เสนอประกาศวาระแห่งชาติ “ปีแห่งผักผลไม้สากล” สร้างความมั่นคงทางอาหาร

สสส. จับมือ กระทรวงเกษตรฯ เสนอประกาศวาระแห่งชาติ “ปี 2564 ปีแห่งผักผลไม้สากล” พร้อมผลักดันนโยบายสนับสนุนการขับเคลื่อนอาหารสุขภาวะ สร้างความมั่นคงทางอาหาร ฟื้นเศรษฐกิจ ช่วยชาติยามวิกฤต ดันเป้าหมายส่งเสริมกินผักผลไม้และอาหารสุขภาวะสู่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฯ ฉบับที่ 13 ขานรับการประชุมสุดยอดผู้นำระบบอาหารโลก

          ดร.นพ. ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวในเวทีการหารือสาธารณะ อิ่ม... ดี... มีสุข: สำหรับการประชุมสุดยอดผู้นำระบบอาหารโลก (UNFSS Independent Dialogue in Thailand) ในหัวข้อ “ผักจะเป็นวาระแห่งชาติได้อย่างไร?” ผ่านทางระบบ Zoom Meeting จัดโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สสส. สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล และศูนย์พืชผักโลก (World Vegetable Center : WorldVeg) ว่า สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติกำหนดให้ปี 2564 เป็น “ปีแห่งผักและผลไม้สากล” (International Year of Fruits and Vegetables, 2021) เพื่อเพิ่มความตระหนักถึงความสำคัญของผักและผลไม้ในเวทีระดับนานาชาติ และระดับโลก ในฐานะที่ประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในประเทศสมาชิก ควรทบทวนหรือพัฒนานโยบายที่ให้ความสำคัญกับการกินผักและผลไม้เพื่อสุขภาพ มีคุณค่าทางโภชนาการ พัฒนาแนวทางปฏิบัติที่ดีในการส่งเสริมการกินผักผลไม้ ลดปริมาณผักผลไม้เหลือทิ้ง และสร้างความมั่นคงทางอาหาร

 

 

          ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สสส. และภาคีเครือข่าย ร่วมกันรณรงค์ และประกาศให้ “ปี 2560 เป็นปีแห่งการบริโภคผัก ผลไม้ปลอดภัย” บูรณาการพัฒนาระบบห่วงโซ่การผลิตผักและผลไม้สดปลอดภัยตลอดห่วงโซ่ จาก ต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำ แต่จากการสำรวจสถานการณ์การกินผักและผลไม้ในประเทศไทย ปี 2561 - 2562 โดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า คนไทยมีแนวโน้มกินผักและผลไม้เพิ่มมากขึ้น แต่ยังคงกินไม่ถึงตามเกณฑ์องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำ 400 กรัมต่อวัน โดยในปี 2562 ผลสำรวจพบคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป กินผักและผลไม้ไม่เพียงพอสูงถึงร้อยละ 62.5

 

 

          ดร.นพ. ไพโรจน์ กล่าวต่อว่า สสส. ได้จัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อส่งเสริมการกินผักและผลไม้ปลอดภัยอย่างเพียงพอ เพื่อความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืน โดยเชื่อมโยงกับเป้าหมายและยุทธศาสตร์ระดับชาติ เพื่อเตรียมผลักดันเข้าสู่กระบวนการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และภาคีเครือข่าย เพื่อส่งเสริมให้คนไทยกินผักผลไม้ปลอดภัยอย่างเพียงพอเพิ่มขึ้น นำไปสู่การมีสุขภาวะที่ดี ลดความเสี่ยงจากการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) นำไปสู่การสร้างความมั่นคงทางอาหาร และเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดสำคัญต่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

 

 

          นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะผู้ประสานงานหลักของประเทศไทย (National Dialogues Convenor) สำหรับการประชุมสุดยอดผู้นำระบบอาหารโลก  กล่าวว่า ในการประชุม UNFSS ประเทศไทยมีเป้าประสงค์สู่การขับเคลื่อนระบบอาหารที่ยั่งยืน 5 ด้าน คือ 1.การเข้าถึงอาหารที่ปลอดภัยและมีคุณค่าทางโภชนาการโดยถ้วนหน้า 2.ปรับเปลี่ยนวิถีการบริโภคเพื่อความยั่งยืน 3.การส่งเสริมระบบการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 4.ส่งเสริมความเสมอภาคในการดำรงชีวิตและมีกระจายคุณค่าอย่างเท่าเทียม และ 5.การสร้างความยืดหยุ่นปรับตัวได้ในทุกวิกฤตโดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบาง ซึ่งจุดเริ่มต้นของระบบอาหารสุขภาพที่มีผักเป็นส่วนประกอบ ต้องเริ่มจาก “เมล็ดพันธุ์ผัก” เมล็ดพันธุ์ที่ดีถือเป็นส่วนสำคัญที่นำไปสู่คุณภาพของผลผลิตการเกษตรที่ดี เป็นส่วนช่วยพัฒนานวัตกรรมการเกษตรของไทย ทั้งในด้านคุณภาพและประสิทธิภาพผลผลิต และเป็นหนึ่งยุทธศาสตร์ที่สำคัญของความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย “ผัก” ถือเป็นกรณีศึกษาเพื่อเชื่อมโยงกิจกรรมของระบบอาหาร ตลอดห่วงโซ่คุณค่า ตั้งแต่ ผลิต..จนเป็น..ขยะ  จากการผลิต..สู่..การบริโภค ตลอดจนการสร้างองค์ความรู้นวัตกรรมเพื่อให้การบริหารจัดการสอดคล้องกับเป้าหมายและแนวคิดการพัฒนาโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ดังนั้นการพลิกโฉมระบบอาหารที่จะตอบสนองต่อ 5 วัตถุประสงค์หลักของระบบอาหารที่ยั่งยืนในบริบทของประเทศไทย จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่เราทุกคนต้องมาช่วยสร้างสมดุลและร่วมคิดร่วมทำ

 

 

 

          ดร.เดลฟีน ลาลูส ผู้อำนวยการศูนย์พืชผักโลก ภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า ยินดีที่ได้ร่วมมือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของประเทศไทย และ สสส. ในการสร้างความแข็งแกรงให้กับระบบอาหาร  เพื่อบูรณาการแนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืนในการผลิต การเก็บเกี่ยว การจัดการหลังการเก็บเกี่ยว การแปรรูป เพื่อส่งเสริมการบริโภคผักที่สำคัญคือความจำเป็นในการเสริมสร้างนโยบายการกินผักที่เป็นอาหารที่ดีต่อสุขภาพ สภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาวะและการดำรงชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่ง WorldVeg มุ่งมั่นอย่างมากที่จะร่วมมือและสนับสนุนรัฐบาลไทยองค์กรภาครัฐและเอกชนของไทย และเกษตรกรในการเพิ่มการผลิตและการบริโภคผักปลอดภัยสำหรับทุกคน