่คนภายในองค์กร ตั้งแต่ระดับบริหารจนถึงระดับล่าง พัฒนาระบบการจัดการเรื่องการทำงานกับขยะ ทั้งคนทำงาน เครื่องมือ ทำงานอย่างจริงจังและต่อเนื่องจนกระทั่งเมื่อปี 2561 ที่ผ่านมากล่าวได้ว่าโครงการฯ นี้ประสบความสำเร็จโดยสามารถบริหารจัดการจนไม่มีขยะเดินทางไปสู่บ่อฝังกลบ หรือ Zero Waste to landfill

 

 

          แต่กว่าจะเดินทางมาถึงจุดนี้ได้นั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ดร.ธนพงศ์ เล่าให้ฟังว่าที่โครงการพัฒนาดอยตุงฯ ผู้บริหารให้การสนับสนุนอย่างจริงจังที่จะทำเรื่องขยะให้สำเร็จ ด้วยเหตุนี้ในการคัดแยกขยะนั้นบุคลากรทุกระดับของโครงการดอยตุงทุกคนจึงมีส่วนร่วมตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทางอย่างแท้จริง

 

 

 

          การมาที่นี่ยังทำให้เราได้รู้จักกับ คุณลุงแสงและป้าปิง นามบุญ สองสามีภรรยาที่ง่วนอยู่กับการคัดแยกขยะอย่างตั้งใจ หากยังคงทักทายพวกเราด้วยรอยยิ้มใจดี พร้อมกับบอกว่างานทางนี้จากเหนื่อยน้อยลงและทำได้รวดเร็วขึ้น  หากต้นทางช่วยกันคัดแยกตั้งแต่แรก ซึ่งเชื่อว่าหลายคนอาจจะนึกไม่ถึงว่าแค่เพียงเราแต่ละคนคัดแยกขยะเฉพาะตัวของเราเอง จะช่วยลดขั้นตอนกระบวนการได้มหาศาลขนาดไหน 

 

 

 

          วิธีการจัดการขยะของดอยตุง แบ่งการจัดการขยะออกเป็น 6 ประเภท 1. ขยะที่ย่อยสลายได้ 2. ขยะขายได้ 3. ขยะเปื้อน 4. ขยะพลังงาน 5. ขยะอันตราย และ 6. ขยะห้องน้ำ โดยในศูนย์จัดการขยะมีการจัดการอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย จนเรารู้สึกว่าที่นี่เหมือนไม่ใช่สถานที่ดูแลจัดการเรื่องขยะ เพราะทั้งสะอาด เป็นระเบียบ เขียว บางทีมันอาจเหมือนสถานีเกษตรมากกว่า เพราะมีทั้งแปลงผัก คอกสัตว์เลี้ยง ตัวอาคารที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตัวอาคารถูกจัดสรรแยกไว้อย่างชัดเจน ทั้งส่วนสำนักงาน ห้องเก็บขยะขายได้ เครื่องอัดพลาสติก ห้องเก็บขยะอันตราย 

          ในส่วนของการจัดการขยะย่อยสลายได้ เป็นการจัดการขยะที่ก่อให้เกิดรายได้ที่จะนำมาใช้ในโครงการฯ ขยะย่อยสลายได้มีหลากชนิด อาทิ เศษอาหาร วัสดุเหลือทิ้งจำพวกเปลือกกาแฟเชอรี่ หญ้าในแนวกันไฟ ทางศูนย์ฯ นำไปเป็นอาหารเลี้ยงหมู หนอนแมลงวันลาย ใช้เป็นอาหารสัตว์ สิ่งต่างๆ เหล่านี้เมื่อคำนวณออกมาเป็นจำนวนเงิน สามารถสร้างรายได้ให้แก่ศูนย์ฯ รวม 436,600 บาท ต่อปี ปุ๋ยที่ได้จากขยะ ทางศูนย์นำไปใช้กับแปลงผักที่ปลูกไว้ โดยผักจะถูกส่งไปยังห้องอาหารของดอยตุง มีมูลค่าถึง 76,000 บาทต่อปี จนเราสามารถกล่าวได้ว่าขยะคือเงินถ้าผ่านการบริหารจัดการที่ดีตั้งแต่ต้นทางนั่นคือ “การคัดแยกขยะ”

