...ประวัติศาสตร์ที่(ไม่ใช่)เพิ่ง(จะ)เศร้า...

...ประวัติศาสตร์ที่(ไม่ใช่)เพิ่ง(จะ)เศร้า... : คอลัมน์ : “สัพเพเหระ” : "นายทิวา"

 

 

       “ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งเศร้าคือชื่อหนังสือ รวมเรื่องสั้นของ จิรัฏฐ์ ประเสริฐทรัพย์จัดพิมพ์โดย “สำนักพิมพ์ Salmon Books” ครับ

                ต้องยอมรับว่า รวมเรื่องสั้นเล่มนี้เป็นอีกหนึ่งเล่ม ที่ต้องถือว่า เป็นงานวรรณกรรมที่งดงามอย่างยิ่ง

                เป็น “ความงดงาม” ของ “ความเศร้า” ที่กัดกินหัวใจเหลือเกิน

                นี่เป็นความเศร้าอันงดงาม ซึ่งถ่ายทอดผ่านตัวอักษรที่งดงามเต็มความรู้สึก

                ทว่า ! ที่น่าเศร้ายิ่งกว่า กลับไม่ใช่เพียงแค่ตัวอักษร ที่ถูกถ่ายทอดผ่านงานวรรณกรรม

                หากแต่เป็น “ที่ทาง” และ “พื้นที่” ของ “หนังสือ” !

โดยเฉพาะในกลุ่มงาน “วรรณกรรม”

                เมื่อหลายวันก่อน น้องคนหนึ่งที่รักการเขียน และรักการอ่าน โดยเฉพาะกลุ่มงานวรรณกรรม ทั้งวรรณกรรมไทยและต่างประเทศ ส่งข้อความมาพูดคุยบอกเล่ากึ่งตัดพ้อ

                ประโยคแรกที่เขียนมาก็คือ “พี่ครับ มันน่าเศร้ามาก ๆ เลยครับพี่”

                หะแรก ที่ได้เห็นข้อความ ใจผมก็วูบคิดในทันทีถึงเรื่องราวของความสูญเสีย ที่น่าจะเป็นเรื่องใกล้ตัว

                แต่ประโยคที่ส่งต่อมาแทบจะในทันทีหลังจากนั้น ก็ทำให้โล่งใจไปได้ กระนั้น ข้อความประโยคที่ว่านี้ ก็กลับทำให้เกิดอาการทั้งหนักและหน่วงหัวใจอย่างยิ่ง

               “ผมไปที่ร้านหนังสือ... ในห้างใหญ่... ผมหาหนังสือ... ไม่เจอ ก็เลยถามพนักงานในร้านให้ช่วยหา เขาคีย์ข้อมูลจากเครื่องบอกว่า มีหนังสือเข้ามาแล้ว แต่หาอย่างไรก็ไม่เจอ พนักงานที่ช่วยหาก็หาไม่เจอครับ”

                หนังสือเล่มที่ว่านี้ ก็คือ รวมบทกวี “ทุกขณะกระจ่างชัดสัมผัสใจ” ของ “รินศรัทธา กาญจนวตี” จัดพิมพ์โดย “สำนักพิมพ์ออนอาร์ต”

                หนังสือเล่มที่ว่านี้ เพิ่งได้รับรางวัลชนะเลิศ “รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด” ประจำปี 2562 ประเภท “กวีนิพนธ์”

                น้องคนที่ว่านี้ บอกว่า ได้ถามพนักงานในร้านถึงหนังสือเล่มนี้

                และพนักงานในร้านได้ถามกลับมาว่า หนังสือเล่มนี้ เป็นหนังสือเกี่ยวกับ “ศาสนา” ใช่ไหม

                กระนั้น ก็ไม่พบว่า มีหนังสือกวีนิพนธ์เล่มนี้ วางอยู่ในชั้นหนังสือหมวด “ศาสนา” หรือหมวดหนังสืออื่นใดเลย

                ตรงกันข้าม ในหมวด “ศาสนา” ที่อัดแน่นเรียงรายด้วยหนังสือศาสนาต่าง ๆ มากมาย น้องคนที่ว่านี้ บอกว่า เขากลับได้พบหนังสือในกลุ่มงานวรรณกรรมอีกหนึ่งเล่ม

                หนังสือเล่มที่ว่าคือ กวีนิพนธ์ 3 ภาษา (เนปาลี-อังกฤษ-ไทย) “พระอาทิตย์เล่นน้ำ” ของ Krishna prasai กวีชาวเนปาล ที่ถ่ายทอดเป็น “กวีนิพนธ์ไทย” โดย “นายทิวา” และจัดพิมพ์โดย “สนพ.ออนอาร์ต

                และที่น่าเศร้ายิ่งกว่าก็คือ เขายังพบหนังสือในกลุ่มงานวรรณกรรมอีกหนึ่งเล่ม อยู่ในหมวด “ประวัติศาสตร์”

      หนังลือเล่มที่ว่าคือ รวมเรื่องสั้น ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งเศร้า ของ จิรัฏฐ์ ประเสริฐทรัพย์ จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์ Salmon Books”

