ยัน ! ‘สารเคมี’ ใน ‘ครีมกันแดด’ ส่งผลกระทบ ‘ปะการัง-สัตว์น้ำ’ !!

ยัน !‘สารเคมี ใน ครีมกันแดด ส่งผลกระทบ ปะการัง-สัตว์น้ำ’!!

 

         “ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ยืนยัน ผลการศึกษาทั่วโลก พบว่า “สารเคมี” บางชนิด ใน “ครีมกันแดด” ส่งผลต่อ “ปะการัง” และ “สัตว์น้ำ” ระบุ มีการแบนในหลายประเทศ แนะนำ อช. เร่ง ปชส. ทำความเข้าใจ ปชช.

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์รองคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษและประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  ได้เผยแพร่ข้อความและรูปภาพ ผ่าน เฟซบุ๊กส่วนตัว “Thon Thamrongnawasawat” ชี้แจงถึงกรณี “กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช” ออกประกาศ ห้ามใช้ “ครีมกันแดด” ที่มีสารเคมี 4 ประเภท เพราะเป็นอันตรายต่อปะการัง หากฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 1 แสนบาท ว่า มีผลกระทบต่อ “ปะการัง” และ “สัตว์น้ำ” จริง และมีการแบนในหลายประเทศ โดยมีเนื้อหา ดังนี้

 

“ในกรณีประกาศของอุทยานฯ ห้ามนำ/ใช้ครีมกันแดดที่มีส่วนผสมของสารเคมีที่อาจทำให้เกิดอันตรายต่อปะการัง ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ มีรายละเอียดที่อยากบอก เพื่อนธรณ์ ดังนี้ครับ

 

มีการศึกษาทั่วโลกพบว่า สารเคมีบางชนิดในครีมกันแดด ส่งผลต่อปะการัง เช่น

 

ทำให้ปะการังฟอกขาวง่ายขึ้น ส่งผลต่อการเจริญเติบโตและการสืบพันธุ์ ฯลฯ

 

นอกจากนี้ NOAA ซึ่งเป็นองค์กรหลักทางทะเลของประเทศสหรัฐอเมริกา ยังระบุถึงผลกระทบที่มีต่อสัตว์น้ำอื่นๆ (ดังภาพ)

 

ปัจจุบัน มีการแบนครีมกันแดดที่มีสารเป็นอันตรายในหลายสถานที่ เช่น ฮาวาย ปาเลา bonaire ฯลฯ (ตามลิงค์ท้ายบทความ)

 

ในเมืองไทย เริ่มมีการพูดถึงเรื่องนี้มาหลายปี และเริ่มมีมาตรการในบางพื้นที่ เช่น สิมิลัน (ในช่วงใกล้เคียงเกิดโควิด)

 

ครั้งนี้ ประกาศห้ามทั่วทุกอุทยาน หากถามถึงความจำเป็น ผมอธิบายไปแล้วว่า มีการศึกษามานาน มีการรับรองถึงผลกระทบโดย NOAA ที่คนเชื่อถือ และมีการแบนในหลายแห่ง

 

สำหรับคำถามว่า ทำไมไม่ห้ามตั้งแต่ผู้ผลิต ? คงต้องตอบว่าอุทยานไม่มีอำนาจ ซึ่งก็เป็นในลักษณะเดียวกับหลายประเทศที่ห้ามเฉพาะพื้นที่ เช่น อเมริกา

 

แต่ในอนาคต เมื่อโลกมีเทรนด์มาแนวนี้ ผู้ผลิตย่อมต้องหาทางออก และผลิตของที่ไม่รบกวนมากขึ้น

 

คำถามสำคัญอีกเรื่องคือเจ้าหน้าที่จะดูแลอย่างไร ?

 

คำตอบชัด ๆ ต้องฟังจากอุทยาน แต่เมื่อมีการประกาศห้าม คงต้องเริ่มหาทางปรับตัว

 

ข้อเสนอแนะคือกรมอุทยานควรช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการและนักท่องเที่ยว ตรวจสอบและระบุยี่ห้อหรือติดป้ายให้คนทราบทั่วกันว่า ยี่ห้อไหนอย่างไรที่โอเค

 

หากทำเช่นนี้ได้ โดยส่วนกลางประสานหน่วยงานอื่น/จัดจ้างตรวจสอบ จากนั้นส่งข้อมูลให้ทราบทั่วถึงกันทุกอุทยาน เพื่อแจ้งให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะได้ปฏิบัติตาม กม.ได้

 

ในช่วงนี้คงมีนักท่องเที่ยวน้อยมาก รีบทำกันตอนนี้ยังพอมีเวลา

 

ทราบดีว่า ครีมบางชนิดมีปัญหา อุทยานต้องรีบมาดูแล และถ้าช่วยกันอีกนิด จะทำให้ระเบียบทำได้ง่ายขึ้น ทุกคนปฏิบัติได้

 

ทะเล คนเที่ยวทะเล คนดูแลทะเล จะมีความสุขครับ

 

รายละเอียดผลกระทบ

https://oceanservice.noaa.gov/news/sunscreen-corals.html

 

รายละเอียดที่ห้ามใช้
https://bit.ly/3yosM29

 

ภาพประกาศ - ReReef https://www.facebook.com/Re4Reef/ (มีครีมแบบเซฟขาย)

 

รายละเอียดประกาศ (iGreen)

 

กรมอุทยานฯ ออกประกาศห้ามใช้ครีมกันแดดที่มีสารเคมี 4 ประเภท เพราะเป็นอันตรายต่อปะการัง ฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 1 แสนบาท

 

เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2564 ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ลงนามโดยนายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานฯ เรื่อง ห้ามนำและใช้ครีมกันแดดที่มีส่วนประกอบของสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อปะการังเข้าไปในอุทยานแห่งชาติ

 

ทั้งนี้ ระบุเหตุผลว่า ในปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวเข้าไปท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติทางทะเลจำนวนมาก รวมทั้งมีการนำและใช้ครีมกันแดดที่มีสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อปะการังเข้าไปในอุทยานแห่งชาติ โดยจากข้อมูลวิชาการพบว่า สารเคมีหลายชนิดที่พบในครีมกันแดดมีส่วนทำให้ปะการังเสื่อมโทรมลง  เนื่องจากสารเคมีเหล่านั้นทำลายตัวอ่อนปะการัง ขัดขวางระบบสืบพันธุ์และทำให้ปะการังฟอกขาว

 

กรมอุทยานฯ พิจารณาแล้วเพื่อเป็นการสงวน อนุรักษ์ คุ้มครองดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ และป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่อปะการังและระบบนิเวศ ในอุทยาน อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 20 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ประกอบข้อ 6 ของระเบียบกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ว่าด้วยการเข้าไปในอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2563 และมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบการบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545 จึงออกประกาศ ดังนี้

 

1.ห้ามนำและใช้ครีมกันแดดที่มีส่วนประกอบของสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อปะการังเข้าไปในอุทยานแห่งชาติ ได้แก่ Oxybenzone (Benzophenone-3, BP-3), Octinoxate (Ethylhexyl methoxycinnamate), 4-Methylbenzylid Camphor (4MBC) และ Butylparaben หากผู้ใดฝ่าฝืนมีความผิดตามมาตรา 20 ประกอบมาตรา 47 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท

 

2.ประกาศฉบับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ 24 มิถุนายน 2564

 






//.................

              CR : Thon Thamrongnawasawat

//.................