 

 

          สิ่งต่างๆ เหล่านี้แสดงให้เห็นว่าเราควรจะต้องมองขยะมากกว่าการเป็นสิ่งของที่เปล่าประโยชน์ สกปรก ไร้ค่า เพราะหากเรามองขยะเพียงมิติเดียวเช่นนั้น เรากำลังสร้างปัญหาไม่รู้จบ รวมทั้งเป็นผู้ที่ขาดความรับผิดชอบอย่างสิ้นเชิงต่อส่วนรวมเพราะเราก็เป็นผู้สร้างขยะขึ้นมาด้วยเช่นกัน เมื่อเรามองเห็นขยะในมิติอื่น เราจะเห็นว่าหากเราไม่จัดการขยะจะเป็นปัญหา แต่เมื่อเราจัดการอย่างถูกต้องขยะจะกลายมาเป็นสิ่งที่เกิดประโยชน์มากมาย ดร.ธนพงศ์ ดวงมณี ยังบอกอีกว่าที่ศูนย์ฯ แห่งนี้ใช้หลักสี่ R ในการทำงานกับขยะ นั่นคือ Reduce Repair Reuse และ Recycle

 

 

 

          การจัดการขยะในแบบที่ทางศูนย์ฯ ทำอยู่นี้มีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าวิธีการจัดการขยะแบบทิ้งในบ่อฝังกลบ (ในระยะแรกที่เริ่มทำงานค่าการจัดการต่อตันสูง แต่ปัจจุบันสามารถลดต้นทุนลงได้มาก เปรียบเทียบต้นทุนในการจัดการขยะแบบฝังกลบและการคัดแยก จัดการนำกลับมาใช้ใหม่ มีความแตกต่างกันอยู่ที่ 500 VS 3,500 บาทต่อตัน) แต่มีประโยชน์มากกว่าในหลากหลายด้าน ตั้งแต่เรื่องของสิ่งแวดล้อม ก่อให้เกิดการจ้างงาน ยังสามารถนำขยะบางอย่างมาพัฒนาต่อเนื่องให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทุกวันนี้ทางศูนย์ฯ​ยังไม่หยุดพัฒนา โดยมุ่งมั่นที่จะทำให้ค่าใช้จ่ายหรือต้นทุนในการจัดการขยะลดลงให้ได้มากที่สุด 

 

 

          ที่สำคัญคือ “ศูนย์การเรียนรู้ด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม” โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ยังเปิดกว้างพร้อมที่จะแบ่งปันองค์ความรู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการเรื่องขยะของศูนย์จัดการขยะแห่งนี้ เพื่อถ่ายทอดประสบการณ์ความรู้สู่หน่วยงานต่างๆ ที่แวะเข้ามาศึกษาดูงาน ส่งมอบต่อแนวความคิด การลงมือทำที่สามารถเดินไปสู่การสัมฤทธิ์ผลที่ก่อประโยชน์กับสังคมส่วนรวมได้อย่างแท้จริง

 

 

 

          ขยะจำนวนมากที่มนุษย์ทิ้งในแต่ละวัน มีจำนวนมากที่ไม่ได้เดินทางไปสู่การจัดการขยะที่ถูกต้อง มันตกอยู่ตามข้างทาง ตกลงไปในแม่น้ำลำคลอง ไหลออกไปสู่ทะเล สร้างผลกระทบให้กับบรรดาสัตว์จำนวนมากที่ต้องมารับเคราะห์จากการทิ้งอย่างขาดความรับผิดชอบ และท้ายที่สุดแล้วมันกลายมาเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบถึงตัวมนุษย์ทุกคนอย่างยากจะหลีกเลี่ยง ถ้าเราไม่เริ่มตระหนักที่จะให้ความสำคัญกับขยะกันอย่างจริงจังเราอาจจะไม่มีโอกาสได้แก้ไขอีกก็เป็นไปได้

...................................................................................... 

Zero Waste จัดการขยะอย่างสร้างสรรค์ Now or Never
กองบรรณาธิการ บางกอกไลฟ์นิวส์

....................................................................................//