‘เนื้อมวลสาร’ ที่แตกต่าง ของ ‘พระขุนแผนผงพรายกุมาร’

‘เนื้อมวลสาร’ ที่แตกต่าง ของ ‘พระขุนแผนผงพรายกุมาร’

 

ว่านไพลดำ

 

          "ใครทำได้ชีวิตนี้ไม่มีตกอับ" พระคาถาพระฉิมพลีให้ลาภ :

“หลวงปู่ทิม อิสริโก”  วัดละหารไร่ จ.ระยอง ท่านเคยกล่าวไว้ว่า ใครที่ท่องบทสวดต่อไปนี้ มีผลดีแก่ผู้ใช้มหาศาลทีเดียว

พระคาถาพระฉิมพลีให้ลาภ

(นะโม 3 จบ)

“สิวลีจะมหาเถโร ปัจจะยะลาภะปูชิโต มะนุสโสเทวะตาอินโท พรหมมายะโม ยักขาวาปิตัสสะ นิรันตะรัง ปะนะลาภะ สักกาเรอาเน็นติ นิจจัง สิวลีคเถรัสสะ ลาโภ จะสักกาโรโหติ สิวลีมหาเถรัสจะปูชะกัสสะ สะทาวาปิ คาถันจะ สังวัดตะนัสสะ ลาโภจะ สักกาโรโหเถรัสสะ อานุภาเวนะ ลาโภเมโหตุ สัพพะทา เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ ลาโภเมโหตุ สัพพะทา สิวลีจะมหาเถโร สุวรรณะมามา โภชนะมามา โภคะมามา มหาลาโภมาๆ วัตถุวัตถามาๆ พะลาพลังมาๆ สัพเพชะนา พะหูชะนา ภวันตุเม ฯ”

ผมเคยเล่าให้ฟังรวม ๆ ไว้แล้วว่า “พระขุนแผนผงพรายกุมาร” ปี 2515 กับ ปี 2517 ในกลุ่มคนที่สะสมพระเครื่อง มีการแบ่งกลุ่มกันว่า ของใครแท้ ของใครไม่แท้

 

ปูนกินหมาก

 

วันนี้ ผมจะมาเจาะในบางประเด็นที่น่าคิดครับว่า “เนื้อมวลสาร” ที่ใช้ในการทำ “พระขุนแผนผงพรายกุมาร” มี “เนื้อมวลสาร” ที่สำคัญอย่างไร

ก่อนอื่นผมคงต้องขอบอกก่อนนะครับว่า ไม่สามารถรู้ได้ทั้งหมด

เพราะทั้งหมดนี้ ได้มาจากคำบอกเล่าของคนพื้นที่ว่า ผสม “มวลสาร” อะไรบ้าง

อีกอย่างที่ต้องบอกคือ “หลวงปู่ทิม” ท่านมีความรู้เรื่อง “หมอพื้นบ้าน” ในการรักษา พระของท่านจึงมี “มวลสาร” ที่เป็น “ว่านยา” ต่าง ๆ

นี่ทำให้บางคนที่ศรัทธา เอามาแช่น้ำทำเป็น “น้ำมนต์” เพื่อไว้ใช้กันครับ

 

ว่านเถาวัลย์หลง

 

เรามาเริ่มจาก “พระขุนแผนผงพรายกุมาร” ปี 2515 กันเลยครับ

“มวลสาร” ที่สำคัญคือ “ผงพรายกุมาร” ครับ

จากคำบอกเล่า “ผงพรายกุมาร” ได้มาจาก ผีตายท้องกลม ผีที่ตายวันเสาร์ เผาวันอังคาร  และเนื้อข้าวเหนียวสุกที่เอามาตำ แล้วนำมาผสมกับว่านต่าง ๆ

 

สายแร่ทองคำ

 

บางองค์มี “สายแร่ทองคำ” จะออกเป็นสีทอง คือการเอา “สายแร่ทองคำ” มาทาที่ “แม่พิมพ์พระ” ก่อนเอา “มวลสาร” ใส่แล้วค่อยกดเป็นองค์ขุนแผนออกมา

แต่บางองค์ที่ไม่ได้ทา “สายแร่ทองคำ” ก่อน ก็จะออกเป็นสีต่าง ๆ ตาม “มวลสาร” ของ “สีน้ำว่าน”

เพราะเหตุนี้แหละครับ จึงทำให้ “สี” ของ “พระขุนแผนผงพรายกุมาร” ออกมาแตกต่างกัน

 

ผงพรายจินดามณี

 

“สี” ของ “พระขุนแผนผงพรายกุมาร” แบ่งได้ดังต่อไปนี้ครับ

“สีดำ” ได้มาจากการผสมกับ “น้ำว่านไพลดำ”

“สีเขียว” ได้จากการผสมกับ “น้ำว่านเถาวัลย์หลง”

“สีแดง” ได้มาจากผสมกับ “น้ำปูนกินหมาก”

“สีชมพู” ได้มาจากผสมกับ “น้ำว่านสบู่เลือด”

“สีเหลือง” ได้มาจากผสมกับ “น้ำว่านดอกทอง”

