ชวนร่วมกิจกรรมกับศิลปินศิลปาธร สาขาศิลปะการออกแบบ

          สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม ขอเชิญผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับศิลปินศิลปาธร 2562 โดยในวันเสาร์ที่ 10 สิงหาคม นี้ พบกับ รศ.ดร. สิงห์ อินทรชูโต ศิลปินร่วมสมัยดีเด่นรางวัลศิลปาธร สาขาศิลปะการออกแบบ ในหัวข้อ “Upcycling Design Journey”

 

          ผู้สนใจสามารถเข้าร่วมกิจกรรมวันเสาร์ที่ 10 สิงหาคม 2562 ตั้งแต่เวลา 13:30 – 15:00 น. ณ ห้องออดิทอเรียม ชั้น 1 หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน (เริ่มลงทะเบียนเวลา 12.30 น.) โดยสำรองที่นั่งล่วงหน้าได้ทางอีเมล์ silpathorn@gmail.comหรือ โทรศัพท์02-2093755

 

 

          รศ.ดร. สิงห์ อินทรชูโต ได้รับคัดเลือกจากกระทรวงวัฒนธรรม ยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินร่วมสมัยดีเด่นรางวัล “ศิลปาธร” สาขาศิลปะการออกแบบ ประจำปี พ.ศ. 2562เกิดเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2560 จบการศึกษา Ph.D.: Design Technology, Massachusetts Institute of Technology (MIT), USA

 

          ผลงานและความโดดเด่น คือเป็น ศิลปิน สถาปนิก และนักออกแบบ ที่มีเป้าหมายการออกแบบเพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน มีประสบการณ์และผลงานการออกแบบที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน (Environmental & Sustainable Design) มาอย่างยาวนาน มีแนวคิดการออกแบบ (Design concept) ซึ่งเป็นสาระสำคัญ (content) ที่กระตุ้นให้เกิดความตระหนักรู้ทางสังคม (Social awareness) โดยเฉพาะในประเด็นเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน มั่นคงในหลักการ มีผลงานต่อเนื่องสม่ำเสมอและหลากหลายที่ล้วนส่งผลกระทบต่อสังคม เป็นประโยชน์และเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่คนรุ่นใหม่ ไม่เพียงเฉพาะด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ แต่รวมไปถึงการออกแบบในทุก ๆ ด้าน เพื่อให้คนในสังคมใช้ชีวิตได้อย่างยั่งยืน

 

 

          รศ.ดร. สิงห์ อินทรชูโต ยังเป็นผู้สร้างความเข้าใจให้สังคมได้รับรู้ในเรื่อง Reduce Reuse Recycle โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การบุกเบิกการพัฒนาเพื่อเพิ่มมูลค่าเศษวัสดุหรือ Upcycling เป็นการใช้ประโยชน์จาก “ขยะ” หรือของเสียด้วยการออกแบบ การออกแบบสร้างสรรค์ผลงานมีความยากและท้าทายความรู้ความสามารถ เนื่องจากความหลากหลาย ลักษณะ และคุณสมบัติเฉพาะของเศษวัสดุที่แตกต่างกัน ยากที่จะกำหนดแนวทางที่จะใช้พัฒนาล่วงหน้าจนกระทั่งได้ลงมือปฏิบัติ ค้นคว้าและทดลองเพื่อให้เข้าใจถึงเศษวัสดุนั้น ๆ อย่างละเอียด ไม่ว่าจะเป็นวัสดุเหลือทิ้งจากการก่อสร้าง เศษวัสดุจากโรงงาน ขยะชุมชน รวมทั้งขยะจากโรงพยาบาล ผ่านกระบวนการคิด ทดลอง วิจัย เป็นวัสดุและผลิตภัณฑ์ใหม่ ที่มีความสวยงาม โดดเด่น ร่วมสมัย (contemporary) บูรณาการหลายศาสตร์ (cross innovation) ผ่านกระบวนการทางความคิดและใช้เครื่องมือที่เรียกว่า “การออกแบบ” สร้างสรรค์แปรเปลี่ยนสิ่งไร้ค่า กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างทั้งมูลค่าและคุณค่า ส่งผลให้คุณภาพชีวิตของคนในสังคมดีขึ้น คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ชีวิตความเป็นอยู่ สุขภาพ รวมไปถึงเศรษฐกิจ สู่ผลลัพธ์เป็นองค์ความรู้ แนวคิด วัสดุ สถาปัตยกรรมและผลิตภัณฑ์ ที่ไม่เพียงเน้นความงดงามด้านสุนทรียะ หากแต่ต้องเป็นความงามที่นำไปสู่ความเจริญยั่งยืนของธรรมชาติ ทั้งยังมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ความเป็นอยู่ สุขภาพ อันจะนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

 

          ผลงานโดดเด่นที่สร้างชื่อเสียงเป็นอย่างมากให้แก่ รศ.ดร. สิงห์ อินทรชูโต คือ การก่อตั้งศูนย์ค้นคว้าและออกแบบจากวัสดุ (Scrap Lab) คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก่อตั้งและออกแบบผลิตภัณฑ์อัพไซเคิลภายใต้แบรนด์ Osisu และ ผลงานจาก Upcycling Hospital Waste Initiative หรือ การพลิกฟื้นขยะทางการแพทย์ให้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ด้วยการค้นคว้า ทดลอง ออกแบบอย่างสร้างสรรค์ สู่การช่วยเหลือชุมชนและสังคม ตัวอย่างการนำขยะจากโรงพยาบาล คือถุงน้ำยาล้างไต พัฒนาเป็นวัสดุใหม่ คือ แผ่นถุงน้ำยาล้างไต ต่อยอดออกแบบเป็นกระเป๋าถุงน้ำยาล้างไต เพื่อช่วยผู้ป่วย ตลอดจนชุมชน ให้มีรายได้และลดปัญหาสิ่งแวดล้อมด้วยการออกแบบสร้างสรรค์ (2553)