‘ศิลปินแห่งชาติ’ แนะ ศธ. จัด ‘ชั่วโมงอ่านหนังสือ’ กระตุ้น ‘รักการอ่าน’

ศิลปินแห่งชาติแนะ ศธ. จัด ชั่วโมงอ่านหนังสือกระตุ้น รักการอ่าน

 

         “เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์” ชี้ คนรู้หนังสือ ไม่อ่านหนังสือ เท่ากับคนไม่รู้หนังสือ ระบุ เวลานี้ มีคนไม่รู้หนังสือ เพราะไม่อ่านหนังสือมาก แนะ ศธ. “จัดชั่วโมงอ่านหนังสือ” ให้นักเรียน “ประถม - มัธยม” มั่นใจ แค่ปีเดียว เด็กรักการอ่านพุ่ง 50 – 60 %

 

นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติ ในฐานะสมาชิกวุฒิสภา กล่าวตอนหนึ่งในการประชุมวุฒิสภา เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2564 ในช่วงปรึกษาหารือ ถึงเรื่อง การอ่าน เขียน เรียนรู้ กิจกรรมในโรงเรียนว่า ก่อนอื่น ขอขอบคุณ กระทรวงวัฒนธรรม ที่ได้เคยหารือเรื่องวิกฤติภาษา ในสภาวะวิกฤติว่า เวลานี้ เราใช้ภาษาต่างประเทศกันมาก ซึ่งก็เข้าใจว่า เป็นเพราะสภาวะวิกฤติในเรื่องโรคภัยไข้เจ็บ จึงต้องใช้ภาษาวิชาการ แต่ในเมืองใหญ่ ๆ โดยเฉพาะ กทม. มีการใช้ภาษาต่างชาติกันมาก โดยไม่มีภาษาไทยกำกับ

 

“ผมได้ฝาก กระทรวงวัฒนธรรม ให้ช่วยรณรงค์ในเรื่องนี้ ซึ่งทางกระทรวงได้ตอบมา ก็ขอบคุณ แต่ตอบมาเฉพาะเรื่องกิจกรรมที่ทางกระทรวงได้ทำ ไม่มีเรื่องวิกฤติที่ผมได้หารือ แต่วิกฤตินี้ เป็นผลจากกิจกรรมเหล่านั้น ไม่ได้ตอบสนอง หรือตอบสนองในด้านอื่น เรื่องนี้ ยังจำเป็นต้องช่วยกันรณรงค์ เพราะภาษาเป็นรากฐานของวัฒนธรรม หนังสือเป็นอารยธรรมทางภูมิปัญญา”

 

 

นายเนาวรัตน์ กล่าวด้วยว่า ในประเด็นนี้ ขอหารือว่า เวลานี้ เป็นดังที่คำกล่าวของผู้รู้ท่านว่าไว้ว่า คนที่รู้หนังสือ แต่ไม่อ่านหนังสือ ก็เท่ากับคนที่ไม่รู้หนังสือนั่นเอง คนรู้หนังสือ แต่ไม่อ่านหนังสือ ไม่ต่างอะไรกับคนที่ไม่รู้หนังสือ เวลานี้ เรามีคนไม่รู้หนังสือ เพราะไม่อ่านหนังสือมากเหลือเกิน จึงขอเสนอกิจกรรมเป็นตัวอย่างว่า โรงเรียนน่าจะทำ โดยไม่ใช่แค่ไปส่งเสริมรักการอ่านเฉพาะโครงการต่าง ๆ ที่สิ้นเงินเป็นนับพันล้าน แต่ไม่ได้ผลปรากฏที่มีประสิทธิผลเลย

 

