คำต่อคำจากกรรมการ “นวนิยาย” เซเว่นบุ๊คอวอร์ด

 

เปิดคำนิยมรางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ครั้งที่ 18 ประเภท “นวนิยาย” ทั้ง 2 เล่ม “หากข้ามคืนนี้ หัวใจไม่แหลกยับเยินเสียก่อน” ของ “รมณ กมลนาวิน” และ “แด่ความคิดถึง” ของ “ทนุธรรม”

 

 

 

“หากข้ามคืนนี้ หัวใจไม่แหลกยับเยินเสียก่อน”
โดย “รมณ กมลนาวิน”
สำนักพิมพ์ RamonaSays Publisher (2020)

 

          “หากข้ามคืนนี้ หัวใจไม่แหลกยับเยินเสียก่อน” ของ รมณ กมลนาวิน เป็นวรรณกรรมสะท้อนสังคมที่บอกเล่าเรื่องราวของผู้คนในชุมชนแห่งหนึ่งที่มีวิถีชีวิตยึดโยงอยู่กับผู้มีอิทธิพลในชุมชนซึ่งทำธุรกิจร้านนวดที่แฝงการค้าบริการทางเพศแก่นักท่องเที่ยวต่างชาติ เม็ดเงินจากธุรกิจสีเทาเช่นนี้สร้างรายได้และความกินดีอยู่ดีให้แก่ชาวบ้าน พระเดชและพระคุณของผู้มีอิทธิพลในชุมชนจึงทำให้ชาวบ้านสมัครใจเข้าร่วมในวงจรนี้ เพื่อให้อิ่มท้อง มีงานทำ มีคุณภาพชีวิต มีอนาคตและมีความหวัง ยิ่งผู้มีอิทธิพลในชุมชนจับมือกับนักการเมืองท้องถิ่นนำธุรกิจของตนไปควบรวมไว้กับโครงการสวยหรูของรัฐในการส่งเสริมการท่องเที่ยวและการพัฒนาท้องถิ่นอย่างแนบเนียน ก็ยิ่งทำให้ธุรกิจสีเทาได้รับการฟอกขาวจนสามารถขยายกิจการให้ใหญ่โตอลังการมากยิ่งขึ้น

          แต่ในท่ามกลางความเฟื่องฟูทางเศรษฐกิจ ปัญหาสังคมนานาประการก็ก่อเกิดขึ้น ทั้งเรื่องการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ แม่ทิ้งลูก พ่อปฏิเสธความรับผิดชอบ ลูกกำพร้าที่ถูกทิ้งขว้าง การละทิ้งบ้านเกิด การถูกลดทอนความเป็นมนุษย์ การไม่พึ่งพาตนเอง ฯลฯ อย่างไรก็ตาม ชีวิตไม่ได้ดำมืดไปเสียทั้งหมด ผู้เขียนแสดงให้เห็นว่าความรักคือสิ่งประคับประคองหล่อเลี้ยงใจให้ก้าวข้ามความท้อแท้เจ็บปวดในแต่ละวันแต่ละคืนไปได้ ผู้อ่านจะประจักษ์ในความรักบริสุทธิ์ระหว่างหญิงชาย ระหว่างเพื่อน ระหว่างปู่ย่ากับหลาน ระหว่างพ่อแม่กับลูก และความรักความเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์ผู้ร่วมทุกข์ อีกทั้งผู้เขียนยังทำให้ตระหนักรู้ว่าครอบครัวเข้มแข็งคือรากฐานที่แข็งแกร่งของสังคม

          คณะกรรมการตัดสินจึงมีมติให้ “หากข้ามคืนนี้ หัวใจไม่แหลกยับเยินเสียก่อน” ของ รมณ กมลนาวิน ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทนวนิยาย ประจำปีพุทธศักราช 2564

 

 

 “แด่ความคิดถึง
โดย “ทนุธรรม”
สำนักพิมพ์ปลาคาร์ป 

 

 

