‘น้ำมันรั่ว - ระยอง’ ยังไม่จบ !! ระบุชัด ‘สัตว์ทะเล - ระบบนิเวศ’ อ่วม !!

น้ำมันรั่ว - ระยองยังไม่จบ !! ระบุชัด สัตว์ทะเล - ระบบนิเวศอ่วม !!

 

ยังไม่จบ “น้ำมันรั่ว” ระลอกสอง “ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์” ระบุ น่าเศร้า ผลกระทบ “สัตว์ทะเล - ระบบนิเวศ” เผย เร่งเก็บข้อมูลเพื่อฟื้นฟู หวัง ไม่มีครั้งหน้าอีก !

 

“ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์” รองคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษและประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  ได้เผยแพร่ข้อความและรูปภาพ ผ่าน เฟซบุ๊กส่วนตัว “Thon Thamrongnawasawat” ระบุถึงผลกระทบต่อเนื่องจาก “น้ำมันรั่ว” ระลอกสอง ที่ส่งผลต่อ “สัตว์ทะเล -ระบบนิเวศ” โดยมีเนื้อหา ดังนี้

 

“เช้านี้ที่หาดแม่รำพึง บางแห่งมีน้ำมันจาง ๆ เข้ามากับคลื่น ขุดทรายบางจุดยังเจอฟิล์มน้ำมันซึมออกมาจากใต้ทราย

 

สถานการณ์ยังไม่จบ คำถามที่หลายคนอยากทราบ สัตว์ได้รับผลกระทบอย่างไร ? วันนี้จึงจะมาเล่าให้เพื่อนธรณ์ฟัง

 

คณะประมง ม.เกษตรศาสตร์ทำงานร่วมกับกรมทรัพยากรทางทะเลฯ จัดทำสถานีเรียงรายตามชายหาดหลายกิโลเมตร

 

เราใช้โดรนตรวจสอบ before & after เพื่อกำหนดจุดเก็บตัวอย่างและแบ่งพื้นที่ได้รับผลกระทบออกเป็นเขต ๆ

 

ผมเคยอธิบายเรื่องการแบ่งพื้นที่ผลกระทบเป็น 4 บริเวณ ลองย้อนไปอ่านได้ (แดงเข้ม แดง ส้ม เหลือง)

 

เมื่อน้ำมันเข้ามา บางส่วนจมลงไปใต้ทรายในบริเวณที่หอยเสียบอาศัย

 

หอยเสียบเป็น Bio-marker สัตว์ที่เป็นดัชนีชี้วัดความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ

 

น้ำมันส่งผลต่อหอยเสียบได้ทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว

 

การเก็บตัวอย่างทำตอนน้ำลงต่ำสุด วางไลน์ตั้งฉากกับหาด ขุดหลุมเก็บตัวอย่างไล่ตามไลน์ไปทีละจุด

 

ระหว่างนั้นก็เก็บข้อมูลอื่น ๆ เช่น TPH (ปิโตรเลี่ยมไฮโดรคาร์บอน)

 

ช่วงที่ผ่านมา น้ำลงต่ำกลางคืน บางคืนทำงานกันถึงตีสี่

 

เรานำตัวอย่างมาวิเคราะห์ แยกสัดส่วนหอยเป็น/หอยตาย เพื่อดูผลกระทบแบบเฉียบพลัน

 

ภาพที่เพื่อนธรณ์เห็นคือตัวอย่างจากจุดแดงเข้ม น้ำมันเข้าเยอะ หอยเสียบคลุกน้ำมัน

 

บางส่วนตายทันที ปากอ้าตั้งแต่ตอนเก็บ บางส่วนยังรอดอยู่

 

การเก็บจึงต้องทำหลายครั้ง เพื่อดูว่าเมื่อเวลาผ่านไป หอยตายเพิ่มขึ้นบ้างไหม

 

ยังต้องทำในแต่ละเขตให้ครบถ้วน เพื่อดูว่าผลกระทบต่างกันอย่างไร

 

งานต้องเร็วและต่อเนื่อง เพื่อพิสูจน์ให้ได้ว่าเป็นผลมาจากน้ำมัน มิใช่อีกหลายเดือนให้หลังค่อยมาทำ อาจมีข้อสงสัย

 

หนนี้เรามีข้อมูล Before ก่อนน้ำมันเข้าหาดจึงบอกได้ชัดเจน

 

ยังมีการวิเคราะห์อีกหลายแบบ เช่น ความสัมพันธ์ระหว่าง TPH (น้ำมัน) กับอัตราตายของหอยเสียบ สัดส่วนของลูกหอยที่ตาย เมื่อเทียบกับหอยเต็มวัย ฯลฯ

 

เมื่อน้ำมันยังไม่หมด แถมมีระลอกสอง ผลกระทบก็ต่อเนื่อง งานก็ยิ่งเพิ่มขึ้นยาวต่อไป

 

นั่นเฉพาะแค่หอยเสียบ ยังมีปูทหาร มีจั๊กจั่นทะเล หนอนทะเล ฯลฯ ที่เป็น Bio-marker ของหาดทราย

 

แค่ตอนนี้ ตัวอย่างก็เต็มตู้แช่ อาจารย์/นิสิตทำงานกันจนดึกดื่น เพื่อหาข้อมูลขั้นต้นออกมาให้ได้

 

เป็นงานที่น่าเศร้า ไม่มีใครอยากเห็นหอยตายปูตายเพิ่มขึ้นและเพิ่มขึ้น

 

ยิ่งไม่เข้าใจว่าทำไมถึงรั่วซ้ำอีกครั้ง หอยปูจะโดนซ้ำเติมแค่ไหน

 

แต่ทุกคนพยายามครับ เพราะทราบดีว่าเมื่อส่งไปรวมกับข้อมูลของกรมทะเล จะมีความสำคัญในการฟื้นฟูเยียวยาระบบนิเวศ

 

ผมดีใจที่เด็ก ๆ มาช่วยกัน พวกเขาเป็นอนาคต

 

เป็นนักวิทยาศาสตร์ทางทะเลหมาด ๆ ก็มีโอกาสได้ทำงานใหญ่เช่นนี้ ได้ใช้ความรู้ตอบแทนทะเลทันที

 

หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ความรู้ประสบการณ์จะมีประโยชน์สำหรับคราวหน้า

 

หวังเป็นอย่างยิ่งกว่า จะไม่มีคราวหน้าอีกแล้วครับ…”

 


ภาพหอยเสียบจากจุดแดงเข้ม น้ำมันเข้าหนักในครั้งแรก สีดำๆ ที่เห็นคือน้ำมันปนทราย



 น้ำมันที่ยังฝังอยู่ในทราย ระหว่างที่เราเก็บตัวอย่างครั้งแรก




หอยเสียบปากอ้า ตายตั้งแต่ตอนน้ำมันเข้า



เด็ก ๆ คณะประมงทำงานกันถึงดึกดื่นครับหอยเสียบปากอ้า ตายตั้งแต่ตอนน้ำมันเข้า

 

//.................

              CR : Thon Thamrongnawasawat

//.................