ชู 4 นวัตกรรม เพื่อสุขภาพคนทำงาน แรงงานไทย 37 ล้านคน เครียดจัด เสี่ยงโรค NCDs

เผย แรงงานไทย 37 ล้านคน เสี่ยงโรค NCDs รุมเร้า แถมเครียดจัด สสส. ผนึก 3 กระทรวงหลักดูแลแรงงานไทย ชู 4 นวัตกรรม ยกระดับสุขภาพคนทำงาน สร้างองค์กรสุขภาวะต้นแบบ 180 แห่ง ปั้น ผู้นำสร้างสุขภาพ 600 คน ลุยศูนย์สุขภาพดีวัยทำงาน 

          ดร.ประกาศิต กายะสิทธิ์ รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร สสส. กล่าวว่า ประเทศไทยมีประชากรวัยทำงาน อายุ 15-59 ปี ประมาณ 37.5 ล้านคน ใช้ชีวิตในที่ทำงาน 1 ใน 3 ของชีวิตประจำวัน มีพฤติกรรมเนือยนิ่ง เสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพ โดยเฉพาะกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ที่เป็นต้นเหตุของการเสียชีวิตถึงร้อยละ 75 ของสาเหตุการเสียชีวิตทั้งหมด ก่อให้เกิดความสูญเสียด้านสุขภาพและส่งผลกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของคนในสังคมไทย

 

 

           “สสส. ตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้น เนื่องในวันแรงงานแห่งชาติ ปี 2564 นี้ จึงได้สานพลังกระทรวงสาธารณสุข จัดทำโครงการ “ขับเคลื่อนสุขภาวะคนทำงานในสถานประกอบการอย่างมีส่วนร่วม” โดยใช้นวัตกรรมที่ได้พัฒนาร่วมกับภาคีเครือข่ายส่งเสริมสุขภาพคนวัยทำงาน 4 นวัตกรรม ได้แก่ 1.ศูนย์สุขภาพดีวัยทำงาน (Wellness Center) 2.ชุดความรู้สุขภาพ 10 เรื่อง ‘ปลอดภัยดี สุขภาพดี งานดี มีความสุข ในสถานประกอบการ 3.แพ็กเกจตรวจสุขภาพของสำนักงานประกันสังคม 14 รายการ และ 4. แอปพลิเคชันให้คำปรึกษาสุขภาพจิต ควบคู่กับแนวคิด Happy Workplace สร้างสภาพแวดล้อมและสุขภาพที่ดีของคนทำงาน เนื่องจากกลุ่มแรงงานเป็นกำลังสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนประเทศให้อยู่รอดจึงต้องได้รับการดูแลอย่างจริงจัง โดยมีเป้าหมายยกระดับสถานประกอบการเป็นองค์กรสุขภาวะต้นแบบ 180 แห่ง และอบรมบุคลากรเป็นผู้นำสุขภาพ 600 คน” ดร.ประกาศิต กล่าว

 

 

          นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า จากข้อมูลสายด่วนสุขภาพจิต 1323 พบว่า วัยแรงงานขอรับบริการเรื่องความเครียด วิตกกังวลจากการทำงานถึง ร้อยละ 40 ของสายทั้งหมด 70,268 สาย สะท้อนถึงปัญหาสุขภาพจิตของวัยแรงงาน ที่ผ่านมา ได้ดำเนินงานการสร้างเสริมสุขภาพคนวัยทำงาน ผ่านโครงการศูนย์สุขภาพดีวัยทำงาน ในโรงพยาบาลและสถานประกอบการ 16 แห่งทั่วประเทศ เพื่อเป็นศูนย์กลางให้คำปรึกษา ดูแลส่งเสริมสุขภาพ ช่วยคัดกรองความเสี่ยงโรคต่าง ๆ ผลจากการดำเนินงาน สามารถลดวันลาได้ 1,840 วันต่อปี ลดค่าเสียโอกาสเนื่องจากการหยุดงานกว่า 4 ล้านบาท และลดค่ารักษาพยาบาลกว่า 1 ล้านบาท การร่วมมือกับ สสส. ดำเนินงานโครงการ “ขับเคลื่อนสุขภาวะคนทำงานในสถานประกอบการอย่างมีส่วนร่วม” ครั้งนี้ จึงนับเป็นการขยายผลให้เกิดการกระจายไปสู่คนวัยทำงานในสถานประกอบการในวงกว้าง

 

 

          นางอำพันธ์ ธุววิทย์ รองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ช่วงโควิด-19 กระทรวงแรงงาน ร่วมกับ สสส. ริเริ่มแนวทางความร่วมมือเพื่อลดโรคและการบาดเจ็บจากการทำงาน ภายใต้แนวคิดสร้างเสริมสุขภาวะและความปลอดภัยในการทำงาน (Healthy and Safety Thailand) จัดตั้ง “คลินิกโรคจากการทำงาน” 117 แห่ง เพื่อตรวจคัดกรองโรค ป้องกันปัญหาสุขภาพแรงงาน พร้อมสนับสนุนหลักสูตรอบรมพัฒนาฝีมือแรงงานที่สอดแทรกนวัตกรรมแนวคิด Happy Workplace ส่งเสริมการทำงานในชีวิตวิถีใหม่ที่ต้องเพิ่มความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรและคนทำงาน ขณะนี้ ได้เร่งดำเนินโครงการวิจัยเพื่อขับเคลื่อนข้อเสนอพัฒนาสุขภาวะในกลุ่มแรงงานนอกระบบ โดยจะผลักดันให้มีผลบังคับใช้ทางกฎหมายโดยเร็วที่สุด

 

 

          นายวุฒิชัย ประชาพร ผู้อำนวยการกองพัฒนาขีดความสามารถธุรกิจอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า ที่ผ่านมา กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ร่วมกับ สสส. ขับเคลื่อนโครงการสุขภาวะแรงงานในวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ผลสำเร็จจากการใช้นวัตกรรมแนวคิด Happy Workplace ในการดำเนินโครงการ ทำให้เกิดองค์กรสุขภาวะ 274 แห่ง มีนักสร้างสุของค์กร 2,600 คน ศูนย์สนับสนุนการเรียนรู้การสร้างสุขภาวะองค์กร 12 แห่ง และเครือข่ายสนับสนุนสร้างสุขภาวะคนทำงานใน SMEs 255 หน่วยงาน นอกจากนี้ สถานประกอบการ 749 แห่ง ยังได้เข้าร่วมอบรมหลักสูตรพัฒนาผู้ประกอบการสร้างความสุขในองค์กร ที่สำคัญกระทรวงการคลังอนุมัติข้อเสนอลดหย่อนภาษี 2 เท่า ให้บริษัทที่ส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคคนวัยทำงานในสถานประกอบการ ขณะนี้ เตรียมเสนอให้มีรางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น ประเภทองค์กรแห่งความสุขครั้งแรกของไทยเข้าสู่การพิจารณา ซึ่งจากการวิเคราะห์ผลตอบแทนทางสังคม (SROI) ลงทุน 1 บาท ให้ผลตอบแทนทางสังคม 7 บาท สะท้อนแรงงานไทยมีความสุขมากขึ้น