                ร้านหนังสือที่ว่า คือ think space b2s

       ห้างใหญ่ที่ว่า คือ centralfestival eastville

                ผมไม่มีเหตุผลต้องปกปิดชื่อร้านและสถานที่ เหตุเพราะผมไม่คิดว่า นี่เป็นเรื่องที่จะทำให้เกิดความเสียหายอย่างหนึ่งอย่างใด

                ตรงกันข้าม นี่กลับเป็น “ข้อเท็จจริง” ประการหนึ่ง

                และ “ข้อเท็จจริง” ที่ว่านี้ ก็ไม่ได้บอกอะไรมากไปกว่า “ความน่าเศร้า” ที่อาจบางทีแทบจะกลายเป็น “ความคุ้นชิน” ในสภาวะที่เป็นอยู่และเป็นไป

      “ข้อเท็จจริง” ที่ว่านี้ เสมือนการบอกเล่าถึงเรื่องราวของ “การอ่านหนังสือ”

      “ข้อเท็จจริง” ที่ว่านี้ เสมือนการบอกเล่าถึงเรื่องราวของ “วัฒนธรรม(ของ)การอ่าน” ตลอดจน “ความเข้าใจ” ต่อ “หนังสือ” ในบริบทที่หนังสือเป็นเสมือน “ภาพสะท้อนของสังคม” ในเชิงโครงสร้าง

      ไม่ใช่เรื่องแปลก ที่หนังสือในกลุ่ม “วรรณกรรม” แทบจะไม่มี “ที่ทาง” หรือ “พื้นที่”

       อาจบางที คงไม่ใช่เฉพาะแค่ใน “ร้านหนังสือ” เท่านั้น หากแต่ยังน่าจะหมายรวมไปถึงแทบจะในทุกภาคส่วนของสังคมเสียด้วยซ้ำ

       นี่เป็นเรื่องน่าเศร้าอย่างยิ่ง และความน่าเศร้าที่ว่านี้ ก็ไม่สู้จะงดงามนัก !

      โดยเฉพาะในหมู่มวล คนรักการอ่าน คนรักการเขียน ตลอดจนผู้คนต่าง ๆ ในกระบวนการของการจัดทำหนังสือ ด้วย “แรงงานแห่งความรัก” ใน “สวนอักษร”

       ผมไม่แน่ใจนักว่า “เรา” แต่ละคน ในสถานะคนเล็ก ๆ กลุ่มคนเล็ก ๆ จะสามารถทำอะไรได้บ้าง

       เอาเข้าจริงนี่เป็นเพียงรูปธรรมเล็ก ๆ ที่เคยเกิดขึ้น และยังเกิดขึ้นอยู่ รวมทั้งยังน่าเชื่อว่า น่าจะยังเกิดขึ้นอยู่ต่อไป จนกว่าจะถึงกาลแตกดับโดยสิ้นเชิง ของ “สวนอักษร”

                ที่เราทำได้ อาจบางทีก็คงมีเพียงแค่การทำความเข้าใจ

                หรืออย่างน้อยที่สุด ก็คือ การพยายามจะเข้าใจต่อปรากฏการณ์ที่เป็นไป เพื่อยืดเวลากับเรื่องเหล่านี้ ให้ยาวนานออกไปมากที่สุด เท่าที่จะยังพอทำได้

                ที่เราทำได้ อาจบางทีก็คงมีเพียงเท่านี้

                ถ้าจะยังพอมีความหวังอยู่บ้าง ก็คงไม่ได้อยู่ที่ใครอื่น หากแต่อยู่ที่ “เรา” แต่ละคน ในสถานะคนเล็ก ๆ กลุ่มคนเล็ก ๆ

                เสียเวลาเปล่าครับ ถ้าจะไปคาดหวังต่อ “ภาครัฐ” หรือ “องค์กร” อะไรใหญ่โตมากมายที่มีอยู่

                ท่านทั้งหลายเหล่านั้น มีเรื่องสำคัญกว่ามากมายที่ต้องทำ และน่าจะสำคัญมากยิ่งกว่าเรื่องเล็ก ๆ อันว่าด้วย “วาระการอ่าน” ไม่ว่าจะ “แห่งชาติ” หรือไม่ก็ตาม

                เต็มที่ เราก็เพียงแค่รอเวลาถึงที่สุด เพื่อให้หน้าประวัติศาสตร์บันทึกไว้

                ไม่มีอะไรมากไปกว่า ความเป็น “ประวัติศาสตร์ที่น่าเศร้า”

                ครับ นี่ไม่ใช่ “ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งเศร้า” หากแต่เป็น “ความน่าเศร้า” ที่มีมาก่อนหน้านี้ กระทั่งถึงห้วงเวลาขณะนี้ และน่าเชื่อว่า จะยังมีอยู่ต่อไป จนถึงอนาคตอันใกล้นี้

               ก็จนกว่าการบันทึกหน้าประวัติศาสตร์แห่งความเศร้าหน้านี้ จะสิ้นสุดจบลงโดยบริบูรณ์แหละครับ !!!

 

 

//..............................

               หมายเหตุ : เพจ "นายทิวา"

               https://www.facebook.com/naitiwawriter/

//.............................