“กิจกรรมที่ผมขอเสนอก็คือ ไม่ว่าจะเป็นภาวะวิกฤติโควิดนี้ หรือเมื่อเปิดเรียน โดยเฉพาะเมื่อเปิดเรียน ทำได้ทันที ลองทดลองดูตั้งแต่เปิดเทอมจนถึงสิ้นปี เรามีชั่วโมงลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ ขอสัปดาห์ละชั่วโมงเท่านั้น ให้เด็กชั้นประถมอ่านหนังสือ มีชั่วโมงอ่านหนังสือ ให้ลุกขึ้นมาอ่านเลย สมมุติว่า มีนักเรียน 30 คนในชั้น ให้อ่านเรื่อง ปลาบู่ทอง นี่ยกตัวอย่างนะครับ สมมุติมี 30 หน้า ให้ลุกขึ้นอ่านเลยคนละหน้า เพื่อเป็นการฝึกการอ่าน ฝึกการออกเสียง ฝึกอะไรต่าง ๆ ที่เวลานี้ เด็กไม่ได้รับการฝึกฝน หรือมีประสบการณ์เรื่องนี้เลย ให้อ่านคนละหน้า จบแล้วก็ให้คุยกันเรื่องที่อ่านนั่นแหละ เด็กอาจจะสงสัยว่า ปลาบู่ทอง เป็นอย่างไร ไม่เคยเห็น ทำไมถึงห้ามกิน ทำไมมีวิญญาณพ่อแม่เราอยู่ในนั้น และในที่สุด เด็กก็อาจได้ข้อสรุปว่า ในสิ่งแวดล้อม มีชีวิต เราควรจะดูแลรักษา นี่ก็ได้ข้อคิดแล้ว”

 

ศิลปินแห่งชาติ ระบุว่า ให้เด็กได้อ่าน ได้คุยกัน โดยสัปดาห์หน้า ก็ให้อ่านเรื่องใหม่ เช่น อาจจะอ่านนิทานอีสป หรืออ่านเรื่องสั้นที่ดี ๆ ของอาเซียนก็ได้ เช่นเรื่องของ เวียดนาม เรื่อง ทำไมเสือจึงมีลาย เป็นต้น แล้วก็ให้คุยกัน ได้ความรู้อะไรก็จดไว้ ถ้าทำอย่างนี้ทุกสัปดาห์ เพียงแค่ปีเดียว เด็กจะรักการอ่านทันที

 

              ส่วนในระดับมัธยมศึกษานั้น นายเนาวรัตน์ ระบุว่า อาจไม่ต้องใช้วิธีนี้ แต่ให้ใช้วิธีให้หนังสือ หรือเรื่องสั้น หรือเรื่องดี ๆ สักเรื่องหนึ่ง ให้เวลาไปอ่าน แล้วให้มาคุยกันในกลุ่มหรือในชั้นเรียน ได้ความรู้อะไรก็จดเอาไว้ เชื่อไหมว่า ในปีเดียว เด็กจะรักการอ่าน อย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 50 – 60 %

 

              “นี่เป็นกิจกรรมหนึ่งที่อยากจะฝากเอาไว้ อ.ศิลป์ พีระศรี ผู้ก่อตั้ง มหาวิทยาลัยศิลปากร ท่านจะพูดกับนักศึกษาว่า นายไม่อ่านหนังสือ นายจะรู้อะไร สำคัญมาก เป็นข้อสรุปเหมือนที่ผมว่าไว้ คือ คนที่รู้หนังสือ แต่ไม่อ่านหนังสือ ก็ไม่ต่างอะไรกับคนที่ไม่รู้หนังสือ เมื่อนายไม่อ่านหนังสือ นายจะรู้อะไร และอีกประโยคหนึ่งของผู้รู้ ท่านก็เคยพูดไว้ว่า การศึกษานั้นแพง แต่ความไม่รู้แพงกว่า ขอฝาก กระทรวงศึกษาธิการ ไว้ด้วย” ศิลปินแห่งชาติ กล่าวทิ้งท้าย

 

 

          LINK ที่เกี่ยวข้อง

 

          ‘ศิลปินแห่งชาติ’ ห่วงปัญหา ‘วิกฤติภาษา-คำไทย’ จี้เร่งแก้ก่อนสายเกิน !

 

          https://www.bangkoklifenews.com/17292566/20210609a

 

//...........................