“สีขาว” ได้มาจากผสมกับ “ผงพรายจินดามณี”

“สีฟ้า” ที่ได้มาจาก “สีน้ำคราม”

“สีม่วง” ได้มาจาก “ดอกอัญชัน”

“สีเขียวอ่อน” เป็นเนื้อข้าวเหนียวสุกชุบสีที่ได้จาก “ใบเตย”

ที่เหลือก็คือ “เนื้อกระยาสารท” และ “เนื้อก้นครก” คือเอา “มวลสาร” ที่เหลือมากดพิมพ์ครับ

 

ว่านดอกทอง

 

นี่เป็น “มวลสาร” สำคัญ ของ “พระขุนแผนผงพรายกุมาร” ปี 2515

ส่วน “พระขุนแผนผงพรายกุมาร” สายห้าง ที่ชาวบ้านไม่มี จะมี “มวลสารหลัก” คือ “ปูนปลาสเตอร์” กับ “กาวลาเท็กซ์” และ “ผงพรายกุมาร”

(เนื้อ “มวลสาร” อย่างนี้ ไม่สามารถเอามาทำ “น้ำมนต์” ได้ครับ)

 

ก้นครก

 

ที่น่าแปลกใจคือ ผมได้ลองค้นคว้า “กาวลาเท็กซ์” พบว่า ได้เข้ามาในประเทศไทย ปี 2518 โดยบริษัทสี TOA ได้นำเข้ามาขายในประเทศไทย

ขณะที่ “มวลสาร” อีกอย่างที่สำคัญคือ “ปูนปลาสเตอร์” ก็ดันมาเดินสายการผลิต ที่นนทบุรี ใน ปี 2519

เอาแล้วไง ! พระสร้าง ปี 2517 เอา “มวลสาร” จากไหนมากดพิมพ์ล่ะครับ

อย่างนี้ มันก็น่าคิดไม่ใช่น้อยอยู่ไม่ใช่หรือครับ

ทั้งหมดนี้ เป็นข้อมูล “มวลสาร” ในการการสร้าง “พระขุนแผนผงพรายกุมาร” ของ ปี 2515 กับปี 2517 ว่า มีความแตกต่างกันอย่างไร

เอาแค่แค่เนื้อหาสำคัญเล็ก ๆ น้อย ๆ แค่นี้ก่อนครับ เผื่อว่า อาจจะบอกอะไรท่านทั้งหลาย ในบางสิ่งบางอย่างไม่มากก็น้อย

ที่ผมเล่ามาทั้งหมดนี้ ก็เพื่อตั้งเป็นประเด็น “ปุจฉา” ส่วนเรื่องของการ “วิสัชนา” นั้น ท่านผู้อ่านก็คงต้องลองไปค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติมกันนะครับ

ลองพิจารณาดูครับว่า “พระขุนแผนผงพลายกุมาร” ที่ท่านอยากสะสม อยากจะบูชา ท่านมีความคิดเห็นกันอย่างไร

เรื่องอย่างนี้ ต้องบอกว่า สุดแล้วแต่ท่านครับ แต่ก็อย่าเพิ่งเชื่อ จนกว่าท่านจะได้หาข้อมูลด้วยตัวเอง

 

อัญชัน

 

ในวงการพระเครื่องพระบูชา มีคำอยู่คำหนึ่ง ที่มักจะพูดต่อ ๆ กันมา นั่นก็คือ จะเช่าพระ จะสะสมพระ ต้อง “อย่าเชื่อหู จงเชื่อตาตัวเอง”

และที่สำคัญที่สุดก็คือ ต้องหาความรู้ศึกษาก่อนที่จะสะสมด้วยครับ

สุดท้ายนี้ ขอบอกกับท่านผู้อ่านทุกท่านว่า ไม่ว่าท่านจะขอพรจากพระองค์ไหน วัดดังที่ใดก็ตาม ถ้าท่านไม่ลงมือทำ ท่านก็จะไม่ประสบความสำเร็จ ดังที่ท่านประสงค์ 

ผมขอพรเพื่อเป็นกำลังใจให้ แต่ที่มากกว่ากำลังใจก็คือ แรงกายที่ต้องใช้เพื่อนำพาสู่ความสำเร็จ

ขอให้ทุกท่านสำเร็จดังประสงค์ทุกท่านนะครับ...

 

//.......................

          หมายเหตุ: ขอบคุณ ภาพประกอบ จาก “ดร.ภิเษก ศรีสวัสดิ์” , Fern Luadbankhai (คุณเฟิน)

 

          เพจ “กลุ่มอนุรักษ์พระเครื่องเลือดบ้านค่ายศึกษาประวัติศาสตร์พระเครื่องหลวงปู่ทิม”

          https://www.facebook.com/groups/375245112834640/ 

 

         เรื่องที่เกี่ยวข้อง

         ‘ปฐมบท-วิวาทะ ขุนแผนพรายกุมารปี 15 VS ปี 17’ : คอลัมน์ : “จิปาถะพระเครื่องโดยธุลีธรรม

         http://bangkoklife.news/g9a

//.......................