‘หยุดปวดชีวิตเปลี่ยน’ : ‘ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับกระดูก’

หยุดปวดชีวิตเปลี่ยน’ : ‘ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับกระดูก

 

 

ไม่มีใครปฏิเสธว่า กระดูกเป็นส่วนสำคัญของร่างกาย แต่คุณรู้หรือไม่ว่า ในร่างกายของคนเรานั้น มีกระดูกกี่ชิ้น ?

คำตอบคือ 206 ชิ้น” สำหรับ “ผู้ใหญ่”

แล้วเด็กล่ะ มีจำนวนกระดูกมากหรือน้อยกว่าผู้ใหญ่

คำตอบคือ เด็กมีกระดูกมากกว่าผู้ใหญ่ 144 ชิ้น”

นั่นก็หมายความว่า เด็กมีกระดูก 350 ชิ้น ขณะที่ผู้ใหญ่มีกระดูก 206 ชิ้น

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น

เหตุที่เด็กมีกระดูกมากกว่าผู้ใหญ่ก็เพราะว่า เด็กกำลังอยู่ในช่วงวัยของการเจริญเติบโต จึงมีความจำเป็นต้องใช้กระดูกหลายชิ้นในการเชื่อมต่อร่างกาย

และเมื่อเด็กเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ กระดูกสองหรือสามชิ้นก็จะค่อย ๆ รวมตัวกันเป็นชิ้นเดียว

เด็ก ซึ่งตอนนี้เป็นผู้ใหญ่แล้ว ก็จะมีกระดูก 206 ชิ้น

เหมือนและเท่ากันกับทุก ๆ คน

 

กระดูกนั้นสำคัญไฉน

ทำไมกระดูกจึงเป็นส่วนสำคัญของร่างกาย

นั่นก็เพราะว่า

-กระดูก ช่วยรองรับอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย ให้ทรงตัวและตั้งอยู่ในตำแหน่งที่ควรอยู่

-กระดูก ป้องกันอันตรายให้แก่อวัยวะที่สำคัญ เช่น สมอง ไขสันหลัง หัวใจ ปอด ตับ        

-กระดูก เป็นที่ยึดของกล้ามเนื้อ และความจริงก็คือ การที่เราเคลื่อนไหวได้ ก็เกิดมาจากการหดตัวและคลายตัวของกล้ามเนื้อที่ยึดติดกับกระดูกนั่นเอง

-กระดูก ทำให้ร่างกายคงรูปได้

-ภายในกระดูกมีไขกระดูก ซึ่งทำหน้าที่ในการผลิตเม็ดเลือด (Blood cell)

นอกจากนี้ กระดูกยังเป็นที่เก็บแร่ธาตุ Calcium ในร่างกาย

และที่สำคัญ กระดูก ช่วยป้องกันเส้นประสาทและหลอดเลือดที่ทอดอยู่ตามแนวของกระดูกนั้น

                กระดูกจึงสำคัญฉะนี้

 

                รู้จักกระดูก ให้ถูกทาง

ในกระดูก 206 ชิ้น สำหรับคนที่เจริญเติบโตเต็มที่หรือคนที่เป็นผู้ใหญ่นั้น แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ตามตำแหน่งที่อยู่ของกระดูก นั่นคือ

 

                1.กระดูกแกน axial skeleton

เป็นกระดูกที่อยู่บริเวณกลางลำตัว มีทั้งหมด 80 ชิ้น ทำหน้าที่ค้ำจุนพยุงร่างกาย ประกอบด้วย        

-กระดูกกะโหลกศีรษะ 29 ชิ้น ไม่รวมฟัน

-กระดูกสันหลัง 26 ชิ้น

-กระดูกซี่โครง 24 ชิ้น

-กระดูกหน้าอก 1 ชิ้น

 

2.กระดูกรยางค์ appendicular skeleton

เป็นกระดูกที่ยื่นจากกระดูกแกนออกไป มีทั้งหมด 126 ชิ้น ทำหน้าที่ค้ำจุนพยุงร่างกาย และป้องกันอวัยวะภายใน ได้แก่

-กระดูกแขนข้างละ 30 ชิ้น รวม 60 ชิ้น

-กระดูกขาข้างละ 30 ชิ้น รวม 60 ชิ้น

กระดูกสะบักข้างละ 1 ชิ้น รวม 2 ชิ้น

-กระดูกเชิงกรานข้างละ 1 ชิ้น รวม 2 ชิ้น

-กระดูกไหปลาร้าข้างละ 1 ชิ้น รวม 2 ชิ้น

 

ความเชื่อ & ความจริง

คนเรามักจะเชื่อว่า กระดูกจะเสื่อมเมื่ออายุมากขึ้น

แต่ความจริงก็คือ แคลเซียมในกระดูกจะมีการสร้างและสลายตัวตลอดเวลา

และที่สำคัญก็คือ หลังอายุ 30 ปีไปแล้ว แคลเซียมในร่างกายจะสลายตัวมากกว่าสร้างใหม่

 