           “แด่ความคิดถึง”  ของ ทนุธรรม เป็นเรื่องราวของวินกับทนิน ชายหนุ่ม 2 คนที่แบ่งเช่าห้องชุดในคอนโดมิเนียมด้วยกัน วินจ่อมจมอยู่กับความเจ็บปวดจากอดีต ส่วนทนินหมกมุ่นอยู่กับความฝันอยากเป็นนักเขียน แม้จะอยู่ในห้องชุดเดียวกัน แต่สัมพันธภาพของคนทั้งสองห่างเหินเพราะต่างคนต่างมีโลกส่วนตัว จนวันหนึ่งทั้งสองเปิดใจเชื่อมมิตรภาพระหว่างกัน แต่ต่อมาก็กลับเกิดเหตุขัดใจจนต้องลาจากกัน

          นวนิยายเรื่องนี้อาจจะเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นในชีวิตของใครบางคน แต่เรื่องธรรมดานี้สะท้อนชีวิตของคนในเมืองใหญ่ที่ต่างคนต่างอยู่ ไม่สนใจใครแม้แต่คนใกล้ตัว ความเหงาลึกจึงก่อตัวขึ้นอย่างเงียบ ๆ ท่ามกลางความซับซ้อน สับสน และผู้คนมากมายที่อยู่รอบตัว หลายคนพึ่งพาโซเชียลมีเดียเป็นที่ระบายความในใจแทนการสนทนากับเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน

          ผู้เขียนใช้กลวิธีนำเสนอด้วยบันทึกของทนิน ไปพร้อมกับความคืบหน้าในบทต่าง ๆ ของนวนิยายที่ ทนินจำใจเขียน สาระว่างเปล่าของนวนิยายรักเป็นภาพล้อคู่ขนานไปกับความเปราะบางของสัมพันธภาพที่กว่าทนินจะประจักษ์ในคุณค่าของความเป็นเพื่อน ความเข้าใจถึง และห่วงใยจิตใจของผู้อื่นอย่างจริงใจ ก็สายเกินไป

           “ผมหลับตาลงแล้วนึกว่า ถ้ามีโอกาสพูดกับเขาเป็นครั้งสุดท้าย ผมจะพูดว่าอย่างไร มันนึกออกได้ไม่ยากเลย คงเป็นคำว่า ‘คิดถึง’ อย่างแน่นอน”

          น่าเสียดายที่โอกาสของทนินไม่เคยหวนกลับมาอีกเลย

          คณะกรรมการตัดสินจึงมีมติให้ “แด่ความคิดถึง”ของ ทนุธรรมได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2  รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทนวนิยาย ประจำปีพุทธศักราช 2564

 

 

          ทั้งนี้ คณะกรรมการตัดสินประเภทนวนิยาย ได้แก่ ศ.ดร.รื่นฤทัย  สัจจพันธุ์ ราชบัณฑิต (ประธานคณะกรรมการตัดสิน) นายอดุล จันทรศักดิ์ ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ นางสาวมณฑา ศิริปุณย์ อดีตบรรณาธิการนิตยสาร “ขวัญเรือน” ผศ.สมเกียรติ คู่ทวีกุล ข้าราชการบำนาญ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ นางพจมาน พงษ์ไพบูลย์ ข้าราชการบำนาญ กระทรวงศึกษาธิการ นางกนกวลี พจนปกรณ์ ที่ปรึกษาสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย และนางสาวอาภาภิรัตน์ วัลลิโภดม นักวิชาการมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ โดยมี ดร.พัชรี  ลินิฐฎา อุปนายกสมาคมครูภาษาไทยแห่งประเทศไทย เป็นเลขานุการคณะกรรมการตัดสิน

 

 

Link ที่เกี่ยวข้อง

 

          คำต่อคำจากกรรมการ “กวีนิพนธ์” เซเว่นบุ๊คอวอร์ด

 

          คำต่อคำจากกรรมการ “เรื่องสั้น” เซเว่นบุ๊คอวอร์ด

 

          คำต่อคำจากกรรมการ “สารคดี” เซเว่นบุ๊คอวอร์ด