“เศรษฐกิจพอเพียง” ทางเลือก – ทางรอด “สังคมไทย”

“เศรษฐกิจพอเพียง” ทางเลือก ทางรอด “สังคมไทย”

 

“เศรษฐกิจพอเพียง เป็นเสมือนรากฐานของชีวิต รากฐานความมั่นคงของแผ่นดิน เปรียบเสมือนเสาเข็ม ที่ถูกตอกรองรับบ้านเรือนตัวอาคารไว้นั่นเอง

 

สิ่งก่อสร้างจะมั่นคงได้ ก็อยู่ที่เสาเข็ม

 

แต่คนส่วนมากมองไม่เห็นเสาเข็ม และลืมเสาเข็มเสียด้วยซ้ำไป”

             

ข้างต้นนี้ คือ “พระราชดำรัส” ของ “พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร”

 

เศรษฐกิจพอเพียง” เป็น “แนวพระราชดำริ” ของ “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในหลวง รัชกาลที่ 9

 

ที่พระราชทานให้แก่พสกนิกรชาวไทย นับตั้งแต่ปี 2517 เป็นต้นมา

 

เศรษฐกิจพอเพียง” เป็นแนวคิดที่ตั้งอยู่บนรากฐานของวัฒนธรรมไทย เป็นแนวทางการพัฒนา ที่ตั้งบนพื้นฐานของทางสายกลาง และความไม่ประมาท

 

คำนึงถึงความพอประมาณ ความมีเหตุผล การสร้างภูมิคุ้มกันในตัวเอง

 

ตลอดจนใช้ความรู้และคุณธรรม เป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิต

 

ที่สำคัญจะต้องมี “สติ ปัญญา และความเพียร” ซึ่งจะนำไปสู่ “ความสุข” ในการดำเนินชีวิตอย่างแท้จริง

 

 

หากย้อนเวลากลับไปก่อนหน้านี้ “สังคมไทย” ได้มุ่งเน้นแนวทางการพัฒนา ที่เน้นการ “ขยายตัวทางเศรษฐกิจ” ของประเทศเป็นหลัก

 

แนวทางที่ว่านี้ แน่นอนว่า มี “ด้านดี” แต่ในทางกลับกัน ก็มี “ด้านลบ” เช่นกัน

 

และนี่ก็เป็นที่มาของ “แนวพระราชดำริ” อันว่าด้วยปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียง” ที่เน้นการกลับไปสร้าง “ความเข้มแข็ง” ให้กับ “รากฐาน - ชุมชน” โดยเน้นการ “มีพอกินพอใช้” ของประชาชนส่วนใหญ่

 

เมื่อมีพื้นฐานความมั่นคงพร้อมพอสมควรแล้ว จึงสร้างความเจริญและฐานะทางเศรษฐกิจให้สูงขึ้นได้

 

นั่นเป็นช่วงเวลาก่อนหน้านี้ ก่อนที่ทั้ง “สังคมไทย” และ “สังคมโลก” จะต้อง “เผชิญหน้า” กับ “สภาวะหยุดนิ่ง” ทั้ง “โครงสร้าง” โดยปรากฏการณ์ของ “โควิด-19ในห้วงเวลาปัจจุบัน

 

และ ณ เวลานี้ ทุกประเทศทั่วโลก ต้องกลับมา “เริ่มต้น” ครั้งใหม่อีกครั้ง ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย

 

นี่เป็นอีกครั้ง ที่แนวทาง “เศรษฐกิจพอเพียง” ตาม “แนวพระราชดำริ” จะเป็น “ธงคำตอบ” สำคัญ ในการนำพา “สังคมไทย” ให้ผ่านพ้น และสามารถก้าวต่อไป ใน “สังคมโลก” ได้อย่างยั่งยืน

 

ภายใต้ “นิยามความหมาย” ของแนวทาง “เศรษฐกิจพอเพียง”

 

หนึ่งคือ “ความพอประมาณ” ไม่น้อยไป ไม่มากไป ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น

 

หนึ่งคือ “ความมีเหตุผล” โดยพิจารณาจากเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนคำนึงถึงผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้น จากการกระทำนั้น ๆ อย่างรอบคอบ

 

หนึ่งคือ “ภูมิคุ้มกัน” การเตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบ และการเปลี่ยนแปลงด้านต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น

 

โดยมี “เงื่อนไข” ของ “ความรู้” และ “คุณธรรม” ในการตัดสินใจและดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ

 

นี่คือ “เสาเข็ม” ของ “สังคมไทย” ที่จะช่วยให้เรารอดไปได้อีกครั้งอย่างยั่งยืน...

 








สแกนคิวอาร์โค้ด เพื่อดาวน์โหลดอ่านทั้งฉบับ

 

//.......................

              CR : DAD MAGAZINE ความสุขในศูนย์ราชการ

//.......................