ข้อที่ควรระวังก็คือ

ถ้ากระดูกไม่แข็งแรง จะเกิดปัญหาโรคกระดูกเปราะบางหรือกระดูกพรุน ซึ่งนั่นจะทำให้มีปัญหาเกี่ยวกับข้อกระดูกต่าง ๆ เช่น ข้ออักเสบ ข้อเสื่อม มีอาการปวดหลัง ร่างกายจะเคลื่อนไหวได้ลำบาก

               

อาหารบำรุงกระดูก

อาหารที่ช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับกระดูก เป็นอาหารจำพวกที่มีแคลเซียมสูง ได้แก่

-นมสด

-ไข่แดง

-ผักใบเขียว

-ผลไม้

-อาหารที่มีวิตามินดี เช่น น้ำมันตับปลา

-ผักสด

นอกจากนี้ การออกกำลังกายเป็นประจำ ก็มีส่วนช่วยพัฒนากระดูกให้เจริญอย่างเต็มที่และแข็งแรงด้วย แต่ข้อระวังก็คือ อย่าให้น้ำหนักตัวมากเกินไปเพราะอาจทำให้ข้อต่อชำรุดเสื่อมสภาพเร็ว

 

โรคเกี่ยวกับกระดูก

มีที่มาจากหลายสาเหตุ ทั้งจากสภาพแวดล้อมและการใช้ชีวิตประจำวัน อาทิเช่น

-จากพันธุกรรม     

-จากเชื้อโรค

-จากสิ่งแวดล้อม

-จากวัยหรืออายุที่เพิ่มขึ้น

 

โครงสร้างกระดูกสันหลัง

กระดูกสันหลัง ประกอบด้วยกระดูกและกล้ามเนื้อ ซึ่งอยู่ที่บริเวณด้านหลังของลำตัว มีหน้าที่ในการรับน้ำหนัก และเชื่อมโยงเส้นประสาทจากสมองถึงเชิงกราน

ภายในกระดูกสันหลัง จะมีส่วนที่เรียกว่า “ไขสันหลัง” ซึ่งมีหน้าที่นำคำสั่งจากสมองไปสู่อวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย

“กระดูกสันหลัง” ซึ่งอยู่ด้านนอก จึงมีหน้าที่คอยป้องกัน “ไขกระดูกสันหลัง” ซึ่งอยู่ภายใน “โพรงกระดูกสันหลัง” อีกชั้นหนึ่งด้วย

ระหว่างกระดูกสันหลังแต่ละข้อ จะมี “หมอนรองกระดูก” คั่นกลางอยู่

ลักษณะของ “หมอนรองกระดูก” นี้ ประกอบด้วย 2 ส่วน กล่าวคือ

1.หมอนรองกระดูกชั้นใน มีลักษณะคล้ายเยลลี่ หรือนิวเคลียสพอลโพซัส

2.หมอนรองกระดูกนอก มีลักษณะเหมือนถุงห่อหุ้ม เรียกว่าอนุลัสไฟโบรซัส    

ความสำคัญของ “หมอนรองกระดูก” ก็คือ มีหน้าที่รับน้ำหนัก ใช้ในการขยับหลัง เพื่อ ก้ม หรือ แอ่น

ระหว่าง “กระดูกสันหลัง” แต่ละข้อ จะมี “เส้นประสาท” อยู่ภายใน

 

รู้เรื่องกระดูกใช้ชีวิตถูกวิธี

                กระดูกสันหลัง มี 4 ส่วน

ส่วนคอ มี 7 ชิ้น

ช่วงอก มี 12 ชิ้น

ช่วงเอว มี 5 ชิ้น

และช่วงเชิงกราน มี 1 ชิ้น

 

เมื่ออายุมากขึ้น มีสาเหตุ ที่ทำให้เกิดอาการ “ปวดหลัง” ได้

เช่น มีการฉีกขาด ของ “หมอนรองกระดูกชั้นนอก”

“หมอนรองกระดูกชั้นใน” มีน้ำน้อยลง ทำให้มีคุณสมบัติในการรับน้ำหนักได้น้อยลง

“ข้อต่อด้านหลังเสื่อม” ทำให้หลวม มีการขยับมีกระดูกสันหลังมากกว่าปกติ ทำให้เกิดอาการปวดได้

“หมอนรองกระดูก” ที่เสื่อมและเคลื่อนไปทับเส้นประสาท ทำให้มีอาการปวดร้าวลงขาได้

และ “หินปูน” ที่ “กระดูกสันหลัง” สามารถงอกและยืดไปกดทับเส้นประสาทได้ ซึ่งเป็นสาเหตุของการปวดอีกอย่างหนึ่งด้วย

 

น.พ.ดิตถพงษ์ บุญอำพล

 

 

//.........................

หมายเหตุ: ‘หยุดปวดชีวิตเปลี่ยน’: ‘ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับกระดูก’: “น.พ.ดิตถพงษ์ บุญอำพล” ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเอส โรงพยาบาลเฉพาะทางด้านกระดูกสันหลังและระบบประสาท

 

เพจ S spine and nerve hospital-โรงพยาบาลเฉพาะทางด้านกระดูกสันหลังและระบบประสาท

https://web.facebook.com/sspinehospital/

//.........................